กองทุนบำนาญชราภาพ กับปัญหาโลกร้อน

สกลเดช ศิลาพงษ์

             คุณอาจไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่าเงินกองทุนบำนาญชราภาพของคุณคือต้นเหตุที่ทำให้เกิด “สภาวะโลกร้อน” (Global Warming) ที่สร้างปัญหาอย่างใหญ่หลวงต่อความอยู่รอดของมวลมนุษยชาติในปัจจุบัน มันทำลายธรรมชาติ พืชสัตว์และป่าไม้จนใกล้สูญพันธุ์ ก่อสารพิษในน้ำในอากาศ เป็นอันตรายต่อร่างกาย เนื่องมาจากฝีมือของมนุษย์เผาถ่านหินที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงสร้างพลังงานการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ สิ่งที่ได้มาจากการเผาถ่ายหินคือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) – ถ่านหินจัดได้ว่าสร้างมลพิษมากที่สุดในบรรดาเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหลายมากกว่าก๊าซและน้ำมันและที่สำคัญคือ CO2 ถูกปล่อยออกสู่บรรยากาศ ก่อให้เกิดสภาพ “ก๊าซเรือนกระจก” (Greenhouse Gas) ทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกเลวร้ายลง คุณไม่มีทางทราบได้เลยว่าผู้บริหารเงินกองทุนบำนาญชราภาพที่เรียกว่า “asset owner” จะเปิดเผยข้อมูลว่าเขานำเงินกองทุนของคุณไปลงทุนในธุรกิจอะไรและไม่มีข้อผูกมัดใดๆ เลยที่จะสร้างความมั่นใจได้ว่าการลงทุนในธุรกิจนั้นมีความยั่งยืนหรือส่งผลกระทบมากน้อยแค่ไหน

5 มิถุนายน 2558 รัฐสภาของประเทศนอร์เวย์ ลงคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นประกาศห้ามการใช้เงินกองทุนบำนาญชราภาพไปลงทุนในบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับถ่านหินทั้งหมด การตัดสินใจครั้งนี้เป็นเหตุผลทางการเมืองครั้งสำคัญของประเทศ เบนเข็มออกจากภาคเชื้อเพลิงฟอสซิล “ห้ามลงทุนในบริษัทเหมืองแร่และโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการทำธุรกิจที่เกี่ยวกับการใช้ถ่านหินโดยมีจุดประสงค์ในการผลิตพลังงาน” รัฐบาลประเมินว่าประมาณ 50-75 บริษัทที่ได้รับเงินลงทุนจากกองทุนบำนาญชราภาพอาจตกอยู่ในเกณฑ์เข้าข่ายต้องห้ามนี้ซึ่งเกี่ยวข้องกับเงินการลงทุน 4 – 4.6 พันล้านยูโร รัฐสภาแสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องแสวงหาทางเลือกใหม่ในการใช้พลังงานนอกจากถ่านหิน ยกมาตรฐานใหม่ของนักลงทุนทั่วโลก Norway Sovereign Wealth Funds ถือได้ว่าเป็นกองทุนบำนาญชราภาพที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีทรัพย์สินสูงถึง 1 trillion ดอลลาร์สหรัฐ (19 กันยายน 2560) รายได้ส่วนใหญ่ของประเทศยังมาจากน้ำมัน

12 เมษายน 2560 Ed Murry นายกเทศมนตรีนครSeattle รัฐวอชิงตัน ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกของสหรัฐอเมริกา ขอให้คณะกรรมการบริหารของเมืองพิจารณาห้ามนำเงินกองทุนบำนาญชราภาพของพนักงานที่ทำงานให้กับมลรัฐ(State City Employees’ Retirement System – SCERS) ไปลงทุนในธุรกิจพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่นถ่านหิน ก๊าซและน้ำมัน รวมทั้งการทำเหมืองแร่พร้อมกับขอให้ทบทวนใหม่ถึงสถานการณ์การลงทุนของกองทุนบำนาญชราภาพทั้งในด้านกฎหมายและแสดงความรับผิดชอบต่อการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งมีความเสี่ยงสูงในทางเศรษฐกิจขาลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก ปัจจุบันรัฐมีทรัพย์สินอยู่ในกองทุนบำนาญชราภาพของพนักงานประมาณ 2.53 พันล้านดอลลาร์

