แรงงานปริทัศน์ ฉบับที่ 405 เดือนมิถุนายน 2564

แรงงานปริทัศน์ออนไลน์ฉบับที่ 58 (405) ประจำเดือนมิถุนายน 2564 ครบรอบ 41 การจากไปของอารมณ์ พงศ์พงัน อดีตผู้นำแรงงานและปัญญาชนของขบวนการแรงงานไทย ซึ่งจากไปเมื่อ 21 มิถุนายน 2523 แรงงานปริทัศน์ฉบับนี้จึงได้นำสนอบทความเรื่อง “กรรมกร” ที่เขียนโดยอารมณ์ พงศ์พงัน เพื่อเป็นการรำลึกถึงบทบาทของอดีตผู้นำแรงงานที่มีความโดดเด่นท่านนี้

แม้ว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับที่มีผู้ติดเชื้อวันละ 2,000-4,000 คนต่อวันและมีผู้เสียชีวิตอีกวันละหลายสิบคน แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่จากผลกระทบของโรคระบาดและปัจจัยอื่นๆ อย่างต่อเนื่องในระยะ 2 ปีเศษมานี้  ทำใหรัฐบาลต้องเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้กลับสู่วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจที่จะมีรายได้สำหรับการยังชีพอีกครั้ง

ทั้งนี้มาตรการสำคัญที่นานาประเทศใช้เพื่อยับยั้งโรคระบาดคือการฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ แต่เนื่องจากความผิดพลาดในการตัดสินใจของรัฐบาล ทำให้ประเทศไทยเริ่มฉีดวัคซีนได้ช้ากว่าประเทศอื่นๆ และขณะนี้ ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ของพระราชบัญญัติประกันสังคมที่ได้รับการฉีดวัคซีนครั้งแรกไปแล้ว ยังไม่ได้รับการนัดหมายสำหรับการฉีดครั้งที่ 2 เนื่องจากความไม่แน่นอนว่าจะได้รับวัคซีนที่สั่งซื้อไปตามกำหนดเวลาหรือไม่

ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 เป็นเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ได้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว แม้ว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจากพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลว่าเป็นการจัดสรรงบประมาณที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ต้องแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเร่งด่วน เช่น การที่กระทรวงกลาโหมยังคงตั้งงบประมาณซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เพิ่มขึ้น ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขที่ต้องเป็นหลักในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ถูกตัดงบประมาณ รวมถึงงบประมาณด้านการศึกษาสำหรับเด็กด้อยโอกาสก็ถูกลดลงจากปีที่แล้วทั้งที่ในสถาณการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เด็กด้อยโอกาสย่มประสบปัญหาความยากลำบากในการศึกษามากกว่าเด็กทั่วไป เช่นเดียวกับการที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ไม่มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าที่ภาคประชาสังคมรณรงค์เคลื่อนไหวมาก่อนหน้านี้ ดังนั้นจึงคาดการณ์ได้ว่าในอนาคตอันใกล้นี้ ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยจะทวีความรุนแรงขึ้นท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

สุดท้ายนี้นอกจากการเตรียมตัวรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นอยู่แล้ว ประชาชนไทยและขบวนการแรงงานอาจต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จากการเลือกตั้งทั่วไปที่อาจเกิดขึ้นเร็วกว่ากำหนด หากรัฐบาลไม่สามารถบริหารประเทศให้หลุดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจและการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

แรงงานปริทัศน์ออนไลน์ มิ.ย.64