แรงงานปริทัศน์ ฉบับที่ 410 เดือนมกราคม 2565

แรงงานปริทัศน์ออนไลน์ ฉบับที่ 63 (410) ประจำเดือนมกราคม 2565 ในเดือนแรกของปีใหม่นี้ “คลินิกกฎหมายด้านแรงงาน” โดยทนายความ ชฤทธิ์ มีสิทธิ์ ซึ่งห่างหายไปนานได้กลับมาพบกับท่านผู้อ่านอีกครั้งด้วยการสรุปสิบประเด็นสิทธิแรงงานที่ท้าทายในรอบปี 2564 ที่เพิ่งผ่านไป

ปัญหาเศรษฐกิจที่สืบเนื่องมาในระยะหลายปีที่ผ่านมานี้ หากไม่นับเรื่องรายได้ของประชาชนหดหายจากพิษของโรคระบาดโควิด-19แล้ว ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจากราคาสินค้าแพงเป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนอย่างมาก โดยที่รัฐบาลยังไม่มีมาตรการที่จะควบคุมราคาสินค้าและช่วยเหลือประชาชนอย่างเหมาะสม ที่ผ่านมาเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนและองค์กรภาคประชาชนอื่นๆได้ร่วมกันจัดการชุมนุมเพื่อยื่นข้อเสนอในการแก้ปัญหาต่อรัฐบาลได้แก่ การขอให้ลดภาษี ลดค่าเล่าเรียนของนิสิต นักศึกษา ลดราคาสินค้า เพิ่มเบี้ยยังชีพคนชรา เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ และเงินสงเคราะห์บุตร

ในขณะเดียวกัน องค์กรภาคประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งคือขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(P-move) ซึ่งเป็นองค์กรเครือข่ายของประชาชนในชนบทก็ได้เดินทางเข้ามาชุมนุมในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ 20 มกราคมที่ผ่านมาเพื่อติดตามข้อเรียกร้อง 15 ข้อต่อรัฐบาล ประกอบด้วย 1). เดินหน้าโฉนดชุมชน     2). เร่งออก พ.ร.ฎ.นิรโทษกรรมคดีคนจน   3). ทบทวนเนื้อหากฎหมายป่าไม้ที่กระทบชุมชนที่อยู่มาก่อน   4). เดินหน้าแก้ปัญหาที่ดินการรถไฟทับซ้อนที่ดินชุมชน  5). เดินหน้ากฎหมายคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์   6). ปฏิรูปที่ดิน กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม  7). พัฒนาสาธารณูปโภคให้ชาวบ้าน  8). ตั้งคณะกรรมการติดตามโฉนดชุมชนและนิรโทษกรรมคดีคนจน  9). เยียวยาปัญหาเขตเศรษฐกิจแม่สอด  10). แก้ปัญหาที่ดินทุกประเภท   11) .  ตั้งคณะกรรมการเดินหน้าแนวทางคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์  12). ตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาบางกลอยและยุติคดี  13). แก้ไขปัญหาสิทธิสถานะบุคคล  14). เดินหน้ารัฐสวัสดิการ และ 15). แก้ไขปัญหาโครงการอ่างเก็บน้ำที่กระทบชุมชน

หากจะประเมินว่าในปัจจุบันประชาชนมีความพึงพอใจต่อการบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้โดยเฉพาะต่อพรรคพลังประชารัฐที่เป็นแกนนำของรัฐบาลมากน้อยเพียงใด อาจดูได้จากผลการเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(สส.) 3 ครั้งที่เกิดขึ้นในเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยเฉพาะการเลือกตั้งซ่อมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มกราคม ในเขตหลักสี่-จตุจักร กรุงเทพฯ ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว สส.ในเขตนี้คือคนของพรรคพลังประชารัฐ แต่ในครั้งนี้ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐได้คะแนนเป็นอันดับ 4 โดยได้รับคะแนนเสียงน้อยกว่าที่คาดไว้อย่างมาก ในขณะที่ผู้ได้คะแนนอันดับ 1 และ 2 เป็นคนของพรรคฝ่ายค้าน

ในระบอบประชาธิปไตย การรวมพลังของประชาชนบนท้องถนนคือการแสดงการมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านประชาธิปไตยทางตรง ส่วนการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง สส.เป็นการแสดงเจตจำนงของประชาชนผ่านประชาธิปไตยแบบตัวแทน

แรงงานปริทัศน์ออนไลน์ ม.ค.65