1 มิถุนายน 2560 กองทุนบำนาญชราภาพของครูที่ทำงานให้กับมลรัฐแคลิฟอร์เนีย (California State Teaches’ Retirement System – CalSTRS) ประกาศถอนตัวจากการลงทุนจากลงทุนในธุรกิจถ่านหินและหันไปสู่การใช้พลังงานสะอาด อ้างถึงอันตรายที่มาจากการใช้พลังงานถ่านหินของ หมอกควันพิษ สภาพฝนกรดและมลพิษทางอากาศ สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจของรัฐรวมทั้งทำลายสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เพื่อลดสภาพเรือนกระจก ชลออุณหภูมิโลกร้อน รวมทั้งแสดงความรับผิดชอบด้วยการเปลี่ยนผ่านหันมาใช้พลังงานสะอาดแทนเพื่อสร้างทางเลือกใหม่  กองทุนนี้มีสินทรัพย์ 200 พันล้านดอลลาร์

10 สิงหาคม 2560 กองทุนบำนาญชราภาพของพนักงานที่ทำงานให้กับมลรัฐแคลิฟอร์เนีย (California Public Employees’ Retirement System – CalPERS) ประกาศถอนตัวจากจากเข้าไปถือหุ้นธุรกิจถ่านหินและหันไปสู่การใช้พลังงานสะอาดเช่นกัน เนื่องมาจากสภาพภูมิอากาศที่เลยร้ายอันเนื่องจากการใช้พลังงานถ่านหิน ในคำแถลงการณ์กล่าวว่ากองทุนได้ทำในสิ่งที่ถูกต้องต่อประชาชนผู้เสียภาษี สมาชิกขององค์กรและต่อชาวโลก กองทุนนี้มีสินทรัพย์ 301 พันล้านดอลลาร์

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

6 มิถุนายน 2560 รัฐบาลท้องถิ่นที่กรุงวอชิงตัน (District of Columbia – DC) ประกาศยุติการใช้กองทุนเงินบำนาญชราภาพของรัฐด้วยการถอนตัวออกจากการลงทุนในธุรกิจเชื้อเพลิงฟอสซิล พร้อมสัญญาว่า จะควบคุมการปล่อยก๊าซลง 80 % ภายในปี 2593 หลังจากถูกแรงกดดันจากกลุ่มพลเมืองท้องถิ่นที่เรียกว่า “DC Divest Citizen Group” รณรงค์เรียกร้องให้รัฐยุติการลงทุนในธุรกิจเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญในการแสดงเจตจำนงทางการเมืองและทางกิจกรรมการเคลื่อนไหวของกลุ่มพลังสะอาด

11 มกราคม 2561 Andrew Cuomo ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก ประกาศถอนตัวจากการใช้เงินบำนาญชราภาพของรัฐในการลงทุนในธุรกิจถ่านหิน น้ำมันและก๊าซ เป็นจำนวนเงิน 5 พันล้านดอลลาร์ของ กองทุน New York State Common Retirement ซึ่งกองทุนมีทรัพย์สิน 189 พันล้านดอลลาร์ มีสมาชิกอยู่ 1 ล้านคนประกอบไปด้วยตำรวจ นักดับเพลิงและครู กองทุนนี้ถูกนำไปลงทุนใน 50 บริษัทน้ำมันและก๊าซ รัฐนิวยอร์กส่งฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัท Exxon Mobile Chevron BP Shell Conoco Phillips โดยกล่าวหาว่า บริษัทน้ำมันเหล่านี้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแก่นครนิวยอร์กในปี 2555 เนื่องมาจากพายุเฮอริเคน Sandy มีผู้เสียชีวิต 53 คน เศรษฐกิจได้รับความเสียหาย 19 พันล้านดอลลาร์ รถยนต์ถูกทำลาย 250,000 คันเฉพาะที่นครนิวยอร์กรวมทั้งทรัพย์สินเสียหายอีก 32 พันล้านดอลลาร์ทั่วทั้งรัฐนิวยอร์ก ในคำฟ้อง รัฐนิวยอร์กกล่าวหาว่าบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ทั้ง 5 บริษัทก่อให้เกิดภัยพิบัติแก่รัฐจากพายุเฮริเคนและการเพิ่มระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นทำลายทรัพย์สินที่อยู่แถบชายทะเลได้รับความเสียหายอย่างหนัก ยิ่งไปกว่านั้นบริษัทเหล่านี้ทราบถึงผลกระทบของโลกร้อนล่วงหน้ามาตั้งแต่ ปี 2513 แต่ ไม่ให้ความสำคัญ จงใจ หลอกลวงประชาชนเพื่อปกป้องผลกำไรอันเนื่องจากความโลภของพวกเขา ถึงเวลาแล้วบริษัทน้ำมันต้องแสดงความรับผิดชอบ ชดใช้ค่าเสียหายแทนที่ประชาชนผู้เคราะห์ร้ายต้องมาแบกภาระรับเคราะห์แทน

