รูปโฉม สาระและจิตวิญญาณของกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ที่กำลังแก้ไขปรับปรุงมีเพียงใด

คลินิกกฎหมายด้านแรงงาน (32)

รูปโฉม สาระและจิตวิญญาณของกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ที่กำลังแก้ไขปรับปรุงมีเพียงใด

                                                                                                                                       ชฤทธิ์ มีสิทธิ์ (06/2565)

               หลายคนคงทราบข่าวความเคลื่อนไหวในการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 แล้วว่ากระทรวงแรงงานในฐานะหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบด้านแรงงาน ได้จัดทำร่างกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ฉบับแก้ไขปรับปรุง ซึ่งผ่านการตรวจแก้ของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว อยู่ในขั้นตอนจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร   ในขณะเดียวกันทราบว่า พรรคก้าวไกลโดยการเชื่อมประสานกับองค์กรแรงงาน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานและด้านสิทธิมนุษยชน ได้ร่วมกันจัดทำร่างกฎหมายเดียวกันนี้อีกฉบับหนึ่ง เพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเช่นกัน ส่วนพรรคการเมืองอื่น ๆ ยังไม่เห็นความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากร่างกฎหมายฉบับกระทรวงแรงงานหรือฉบับรัฐบาลนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกาได้แก้ไขสาระสำคัญในหลายเรื่องแตกต่างจากต้นร่างฉบับกระทรวงแรงงาน เช่น

  • ยกเลิกสหภาพแรงงานตามกฎหมายเดิมที่มีอยู่ 2 ประเภท คือประเภทนายจ้างเดียวกัน และประเภทอุตสาหกรรม และสมาชิกสหภาพแรงงานไม่มีเรื่องสัญชาติ แปลว่าใครที่เป็นลูกจ้างไม่ว่าใครเป็นนายจ้าง หรือกิจการอะไร สัญชาติใด เมื่อบรรลุนิติภาวะ ก็จัดตั้งสหภาพแรงงานได้ เป็นสมาชิกได้ เป็นกรรมการได้ รวมทั้งเรื่องลูกจ้างเหมาค่าแรงที่มีปัญหาตีความกันว่าเป็นกิจการบริการ หรือกิจการอุตสาหกรรม ก็จะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป
  • ยกเลิกคณะกรรมการส่งเสริมการแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งเป็นคณะกรรมการเชิงนโยบายด้านการส่งเสริมและพัฒนาระบบแรงงานสัมพันธ์ ด้วยเหตุผลอะไร ยังไม่อาจทราบได้ คงต้องไปถามไถ่กันดู
  • แก้ไขหลายเรื่องเพื่อไม่ให้เป็นปัญหาว่า กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ของไทยมีประเด็นที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อนุสัญญาไอแอลโอ ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยเสรีภาพในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วม ซึ่งฝ่ายขบวนการแรงงานและนักวิชาการด้านแรงงานบางส่วนเรียกร้องมาช้านานแล้ว ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญา 2 ฉบับดังกล่าว เช่น

ยกเลิกการจดทะเบียนองค์กรแรงงาน

ยกเลิกการควบคุมหรือจำกัดสิทธิหลายประการ เช่น อำนาจของนายทะเบียนที่จะสั่งให้เลิกองค์กร การตรวจสอบองค์กรแรงงาน ข้อห้ามในการยื่นข้อเรียกร้องในสถานการณ์พิเศษ เช่น เมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึก หรือเมื่อประเทศตกอยู่ในภาวะเดือดร้อนร้ายแรงทางเศรษฐกิจ

ยกเลิกขั้นตอนการอุทธรณ์คำสั่งหรือคำชี้ขาดต่าง ๆ ของฝ่ายบริหารภาครัฐ แต่ให้เป็นหน้าที่ของศาลแรงงานแทน

แก้ไขปัญหาเรื่องการนัดหยุดงานและการปิดงาน  โดยทำให้เกิดความชัดเจนในสิทธิดังกล่าวว่า สามารถกระทำได้ในกรณีใดบ้าง  การแจ้งล่วงหน้าในระยะเวลาที่เหมาะสมโดยเปลี่ยนจาก 24 ชั่วโมง เป็น 48 ชั่วโมง

