แรงงานปริทัศน์ ฉบับที่ 373 เดือนสิงหาคม 2561

แรงงานปริทัศน์ออนไลน์ฉบับที่26 (373) ประจำเดือนสิงหาคม 2561 พบกันในสถานการณ์ภัยพิบัติของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ตั้งแต่เกิดพายุฝนรุนแรงและเขื่อนแตกในสปป.ลาวจนเกิดน้ำท่วมหนักทำให้คนลาวเสียชีวิตและไร้ที่อยู่อาศัยจำนวนมาก ภูเขาไฟระเบิดในอินโดนีเซีย และล่าสุดคือสถานการณ์น้ำท่วมในภาคอิสานและภาคใต้ของไทยที่กำลังจะเกิดขึ้นจากการระบายน้ำที่ล้นเขื่อน ปัญหาภัยพิบัติแม้หลีกเลี่ยงไม่ได้แต่สามารถบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการมีแผนการรับมือในระยะยาวและการเยียวยาผู้เคราะห์ร้ายทั้งจากภาครัฐและจากน้ำใจของคนในสังคมเดียวกันหรือผู้อยู่ร่วมโลกที่ก้าวข้ามพรมแดนของความเป็นชาติ

แรงงานปริทัศน์ออนไลน์ฉบับนี้มีบทความว่าด้วยสถานการณ์ของแรงงานไทยและสหภาพแรงงานที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่มีการใช้หุ่นยนต์แทนแรงงานคน และการลดการผลิตเพื่อตอบสนองนโยบาย “ลดภาวะโลกร้อน” ทีทำให้คนงานจำนวนหนึ่งต้องถูกเลิกจ้าง ในประเด็นนี้ ผู้นำสหภาพแรงงานบางคนโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมก่อสร้างอาจได้เข้าร่วมโครงการ”พัฒนาศักยภาพแกนนำเพื่อการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม” ซึ่งเป็นโครงการที่ต้องการเตรียมความพร้อมสหภาพแรงงานให้สามารถรับมือกับปัญหาการถูกเลิกจ้างแรงงานจำนวนมากภายใต้ข้ออ้างในการตอบสนองกระแสสากลเรื่องการลดภาวะโลกร้อน โดยหลักการของฝ่ายแรงงานคือ การเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตไปสู่สิ่งที่ดีกว่าในด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจะต้องเป็น “การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม”สำหรับคนทุกฝ่ายรวมถึงคนงานด้วย

จากการอบรมครั้งล่าสุดโดยมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยภายใต้การสนับสนุนของFES ระหว่างวันที่ 3- 4 สิงหาคมที่ผ่านมา ผู้เข้าร่วมอบรมที่เป็นแกนนำของสหภาพแรงงานได้ช่วยกันจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในระดับต่างๆเพื่อนำไปสู่”การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม” ซึ่งคาดว่าจะได้มีการนำไปถ่ายทอดในองค์กรสหภาพแรงงานเพื่อแลกเปลี่ยนกับผู้ที่มิได้มาเข้าร่วมการอบรมต่อไป

เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 วันการเสียชีวิตของคุณราณี หัสสรังสี ผู้ประสานงานอาวุโสคณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรมหาวิทยาลัย หน่วยงานต่างๆ ได้มีการจัดสัมมนาเรื่อง “สถานการณ์สวัสดิการในสังคมไทย 2018” ผู้สนใจติดตามข้อมูลได้ในแรงงานปริทัศน์ฉบับนี้

ในด้านความเคลื่อนไหวขององค์กรแรงงาน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)ได้มีการติดตามผลการดำเนินงานเนื่องในวันความปลอดภัยแห่งชาติต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่ได้มีการยื่นหนังสือไว้เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2561 โดยข้อเรียกร้องมีทั้งหมด 13 ข้อ แรงงานปริทัศน์ขอให้กำลังใจ คสรท.ในการติดตามคำตอบของรัฐบาลต่อไปจนกว่าจะได้รับความคืบหน้า ข้อเรียกร้องของแรงงานไม่ควรเป็นเพียงตัวหนังสือในกระดาษที่ทำเป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น

สุดท้ายนี้ขอกล่าวถึงคำพิพากษาของศาลแขวงดอนเมืองที่ยกฟ้องคดีซึ่งโจทก์คือบริษัทธรรมเกษตรจำกัด ยื่นฟ้องแรงงานข้ามชาติ 14 คนฐานหมิ่นประมาท จากการที่ไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของนายจ้างในเรื่อง การทำงานล่วงเวลา การจ่ายค่าจ้าง และการยึดบัตรประจำตัวของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งศาลเห็นว่าแรงงานข้ามชาติใช้สิทธิ์โดยสุจริตในการร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจสำหรับผู้สนับสนุนสิทธิแรงงานโดยปราศจากอคติด้านชาติพันธุ์

แรงงานปริทัศน์ออนไลน์ ส.ค.61