ก่อนหน้านี้ เมื่อ 6 พฤษภาคม 2557 ผู้จัดการทรัพย์สิน (Board of Trustee) ของ Stanford University ที่นคร San Francisco ประกาศว่ามหาวิทยาลัยยุติการลงทุนในธุรกิจฟอสซิล อ้างว่า ต้องการแสดงความรับผิดชอบของในฐานะประชากรโลก ส่งเสริมความยั่งยืนของโลกเรา การใช้ถ่านหินมาผลิตกระแสไฟฟ้าทำให้เกิดสภาวะเรือนกระจกมากกว่าการใช้ฟอสซิลชนิดอื่นมาเป็นเชื้อเพลิง เช่น ก๊าซธรรมชาติและปัจจุบันมีทางเลือกที่ดีกว่ามาแทนการใช้ถ่านหินเป็นพลังงาน เฉพาะที่สหรัฐอเมริกา เงินกองทุนบำนาญชราภาพมีทรัพย์สินรวมกันทั้งหมดสูงถึง 9 trillion ดอลลาร์

ในปี 2558 มีความพยายามลดโลกร้อนนำโดยสหประชาชาติจัดการประชุมที่ฝรั่งเศส ลงนามทำข้อตกลงอนุสัญญาว่าด้วยการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เรียกว่า “ข้อตกลงปารีส” ( Paris Agreement)  โดยมีเป้าหมายเพื่อควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสจากระดับอุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรม ข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ บ่งชี้ว่าปี 2559 เป็นปีที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นเป็นปรากฏการณ์โดยมีปัจจัยหลักมาจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของฝีมือของมนุษย์ ผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนทำให้สภาพอากาศแปรปรวนอย่างรุนแรง อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 80 – 90 องศาฟาเรนไฮต์ เกิดปรากฏการณ์เหล่านี้ทั่วโลก เช่น คลื่นความร้อนสูงแผ่กระจายจนทำสถิติ ธารน้ำแข็งเริ่มละลายที่ขั้วโลกเหนือและใต้ ระดับน้ำทะเลเพิ่มระดับสูงขึ้น ปะการังทยอยกันตายเพราะน้ำทะเลกลายเป็นกรด จำนวนปลาลดลง ตามไปด้วย ฝนตกน้อยลง ต้นไม้ล้มตายเป็นจำนวนมาก เกิดสภาพไฟป่าที่รุนแรงอย่างไม่เคยมีมาก่อน สภาพดินแห้งเพราะขาดแคลนน้ำ เกิดภัยแล้งในวงกว้าง แม่น้ำแห้งขอดรวมทั้งเขื่อนมีน้ำใช้ไม่เพียงพอ ส่งผลกระทบต่อชาวไร่ชาวนาสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจในวงกว้าง ประชาชนทั่วโลกมีความตื่นตัวกันมากร่วมกันเรียกร้องให้รัฐถอนตัวจากการลงทุนจากพลังงานสกปรกที่ก่อให้เกิดปัญหาทั่วโลกหันมาใช้พลังสะอาดทดแทนที่ลดการปล่อยCO2เข้าสู่บรรยากาศ พวกเขามองว่า “ปัญหาโลกร้อนเป็นเรื่องของปัจจุบันไม่ใช่เรื่องในอนาคตอีกต่อไป” ทุกคนต่างได้รับผลกระทบทั่วหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะ เราอยู่ในโลกใบเดียวกัน

อีกเรื่องหนึ่งคือ บริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเชื้อเพลิงที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่บรรยากาศต่างเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผลกระทบของสภาวะโลกร้อนไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือประชาชน สภาพอากาศที่แปรปรวนทำให้ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นท่วมบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ที่ริมชายฝั่งทะเลโดยเฉพาะทางภาคตะวันตกของสหรัฐอเมริกาที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ดังคดีฟ้องร้องตัวอย่างสำคัญ ๆ ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย

20  กันยายน 2560 ประชาชนนคร San Francisco และ Oakland รัฐแคลิฟอร์เนียรวมกันฟ้องบริษัทน้ำมัน Exxon Mobile Chevron BP Shell Conoco Phillips ต้องรับผิดชอบต่อสภาวะโลกร้อนและน้ำทะเลที่สูงขึ้นเนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและในอนาคต ผู้ฟ้องต้องการนำเงินมาสร้างกำแพงกั้นน้ำทะเลหนุนสูง 6 ฟุต ป้องกันน้ำท่วมบ้านเรือนและสิ่งก่อสร้างปกป้องทรัพย์สินของประชาชนและของรัฐเพื่อสร้างกำแพงกั้นน้ำทะเลหนุนสูง 10 ฟุตในอนาคตของปี 2643 ในคำฟ้องยังกล่าวหาบริษัทน้ำมันทราบผลกระทบมานานแต่ไม่ยอมแก้ไข พยายามหลอกลวง ทำลายความน่าเชื่อถือของนักวิทยาศาสตร์ คล้ายกับเมื่อก่อนหน้านี้ ในคดีฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากบุหรี่ ช่วงปี 2523 โดยบริษัทผู้ผลิตบุหรี่ทุ่มเงินหลายพันล้านดอลลาร์ โฆษณาชวนเชื่อว่าสารนิโคตีนในบุหรี่ปราศจากอันตราย สร้างข้อมูลเท็จ ปฏิเสธความจริงที่ค้นพบจากนักวิทยาศาสตร์ของบริษัทเอง

20 ธันวาคม 2560 ประชาชนเมืองSanta Cruz รัฐแคลิฟอร์เนีย ฟ้องบริษัทน้ำมันเนื่องจากผลิตภัณฑ์ของบริษัททำให้น้ำทะเลสูงขึ้นเนื่องจากอากาศแปรปรวนรุนแรง กระทบต่อวงจรอุกทกวิทยา ไฟไหม้ป่าทำลายบ้านเรือนเสียหายเป็นจำนวนมากรวมไปถึงภัยแล้งจัด บริษัทไม่เคยเตือนให้ทราบล่วงหน้าว่าCO2 มีผลเสียร้ายแรง อีกทั้งประมาณเลินเล่อ บริษัททราบผลกระทบมานานแต่พยายามปกปิดข้อมูล

23 มกราคม 2561 ประชาชนเมืองRichmond รัฐแคลิฟอร์เนีย ฟ้องบริษัทน้ำมัน 29 แห่งที่ผลิตเชื้อเหลิงฟอสซิล เรียกค่าเสียหายจากผลกระทบอากาศที่รุนแรงแปรปรวนรวมทั้งน้ำทะเลสูงขึ้นเพื่อบังคับให้บริษัทเหล่านี้แสดงความรับผิดชอบ หลอกลวงประชาชนมานานหลายสิบปี  ปกปิดข้อมูลภัยอันตรายจากโลกร้อน โดยเฉพาะโรงกลั่นน้ำมันของบริษัท Chevronที่ตั้งอยู่ในเมืองนี้ คำฟ้องเรียกร้องให้บริษัทแก้ปัญหาลด CO2 รายงานกล่าวว่าบริษัทใช้เงินหลายพันล้านดอลลาร์ต่อต้านการรณรงค์นโยบายสาธารณะยอมทำร้ายตัวเองแม้ทราบว่าน้ำทะเลสูงขึ้นก็ตาม

แต่คดีที่น่าสนใจที่สุดเกิดขึ้นที่นครSan Francisco ในวันที่ 21 สิงหาคม 2556 เมื่อผู้ฟ้องบริษัทธุรกิจพลังงานเป็นเยาวชนอายุระหว่าง 10 – 20 ปี จำนวน 21 คน กล่าวหาว่ารัฐบาลกลางในสมัยโอบาม่า เป็นประธานาธิบดี ก่อนหมดวาระไปว่าล้มเหลวในการปกป้องพวกเขารวมทั้งครอบครัวและทำลายอนาคตที่จะต้องเผชิญสภาพที่เลยร้ายจากภัยโลกร้อนในอนาคต อันเนื่องมาจากนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งส่งเสริมการเจริญเติมโตของธุรกิจพลังงานโดยรวม ทำให้ระดับ CO2 เพิ่มขึ้นจนเป็นอันเป็นอันตรายแต่ก็ยังเดินหน้า ต่อมา ต่อมาถึงสมัยรัฐบาลทรัมป์ ผู้ปฏิเสธโลกร้อน ส่งเสริมธุรกิจพลังงานถ่านหินฟอสซิลอย่างสุดโต่ง พยายามล้มคดีนี้ โดยการใช้เทคนิคทางกฎหมายพิเศษ ขอให้ศาลสูงยุติการดำเนินคดีความของศาลขั้นต้นก่อนที่คดียังไม่สิ้นสุด แต่ไม่สำเร็จ คดียังถูกพิจารณาให้เดินหน้าต่อ ทรัมป์ถูกเปรียบเทียบว่าเป็นนกกระจอกเทศหัวซุกอยู่ในทราย ปฏิเสธโลกของความเป็นจริง

