แรงงานปริทัศน์ ฉบับที่ 374 เดือนกันยายน 2561

แรงงานปริทัศน์ออนไลน์ฉบับที่ 27 (374) ประจำเดือนกันยายน 2561 พบกันเป็นประจำทุกเดือน เพื่อติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงาน ภายใต้สถานการณ์ทางการเมือง ที่มีความหวังว่า จะมีการเลือกตั้งในช่วงต้นปีหน้าตามที่ผู้นำของรัฐบาลออกมายืนยัน หลังจากที่ต้องถูกจำกัดเสรีภาพทางความคิดและการรณรงค์เคลื่อนไหวมานานกว่า 4 ปี จนอาจกลายเป็นความเคยชินสำหรับบางคนที่ลืมไปแล้วว่าสังคมไทยเคยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยมาก่อน

แรงงานปริทัศน์ฉบับนี้ นำเสนอเนื้อหาหลากหลาย เริ่มต้นจากการตั้งคำถามต่อโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC) ที่ให้สิทธิพิเศษต่อนักลงทุนต่างชาติมากมาย แต่ไม่แน่ใจว่าประชาชนไทยได้ประโยชน์อะไร? หรืออาจมีชีวิตที่แย่ลงกว่าเดิม! ส่วนผู้ที่สนใจเรื่องสวัสดิการกับแรงงานข้ามชาติ ในฉบับนี้มีบทความที่ให้แง่คิดจากตัวอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศสวีเดนที่ได้ชื่อว่าเป็นรัฐสวัสดิการแต่ยังคงมีปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อพลเมืองที่เป็นลูกหลานของผู้อพยพที่อยู่อาศัยมาหลายรุ่นแล้วโดยไม่สามารถเข้าถึงบริการของรัฐและไม่มีโอกาสในการทำงานเท่าเทียมกับพลเมืองที่เป็นชาวสวีเดน เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์สำหรับประเทศไทยในปัจจุบันที่ต้องอยู่ร่วมกับแรงงานข้ามชาติและลูกหลานของพวกเขาจำนวนมากว่าจะมีวิธีคิดต่อการปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างไร?

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา มีข่าวคราวเกี่ยวกับสำนักงานประกันสังคม ซึ่งเป็นที่สนใจในแวดวงแรงงาน ได้แก่ การที่จะมีการร่างข้อบังคับใหม่เพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างพนักงานประกันสังคมจากการจ้างงานจนเกษียณอายุมาเป็นการจ้างตามสัญญาจ้างคราวละ 4 ปี ซึ่งทำให้องค์กรแรงงานต้องหารือกันกับพนักงานประกันสังคม เพื่อคัดค้านการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า เป็นการใช้รูปแบบการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมซึ่งเกิดขึ้นในหน่วยงานที่มีหน้าที่บริหารจัดการระบบสวัสดิการของลูกจ้างเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีในสังคม

ในส่วนของแรงงานนอกระบบ มีความเคลื่อนไหวที่สำคัญคือได้มีการจัดเวทีรับฟังความเห็น ร่างพ.ร.บ.บริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ. …. ผู้สนใจติดตามรายละเอียดได้ในแรงงานปริทัศน์ฉบับนี้ เช่นเดียวกับความเคลื่อนไหวขององค์กรด้านผู้หญิงและเด็กที่มีการจัดเวทีเสวนาเกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเยาวชน ซึ่งพบว่าในสังคมไทยปัจจุบันมีปัญหาดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นโดยถูกเพิกเฉย ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากผู้พบเห็น

สุดท้ายนี้ขอแจ้งข่าวอย่างไม่เป็นทางการว่า มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน ได้มีการแต่งตั้งประธานคนใหม่แล้วคือนายเอกชัย เอกหาญกมล อดีตผู้นำแรงงานรุ่นอาวุโสที่ยังคงมีบทบาทอยู่ในแวดวงแรงงานในปัจจุบันและมีนายชฤทธิ์ มีสิทธิ์ ทนายความแรงงานเป็นรองประธาน

แรงงานปริทัศน์ออนไลน์ ก.ย.61