กระบวนการยุติธรรมด้านแรงงานกับแรงงานข้ามชาติ

คลินิกกฎหมายด้านแรงงาน (31) 

กระบวนการยุติธรรมด้านแรงงานกับแรงงานข้ามชาติ

ชฤทธิ์ มีสิทธิ์ (06/2565)

 

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 ผู้เขียนมีโอกาสได้ร่วมนำเสนอข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นปัญหาทางคดีแรงงานของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นกิจกรรมโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครด้านแรงงานข้ามชาติและครอบครัว จัดโดยภาคีเครือข่ายองค์กรที่ดำเนินงานเกี่ยวกับสิทธิแรงงานข้ามชาติ ที่จังหวัดเชียงใหม่ เห็นว่ามีหลายเรื่องหลายราวที่เกี่ยวกับการการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ อันจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจหรือผู้ปฏิบัติงานในเรื่องดังกล่าว

ประเด็นแรก : แรงงานข้ามชาติอาจมีนายจ้างได้หลายรายและอาจเป็นการจ้างในระบบเหมาช่วง

                   เป็นเรื่องปกติที่แรงงานข้ามชาติทำงานกับนายจ้างคนใด หรือบริษัทใด ก็จะเข้าใจว่าบุคคลนั้นหรือบริษัทนั้นเป็นนายจ้างของตน เพราะแรงงานมาสมัครทำงานกับบุคคลดังกล่าว แต่เนื่องจากในกรณีการจ้างแรงงานข้ามชาติทำงาน กฎหมายของไทยมีกฎ กติกาเกี่ยวกับการจ้างงาน เช่น ขออนุญาตใช้แรงงานข้ามชาติ ขอใบอนุญาตทำงาน เป็นต้น  ส่วนสถานประกอบการ หรือโรงงานอาจเป็นของนายจ้าง หรืออาจเช่าบุคคลอื่นก็ได้

อย่างไรก็ตาม  หากนายจ้างรายแรกตกลงกับลูกจ้าง  เพื่อโอนลูกจ้างไปให้นายจ้างรายใหม่ ซึ่งกฎหมายก็กำหนดไว้แล้ว ให้นายจ้างรายใหม่รับโอนไปทั้งสิทธิและหน้าที่ ที่นายจ้างและลูกจ้างเดิมมีหน้าที่ต้องปฏิบัติต่อกัน เมื่อตกลงกันแล้ว และนายจ้างใหม่ยอมปฏิบัติตามกฎหมายและตามที่ตกลงกันแล้ว พันธะของนายจ้างเดิมก็สิ้นสุดทันที ลูกจ้างเดิมก็จะมีนายจ้างรายใหม่เป็นนายจ้าง โดยนับอายุงานต่อเนื่อง สวัสดิการต่าง ๆ โอนมาทั้งหมด แต่ระเบียบวินัย กฎต่างๆที่ใช้อยู่เดิมก็โอนมาด้วย

อีกประการหนึ่ง อาจเป็นกรณีนายจ้างเดิมประสบปัญหาในการประกอบธุรกิจ เช่น มีปัญหาเกี่ยวคำสั่งซื้อ หรือสภาพคล่องทางการเงิน นายจ้างรายใหม่จึงเข้าไปร่วมดำเนินธุรกิจด้วยกัน รวมทั้ง ควบคุมการทำงาน บังคับบัญชา และลงโทษลูกจ้าง รวมทั้งเป็นผู้จ่ายค่าจ้างด้วย โดยที่นายจ้างรายเดิมก็ยังทำหน้าที่บางอย่างในฐานะที่เป็นนายจ้างซึ่งจ้างแรงงานข้ามชาติ  เช่น ขออนุญาตจ้างแรงงานข้ามชาติ ทำสัญญาจ้าง ชำระค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เกี่ยวกับการจ้างงาน