ที่ต่างประเทศในปี 2560 มีคดีที่ไม่ธรรมดาและมีแนวโน้มที่สำคัญเมื่อ Saul Luciano Lluya ชาวไร่ สัญชาติเปรูฟ้อง RWE บริษัทพลังงานของประเทศเยอรมันว่าธุรกิจของบริษัทส่งผลกระทบทำให้เกิดการละลายของธารน้ำแข็งใกล้บ้านเกิดของเขาถึงแม้ว่าบริษัทRWEไม่ได้มีโรงงานตั้งอยู่ในประเทศเปรูก็ตาม  Saul เรียกค่าเสียหายจากบริษัทเพียงแค่ 20,000 ดอลลาร์เพื่อนำใช้ในสิ่งก่อสร้างป้องกันน้ำท่วมหมู่บ้านของเขา ศาลสูงที่เยอรมันในเมือง Hamm กลับคำพิพากษาของศาลขั้นต้นที่ขอให้ยุติคดี สั่งให้ดำเนินคดีต่อ ถ้าชนะคดี ก็จะส่งผลกระทบในวงกว้างเปิดทางให้ผู้ได้รับผลกระทบซึ่งเป็นชาวต่างชาติสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ปล่อยสารพิษแสดงรับผิดชอบต่อความเสียหาย ทั้งนี้เป็นเพราะนักการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐล้มเหลวที่จะให้ความคุ้มครองพลเมืองของตนจากภัยโลกร้อน

13 มีนาคม 2561 John Knox เจ้าหน้าที่ UN ผู้ เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน นำเสนอร่างกรอบกฎหมายสำหรับภาคประชาคมที่ให้การยอมรับว่า “สิ่งแวดล้อมมีความสำคัญเท่าเทียมกับเรื่องสิทธิมนุษย์ชน” ในรายงานนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ ช่วยสนับสนุนเป็นข้ออ้างของผู้ได้ได้รับความเสียหายทางนิเวศวิทยาสู้คดีในศาลทางด้านสิทธิมนุษย์ชนทั้งในประเทศและต่างประเทศเรียกร้องความรับผิดชอบ ร่างนี้เรียกกันว่า “Frameworks Principle on Human Rights and the Environment” รายงานนี้ยังชี้ให้เห็นว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เผชิญอยู่ในปัจจุบันค่อนข้างรุนแรง ทุกปีมีเด็ก 1.5 ล้านคนที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี เจ็บป่วยล้มตายเป็นจำนวนมากเพราะสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายจึงเป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษย์ชนของเด็กเหล่านี้

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

5 – 6  กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยและมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ภาวะโลกร้อนคืออะไร…….เกี่ยวกับแรงงานตรงไหน?” ซึ่งไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องการบริหารจัดการกองทุนบำนาญชราภาพโดยมีสำนักงานประกันสังคมเป็นผู้รับผิดชอบซึ่งกองทุนนี้คนงานผู้เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่และเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงที่คนงานยังไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางและนโยบายการลงทุนได้อย่างแท้จริง ปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมรับผิดชอบการลงทุนกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนซึ่งมีเงินรวมกันทั้งหมด 1.7 ล้านล้านบาทและคาดว่าจะเพิ่มเป็น 2 ล้านล้านบาทในปี 2563 จากการศึกษาข้อมูลการลงทุนของสำนักงานประกันสังคมปรากฏว่ายังไม่มีนโยบายเกี่ยวกับการดูแลสภาวะโลกร้อน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกโซด์ในบรรยากาศ ลดคาร์บอนฟุตพริ้น ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมเป็นอันตรายต่อมนุษย์ชาติ เกิดสภาพก๊าซเรือนกระจก ตัวเร่งอุณหภูมิของโลกให้สูงขึ้น ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงและนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ถึงเวลาแล้วหรือยังที่สำนักประกันสังคมต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล มากกว่าการแสวงหาผลประโยชน์ในระยะสั้น ด้วยการหันมาทบทวนนโยบายการลงทุนส่งเสริมพลังงานสีเขียวด้วยการถอนตัวจากการลงทุนในธุรกิจถ่านหินหันมาลงทุนในพลังสะอาดและธุรกิจที่ยั่งยืนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก่อนที่ทุกอย่างจะเลวร้ายไปกว่านี้

บริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (SCG)  ประกอบธุรกิจปูนซีเมนต์ ธุรกิจปิโตรเลียม ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจกระดาษ  3 ตุลาคม 2560 ผู้บริหารชี้แจงการซื้อถ่านหินจากสหรัฐทดแทนการนำเข้าจากอินโดนีเซียเป็นจำนวน 155,000 ตัน เพื่อใช้ผลิตปูนซีเมนต์ เพราะถ่านหินมีคุณภาพและคุ้มค่า สำนักงานประกันสังคมถือหุ้นรายใหญ่เป็นอันดับ 4 อยู่ที่ 38,910,950 หุ้น (8 กุมภาพันธ์ 2561) ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์

บริษัทบ้านปู จำกัด (Ban Pu) บริษัทแนวหน้าของเอเซียดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายถ่านหิน เหมืองถ่านหิน ธุรกิจไฟฟ้า ก๊าซและพลังงาน สำนักงานประกันสังคมถือหุ้นรายใหญ่เป็นลำดับที่ 5 อยู่ที่ 114,791,000 หุ้น (8 มีนาคม 2561) ข้อมูลตลาดหลักทรัพย์

บริษัทเอ็กโก (EGCO Group) ธุรกิจพลังงานผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ เจ้าของเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซีย สำนักงานประกันสังคมถือหุ้นรายใหญ่เป็นลำดับที่ 5 อยู่ที่ 8,185,700 หุ้น (9 กุมภาพันธ์ 2561) ข้อมูลตลาดหลักทรัพย์

สตีเฟน ฮอร์กิง (Stephen Harkings) นักฟิสิกทฤษฎี นักจักวารวิทยา อัจฉริยะแห่งยุค เสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 มีนาคม ที่ผ่านมาเมื่ออายุได้ 76 ปี เขาเคยกล่าวเตือนไว้ว่า “มนุษย์ชาติไม่มีอนาคต ถ้าอยากมีชีวิตรอดต้องไปหาดาวเคราะห์ดวงใหม่ เพราะโลกที่เราอาศัยอยู่ มีความเสี่ยงสูงจากภัยพิบัติต่างๆ  สภาวะโลกร้อน สงครามนิวเคลียร์ อันตรายของไวรัสจากการแปลงพันธุ์กรรมและอันตรายอื่น ๆ”

               หมายเหตุ:  ข้อมูลที่รวบรวมได้ จากUNและCoulmbia Universityในหัวข้อเรื่อง “สิทธิในเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ ปราศจากมลพิษ” (Right to a Clearn on Healthty Environment) เปิดเผยว่าที่สหรัฐฯ มีคดีฟ้องจากผู้ได้รั บผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนเรียกร้ องค่าเสียหายทั้งจากรั ฐบาลและบริษัทต่างๆ ที่ปล่อยมลพิษสูงถึง 654 คดี (มีนาคม 2560) และจำนวนคดีฟ้องร้องในประเทศต่ างๆ ทั่วโลกของคดีเช่นเดียวกันนี้ เพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าตัวนับตั้ งแต่ปี 2514 เป็นต้นมา ขณะนี้บริษัทธุรกิจฟอสซิลกำลั งถูกกดดันอย่างหนักให้เปิดเผยข้ อมูลว่าบริษัททราบถึงความเสี่ ยงของสภาวะโลกร้อนมากน้อยแค่ ไหนและมีความพยายามปกปิดผลลัพท์ เพื่อไม่ให้ผู้ถือหุ้ นและประชาชนทั่วไปทราบถึ งผลกระทบที่จะตามมาและหากทราบที หลังว่าว่ามีความเสี่ยงจริง “Corporate Climate Risk” บริษัทเหล่านี้จะถูกฟ้ องร้องเรียกค่าเสียหายได้ เพราะขาดความรอบคอบในการตรวจสอบ วิเคราะห์ความเสี่ยงสถานการณ์ ทางเศรษฐกิจ