แรงงานปริทัศน์ออนไลน์ฉบับที่ 37 (384) ประจำเดือนกรกฎาคม 2562 พบกับท่านผู้อ่านท่ามกลางฝุ่นตลบทางการเมือง จากการที่นายกรัฐมนตรียังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้หลังการเลือกตั้งผ่านมา 3 เดือนเศษแล้ว แต่กลับเกิดความรุนแรงทางการเมืองจากเหตุการณ์ที่นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ”จ่านิว” ถูกลอบทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสี่ยงต่อการสูญเสียดวงตาข้างหนึ่ง โดยที่ก่อนหน้านี้ก็มีข่าวเรื่องการลอบทำร้ายนักกิจกรรมทางการเมือง ที่มีแนวคิดต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหารอยู่หลายครั้ง โดยที่ไม่เคยมีการจับกุมผู้ทำผิดมาดำเนินคดี และยังมีเรื่องที่น่าตกใจคือกระแสสังคมที่คนส่วนหนึ่งแสดงความคิดอย่างเปิดเผยชัดเจนว่ายินดีกับการที่คนซึ่งมีความเห็นต่างทางการเมืองเหล่านี้ถูกทำร้าย
การตั้งรัฐบาลไม่ได้ ทำให้การขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาของประชาชนรวมทั้งปัญหาแรงงานไม่อาจทำได้ การเคลื่อนไหวของแรงงานในระยะนี้เป็นเรื่องนโยบายด้านการคมนาคมซึ่งสมาพันธ์คนงานรถไฟ ได้มีการเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดการออกกฎหมายเพื่อแปรรูปกิจการขนส่งทางรางของรัฐไปเป็นของเอกชน โดยสมาพันธ์ไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. …. และเรียกร้องให้พรรคการเมืองทุกพรรคช่วยกันตรวจสอบร่างกฎหมายดังกล่าว นอกจากนี้สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ร่วมกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ยังได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อคัดค้านและขอให้ทบทวนการขยายระยะเวลาสัมปทานโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด ส่วนคลินิกกฎหมายแรงงานฉบับนี้ ทนายความ ชฤทธิ์ มีสิทธิ์ นำเสนอเรื่องกำหนดการเกษียณอายุกับค่าชดเชย 400 วันตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ สนใจติดตามอ่านได้ในแรงงานปริทัศน์ฉบับนี้
ในด้านความเคลื่อนไหวระดับสากล คณะกรรมการไทยเพื่อการจัดการประชุมอาเซียนภาคประชาชนได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อประธานและผู้นำอาเซียนเรื่อง ข้อเสนอของภาคประชาสังคมต่อเรื่องการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืนของประชาคมอาเซียนในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนในปี2562
สำหรับในประเด็นเรื่องแรงงาน คณะกรรมการว่าด้วยเสรีภาพการสมาคมขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ได้สรุปกรณีการละเมิดสิทธิแรงงานไทยที่รัฐบาลไทยถูกร้องเรียน 2 กรณีคือ 1) การละเมิดสิทธิแรงงานที่ถูกร้องเรียนในปี 2558 ได้แก่การที่พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์พ.ศ.2518 และพ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์พ.ศ.2543 ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขององค์การแรงงานระหว่าประเทศ(ILO) และ 2) การละเมิดสิทธิแรงงานได้แก่ การที่บริษัทการบินไทยจำกัด(มหาชน) ได้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้นำสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยเป็นจำนวนกว่า 300 ล้านบาท จากการที่ผู้นำสหภาพแรงงาน 4 คนนำพนักงานกว่า 1,000 คน หยุดงานประท้วงการที่บริษัทฯไม่ยอมตกลงขึ้นเงินเดือนและจ่ายโบนัสให้แก่พนักงาน
นอกจากนี้มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่ให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติและผู้ได้รับความเสียหายจากการค้ามนุษย์หรือการบังคับใช้แรงงาน ได้มีข้อเสนอต่อรัฐบาลไทยรวม 7 ข้อเพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างยั่งยืน ทั้งหมดนี้สามารถติดตามได้ในแรงงานปริทัศน์ฉบับนี้
สุดท้ายนี้ขอแสดงความอาลัยต่อการจากไปของคุณสพรั่ง มีประดิษฐ์ อดีตผู้นำสหภาพแรงงานเอสโซ่ และสหพันธ์แรงงานปิโตรเลียมและเคมีพันธ์แห่งประเทศไทย ขบวนการแรงงานไทยได้สูญเสียผู้นำอาวุโสที่ดีไปอีกหนึ่งท่านแล้ว