แรงงานปริทัศน์ออนไลน์ฉบับที่ 56(403) ประจำเดือนเมษายน 2564 คนไทยต้องผ่านเทศกาลสงกรานต์ในปีนี้อย่างเงียบเหงาเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน เนื่องมาจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่(ครั้งที่3) ของโรคไข้หวัดโควิด-19 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ไม่นาน การระบาดในรอบที่ 2 มีทีท่าว่าจะถูกควบคุมได้ แต่กลับปรากฏข่าวการติดเชื้อของคนจำนวนมากขึ้นมาอีกครั้งโดยมีที่มาจากต้นตอเดิมๆ คือสถานบันเทิง และในครั้งนี้ยังมีผู้บริหารประเทศระดับรัฐมนตรีติดเชื้อด้วย กลายเป็นเรื่องที่ซ้ำเติมความรู้สึกของประชาชนที่กำลังมีความทุกข์อยู่แล้วให้หดหู่ใจมากขึ้น จากการที่ประชาชนระดับล่างถูกตำหนิตลอดมาว่า “การ์ดตก” จนเป็นสาเหตุการแพร่ระบาดรอบใหม่ของโรค ขณะนี้เกิดคำถามว่าผู้บริหารของรัฐบาลนี้มีระเบียบวินัยในการดำเนินชีวิตอย่างไร จึงไปติดโรคโควิด-19ได้
การระบาดใหม่เป็นครั้งที่ 3 ของโรคโควิด-19 ในช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ดับความหวังของคนที่พึ่งพาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวซึ่งรวมถึงคนงานจำนวนมากในธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร รถโดยสาร และผู้ค้าขายรายย่อย ซึ่งก่อนหน้านี้คาดว่ารายได้จะกลับมาเฟื่องฟูขึ้นบ้างจากการใช้จ่ายในช่วงวันหยุดยาว ความรู้สึกสิ้นหวังของประชาชนจำนวนมากที่ต้องสูญเสียรายได้และหน้าที่การงานในช่วงของการใช้ชีวิตในวิถี “นิวนอร์มอล”มาอย่างยาวนาน ควบคู่ไปกับความคับข้องใจจากการถูกจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองภายใต้การปกครองของรัฐบาลซึ่งไม่ยึดโยงกับความต้องการและความคิดเห็นของประชาชน ทำให้เกิดบรรยากาศของความอึดอัดและตึงเครียดอยู่ทั่วไป
ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัญหาความเหลื่อมล้ำที่สะสมมานานซึ่งถูกทำให้เด่นชัดขึ้นเมื่อเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 นำมาสู่การมองหาทางออกเชิงโครงสร้างที่ยั่งยืนมากกว่าการรอคอยเงินเยียวยาจากรัฐบาลที่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ในทุกวันนี้จึงเกิดการถกเถียงเรื่องระบบสวัสดิการในระดับชาติ เพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม และการคุ้มครองทางสังคมให้แก่คนระดับล่างในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ จนกลายเป็นหัวข้อการอภิปรายที่ถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกำหนดรายได้ขั้นพื้นฐาน สวัสดิการถ้วนหน้าในด้านต่างๆ รวมถึงกองทุนบำเหน็จ บำนาญที่เพียงพอต่อการดำรงชีพของคนงานหลังเกษียณอายุ
ในขณะที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะวิกฤต บรรยากาศทางการเมืองก็ไม่เอื้ออำนวยต่อการคลี่คลายความขัดแย้งทางความคิดในรอบหลายปีที่ผ่านมาจากการแบ่งขั้วระหว่างคนเสื้อเหลือง แดง สลิ่ม มาสู่ความแตกต่างระหว่างวิธีคิดของคนรุ่นใหม่และคนที่คิดแบบเดิม ในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนควรมีสิทธิทั้งการเลือกตั้งเพื่อสร้างประชาธิปไตยในระบบตัวแทน และการแสดงออกผ่านขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมซึ่งเป็นวิถีของประชาธิปไตยทางตรง กลับกลายเป็นว่าผู้ที่เคลื่อนไหวแสดงออกทางความคิดในสิงที่เห็นไม่เหมือนรัฐบาลถูกจับกุมคุมขังโดยไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวก่อนที่จะมีคำพิพากษาของศาล
สุดท้ายนี้ขอเชิญชวนให้อ่านบทความเกี่ยวกับชีวิตและงานของอารมณ์ พงศ์พงัน ในแรงงานปริทัศน์ฉบับนี้ซึ่งเขียนโดย อมรลักษณ์ พงศ์พงัน ภรรยาคู่ทุกข์ คู่ยากของอารมณ์ พงศ์พงัน เป็นส่วนหนึ่งของงานในอดีตที่จะนำมาเผยแพร่อย่างต่อเนื่องตามที่ได้เคยแจ้งไว้ต่อผู้อ่านแรงงานปริทัศน์
แรงงานปริทัศน์ออนไลน์ เม.ย.64