แรงงานปริทัศน์ออนไลน์ฉบับที่28(375) แรงงานปริทัศน์ออนไลน์ ต.ค.61
พบกันในเดือนตุลาคม 2561 ครบรอบ 42 ปีรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 และการปฏิวัติ 45ปี 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่ ที่ประชาชนจำนวนมากอาจลืมเลือนหรือยังเกิดไม่ทัน แต่สำหรับขบวนการแรงงานและผู้ที่มีชีวิตผูกพันกับเหตุการณ์ทั้ง 2 ครั้งนี้ ไม่ควรที่จะลืมเป็นอันขาดว่า สถานการณ์ของสังคมไทยในระหว่างวันที่ 14 ตุลาคม 2516 จนถึง 6 ตุลาคม 2519 ได้ให้กำเนิดและหล่อหลอมขบวนการแรงงานและขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษา กรรมกรให้เติบโต แข็งแกร่งขึ้นทั้งในทางปริมาณและคุณภาพ สืบต่อมาเป็นขบวนการแรงงานในยุคปัจจุบันรวมถึงการให้กำเนิดองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานในเวลาต่อมา ไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน หรือพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยที่กำลังจะมีงานรำลึกครบรอบ 25 ปีในวันที่ 21 ตุลาคมนี้ด้วย
จากอดีตสู่ปัจจุบัน สังคมไทยในยุคที่ผู้นำรัฐบาลเรียกว่า”อุตสาหกรรม 4.0” ยังคงมีประเด็นปัญหาที่ต้องขบคิดกันมากมาย โดยเฉพาะแรงงานจะก้าวไปอย่าไรให้เท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ โดยไม่ถูกเอาเปรียบ ไม่ถูกละเมิดสิทธิ์ และไม่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลังภายใต้ข้ออ้างการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการผลิต หรือแม้กระทั่งการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อลดปัญหาสภาวะโลกร้อน ผู้สนใจอ่านบทความ ภาวะโลกร้อนของภาคธุรกิจ “ระบบคัดออก” ผลกระทบต่อแรงงาน ได้ในแรงงานปริทัศน์ฉบับนี้
ไม่ว่าจะเป็นสังคมยุคไหน บทบาทของสื่อมวลชนมีความสำคัญต่อการเสริมความได้เปรียบหรือความเข้มแข็งให้กับขบวนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในการรณรงค์ต่อสู้ พัฒนาการของสื่อมวลชนเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ในอดีตข่าวความเคลื่อนไหวของประชาชนมีโอกาสน้อยที่จะได้ช่วงชิงพื้นที่ในสื่อกระแสหลัก ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ ทีวี หรือสถานีวิทยุ ต่อมาในยุคที่สื่ออิเล็คโทรนิกส์มีบทบาท แม้ช่องทางจะเปิดกว้างมากขึ้น แต่ก็ใช่ว่าประชาชนทุกกลุ่มจะสามารถสื่อสารความทุกข์ยาก เดือดร้อนของตัวเองออกสู่สาธารณะได้โดยง่าย โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มที่เป็น”ชายขอบ” แรงงานปริทัศน์ฉบับนี้มีบทความจากสื่อมวลชนมืออาชีพ ที่ผันตัวเองจากผู้ผลิตสื่อในหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงฉบับหนึ่งมาก่อตั้ง “สำนักข่าวชายขอบ” ได้บอกเล่ามุมมองของนักสื่อสารมืออาชีพและมือสมัครเล่นจากเวทีการพูดคุยใน โครงการพัฒนาศักยภาพและทักษะนักสื่อสารในภูมภาคและพื้นที่เปราะบาง
สุดท้ายนี้เมื่อความหวังที่จะมีการเลือกตั้งในช่วงต้นหรือกลางปีหน้าใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น บรรยากาศทางการเมืองก็เริ่มคึกคัก น่าจะได้เวลาที่ขบวนการแรงงานและกลุ่มพลังอื่นๆจะผนึกกำลังกันสร้างอำนาจการต่อรองอีกครั้งเพื่อยื่นข้อเสนอนโยบายกับพรรคการเมืองต่างๆที่เสนอตัวเข้ามา เพื่อดูว่าพรรคใดจะมีจุดยืนที่ทำเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ประชาธิปไตยคือการเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุด แต่ในประสบการณ์แต่ละครั้งย่อมต้องมีการสรุปบทเรียนเพื่อจะได้ก้าวพ้นไปจากวังวนแบบเดิมกันเสียที