แรงงานปริทัศน์ ฉบับที่ 408 เดือนพฤศจิกายน 2564

แรงงานปริทัศน์ออนไลน์ ฉบับฉบับที่ 61 (408) ประจำเดือนพฤศจิกายน 2564 ใกล้จะผ่านพ้นไปอีก 1 ปีของความยากลำบาก ทั้งจากพิษของวิกฤตเศรษฐกิจโควิด-19 และวิกฤตทางการเมืองที่สะสมมาหลายปี

หลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 24 มีนาคม 2562 รัฐบาลผสมที่จัดตั้งขึ้นโดยพรรคการเมืองที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐสภาไม่สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนในการคลี่คลายความขัดแย้งและความเห็นต่างทางการเมืองในสังคมไทยที่เกิดขึ้นมายาวนานก่อนการเลือกตั้ง ในทางตรงกันข้ามมติของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ยุบพรรคการเมืองที่มีผู้ได้รับเลือกตั้งเข้ามามากเป็นอันดับ 3 เป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของ “คนรุ่นใหม่” เพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปฏิรูปสถาบันฯ และขับไล่นายกรัฐมนตรี เป็นขบวนการเคลื่อนไหวที่นำโดยนิสิต นักศึกษา และนักเรียนจากสถาบันต่างๆทั่วประเทศ เป็นขบวนการเคลื่อนไหวขนาดใหญ่หลังรัฐประหาร 2557 ที่มีประชาชนเข้าร่วมหลายหมื่นคนในระยะแรก แม้ว่าจะถูกขัดจังหวะโดยสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นระยะ แต่ก็ยังมีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ขณะนี้ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าความขัดแย้งและเห็นต่างทางการเมืองในสังคมไทยที่มีมาเกือบ 2 ทศวรรษได้ฝังรากลึกจนยากที่สลายได้ ตลอดเวลาที่ผ่านมาขบวนการแรงงานที่นำโดยสหภาพแรงงานได้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ยุคที่ยังเป็นขั้วความขัดแย้งเสื้อเหลืองกับเสื้อแดง ต่อมาผู้นำสหภาพแรงงานหลายท่านก็ได้ร่วมลงสมัครรับเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 และได้ร่วมทำงานให้กับพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านหลังการเลือกตั้ง

องค์กรแรงงานส่วนหนึ่งได้พยายามผลักดันให้เกิดทิศทางของการทำงานร่วมกันของผู้นำแรงงานเพื่อผลประโยชน์ของคนงานแม้ว่าจะอยู่ต่างพรรคการเมืองกัน ดังเช่น ที่สถาบันแรงงานเพื่อการศึกษาค้นคว้าวิจัยและฝึกอบรม ภายใต้มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย เตรียมจัดโครงการพัฒนาศักยภาพนักสหภาพแรงงานระดับแกนนำเรื่อง “การศึกษาแลกเปลี่ยนเสริมสร้างโลกทัศน์ในบริบทสหภาพแรงงานกับการเมือง” ในวันที่ 18-19 ธันวาคม 2564 ณ อุทยานภูหินร่องกล้า จังหวัดพิษณุโลก

นอกจากความเคลื่อนไหวทางการเมืองแล้ว แรงงานปริทัศน์ฉบับนี้ได้นำเสนอข่าวสารและมุมมองที่น่าสนใจต่อการเคลื่อนไหวของแรงงานข้ามชาติเมื่อไม่นานมานี้ โดยเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2564 แรงงานข้ามชาติ 8 คนถูกจับกุมข้อหาเข้ามาอยู่เมืองไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตขณะกำลังเคลื่อนไหวร่วมกับองค์กรเครือข่ายต่างๆ ที่หน้ากระทรวงแรงงานเพื่อยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีให้ติดตามการแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติหลายเรื่อง ทำให้เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ(MWG)ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลเปลี่ยนรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อความล้มเหลวในการบริหารจัดการปัญหาของแรงงานข้ามชาติและการค้ามนุษย์ ในขณะเดียวกันคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) มีปฏิกิริยาที่แตกต่างออกไปในโดยได้มีการออกแถลงการณ์เรื่อง “แรงงานข้ามชาติคือกลุ่มเปราะบาง อย่าใช้แรงงานข้ามชาติเป็นเครื่องมือทางการเมือง” รายละเอียดติดตามได้ในแรงงานปริทัศน์ฉบับนี้

          ต่อกรณีที่เกิดขึ้นนี้จะเห็นได้ว่าทั้งองค์กร MWG คสรท.และ สรส. ต่างก็เป็นองค์กรแรงงานที่ทำงานปกป้องสิทธิแรงงานข้ามชาติด้วยกันทั้งสิ้น แต่มีมุมมองที่เห็นแตกต่างกันซึ่งคงจะเป็นผลดีต่อการเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานหากจะได้มีการแลกเปลี่ยนความเข้าใจกัน เช่นเดียวกับความเห็นต่างทางการเมืองในประเด็นอื่นๆ ของผู้นำแรงงานที่ต้องการเวทีในการแลกเปลี่ยนความเห็นกันฉันมิตร

แรงงานปริทัศน์ออนไลน์ พ.ย.64