               เพิ่มเรื่องการนัดหยุดงานและการปิดงานในกิจการบริการสาธารณะที่สำคัญ เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรคมนาคม ขนส่ง เป็นต้น คือให้กระทำได้ แต่ต้องมีแผนบริการขั้นต่ำ ซึ่งทั้งฝ่ายนายจ้างลูกจ้าง หรือองค์กรลูกจ้าง/นายจ้าง หรือตัวแทนลูกจ้างที่ลูกจ้างเลือกตั้งมาร่วมกันจัดทำแผนดังกล่าวเพื่อประกันสิทธิการใช้บริการของประชาชน

เพิ่มหลักในระหว่างนัดหยุดงาน ห้ามนายจ้างทำสัญญาจ้างบุคคลใดเพื่อมาทำงานแทนที่ลูกจ้างที่นัดหยุดงาน ยกเว้นในกิจการบริการสาธารณะที่สำคัญ

เพิ่มเรื่องสมัชชาแรงงานแห่งชาติ  ซึ่งเป็นมาตรการเชิงแผนและนโยบายด้านแรงงานสัมพันธ์ –เรื่องที่เกี่ยวกับมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ –การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายด้านแรงงาน –การคัดเลือกผู้แทนไปประชุมไอแอลโอ รวมทั้งมาตรการในการคุ้มครองแรงงานทั้งระบบ โดยกำหนดให้องค์กรแรงงาน องค์กรนายจ้างตามกฎหมายนี้ทุกระดับ รวมทั้งของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้วย องค์กรแรงงานตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานนอกระบบ และองค์กรด้านแรงงานอื่น ๆ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกำหนด เข้าร่วมประชุมสมัชชาแรงงานแห่งชาติดังกล่าว

เข้าใจว่าการเพิ่มเติมเรื่องนี้เข้าไป  น่าจะเกิดจากความคิดในการสร้างกฎหมาย เพื่อให้สอดรับกับหลักการและมาตรฐานด้านแรงงานในระดับสากล ทั้งอนุสัญญา 87 และ 98และหลักการงานที่มีคุณค่าของไอแอลโอ ในประเด็นการมีตัวแทนและการมีส่วนร่วมในระดับนโยบายด้านแรงงาน ของทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง องค์กรของฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง โดยเปิดกว้างถึงองค์กรแรงงานนอกระบบ และองค์กรด้านแรงงานตามที่รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานกำหนดด้วย  ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องใหม่ทีมีความก้าวหน้า

คงเหลือแต่เพียงว่าถ้ากฎหมายผ่าน และทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจัง บนหลักการของระบบแรงงานสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์แล้ว สังคมไทยก็น่าจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของระบบแรงงานสัมพันธ์ครับ

นอกจากนี้ก็มีการแก้ไขอีกหลาย ๆเรื่อง เพื่อแก้ปัญหาทางปฏิบัติของกฎหมายฉบับนี้ รวมทั้งการตีความของศาลด้วย เช่น กรณีที่ข้อเรียกร้องไม่ว่าด้วยการเข้าชื่อหรือโดยสหภาพแรงงานเป็นผู้ยื่น หากตอนยื่นจำนวนลูกจ้างที่เข้าชื่อ หรือจำนวนสมาชิสหภาพแรงงานครบถ้วนตามกฎหมายแล้ว ในเวลาต่อมามีจำนวนไม่ครบตามกฎหมาย ข้อเรียกร้องจะตกไป

แต่เดิมเราจะพบว่า พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทางกฎหมายไว้หลายเรื่อง เกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของการยื่นข้อเรียกร้อง การเจรจาต่อรอง การไกล่เกลี่ย การชี้ขาดและการนัดหยุดงาน ซึ่งหากในขั้นตอนใดไม่ถูกต้องทางกฎหมาย      ข้อเรียกร้องและการดำเนินการต่าง ๆ จะต้องยุติในทันที ดังที่เรียกกันว่า “ข้อเรียกร้องตก” ทำให้เกิดความเสียหายแก่ฝ่ายแรงงานเป็นอย่างมาก

และที่สำคัญที่ไม่ครบในภายหลัง ส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำของฝ่ายนายจ้างเป็นส่วนใหญ่ เช่น กดดัน หรือให้ประโยชน์เพื่อให้ถอนตัวจากการเรียกร้อง