ลูกจ้างส่วนนี้จึงมีนายจ้าง 2 ราย  ดังนั้นหากนายจ้างรายหนึ่งรายใดไม่จ่ายเงินค่าจ้างหรือไม่ทำหน้าที่ตามกฎหมายแรงงาน หรือเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย  แรงงานข้ามชาติก็มีสิทธิฟ้องคดีกับนายจ้างทั้งสองรายให้ร่วมกันรับผิดตามกฎหมายได้ คำว่าร่วมรับผิด หมายความว่า นายจ้างรายใดรายหนึ่งมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินทั้งหมด หรือทั้งสองรายจะร่วมกันชำระเงินทั้งหมดให้แก่ลูกจ้าง

นอกจากนี้ ยังปรากฏว่ามีนายจ้างอีกไม่น้อยที่ไม่ได้รับคำสั่งซื้อจากลูกค้าโดยตรง แต่เป็นการรับจ้างผลิตสินค้าให้แก่บริษัทที่รับจ้างผลิตสินค้าให้ธุรกิจอื่นมาอีกทอดหนึ่ง หรือหลายทอด กฎหมายเรียกผู้รับจ้างผลิตสินค้าคู่แรกว่า ผู้รับเหมาชั้นต้น และเรียกบุคคลที่รับจ้างผลิตสินค้าเป็นทอด ๆ ต่อจากผู้รับเหมาชั้นต้นว่า ผู้รับเหมาช่วง ซึ่งตามกฎหมาย ผู้รับเหมาช่วงทุกช่วงทุกทอด ไปจนถึงผู้รับเหมาชั้นต้น ต้องร่วมกันรับผิดชำระเงินสำคัญแก่ลูกจ้างของผู้รับเหมาช่วงที่เป็นนายจ้าง เช่น ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าชดเชย เป็นต้น ความร่วมรับผิดดังกล่าวนี้ ยังครอบคลุมถึงเงินตามกฎหมายประกันสังคม และกฎหมายเงินทดแทนด้วย  กรณีนี้มิใช่ลูกจ้างมีนายจ้างหลายราย แต่เป็นกรณีให้ผู้รับเหมาช่วงถัดขึ้นไปจนถึงผู้รับเหมาชั้นต้นร่วมกันรับผิดในเงินสำคัญดังกล่าว ลูกจ้างยังคงมีนายจ้างรายเดียว

ดังนั้น หากแรงงานข้ามชาติจะฟ้องคดีหรือเรียกร้องสิทธิตามกฎหมาย ไม่ว่าในชั้นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย เช่น พนักงานตรวจแรงงาน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 หรือศาลแรงงาน ก็ควรฟ้องนายจ้างให้ถูกตัวและให้ครบตัวนายจ้าง เพื่อประโยชน์ในการเข้าถึงสิทธิและการได้รับประโยชน์สูงสุดจากการดำเนินคดี

                   ประเด็นที่สอง : เมื่อในความเป็นจริงต่างก็ทราบกันดีว่า แรงงานข้ามชาติถูกละเมิดสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานในหลายๆเรื่องมาช้านาน แต่เมื่อแรงงานข้ามชาติเลือกที่จะใช้สิทธิทางกฎหมาย จะต้องเรียนรู้และเตรียมการทางคดีอย่างไรบ้าง

                   จากประสบการณ์ขององค์กรพัฒนาเอกชน ในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่แรงงานข้ามชาติ พบว่า แรงงานข้ามชาติมักถูกนายจ้างละเมิดตั้งแต่ ค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้าง วันหยุดพักผ่อนประจำปี รวมทั้ง ประสบอันตรายจากการทำงานก็ไม่ได้รับเงินทดแทน วันใดที่นายจ้างสั่งหยุดงาน เนื่องจากขาดสภาพคล่อง หรือขาดวัตถุดิบในการผลิตสินค้า ซึ่งตามกฎหมายนายจ้างต้องจ่ายเงินให้ลูกจ้างร้อยละ 75 แต่สำหรับแรงงานข้ามชาติ นายจ้างมักจะไม่จ่ายเงินให้ลูกจ้างแม้แต่บาทเดียว

