แรงงานปริทัศน์ ฉบับที่ 396 เดือนกันยายน 2563

แรงงานปริทัศน์ออนไลน์ฉบับที่ 49 (396) ประจำเดือนกันยายน 2563 พบกันหลังจากผ่านพ้นวิกฤตการณ์ทางการเมืองจาการชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 19-20 กันยายน 2563 ของคนรุ่นใหม่และคนรุ่นอาวุโสที่สนับสนุนข้อเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ภายใต้การนำของกลุ่ม “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ข้อเรียกร้อง 3 ข้อและ 1 ความฝันของผู้ชุมนุมคือ 1).รัฐบาลต้อง “หยุดคุกคามประชาชน” ที่ออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพตามหลักประชาธิปไตย 2).รัฐบาลต้อง “ร่างรัฐธรรมนูญใหม่” ที่มาจากเจตจำนงของประชาชน เพื่อประโยชน์แก่สาธารณชนอย่างแท้จริง 3).รัฐบาลต้อง “ยุบสภา” เพื่อให้ประชาชนสามารถแสดงเจตจำนงในการเลือกผู้แทนของตนได้อีกครั้งโดยตั้งอยู่บน 2 หลักการที่ว่า จะต้องไม่มีการรัฐประหารและการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ภายใต้ 1 ความฝันคือ การมี “ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ” อย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังมีขอเรียกร้อง 10 ข้อให้ปฏิรูปสถาบันสูงสุดของชาติ ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกหลังการปฏิวัติ 2475 ที่สังคมไทยมีการพูดคุยเรื่องสถาบันฯอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะ แทนการซุบซิบนินทาที่เป็นวัฒนธรรมหนึ่งของคนไทยที่ปฏิบัติกันมานาน

ส่วนผลกระทบต่อแรงงานที่เกิดจากโรคระบาดโควิด-19 ยังคงเป็นปัญหาที่หนักหนาสาหัส ระบบประกันสังคมได้เข้ามามีบทบาทในการบรรเทาผลกระทบต่อแรงงาที่ต้องตกงานหรือมีรายได้ลดลง ในโอกาสนี้ทำให้เราได้มองเห็นจุดอ่อนของระบบประกันสังคมที่ต้องได้รับการแก้ไขเพื่อให้รองรับกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ดีกว่าในปัจจุบัน ขบวนการแรงงานโดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ได้มีข้อเสนอในการปฏิรูประบบการบริหารสำนักงานประกันสังคมและการใช้จ่ายเงินกองทุนประกันสังคม และขณะนี้ยังปรากฏข่าวครึกโครมเกี่ยวกับการนำเงินจากกองทุนประกันสังคมไปลงทุนในบริษัทเอกชนศรีพันวา แมเนจเมนท์ซึ่งมีบริษัทชาญอิสระเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่อาจมีความเสี่ยงต่อการขาดทุน จึงเป็นหน้าที่ซึ่งขบวนการแรงงานต้องติดตามและตรวจสอบการทำงานของสำนักงานประกันสังคมเพื่อให้เกิดความโปร่งใส และรักษาผลประโยชน์ของลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาลซึ่งเป็นเจ้าของกองทุนประกันสังคมต่อไป

นอกจาการมีระบบสวัสดิการเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 แล้ว การพัฒนาทักษะสู่อาชีพใหม่หลังวิกฤตเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะช่วยให้คนตกงานสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ ผู้สนใจติดตามอ่านรายงานการเสวนา “แรงงานกับการพัฒนาทักษะสู่อาชีพใหม่หลังโควิด” ได้ในแรงงานปริทัศน์ฉบับนี้ ในขณะเดียวกันเงินกู้ 4 แสนล้านที่รัฐบาลจะนำมาใช้ในโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของภาคประชาชนซึ่งแต่เดิมจะมีการใช้จ่ายผ่านกระทรวงต่างๆ ของรัฐเท่านั้น ในขณะนี้ตัวแทนภาคประชาชนได้มีการเจรจาต่อรองจนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการของบประมาณมาจัดทำโครงการที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งหวังว่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยลดผลกระทบต่อประชาชนที่ต้องตกงานหรือมีรายได้ลดลง

แม้ในยามที่ยากลำบาก หากเราร่วมแรงร่วมใจกันฝ่าฟัน วันหนึ่งจะต้องได้หลุดพ้นจากห้วงแห่งวิกฤติทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองที่รุมล้อมอยู่ในเวลานี้

แรงงานปริทัศน์ออนไลน์ ก.ย.63