แรงงานปริทัศน์ ฉบับที่ 404 เดือนพฤษภาคม 2564

แรงงานปริทัศน์ออนไลน์ฉบับที่57 (404) ประจำเดือนพฤษภาคม 2564 ในปีนี้วันกรรมกรสากลผ่านพ้นไปโดยไม่มีขบวนเดินรณรงค์ติดต่อกัน 2 ปีแล้ว ด้วยพิษของโรคระบาดโควิด-19 ถึงกระนั้นก็ตามองค์กรแรงงานหลายกลุ่มยังคงมีการเคลื่อนไหวยื่นขอเรียกร้องต่อรัฐบาลดังนี้

กลุ่มของสภาองค์การลูกจ้าง 15 แห่งและสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจยื่นข้อเรียกร้องให้แก้ปัญหาแรงงาน 7 ข้อ

กลุ่มของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์มีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และข้อเรียกร้องทั่วไปเรื่องสวัสดิการ สาธารณสุข การศึกษา ค่าจ้างแรงงาน สิทธิแรงงาน ฯลฯ รวม 22ข้อ

กลุ่มของสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และองค์กรเครือข่ายแรงงานยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลในประเด็นแรงงาน และการเสริมสร้างเศรษฐกิจ รวม 6 ข้อ

รายละเอียดของข้อเรียกร้องแต่ละกลุ่มสามารถติดตามได้ในแรงงานปริทัศน์ฉบับนี้ ทั้งนี้หากไม่เกิดปัญหาการแพร่ระบาดรอบที่ 3 ของโรคโควิด-19 ขบวนการแรงงานก็จะได้เห็นการปรากฏตัวของแรงงานกลุ่มใหม่คือกลุ่ม “สหภาพคนทำงาน” ซึ่งเป็นการรวมตัวกันขอผู้นำแรงงาน นักวิชาการ และนักกิจกรรมแรงงานที่มีแนวคิดทางการเมืองแบบเดียวกัน ซึ่งเตรียมจัดกิจกรรมวันเมย์เดย์ในปีนี้แต่ไม่สามารถทำได้

สถานการณ์แพร่ระบาดรอบที่ 3 ของโรคโควิด-19 มีความร้อนแรงทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตมากกว่ารอบแรกและรอบที่ 2 อย่างมาก การใช้มาตรการเข้มงวดในเขตควบคุมสูงสุด 6 จังหวัดได้แก่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ปทุมธานี นนทบุรี เชียงใหม่ ชลบุรี ถึงขณะนี้ยังไม่ทำให้สถานการณ์ผู้ติดเชื้อเปลี่ยนแปลงไป แต่ที่แน่ๆ มาตรการจำกัดการรวมกลุ่มของประชาชน เช่นการห้ามนั่งทานอาหารในร้าน การจัดงานชุมนุมต่างๆ การให้ทำงานอยู่กับบ้านเต็มรูปแบบ นำมาซึ่งการล้มละลายของระบบเศรษฐกิจฐานรากของประชานที่ต้องพึ่งพาการขายอาหารและขับขี่รถรับจ้าง รวมถึงคนตกงานจากโรงงานที่ทยอยปิดตัวโดยที่ก่อนหน้านี้เงินออมก้อนสุดท้ายของคนเหล่านี้ได้ถูกใช้หมดไปแล้วตั้งแต่การระบาดรอบแรก

บรรยากาศทางการเมืองในยุคโควิด-19 ก็เข้าสู่โหมดของความหดหู่มานานหลายเดือนแล้ว คนรุ่นใหม่ต่อสู้แบบยอมตาย ยอมติดคุกท่ามกลางความเฉยเมยของรัฐและสังคมไทย ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมายิ่งเลวร้ายกว่า ผู้ประท้วงที่ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนถูกยิงตายอย่างโหดเหี้ยมเกือบ 1,000 คนนับตั้งแต่เริ่มประท้วงต่อต้านการรัฐประหาร จนคนหนุ่มสาวส่วนหนึ่งเปลี่ยนวิถีการต่อสู้ไปจับอาวุธร่วมกับกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อสู้กับรัฐบาลทหาร

เรายังคงต้องเดินหน้าต่อไปท่ามกลางสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมที่น่าหดหู่ รอรับวันใหม่ที่ประชาธิปไตยและความเป็นธรรมอาจเดินทางมาถึงหากไม่ใช่ในรุ่นของเราก็คงเป็นรุ่นต่อจากเรา

แรงงานปริทัศน์ออนไลน์ พ.ค.64