ในการใช้สิทธิตามกฎหมายของแรงงานข้ามชาติ มักจะไปใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน เนื่องจากสะดวกกว่าช่องทางอื่น  แรงงานข้ามชาติและเครือข่ายที่ให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติมักจะมีความคิดว่า ก็เมื่อนายจ้างทำไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงไม่น่าจะมีปัญหาอะไรที่ลูกจ้างจะไม่ได้รับสิทธิหรือไม่ชนะคดี แต่ในความเป็นจริง มิได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป มีหลายคดีที่ลูกจ้างหรือแรงงานข้ามชาติแพ้คดี เพราะในกติกาทางกฎหมาย ฝ่ายลูกจ้างต้องนำเสนอข้อมูลและหลักฐานต่าง ๆให้ถูกต้องครบถ้วน ดังที่ในทางคดี มักจะพูดกันว่า ให้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือให้เจ้าหน้าที่ หรือศาลเชื่อ หรือรับฟังและนำไปวินิจฉัยกับหลักกฎหมายได้  โดยเฉพาะถ้าลูกจ้างไม่มีทนายความ ปัญหาต่าง ๆ ก็จะเพิ่มมากขึ้น ความเสี่ยงก็มีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลายคนก็มักจะพบและเกิดความรู้สึกว่า แรงงานข้ามชาติกับผู้บังคับใช้กฎหมายไม่ว่าพนักงานตรวจแรงงาน เจ้าหน้าที่จัดหางาน และศาลแรงงาน ยังห่างไกลกันเหลือเกิน

การเตรียมความพร้อมสำหรับเรื่องนี้ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ คือ

  • แกนนำแรงงานข้ามชาติ องค์กรเครือข่ายที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่แรงงานข้ามชาติ และทนายความที่มีความเข้าใจปัญหาแรงงาน ต้องช่วยกันรวบรวมและบันทึกข้อมูลสำคัญที่จำเป็นแก่คดี คัดแยกพยานหลักฐาน วางรูปคดี และทำความเข้าใจเจตนารมณ์ของกฎหมาย และเตรียมตัวในการนำเสนอข้อมูลพยานหลักฐานต่อเจ้าหน้าที่ หรือศาลแรงงาน คดีที่ไม่ซับซ้อนมากแกนนำแรงงานและองค์กรเครือข่ายสามารถไปดำเนินการได้เอง ส่วนคดีที่มีความยุ่งยากหรือซับซ้อนจำเป็นที่จะต้องมีทนายความไปช่วยเหลือ
  • ในกรณีที่กฎหมายแรงงานกำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่ต้องจัดทำเอกสารสำคัญ เช่น ทะเบียนลูกจ้าง เอกสารการจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด แต่นายจ้างไม่ยอมจัดทำเอกสารดังกล่าว กรณีดังกล่าวนี้ ในทางกฎหมายนายจ้างไม่มีสิทธิจะนำสืบพยานบุคคลเพื่อชี้แจงหรืออธิบายยืนยันว่า นายจ้างได้จ่ายเงินสำคัญต่าง ๆ ให้ลูกจ้างครบถ้วนแล้ว แต่ฝ่ายแรงงานข้ามชาติและทนายความของฝ่ายแรงงานก็ยังคงมีหน้าที่ต้องเสนอหลักฐานหรือพยานต่อศาล เพื่อยืนยันสิทธิของตนแต่ละเรื่องให้เกิดความชัดเจนในคดีนะครับ
  • กรณีนี้ยังเป็นปัญหาอยู่โดยทั่วไป กระทรวงแรงงานจึงควรกำหนดมาตรการในการบริหารการจ้างแรงงานต่างด้าว โดยเร่งด่วน โดยกำหนดให้นายจ้างจัดทำเงื่อนไขการจ้างและการทำงาน ให้เกิดความชัดเจน เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติ และเพื่อประโยชน์ในการบริหารและบังคับใช้กฎหมายด้านแรงงาน เช่น การบันทึกเวลาทำงานทั้งในวันปกติ การทำงานล่วงเวลา และการทำงานในวันหยุด การประกาศวันหยุดประเพณีและวันหยุดอื่น ๆ ของนายจ้าง การจ่ายเงิน การรับเงิน และการหักเงินต่าง ๆ ของแรงงานข้ามชาติ จัดทำให้เป็นระบบ และมีกลไกในการติดตามตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพว่านายจ้างได้ปฏิบัติตามกฎหมายและแรงงานได้รับเงินหรือสิทธิตามกฎหมายครบถ้วนถูกต้องแล้ว ปัญหาการละเมิดหรือการฉ้อโกงแรงงานก็น่าจะลดน้อยถอยลง