แม้ว่าร่างกฎหมายของรัฐบาลฉบับที่คณะกรรมการกฤษฎีกาแก้ไข ก็มีในหลายแง่มุม ทั้งด้านเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น และในทางที่แย่ลง และมีบางเรื่องที่ไม่ดีแต่ยังไม่มีการแก้ไข แต่ก็ปรากฏว่าองค์กรแรงงานระดับชาติที่ในสังคมแรงงานรู้จักกันดี ก็ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้ ทำนองว่าไปแก้ไขสาระสำคัญหลายเรื่องของต้นร่างเดิม ถึงขั้นเรียกร้องให้มีการเคลื่อนไหวใหญ่กันเลยทีเดียว ก็ว่ากันไปครับ

ในส่วนขององค์กรต่าง ๆ เช่น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สภาองค์กรลูกจ้างบางองค์กร และกลุ่มสหภาพแรงงานต่าง ๆ ที่ขับเคลื่อนในประเด็นแรงงาน เช่น กลุ่มสหภาพแรงงานคนทำงานก็เริ่มมีการจัดเวทีประชุม สัมมนา เสวนา เกี่ยวกับการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งก็นับว่าเป็นนิมิตรหมายอันดี ที่ภาคีด้านแรงงานจะได้เสริมสร้างความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว และนำประสบการณ์ ข้อคิดและข้อเสนอแนะต่างๆ ที่ถกเถียงกันมาพักใหญ่แล้ว เพื่อการมีส่วนร่วมในการสร้างและพัฒนากฎหมาย ให้มีสาระสำคัญที่ช่วยพัฒนาระบบแรงงานสัมพันธ์ให้ก้าวหน้ากว่าที่เป็นอยู่

แม้จะมีความขัดแย้ง หรือแตกต่างทางความคิดกันอยู่บ้างก็ตาม และแม้ว่ายังมีอุปสรรคขวางกั้นไม่น้อยก็ตาม

แต่เชื่อว่าในที่สุดหลักการที่ดี ที่สอดคล้อง ตั้งอยู่บนหลักเหตุผลและผลประโยชน์ร่วมกันของสังคม จะได้รับการยอมรับเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติให้เป็นจริง เพราะระบบแรงงานสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์ หรือความยุติธรรมทางด้านแรงงานไม่ได้สร้างด้วยกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีมาตรการ วิธีการ หรือเครื่องมืออื่น ๆ อีกมากมายครับ

เนื่องจากในขณะนี้มีเพียงร่างของรัฐบาลฉบับที่คณะกรรมการกฤษฎีกาแก้ไข กับร่างฉบับของพรรคก้าวไกลเท่านั้น   จึงจะขอนำหลักการและสาระสำคัญในร่างกฎหมายที่ยังแตกต่างกันอยู่ เพื่อการเรียนรู้ แลกเปลี่ยน เพื่อประโยชน์ในการพัฒนากฎหมายและระบบแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งหากจะกล่าวให้ถึงที่สุดก็คือคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานที่ส่วนใหญ่ยังขาดโอกาสและอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบในสังคม ดังนี้

ประเด็นแรก เรื่อง ความครอบคลุมของกิจการและคนทำงาน

            ร่างฉบับรัฐบาล  : ยังคงจำกัดอยู่เฉพาะบุคคลที่มีสถานะทางกฎหมายเป็นนายจ้างกับลูกจ้างเท่านั้น

แปลว่าคนทำงานหรือผู้ใช้แรงงานที่ไม่เป็นลูกจ้าง  ยังไม่เกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับนี้

ในความเป็นจริง งานหนึ่ง ๆ หรือกิจการหนึ่ง ๆ คนทำงานมีทั้งที่เป็นลูกจ้างและไม่เป็นลูกจ้างเช่น  งานขายหรือเซลส์  งานรับใช้ตามบ้าน  มีทั้งที่เป็นลูกจ้างและพวกอิสระ พวกที่ไม่เป็นลูกจ้าง ก็คือกลุ่มอาชีพที่เรียกกันว่าแรงงานนอกระบบทั้งหมด เช่น กลุ่มรับจ้างผลิตสินค้า กลุ่มผลิตเพื่อขาย หาบเร่แผงลอยที่ไม่เป็นลูกจ้างใคร แท็กซี่ มอเตอร์ไซด์รับจ้างที่ไม่เป็นลูกจ้างใคร เกษตรพันธะสัญญา คนทำงานบ้านหรือแม่บ้าน ซึ่งหลายส่วนเริ่มไม่เป็นนายจ้างลูกจ้างกันแล้ว ไรเดอร์ ซึ่งยังก้ำกึ่งว่าเป็นลูกจ้างตามกฎหมายหรือไม่ หรือกลุ่มที่เรียกว่าทำงานอิสระ เช่น พนักงานขาย  เป็นต้น

