แรงงานปริทัศน์ ฉบับที่ 390 เดือนมีนาคม 2563

แรงงานปริทัศน์ออนไลน์ฉบับที่ 43 (390) ประจำเดือน มีนาคม 2563 พบกันในสถานการณ์ภัยพิบัติจากโรคระบาดที่แพร่กระจายไปทั่วโลก โดยยังไม่ทราบว่าการระบาดจะขึ้นสู่จุดสูงสุดและลดลงเมื่อใด เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ธรรมชาติได้เตือนเราว่าต่อให้มนุษย์ควบคุมและใช้ประโยชน์จากธรรมชาติได้มากเพียงใด ก็จะมีสักวันหนึ่งที่ธรรมชาติจะกลับมาเอาคืนเพื่อสร้างสมดุลให้โลกนี้อีกครั้ง

สถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทยช่วงในเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคมหยุดนิ่งจนได้รับคำชมจากต่างประเทศ แต่กลับมีอัตราการแพร่ระบาดพุ่งขึ้นสูงผิดปกตินับจากกลางเดือนมีนาคมเป็นต้นมาตามที่ได้รับรู้กันแล้ว มาตรการหนึ่งที่รัฐนำมาใช้คือการออกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน(พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ตั้งแต่ 26 มีนาคม 2563 เป็นต้นมาเพื่อหวังยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโรค โดยพ.ร.ก.ฉุกเฉินนี้ให้อำนาจรัฐบาลควบคุมเสรีภาพของประชาชนในเรื่องต่างๆ เช่นการเดินทาง การชุมนุมในที่ต่างๆ การเผยแพร่ข่าวสาร ฯลฯ

ในขณะนี้มีเสียงเรียกร้องให้ประชาชนให้ความร่วมมือกับรัฐ จนถึงขนาดว่าหากใครมีความเห็นวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐในเรื่องการแก้ไขปัญหาต่างๆ จะกลายเป็นพวก “มือไม่พาย เอาเท้าราน้ำ” และไม่ฟังข้อเสนอการแก้ปัญหาเชิงนโยบายที่มาจากพรรคฝ่ายค้านหรือประชาชนกลุ่มอื่นๆที่ไม่ใช่ฝ่ายสนับสนุนรัฐ เช่นมีการตั้งคำถามว่า ขณะนี้ถึงเวลาหรือยังที่รัฐบาลควรปรับเปลี่ยนงบประมาณของบางหน่วยงานที่ไม่จำเป็นต่อชีวิตประชาชน มาระดมเพื่อแก้ปัญหาด้านการรักษาผู้ติดเชื้อและการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจก่อน แทนที่จะเรียกร้องเอาเงินบริจาคจากประชาชน ทั้งนี้โรงพยาบาลหลายแห่งเช่นโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ได้มีการระดมเงินจากศิษย์เก่าและประชาชนทั่วไปจัดทำโรงพยาบาลสนามและพัฒนาหน้ากากสะท้อนไอน้ำ ในขณะที่ภาครัฐกลับเกิดกรณีมีคนใกล้ชิดผู้บริหารกักตุนหน้ากากอนามัยเพื่อส่งออกขายต่างประเทศในราคาแพงโดยไม่มีการสืบสวนลงโทษ

นอกจากนี้มีข้อกังวลว่าการออกพ.ร.ก.ฉุกเฉินจะมีการฉวยโอกาสควบคุมการเคลื่อนไหวของฝ่ายที่ไม่ชอบรัฐบาล ทั้งนี้คงจำกันได้ว่าเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนมีนาคมเกิดกระแส Flash Mob ที่นำโดยนิสิตนักศึกษาและนักเรียนทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง เป็นปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งใหญ่หลังการรัฐประหาร 2557 นับเป็นโชคดีของรัฐบาลแต่เป็นโชคร้ายของระบอบประชาธิปไตยที่การเกิดโรคระบาดโควิด-19ทำให้ไม่สามารถคงกระแสดังกล่าวไว้ได้ ยิ่งเมื่อรัฐบาลออกพ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ยิ่งน่ากังวลว่าพ.ร.ก.นี้คงไม่เพียงออกมาเพื่อสกัดกั้นการแพร่เชื้อโควิด-19 แต่จะเป็นการควบคุมเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลไปด้วย

ขบวนการเคลื่อนไหวของแรงงานก็พลอยซบเซาไปด้วยเพราะกิจกรรมหลายอย่างต้องถูกงดไป มิหนำซ้ำแรงงานทุกกลุ่มคือผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยตรงอย่ารุนแรง งานรณรงค์วันสตรีสากล 8 มีนาคมที่นำเสนอในแรงงานปริทัศน์ฉบับนี้คงจะเป็นงานเคลื่อนไหวออกสู่ท้องถนนงานสุดท้าย ในขณะที่งานวันแรงงานสากล 1 พฤษภาคมต้องถูกยกเลิกไป

สุดท้ายนี้ของให้ทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรง แคล้วคลาดจากโรคระบาดและร่วมกันคิดต่อไปว่าในสถานการณ์เช่นนี้เราจะทำอะไรได้บ้าง?

แรงงานปริทัศน์ออนไลน์ มี.ค.63