 

                   ประเด็นที่สาม : ความรับผิดของนายจ้างเกี่ยวกับเงินเพิ่มร้อยละ 15 ทุกระยะเวลา 7 วัน

                   ประเด็นนี้อยู่ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 ให้การคุ้มครองในกรณีนายจ้างจงใจไม่จ่ายเงินก้อนสำคัญ คือเงินค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าชดเชย และเงินประกันการทำงาน ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของลูกจ้างโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ซึ่งพอจะแปลความเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ว่า เป็นกรณีกลั่นแกล้ง เอาเปรียบ หรือโกงเงินลูกจ้าง หรือไม่จ่ายโดยที่ไม่มีเหตุผลที่จะอ้างได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เช่น นายจ้างกับลูกจ้างมีเรื่องขัดแย้งกัน ไม่พอใจกัน จึงไม่จ่ายเงินดังกล่าวให้  นายจ้างขอความร่วมมือลูกจ้างช่วยทำโอที หรือทำงานในวันหยุด แต่ลูกจ้างมีธุระในครอบครัว จึงปฏิเสธ นายจ้างรู้สึกไม่พอใจ จึงไม่จ่ายเงินเดือนให้ หรือจ่ายล่าช้า ต้องถือว่าเป็นกรณีจงใจ

แต่ถ้านายจ้างประสบปัญหาทางการเงินจริง ๆ จนขาดสภาพคล่อง ไม่มีเงินจ่ายให้แก่ลูกจ้าง อย่างนี้ถือว่ามีเหตุผลอันสมควร

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้หากมีการบังคับใช้กฎหมายกันอย่างจริงจัง จะทำให้การคุ้มครองแรงงานมีประสิทธิภาพ ลูกจ้างจะได้รับการคุ้มครองมากยิ่งขึ้น เพราะนายจ้างจะต้องจ่ายเงินเพิ่มจำนวนที่สูงมาก ยิ่งนานวันจำนวนเงินยิ่งเพิ่มมากขึ้น จะเห็นได้ว่านายจ้างไม่ค่อยกล้าเสี่ยงที่จะละเมิดในเรื่องเหล่านี้ แต่ในความเป็นจริงการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องนี้ยังย่อหย่อน ทั้งในส่วนพนักงานตรวจแรงงาน และศาลแรงงาน ต่างก็วินิจฉัยและตีความไปในทางที่นายจ้างมีเหตุผลอันสมควร ลูกจ้างจึงยังไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมายในเรื่องนี้  อย่าว่าแต่เงินเพิ่มเลยครับ ในส่วนดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีที่นายจ้างผิดนัดไม่จ่าย นายทุนยังมีการต่อรองขอลดหรือขอไม่จ่ายดอกเบี้ยกับคนจนอยู่เสมอๆเลยครับ

กรณีของแรงงานข้ามชาติ ยิ่งเห็นได้ชัดเจนว่า นายจ้างหลายส่วน หรือทีมที่บริหารจัดการธุรกิจ มักจะตั้งใจละเมิดในเรื่องดังกล่าว เป็นกรณีจงใจไม่จ่ายโดยชัดเจน แต่ลูกจ้างก็ยังมีข้อจำกัดในการเรียกร้องสิทธิในเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 15 ทุกระยะเวลา 7 วัน ด้วยความเป็นแรงงานข้ามชาติที่มาทำงานในประเทศอื่น ความไม่รู้กฎหมาย เข้าไม่ถึงการมีทนายความดำเนินคดีให้ และด้วยข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ

                   ประเด็นที่สี่ : คำวินิจฉัยของพนักงานตรวจแรงงานที่ยังขาดมิติการคุ้มครองแรงงาน

                   ในกรณีที่แรงงานข้ามชาติดำเนินคดีตามกฎหมายต่อพนักงานตรวจแรงงาน เพื่อเรียกร้องเงินต่าง ๆ เช่น ค่าจ้างขั้นต่ำที่นายจ้างจ่ายไม่ครบ ค่าจ้างในวนหยุดประเพณี ค่าโอที และค่าทำงานในวันหยุดที่นายจ้างยังมิได้จ่ายให้ พนักงานตรวจแรงงานวินิจฉัยว่า หากลูกจ้างเห็นว่านายจ้างจ่ายเงินให้ไม่ครบ หรือไม่จ่ายตามกฎหมาย ลูกจ้างก็ควรที่จะโต้แย้ง ทวงถาม หรือฟ้องร้องเสียตั้งแต่ที่นายจ้างจ่ายไม่ครบ การปล่อยไว้เนิ่นนาน จึงน่าเชื่อว่านายจ้างจ่ายครบแล้ว

ดูเหมือนจะเป็นเหตุผลในทางตรรกะ แต่ไม่ใช่สภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นมาช้านาน ซึ่งพนักงานตรวจแรงงานก็ทราบความจริงข้อนี้ดี ตราบใดที่ลูกจ้างยังมีความกลัว หรือเชื่อว่าถ้าโต้แย้ง ทวงถาม หรือฟ้องร้อง ก็จะถูกตอบโต้จากนายจ้าง และตนเองยังไม่พร้อมรับการตอบโต้ ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นและรับรู้กันอยู่แล้ว โดยเฉพาะหากถึงขั้นถูกเลิกจ้าง ต้องหางานใหม่ทำ ลูกจ้างก็จะไม่ทำการใดๆ ดังที่พนักงานตรวจฯ วินิจฉัย ทั้งๆที่ในความเป็นจริง ชีวิตช่างเจ็บปวดรวดร้าว ครอบครัวต้องเดือดร้อน ไม่ได้รับเงินตามกฎหมาย ซึ่งถ้ารวมเงินของแรงงานทั้งโรงงานก็เป็นเงินนับล้านบาท

หรือในกรณีที่พนักงานตรวจฯ อยู่ในระหว่างสอบสวนเพื่อวินิจฉัยคำร้องและออกคำสั่งที่แรงงานข้ามชาติเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เนื่องจากแรงงานมีจำนวนหลายร้อยคน พนักงานตรวจแรงงานจึงใช้วิธีสุ่มสอบข้อเท็จจริง ผลจากการกสุ่มสอบ แรงงานให้ข้อเท็จจริงในเรื่องเดียวกันแตกต่างกัน  กลุ่มหนึ่งบอกว่านายจ้างทำถูกต้องตามกฎหมายแล้ว (เพราะหัวหน้างานและผู้บริหารกดดันให้แรงงานพูดอย่างนั้น)  อีกกลุ่มหนึ่งให้การว่านายจ้างจ่ายเงินค่าจ้างขั้นต่ำไม่ครบ เดือนหนึ่งให้หยุดเพียงวันเดียว คือวันหลังจากที่มีการจ่ายค่าจ้าง ทำโอทีจนถึงเวลา 5 ทุ่มโดยไม่ได้ค่าโอที ไม่ได้หยุดประเพณี และไม่ได้รับเงินค่าทำงานในวันหยุด

ผลการสุ่มสอบจากแรงงานที่ต่างกันอย่างนี้ แสดงว่าต้องมีปัญหาในโรงงานแห่งนี้ พนักงานตรวจแรงงานจึงควรที่จะเพิ่มมาตรการในการสอบสวนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่มิใช่อ้างผลการสุ่มสอบที่แตกต่างกันนั้น ว่าลูกจ้างให้ข้อมูลขัดแย้งกัน จึงไปรับฟังข้อเท็จจริงตามที่นายจ้างอ้างและวินิจฉัยไปตามทางที่นายจ้างอ้าง และให้แรงงานข้ามชาติเป็นฝ่ายแพ้คดี

 

