แรงงานปริทัศน์ ฉบับที่ 366 เดือนมกราคม 2561

สวัสดีปีใหม่ 2561 แรงงานปริทัศน์ออนไลน์ฉบับที่ 19 (366) เดือนมกราคม 2561 ผ่านไปอีก 1 ปีพร้อมเรื่องราวความเคลื่อนไหวในสังคมไทยที่เชื่อมต่อกับสังคมโลกด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่เจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็วทุกวัน

ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาคิดว่าขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมหรือ Social movement กลายเป็นคำที่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน และชาวบ้านในระดับชนชั้นล่างเมื่อคำๆนี้ กลายเป็นคำถามในเวทีประกวดนางงามจักรวาล และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้เข้าประกวดจากประเทศไทยตกรอบ 5 คนสุดท้ายเพราะตอบไม่ตรงประเด็น คำว่าขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมสำหรับคนจน และแรงงานส่วนหนึ่ง แม้ไม่รู้จักความหมาย แต่จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม พวกเขาคือคนที่ได้เข้าร่วมและผลักดันให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมมาแล้วอย่างมากมาย

สำหรับแวดวงแรงงานมีคำเกิดใหม่ คือ “สหภาพแรงงานที่เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม”(Social movement unionism) ซึ่งเริ่มมีการพูดถึงกันในหมู่ผู้นำแรงงาน นักวิชาการ และผู้ปฏิบัติงานในองค์กรพัฒนาเอกชนมากว่า 10 ปีแล้ว สหภาพแรงงานที่เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมหมายถึงอะไร? และมีแนวทางพัฒนาอย่างไร? ผู้สนใจหาอ่านได้จากแรงงานปริทัศน์ฉบับนี้

ส่วนขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่เป็นข่าวครึกโครมมาตลอด 2 เดือนที่ผ่านมาคือ โครงการก้าวคนละก้าวเพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ ของนายอาทิวราห์ คงมาลัย ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไป โดยได้รับเงินบริจาคจนถึงขณะนี้ (27 ธันวาคม 2560) มากกว่า 1,200 ล้านบาท โครงการนี้เริ่มต้นจากปัจเจกบุคคลแต่ต่อมาสามารถขยายขอบเขตไปสู่การสร้างผลสะเทือนให้สังคมไทยตระหนักถึงปัญหาสาธารณสุขที่คนจนขาดแคลนโรงพยาบาลที่มีเครื่องมือดีๆ ที่จะให้การรักษาเมื่อเจ็บป่วย อย่างไรก็ตามโครงการนี้จะกลายเป็นเพียงการสร้างวีรบุรุษที่ฮือฮาอยู่ช่วงหนึ่งแล้วเงียบหายไป โดยไม่ได้มีการแก้ไขปัญหาโครงสร้างหรือไม่? ก็ย่อมขึ้นอยู่กับว่าคนในสังคมไทยตระหนักถึงเป้าหมายที่กว้างไกลกว่าการหาเงินบริจาคพันล้านของคุณอาทิวรา แต่ปัญหาที่แท้จริงคือระบบสวัสดิการสังคมต้องได้รับการพัฒนาเพื่อให้คนส่วนใหญ่ของประเทศได้ใช้บริการอย่างเหมาะสมตามความจำเป็นขั้นพื้นฐานของมนุษย์

ในด้านแวดวงแรงงาน ครบ 2 ปีของการปฏิรูประบบประกันสังคม ผู้ประกันตนได้อะไร? เป็นคำถามที่ท่านสามารถหาคำตอบได้จากรายงานพิเศษของแรงงานปริทัศน์ฉบับนี้ เช่นเดียวกับการเคลื่อนไหวเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำที่องค์กรแรงงานเรียกร้องมาเป็นระยะ จนถึงปัจจุบันคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เสนอตัวเลขล่าสุดอยู่ที่ 360 บาทต่อวัน และให้ปรับเท่ากันทั่วประเทศ ซึ่งก็มีทั้งเสียงคัดค้านและสนับสนุนจากนักวิชาการ ในขณะที่ฝ่ายนายจ้างคัดค้านเช่นเคย อ่านความเห็นต่อการปรับค่าจ้างขั้นต่ำได้จากบทความอนาคตจุดยืนปรับค่าจ้างขั้นต่ำ โดยบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานที่ติดตามเรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำมาหลายปี

สถานการณ์เลิกจ้างในวงการสื่อดิจิตอลเริ่มเมื่อสื่อทีวีดิจิตอลเริ่มพ่นพิษเมื่อ “วอยซ์ ทีวี” แถลงการณ์ปรับโครงสร้างองค์กรเลิกจ้างคนคนงาน 127 คนในขณะที่คดีเลิกจ้างประธานสหภาพแรงงานผู้ปรุงอาหารและให้บริการบริษัทยิมเรสเทอรองตส์ฯ ยังคงยืดเยื้ออยู่โดยมีเครือข่ายสตรี แรงงานเยาวชนนักวิชาการ และสื่อมวลชน ร่วมส่งจดหมายเปิดผนึกคัดค้านบริษัทในการเลิกจ้างครั้งนี้ ผู้สนใจติดตามข่าวทั้งสองเรื่องได้ในแรงงานปริทัศน์ฉบับนี้

ปีใหม่แล้วขอผองเรา จงก้าวเดินต่อไปอย่างมั่นคง ต่อสู้ ฟันฝ่าอุปสรรคเพื่อชีวิตที่ดีกว่า

แรงงานปริทัศน์ออนไลน์ ม.ค.61