ร่างฉบับพรรคก้าวไกล ครอบคลุมคนทำงานทุกสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะมีสถานะทางกฎหมายเป็นลูกจ้างของนายจ้างหรือไม่

               ข้อท้าทาย : สภาพและรูปแบบของธุรกิจและการจ้างงานได้เปลี่ยนแปลงไปมากหลายปีแล้ว ยิ่งมีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีมากและเร็วเท่าใด ยิ่งทำให้รูปแบบทางธุรกิจและการจ้างงานเปลี่ยนแปลงไปเท่านั้น เหตุใดการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ฉบับรัฐบาลจึงยังไม่รองรับหรือให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ดังกล่าว

            ประเด็นที่สอง : ขอบเขตของสภาพการจ้าง

            ร่างฉบับรัฐบาล : คงเดิม

               ร่างฉบับพรรคก้าวไกล :นอกจากตามหลักการเดิมแล้ว ยังให้หมายความรวมถึง การจ้างงานช่วง การปิดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน การย้ายสถานประกอบกิจการ การใช้เทคโนโลยีใหม่ในกระบวนการผลิต การจำหน่าย และการบริการ การโอนและการควบรวมกิจการและความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพแรงงานกับนายจ้างและสมาคมนายจ้างด้วย

               ในประเด็นนี้ คงจำกันได้ว่า หลายสหภาพแรงงานได้ยื่นข้อเรียกร้องในเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ ของการดำเนินงานสหภาพแรงงาน เช่น การจัดหาสถานที่และทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อดำเนินงานสหภาพแรงงาน การขอให้นายจ้างช่วยหักเงินค่าบำรุงและค่าสมาชิกสหภาพแรงงานจากค่าจ้าง ซึ่งนายจ้างหลายส่วนก็สนับสนุนเป็นอย่างดี  แต่ก็มีปัญหาไปสู่ศาล และมีการตีความกันว่า ไม่ใช่สภาพการจ้าง

อีกเรื่องหนึ่งก็คือ การยื่นข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานที่เป็นลูกจ้างของสถานประกอบการ เกี่ยวกับเรื่อง เหมาค่าแรง หรือสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างเหมาค่าแรง ในช่วงแรกศาลแรงงานตีความว่าไม่ใช่สภาพการจ้างที่จะยื่นข้อเรียกร้องกันได้ตามกฎหมาย หลายปีต่อมาศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่าเป็นสภาพการจ้าง

               ประเด็นที่สาม : การจัดตั้งสหภาพแรงงาน บทบาท วัตถุประสงค์และการยื่นข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงาน

ร่างฉบับรัฐบาล  : ได้ยกเลิกสหภาพแรงงานตามกฎหมายเดิมที่มีอยู่ 2 ประเภท คือประเภทนายจ้างเดียวกัน และประเภทอุตสาหกรรม และสมาชิกสหภาพแรงงานไม่มีเรื่องสัญชาติ   แปลว่า แรงงานข้ามชาติที่เป็นลูกจ้าง เมื่อบรรลุนิติภาวะ ก็จัดตั้งสหภาพแรงงานได้ เป็นสมาชิกได้ เป็นกรรมการได้ ส่วนจะมีความพร้อมแค่ไหน เป็นจริงได้แค่ไหนก็เป็นปัญหาอีกส่วนหนึ่ง

               รวมทั้งเรื่องลูกจ้างเหมาค่าแรงที่มีปัญหาตีความกันว่าเป็นกิจการบริการ หรือกิจการอุตสาหกรรม ก็จะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป นอกจากนี้ ยังคงไว้ซึ่งการแยกลูกจ้างที่เป็นผู้บังคับบัญชาตามกฎหมาย กับลูกจ้างปฏิบัติการ ไม่อาจเป็นสมาชิกร่วมกันได้

