แรงงานปริทัศน์ ฉบับที่ 409 เดือนธันวาคม 2564

แรงงานปริทัศน์ออนไลน์ ฉบับที่ 62 (409) ประจำเดือนธันวาคม 2564 ด้วยภาระงานที่มากล้นในขณะที่คนทำงานมีอยู่อย่างจำกัด ทำให้แรงงานปริทัศน์ฉบับนี้เผยแพร่ต่อผู้อ่านเมื่อเวลาล่วงเลยเข้าสู่ปีใหม่ 2565 ไปแล้วหลายวัน แต่ยังคงไว้ซึ่งเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ต่อแรงงานและผู้สนใจเหมือนเช่นเคย

สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจที่มีทีท่าว่าจะกระเตื้องขึ้นในช่วงปลายปีที่แล้ว เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดต่ำลงอย่างสม่ำเสมอ ทำให้มีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติภายใต้มาตรการป้องกันโรคระบาดที่ผ่อนคลายลง เศรษฐกิจของจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยวกลับมาคึกคักขึ้นอีกครั้ง แต่แล้วด้วยการกลับมาระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ ทำให้ธุรกิจต่างๆ ที่เพิ่งจะฟื้นตัวอาจต้องกลับสู่หายนะดังเดิม ซึ่งหมายถึงการล้มละลายทางเศรษฐกิจของประชาชนจำนวนมากที่ใช้เงินสะสมก้อนสุดท้ายในชีวิตหมดไปแล้วในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาซึ่งรายได้หดหายจากการยุติกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม

การใช้ชีวิตอย่างฝืดเคืองในช่วงการเกิดโรคระบาดถูกซ้ำเติมด้วยภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น ในขณะที่รายได้ลดลง ราคาน้ำมันและสินค้าจำเป็นพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าที่เป็นอาหารอย่างเนื้อหมู ไข่ไก่ ผัก ฯลฯ

ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคมปีที่แล้ว องค์กรแรงงานเริ่มมีการเคลื่อนไหวขอปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่ไม่มีการปรับมาตั้งแต้วันที่ 1 มกราคม 2563 เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ แต่ความเห็นของนายกรัฐมนตรีคือ “จะขอขึ้นค่าแรง จะเอาเงินมาจากไหน?” เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าการขอปรับค่าจ้างขั้นต่ำไม่ใช่เรื่องที่จะพูดคุยกันด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจแต่จะต้องใช้การต่อรองด้วยพลังทางการเมืองของแรงงาน

อำนาจการต่อรองของขบวนการแรงงานสัมพันธ์กับความเป็นเอกภาพของผู้นำแรงงาน แรงงานปริทัศน์ฉบับนี้ได้นำเสนอผลการเสวนาแลกเปลี่ยนเรื่อ “อุดมการณ์และนโยบายด้านการเมือง ประสบการณ์ในความขัดแย้ง” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2564 ณ อุทยานแหงชาติ ภูหินร่องกล้า จังหวัดพิษณุโลก เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นถึงทัศนะ ความคิดเห็นทางการเมืองของผู้นำแรงงานที่ในปัจจุบันได้แยกย้ายกันทำงานการเมืองอยู่ในพรรคการเมืองฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลและพรรคที่กำลังเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่การเลือกตั้งในอนาคตอันใกล้นี้

ในขณะที่ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองบนท้องถนนได้สงบลงชั่วคราว การเคลื่อนไหวด้านการเลือกตั้งได้ดำเนินมาอย่างคึกคัก มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายพื้นที่ในเดือนมกราคม และมีการรณรงค์หาเสียงของผู้เตรียมตัวสมัครเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพฯ ที่เปิดตัวออกมาแล้วหลายคน รวมถึงการเตรียมความพร้อมของพรรคการเมืองต่างๆ สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(สส.)ครั้งหน้าที่อาจมาถึงเร็วกว่ากำหนด

ดูเหมือนว่าในปัจจุบันผู้นำแรงงานจะมีความตื่นตัวในการเข้าร่วมการเมืองในระบอบรัฐสภากันมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นเพราะการมีผู้นำแรงงานที่เป็นสส.ฝ่ายค้าน และมีผู้ที่ทำงานให้กับรัฐมนตรีในพรรครัฐบาล และบางคนเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่เตรียมตัวลงแข่งขันในการเลือกตั้งสมัยหน้า แต่โจทย์ใหญ่ก็คือทำอย่างไร? จะมีผู้นำแรงงานหรือพรรคการเมืองของแรงงานที่สามารถชนะการเลือกตั้งและนำนโยบายด้านแรงงานเข้าสู่รัฐสภาได้ด้วยคะแนนเสียงของคนงานเป็นส่วนใหญ่ โดยไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยอื่นๆ เป็นด้านหลัก

แรงงานปริทัศน์ออนไลน์ ธ.ค.64