แรงงานปริทัศน์ ฉบับที่ 406 เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564

แรงงานปริทัศน์ออนไลน์ ก.ค.-ส.ค.64

แรงงานปริทัศน์ออนไลน์ฉบับที่ 59 (406)ประจำเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 พบกันหลังการลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลของสภาผู้แทนราษฎร แม้ว่าผลการลงมติเป็นไปตามที่คาดหมายกันไว้ แต่คะแนนที่ได้รับเป็นรายบุคคลก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมา เนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้รับเสียงไว้วางใจต่ำสุดเป็นอันดับ 2 รองจากอันดับสุดท้ายแต่ได้รับเสียงไม่ไว้วางใจสูงที่สุด ส่วนผู้ที่ได้รับเสียงไว้วางใจต่ำที่สุดคือนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในขณะที่ผู้ได้รับเสียงไว้วางใจสูงสุดคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายสุชาติ ชมกลิ่น มีทั้งผลงานที่ได้รับคำชมและคำตำหนิจากฝ่ายแรงงาน แต่โดยภาพรวมก็เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่มีความขยันขันแข็งและเอาใจใส่ปัญหาแรงงานดีเมื่อเปรียบเทียบกับรัฐมนตรีคนอื่นๆที่ผ่านมาซึ่งส่วนใหญ่มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแบบไม่ค่อยเต็มใจนัก คะแนนการลงมติที่ออกมาจึงไม่ได้สะท้อนผลงานของนายกฯและรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ แต่บอกถึงความสามารถในการควบคุมคะแนนเสียงส.ส.ของแต่ละพรรคและความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจกับส.ส.ที่ลงมติเสียมากกว่า

ในปัจจุบัน ปัญหาเฉพาะหน้าที่สำคัญที่สุดยังคงเป็นเรื่องของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลังจากที่รัฐบาลเริ่มประกาศผ่อนคลายมาตรการ “ล็อกดาวน์” ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน เป็นต้นมา เพื่อให้ธุรกิจบางประเภทกลับมาดำเนินการได้ เช่น เปิดให้นั่งรับประทานอาหารในร้านอาหารได้ เปิดศูนย์การค้า อนุญาตให้จัดกิจกรรมเกี่ยวกับกีฬาทีมีคนเข้าชมได้ ฯลฯ ส่วนการทำงานในสถานประกอบการและการศึกษาทั้งหมดยังคงใช้ระบบออนไลน์เต็มรูปแบบต่อไป

การผ่อนคลายมาตรการ “ล็อกดาวน์” เกี่ยวข้องโดยตรงกับชีวิตทางเศรษฐกิจของแรงงานทั้งที่เป็นแรงงานในระบบและนอกระบบ แต่มาตรการดังกล่าวยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าจะทำให้ปัญหาโรคระบาดกลับทวีความรุนแรงขึ้นอีกหรือไม่ เนื่องจากในปัจจุบันแม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในแต่ละวันจะลดลงจากช่วงก่อนหน้านี้ แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับสูง วันละประมาณ 15,000 คนโดยเฉลี่ย แน่นอนว่ากลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการผ่อนคลายมาตรการ”ล็อกดาวน์”ส่วนใหญ่คือแพทย์และผู้ที่ไม่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากมาตรการล็อกดาวน์

สำหรับผู้ประกอบอาชีพซึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์โดยตรง ย่อมมีความคาดหวังว่าเมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการแล้ว จะช่วยให้กลับมามีรายได้เหมือนเดิม แต่ในความเป็นจริงร้านอาหารไม่สามารถขายอาหารได้เพิ่มขึ้นมากนัก เพราะกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ที่เข้ามานั่งรับประทานอาหารในร้านส่วนใหญ่คือคนทำงานในหน่วยงานของรัฐและนักศึกษาในมหาวิทยาลัยซึ่งยังคงถูกบังคับให้ทำงานหรือเรียนหนังสืออยู่ที่บ้าน นอกจากนี้ในปัจจุบันเริ่มมีการพูดถึงผลกระทบของการเรียนออนไลน์ที่ทำให้ประสิทธิภาพการเรียนรู้ต่ำลงโดยเฉพาะการเรียนในระดับเด็กเล็ก และบั่นทอนการทำกิจกรรมทางสังคมของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นบทบาททางสังคมที่สำคัญควบคู่กับหน้าที่ในการศึกษาเล่าเรียนของนักศึกษา

ดังนั้นทางออกของการดำเนินชีวิตของประชาชนทั่วโลกในยุคการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงไม่ใช่อยู่ที่การใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวด แต่อยู่ที่การทำให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตทางเศรษฐกิจและสังคมร่วมกับการดำรงอยู่ของโรคระบาดได้อย่างไร รัฐบาลของบางประเทศที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลได้เริ่มทดลองใช้ทางออกใหม่แล้ว ส่วนประเทศไทยจะมีการศึกษาบทเรียนของต่างประเทศเพื่อนำมาใช้ในสังคมไทยบ้างไหม?