                   ประเด็นสุดท้าย : การไกล่เกลี่ยในคดีแรงงานที่ผู้ใช้สิทธิเป็นแรงงานข้ามชาติ

                   เรื่องนี้ฝ่ายแรงงานก็บ่นกันมาช้านานแล้ว ว่ามีการไกล่เกลี่ยคดีโดยไม่เป็นธรรม คือทุกฝ่ายมักจะเรียกร้องหรือขอให้คนจนลดเงินที่เรียกร้องลง หรือขอให้เห็นใจนายจ้างว่า กิจการของนายจ้างจะไปรอดหรือไม่ หรือบรรยากาศในการไกล่เกลี่ยทำให้แรงงานอยู่ในภาวะกดดัน หรือไม่มีทางออก หรือข้อเรียกร้องของแรงงานสูงเกินไป เกินกว่าที่จะบรรลุได้

ทางศาลแรงงานก็มักจะชี้แจงว่า ศาลไม่ได้กดดันแรงงาน แต่ศาลเห็นว่า ถ้าตัวเลขที่เรียกร้องสูงเกินไป นายจ้างก็คงเลือกสู้คดีดีกว่า ตัวเลขที่เรียกร้องมากหรือน้อย จะวัดกันอย่างไร มีเสียงสะท้อนที่สำคัญจากเครือข่ายที่ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติและฝ่ายแรงงานข้ามชาติเองว่า พวกเขามักจะรู้สึกหดหู่ หรือไม่ค่อยมีความหวังหรือมีพลังในการเจรจาต่อรองในคดี รู้สึกว่าฝ่ายนายจ้างมักมีเหตุผลหรือข้ออ้างเยอะแยะมากมายเหลือเกิน และศาลแรงงานมักจะคล้อยตาม หลายคดีแรงงานไม่มีทายความ ยิ่งไม่มีทักษะในการต่อรอง หรือไม่เข้าใจรูปคดี ผู้พิพากษาในคดีแรงงานข้ามชาติบางท่าน ถึงกับปรารภว่า ปัญหาที่นายจ้างที่จ้างงานแรงงานข้ามชาติ ไม่ทำตามกฎหมายในหลายๆเรื่อง คงต้องแก้ปัญหาในทางการเมืองหรือโดยรัฐบาล จะอาศัยคำพิพากษาของศาลแล้วหวังว่านายจ้างทั้งหลายจะหันไปปฏิบัติตามกฎหมายคงยาก ก็เพราะรัฐบาลแก้ปัญหาไม่ได้ ประชาชนจึงหวังว่า ศาลน่าจะช่วยได้และสิ่งที่สำคัญเครือข่ายต่าง ๆ หวังว่า ศาลแรงงานควรจะมีบทบาททำความเข้าใจหรือพูดคุยให้นายจ้างเข้าในเจตนารมณ์ของกฎหมาย และศาลก็น่าจะมองเห็นว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายละเมิด ศาลสามารถช่วยทำให้เกิดความเป็นธรรมขึ้นได้ ด้วยการพูดจาให้นายจ้างตระหนัก เพราะนายจ้างก็รับฟังข้อที่ศาลแนะนำ

อย่างไรก็ตาม การมีกฎหมายแรงงาน มีพนักงานตรวจแรงงาน หรือศาลแรงงาน ก็เพื่อการคุ้มครองแรงงาน หรือแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน กลไกเหล่านี้จึงยังเป็นความหวังและเป็นเครื่องมือที่ประชาชนผู้ใช้แรงงานไม่ว่าคนไทยหรือแรงงานข้ามชาติยังต้องการและรอคอยความยุติธรรมอยู่ครับ อย่างไรก็ตาม เมื่อท่านทั้งหลายได้มีโอกาสรับทราบข้อมูลดังกล่าวแล้ว ลองคิดไตร่ตรองดูเถิดว่า เหตุใดแรงงานข้ามชาติจึงยังเผชิญปัญหาดังกล่าวอยู่อีก ในขณะที่แรงงานไทยกลับต้องเผชิญปัญหาอีกลักษณะหนึ่ง จะมีทางออกทางแก้อะไรบ้างในเรื่องการปกป้องคุ้มครองแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมนุษย์ที่เรียกว่าแรงงานข้ามชาติ หรือคนเหล่านี้มิใช่คน

พบกันคราวหน้านะครับ/.