               ส่วนเรื่องวัตถุประสงค์ อำนาจหน้าที่และการยื่นข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงาน ยังเป็นไปตามหลักเดิม

               ร่างฉบับพรรคก้าวไกล : มีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญหลายประการ กล่าวคือ ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ผู้รับจ้างตามสัญญาจ้างทำของ หรือสัญญาอื่นใดที่เป็นการทำงานให้เพื่อรับค่าตอบแทน แรงงานนอกระบบ คนทำงานอิสระ ล้วนมีสิทธิเข้าร่วมจัดตั้งสหภาพแรงงานเป็นกรรมการและยื่นข้อเรียกร้องได้ทั้งสิ้น

               สหภาพแรงงานมีได้หลากหลายประเภท ทั้งในระดับแผนกงาน สถานประกอบการ พื้นที่ทางภูมิศาสตร์หรือทางปกครอง  หรือตามประเภทกิจการ หรือสาขาอาชีพ หรือบนพื้นฐานอื่นใด หรือในระดับใดตามที่แรงงานเห็นว่าเหมาะสม  โดยสามารถร่วมกันยื่นข้อเรียกร้องได้  รวมทั้งแรงงาน 1 คน มีสิทธิเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้หลายแห่ง

เกี่ยวกับวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของสหภาพแรงงาน ได้ขยายขอบเขตกว้างกว่าหลักเดิม เช่น      

การศึกษาวิจัยด้านแรงงาน

จัดเทศกาลแรงงานในระดับชาติ และงานเฉลิมฉลองต่างๆ ด้านแรงงาน

จัดประชุม สัมมนาทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ จัดทำสื่อสิงพิมพ์ต่าง ๆ เพื่อสื่อสารทั้งแรงงานและสังคม

จัดทำข้อตกลงกับองค์กรแรงงาน ทั้งในระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ ในกิจกรรมด้านแรงงานร่วมกัน

บริหารและจัดการทรัพย์สินของสหภาพแรงงานตามข้อบังคับ รวมทั้งจัดตั้งกองทุนออมทรัพย์ สหกรณ์ กีฬา ศิลปะและวัฒนธรรม

ดำเนินงานเกี่ยวกับการส่งเสริม ปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของแรงงาน สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย

ติดตามและสอดส่องการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของแรงงานในเรื่องต่าง ๆ เช่น  การปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง การฟ้องคดีแทนสมาชิกสหภาพแรงงาน รวมทั้งการดำเนินการใดเพื่อให้เกิดความก้าวหน้าในด้านประชาธิปไตย ความยุติธรรมทางสังคม และนิติธรรม (การมีและใช้กฎหมายอย่างยุติธรรม)

ในส่วนที่เกี่ยวกับการยื่นข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานนั้น

ให้สิทธิสหภาพแรงงานองค์กรเดียวหรือร่วมกันหลายองค์กรมีสิทธิยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้างหรือองค์กรนายจ้างได้ แต่นั่นหมายหมายถึงว่า สหภาพแรงงานต้องมีสมาชิกที่เป็นลูกจ้าง หรือทำงานให้นายจ้างหรือผู้ประกอบการนั้นครบถ้วนตามกฎหมายด้วย โดยองค์กรนายจ้างก็มีสิทธินี้เช่นเดียวกัน และอีกฝ่ายมีสิทธิขอตรวจสอบความถูกต้องของจำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานว่าครบถ้วนตามกฎหมายหรือไม่ได้

            ในกรณีที่เกิดเหตุอันมีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ร่วมกันของแรงงาน สหภาพแรงงานก็มีสิทธิยื่นข้อเรียกร้อง เพื่อเจรจาต่อรองให้มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้

เมื่อสหภาพแรงงานได้ยื่นข้อเรียกร้องแล้ว หากนายจ้างมีการเปลี่ยนแปลง โอน ควบรวม ย้ายสถานประกอบการ แปรรูป หรือการเปลี่ยนแปลงที่กระทบสถานะของนายจ้าง ข้อเรียกร้องที่ได้ยื่นไว้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้วยังคงอยู่และต้องเจรจาต่อไป หรือการเปลี่ยนแปลงใดๆทางธุรกิจ จำเป็นต้องชะลอไว้ก่อน จนกว่าข้อเรียกร้องจะได้ข้อยุติ หรือมีการทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง

ประเด็นที่สี่ : การนัดหยุดงานและการปิดงาน

               ร่างฉบับรัฐบาล  :

                              — มีการแก้ไขถ้อยคำเพื่อให้เกิดความชัดเจนขึ้น เช่น

เมื่อมีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้และไม่มีการตั้งผู้ชี้ขาด

ฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง หรือคำชี้ขาด อีกฝ่ายก็มีสิทธินัดหยุดงานหรือปิดงานได้

เมื่อมิได้มีการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานให้เสร็จภายในระยะเวลา 90 วันตามที่กฎหมายกำหนด

ในกิจการบริการสาธารณะที่จำเป็นตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรคมนาคม ขนส่ง เดินอากาศ ฯ การใช้สิทธินัดหยุดงานและการปิดงาน ต้องดำเนินการภายใต้เงื่อนไขทางกฎหมาย เช่น ฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง องค์กรของทั้งสองฝ่าย หรือผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งมีหน้าที่ร่วมกันจัดทำแผนบริการขั้นต่ำ การแจ้งให้ประชาชนทราบล่วงหน้า เพื่อมิให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน

กรณีลูกจ้างหรือสหภาพแรงงานใช้สิทธินัดหยุดงาน ห้ามนายจ้างทำสัญญาจ้างบุคคลใดเข้ามาทำงานแทนที่ลูกจ้างที่ใช้สิทธินัดหยุดงาน ยกเว้นกิจการบริการสาธารณะที่จำเป็นตามที่กฎหมายกำหนด

               ร่างฉบับพรรคก้าวไกล : วางหลักไว้ว่า แรงงานมีสิทธิทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน รวมทั้งนัดหยุดงาน

               –-เกี่ยวกับข้อพิพาทแรงงาน  –เพื่อให้นายจ้างเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน –เพื่อช่วยเหลือแรงงานอื่นที่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับสภาพการจ้าง –เพื่อให้ส่งผลต่อนโยบายของรัฐบาลในด้านแรงงาน รวมทั้งเพื่อให้เกิดประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและสังคมต่อแรงงานมากยิ่งขึ้น  ส่วนกรณีว่ามีสิทธินัดหยุดงานเมื่อใดนั้น ก็เป็นไปในทางเดียวกันกับร่างฉบับคณะกรรมการกฤษฎีกาแก้ไข

               ข้อท้าทาย : ควรกำหนดให้ชัดเจนไปเลยทั้งกรณีนัดหยุดงานและการปิดงาน และทั้งในเรื่องทำสัญญาจ้างบุคคลใด หรือการดำเนินการใดๆ เพื่อนำบุคคลเข้ามาทำงานแทนที่ลูกจ้างที่นัดหยุดงาน แม้ว่าในเรื่องการปิดงานจะมีการวินิจฉัยและคำพิพากษาของศาลไว้แล้วว่า นายจ้างจะนำบุคคลเข้ามาทำงานแทนที่ลูกจ้างที่นัดหยุดงานไม่ได้

            ประเด็นที่ห้า : คณะกรรมการลูกจ้าง

               ร่างฉบับรัฐบาล  :

(1)มีการแก้ไขเรื่องสำคัญคือ เฉพาะการเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างเท่านั้นที่นายจ้างต้องขออนุญาตต่อศาลแรงงาน ทั้ง ๆ ที่แต่เดิมรวมถึงเรื่องการลงโทษทางวินัยทั้งหมด การลดค่าจ้าง การพักงานและการกระทำใดๆที่ทำให้กรรมการลูกจ้างไม่อาจทนทำงานต่อไปได้

               และกรณีที่ไม่ต้องขอต่อศาลเช่นกัน เมื่อการเลิกจ้างนั้นกรรมการลูกจ้างให้ความยินยอมเป็นหนังสือ (ถ้ายินยอมจริงโดยอิสรเสรีก็พอจะเช้าใจได้ แต่จะเป็นช่องทางให้นายจ้างกดดัน ปั่นป่วน และใช้ประโยชน์เงินทองเพื่อทำลายกรรมการลูกจ้างได้หรือไม่)  หรือกรณีเกษียณอายุ หรือสิ้นสุดการจ้างกรณีการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลา

