แรงงานปริทัศน์ฉบับที่ 401เดือนกุมภาพันธ์ 2564

แรงงานปริทัศน์ออนไลน์ฉบับที่ 54 (401) ประจำเดือน กุมภาพันธ์ 2564 พบกันอีกครั้งในสถานการณ์แพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 ที่ทำให้ต้องกลับไปสู่ภาวะซึ่งประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการขาดรายได้ต้องรอรับเงินเยียวยาช่วยเหลือจากรัฐอีกครั้ง กลุ่มคนจนที่เป็นแรงงานในระบบซึ่งเป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคมมาตรา 33 ที่ยังไม่ตกงาน แต่ก็ได้รับผลกระทบไม่น้อยกว่าคนจนกลุ่มอื่นๆ หลังจากที่ถูกทอดทิ้งจากมาตรการเยียวยาของรัฐมานาน บัดนี้ถึงคราวที่จะได้รับส่วนแบ่งจากการเยียวยาบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีข้อสังเกตและข้อถกเถียงว่าผู้ประกันตนตามมาตรา33 ได้รับประโยชน์จริงหรือไม่? ผู้สนใจติดตามอ่านได้ในแรงงานปริทัศน์ฉบับนี้

อย่างไรก็ตาม มาตรการเยียวยาหลากหลายวิธีที่มีอยู่ในขณะนี้ เป็นเพียงการบรรเทาทุกข์ของคนจนในช่วงเฉพาะหน้านี้เท่านั้น ในขณะที่การแก้ปัญหาโรคระบาดพอจะมองเห็นทางออกจาการฉีดวัคซีน แต่การฟื้นฟูเศรษฐกิจซึ่งเป็นการแก้ปัญหาระยะยาวของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากพิษของโรคระบาดโควิด-19 ทั้ง 2 ครั้ง ยังคงเป็นความหวังอันริบหรี่ของประชาชนที่ต้องการก้าวให้พ้นวิกฤตเศรษฐกิจที่ยาวนานมาจวนจะครบ 1 ปี

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา มีสถานการณ์ทางการเมืองที่สำคัญเกิดขึ้นหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลรวม 10 คน การลงมติผ่านพ้นไปโดยไม่มีสิ่งใดเหนือความคาดหมาย แต่ข้อมูลต่างๆ ที่สส.พรรคฝ่ายค้านได้เปิดอภิปรายก่อนการลงมติ ได้แสดงให้เห็นถึงปัญหาที่ดำรงอยู่อย่างยาวนานในสังคมไทย น่าเสียดายที่ข้อมูลเหล่านี้หากถูกนำมาเปิดเผยต่อสาธารณชนในประเทศซึ่งระบอบประชาธิปไตยงอกงามและเข้มแข็งแล้ว ย่อมนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทางการเมือง แต่สำหรับประเทศไทยในขณะนี้ ข้อมูลซึ่งมีคุณค่าเหล่านี้เป็นเพียงการตอกย้ำความรับรู้และให้ความกระจ่างมากขึ้นสำหรับประชาชนผู้ใฝ่หาสังคมที่เป็นธรรมและมีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงเท่านั้น แต่ไม่มีผลต่อการสั่นคลอนอำนาจของชนชั้นปกครองที่ใช้ทั้งความรุนแรงและการครอบงำทางอุดมการณ์ควบคุมประชาชนส่วนใหญ่ให้อยู่ภายใต้การปกครองอย่างสงบราบคาบ

แรงงานปริทัศน์ฉบับนี้ได้เผยแพร่บทความที่เกี่ยวเนื่องกับอารมณ์ พงศ์พงันเป็นเรื่องแรก คือ “ทรรศนะอันยาวไกลต่อขบวนการแรงงานของอารมณ์ พงศ์พงัน” เขียนโดยรองศาสตราจารย์ ดร. สุธี ประศาสน์เศรษฐ์ อดีตประธานมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน และจะได้พิมพ์เผยแพร่ผลงานอื่นๆที่เกี่ยวเนื่องกับอารมณ์ พงศ์พงัน เพื่อให้ผู้อ่านได้ติดตามอย่างต่อเนื่องต่อไป

แรงงานปริทัศน์ออนไลน์ ก.พ.64