แรงงานปริทัศน์ฉบับที่ 402 เดือนมีนาคม 2564

แรงงานปริทัศน์ออนไลน์ฉบับที่ 55 (402) ประจำเดือนมีนาคม 2564 พบกันในสถานการณ์ร้อนระอุของอากาศในช่วงเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างสมบูรณ์ และความร้อนรุ่มจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองที่รายล้อมอยู่รอบๆ ตัวประชาชนคนไทยทุกคนในขณะนี้

งานรณรงค์วันสตรีสากล 8 มีนาคม ในปีนี้ มีความตกต่างจากปีที่ผ่านมา เพราะนอกจากจะมีการยื่นข้อเรียกร้องจากกลุ่มแรงงานสตรีแล้ว ยังมีภาคประชาสังคมกลุ่มอื่นๆ ร่วมนำเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลอีกหลายกลุ่ม  สำหรับกลุ่มที่นำเสนอข้อเรียกร้องด้านแรงงานมี 3 กลุ่มคือ 1) กลุ่มของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 2)กลุ่มของสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตฯ มูลนิธิเอ็มเพาเวอร์ ฯลฯ และ 3) เครือข่ายผู้หญิงและเด็กประกอบด้วยองค์กรพัฒนาเอกชนด้านผู้หญิงและเด็กหลายองค์กร รายละเอียดข้อเรียกร้องของทั้ง 3 กลุ่มติดตามได้ในแรงงานปริทัศน์ฉบับนี้

นอกจากนี้ในสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งมีประชาชนกลุ่มต่างๆ รณรงค์เคลื่อนไหวอยู่ก่อนแล้วหลายกลุ่ม จึงได้ถือเอาวันสตรีสากล 8 มีนาคม 2564 เป็นวันนำเสนอข้อเรียกร้องของกลุ่มตัวเองด้วย ได้แก่ เครือข่ายขบวนการเคลื่อนไหวของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นการรวมตัวกันของเครือข่ายขบวนการเคลื่อนไหวของผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบต่างๆ 19 ประเด็นประกอบด้วย ผู้หญิงทำงานบริการ ผู้หญิงพิการ ผู้หญิงคนจนเมือง ผู้หญิงจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ ฯลฯ เครือข่ายมีข้อเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และยังมีการชุมนุมของกลุ่มราษฎร กลุ่มเดินทะลุฟ้า กลุ่ม WEVO เพื่อติดตามคดีของแกนนำ 18 คนที่ตกเป็นผู้ต้องหาก่อนหน้านี้ เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ได้มีการออกแถลงการณ์ในวันสตรีสากลเรียกร้องให้รัฐบาลคำนึงถึงสิทธิในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของผู้ถูกจับกุมในคดีทางการเมือง

สืบเนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจหลังเกิดโรคระบาดโควิด-19 และปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนปี 2563 ทำให้เกิดการเลิกจ้างคนงานขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง รายละเอียดติดตามได้ในแรงงานปริทัศน์ฉบับนี้ ในขณะที่มาตรการเยียวยาของรัฐสำหรับผู้ประกันตนตามพ.ร.บ.ประกันสังคมมาตรา 33 ก็มีข้อถกเถียงในเรื่องที่แรงงานข้ามชาติซึ่งจ่ายเงินสมทบเช่นเดียวกับแรงงานไทยไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยา เนื่องจากมีการกำหนดเงื่อนไขว่าผู้ที่จะได้รับเงินต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น ถือได้ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติต่อลูกจ้างอันเนื่องมาจากความแตกต่างด้านสัญชาติ

สุดท้ายนี้ขอแสดงความคารวะต่อพี่น้องชาวเมียนมาที่ยืนหยัดต่อสู้กับอำนาจเผด็จการทั้งประเทศโดยไม่มีการแบ่งขั้ว แบ่งฝ่าย แม้จะถูกปราบปรามอย่างเหี้ยมโหดจนเสียชีวิตไปหลายร้อยคน ความหวังสุดท้ายอยู่ที่นานาชาติที่จะต้องเข้าไปยับยั้งการเข่นฆ่าประชาชนของรัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมาให้เป็นผลสำเร็จ ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนหลายประเทศมีท่าทีวางเฉยเนื่องจากรัฐบาลของประเทศเหล่านี้เองก็มีพฤติกรรมที่เกือบไม่แตกต่างจากรัฐบาลทหารของพม่า

แรงงานปริทัศน์ออนไลน์ มี.ค.64