(2) นายจ้างมีสิทธิร้องต่อศาลเพื่อสั่งให้กรรมการลูกจ้างหรือคณะกรรมการลูกจ้างพ้นจากตำแหน่ง ในกรณี –ปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยไม่สุจริต –เปิดเผยความลับของนายจ้างเกี่ยวกับการประกอบกิจการ และ –กระทำการอันเป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน เรื่องไม่สุจริตกับเรื่องเป็นภัยต่อความสงบ อันนี้ขอบเขตกว้างใหญ่ไพศาลเหลือเกิน และมีช่องว่างให้กลั่นแกล้งกันได้อย่างมาก ลองคิดกันดูนะครับ

               ร่างฉบับพรรคก้าวไกล : ไม่มีเรื่องคณะกรรมการลูกจ้าง เพราะให้ความสำคัญและเน้นเรื่องสหภาพแรงงาน

            ข้อท้าทาย : ตามกฎหมายเดิมในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการลูกจ้าง ยังได้วางหลักไว้ด้วยว่า ในกรณีที่คณะกรรมการลูกจ้างเห็นว่า การกระทำของนายจ้างจะทำให้ลูกจ้างไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร คณะกรรมการลูกจ้าง ลูกจ้าง หรือสหภาพแรงงานมีสิทธิร้องขอให้ศาลแรงงานพิจารณาวินิจฉัย

            แต่ร่างรัฐบาลได้ยกเลิกหรือตัดทิ้งหลักการนี้

               ประเด็นที่หก : ความผูกพันในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง

ร่างฉบับรัฐบาล  : คงเดิม

               ร่างฉบับพรรคก้าวไกล : มีการเพิ่มเติมหลักใหม่หลายประการ เช่น

หากได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแล้วไม่ว่าระดับใด ให้ข้อตกลงนั้นผูกพันลูกจ้างและแรงงานทั้งหมดไม่ว่าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานนั้นหรือไม่  นายจ้างจะอ้างเหตุใดๆที่จะไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงนั้นไม่ได้

การเจรจาข้อเรียกร้องที่กินเวลา จนอายุข้อตกลงฉบับเดิมสิ้นสุด ให้ข้อตกลงเกี่ยวกับภาพการจ้างฉบับที่ครบอายุแล้วมีผลใช้ต่อไปจนกว่าจะมีการทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับใหม่

เมื่อได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแล้ว หากมีข้อตกลงหรือสภาพการจ้างในระดับที่ต่ำกว่า จะต้องใช้ตามข้อตกลงในระดับที่สูงกว่า

สัญญาจ้าง สภาพการจ้าง หรือข้อตกลงใดที่เป็นคุณยิ่งกว่า ให้มีผลใช้บังคับกับแรงงานที่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างด้วย แปลว่า แรงงานที่เกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง จะต้องถูกปรับเปลี่ยนให้ได้รับสภาพการจ้างที่ดีที่เป็นคุณยิ่งกว่าโดยเสมอหน้ากัน ตามหลักความเสมิภาคในสภาพการจ้าง เพราะแรงงานทุกส่วนย่อมมีส่วนในการสร้างผลผลิตให้นายจ้างด้วยกันทั้งสิ้น

        ประเด็นสุดท้าย :  การคุ้มครองกรณีการกระทำอันไม่เป็นธรรม

        ร่างฉบับรัฐบาล  :

                       –เพิ่มเติมการคุ้มครองในเรื่องการจัดตั้งสหภาพแรงงาน เป็นกรรมการลูกจ้างและขยายเรื่องการให้หลักฐานต่อเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน ในขณะที่เดิมเกี่ยวข้องกับกฎหมายคุ้มครองแรงงานและกฎหมายแรงงานสัมพันธ์เท่านั้น

                       –นำเรื่องการคุ้มครองในระหว่างการยื่นข้อเรียกร้อง ซึ่งเดิมอยู่คนละส่วนกับเรื่องการกระทำอันไม่เป็นธรรมมารวมไว้ในหมวดการกระทำอันไม่เป็นธรรม และเดิมในเรื่องนี้ผู้ถูกละเมิดนำเรื่องไปฟ้องศาลแรงงานได้ทันที แต่ตามที่แก้ไขต้องร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ก่อน

                       –อำนาจของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ในเรื่องนี้ คือจะสั่งให้นายจ้างรับกลับเช้าทำงาน หรือให้ชดใช้ค่าเสียหาย หรือให้นายจ้างปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ยังไม่มีการแก้ไข

        ร่างฉบับพรรคก้าวไกล :    

                       –การคุ้มครองผู้เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง(แรงงาน ผู้แทน กรรมการ อนุกรรมการสหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงาน)ในระหว่างการเรียกร้อง เจรจาต่อรอง (ในร่างอยู่คนละส่วนกับเรื่องการกระทำอันไม่เป็นธรรม แต่เพื่อให้เกิดการมองในภาพรวมจึงนำมากล่าวไว้ในส่วนนี้)          

                       คลุมถึงเรื่องห้ามเลิกจ้าง  ยกเลิกข้อตกลงหรือสัญญาใด ๆ โยกย้ายหน้าที่การงานกระทำการใดอันเป็นการขัดขวางหรือสร้างอุปสรรคในการใช้สิทธิหรือการทำหน้าที่ในเรื่องการเรียกร้อง ยกเว้นบุคคลดังกล่าวทำผิดร้ายแรงในเรื่องทุจริตต่อหน้าที่ ทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง จงใจทำให้นายจ้างเสียหาย ทำผิดระเบียบ/ขัดคำสั่งนาจ้างกรณีร้ายแรง ก่อการหรือร่วมในการนัดหยุดงานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ในเรื่องการกระทำอันไม่เป็นธรรม คลุมเรื่องห้ามนายจ้างเลิกจ้าง เลิกสัญญาหรือข้อตกลง โยกย้ายหน้าที่การงาน ลดค่าจ้าง ไม่มอบหมายงาน ลดตำแหน่ง กลั่นแกล้ง ขัดขวาง หรือกระทำการใด ๆ เป็นการตอบโต้แรงงานที่เป็นผู้ก่อตั้งสหภาพแรงงาน ที่เป็นสมาชิก กรรมการ อนุกรรมการ ผู้แทน ที่ปรึกษาสหภาพแรงงาน เพราะเหตุการณ์จัดตั้งองค์กร  เข้าเป็นสมาชิก ยื่นข้อเรียกร้องและดำเนินการต่าง ๆ ในการใช้สิทธิตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ รวมทั้งการให้พยานหลักฐานต่อเจ้าหน้าที่และการฟ้องคดีต่อศาล

                       รวมทั้งการคุ้มครองแรงงานที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง ห้ามนายจ้างเลิกจ้างในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างอันเกิดจากการเรียกร้องมีผลใช้บังคับ

                       ทั้งนี้ในกรณีนายจ้างเลิกจ้างหรือเลิกสัญญา ให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งให้นายจ้างรับแรงงานกลับเข้าทำงานพร้อมจ่ายค่าจ้างหรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆอันพึงได้ ย้อนหลังให้แรงงานด้วย นอกนั้นก็เป็นไปตามหลักเดิม คือสั่งให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหาย หรือให้ปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้

                       ส่วนขั้นตอนการดำเนินการต่าง ๆ ในเรื่องนี้ เป็นไปตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ฉบับที่ใช้อยู่

ข้อท้าทาย : กรณีที่ลูกจ้างหรือแรงงานใช้สิทธิรวมตัวหรือเรียกร้องต่อรอง และถูกนายจ้างเลิกจ้าง การคุ้มครองที่ถูกต้องและตรงประเด็นที่สุดก็คือ การให้กลับเข้าทำงานพร้อมทั้งชดเชยค่าเสียหายที่ลูกจ้างหรือแรงงานได้รับ มิใช่เป็นเรื่องดุลพินิจระหว่างให้กลับเข้าทำงานพร้อมค่าเสียหาย หรือให้ชดใช้ค่าเสียหายเพียงอย่างเดียว ซึ่งที่ผ่านมาจะสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งไม่น่าจะตรงกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย

                  อีกประเด็นหนึ่งก็คือ จะพัฒนาให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ เป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญและเป็นมืออาชีพในเรื่องระบบแรงงานสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์ได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชี่ยวชาญในการวินิจฉัยและออกคำสั่งในเรื่องการกระทำอันไม่เป็นธรรม

ประมาณนี้ก่อนนะครับ ลองพิจารณาไตร่ตรองกันดู เพื่อจะได้นำพาสังคมแรงงานและประเทศไปสู่ความเป็นธรรมทางสังคมที่สมบูรณ์กว่าที่เป็นอยู่นี้ครับ/