พรก.การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว 2560 รัฐบาลต้องแก้ให้ตรงจุด

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

พรก.การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว 2560 รัฐบาลต้องแก้ให้ตรงจุด

บัณฑิต แป้นวิเศษ
หัวหน้าฝ่ายแรงงานหญิง มูลนิธิเพื่อนหญิง

ด้วยคณะรัฐมนตรีได้อาศัยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 ที่บอกว่าครม.สามารถออก พรก.ได้ในกรณีเร่งด่วน ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นที่มาของมติครม.อนุมัติ พรก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 2560 ตามข้อเสนอของกระทรวงแรงงาน ที่หวังทำตามเป้าหมายในการป้องกันปัญหาอันอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานหรือการกระทำอันเป็นการค้ามนุษย์ต่อคนต่างด้าว ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 23 มิถุนายน 2560 หลังมีการประกาศใช้ พรก.ฯฉบับนี้ เพียงไม่ถึง 2 อาทิตย์ ฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย ได้รับความเดือดร้อน อย่างเห็นได้ชัด เพราะเนื่องจากมีการกำหนดมาตรการทางกฎหมายเพิ่มเติมหลายประการจากกฎหมายเดิมได้แก่ พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 และพระราชกำหนดการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ.2558 โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทกำหนดโทษในมาตรา 101,102 และ122 ที่เอาผิดกับนายจ้างและลูกจ้างที่มิได้มีการจ้างงานหรือทำงานตามเงื่อนไขของกฎหมาย

ณ เวลานี้ ต้องยอมรับความจริงว่ามีแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองมาทำงานแบบผิดกฎหมาย และแรงงานที่มีบัตรสีชมพูที่ได้รับการอนุญาตผ่อนผันให้สามารถทำงานได้ชั่วคราว รวมถึงตัวนายจ้างเอง และเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายปฏิบัติในการแก้ไขปัญหามีความสับสนในกระบวนบริหารจัดการการจ้างงานเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะฝ่ายนายจ้าง และลูกจ้างที่ใช้กระบวนการนำพา จ้างแรงงานแบบผิดกฎหมาย หรือกลุ่มที่ได้รับการผ่อนผันการทำงาน จากรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆมีรายงานตรงกันว่า ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2560 เป็นต้นมา มีแรงงานข้ามชาติที่นายจ้างเริ่มละทิ้งลูกจ้างตัวเอง และแสดงตัวขอกลับเอง มีมากถึง 29,000 – 30,000 ราย และยังไม่รวมลูกจ้างที่ถูกกวาดล้างจับกุมโดยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในการควบคุมตัวและส่งกลับ ที่สำคัญและเป็นประเด็นให้เฝ้าจับตามองของสังคม และสากลคือการอาศัยช่องทางของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในการพยายามเรียกรับเงินจากทั้งตัวแรงงานและนายจ้าง จะเห็นได้จากความเคลื่อนไหวของนายทูลวิน ผู้ว่าราชการจังหวัดเมียวดี ได้ทำหนังสือผ่านชุดประสานงานไทย – เมียนมา(แม่สอด – เมียวดี) ถึงนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก โดยระบุว่าขอให้ทางการไทยตรวจสอบแก้ปัญหาการเรียกรับเงินจากแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ที่เดินทางกลับเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2560 และถูกเจ้าหน้าที่ไทยปฏิบัติหน้าที่เส้นทางตาก – แม่สอดเรียกรับเงิน ทั้งนี้เพื่อไม่ให้กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (นสพ.กท.หน้า 4วันที่ 4 ก.ค. 2560)

จากสถานการณ์และการปฏิบัติการสายฟ้าแลปของกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้ด้วยเหตุผลทั้งด้านความมั่นคงของชาติ การต้องการแก้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยกับการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ทีถูกจัดอันดับเทียร์อยู่ระดับ 2 ไม่ดีไปกว่าเดิม หรือจะเหตุผลใดก็ตาม

วันนี้ฤทธิ์ของ พรก.ฉบับบนี้ได้พ่นพิษแล้ว จึงมีคำถามเกิดขึ้นมากมายทั้งฝ่ายที่บอกว่า กฎหมายนี้ทำให้แรงงานข้ามชาติ ที่เข้ามาผิดกฎหมายได้ถูกผลักดันให้กลับประเทศเพราะพวกเขาจะครองเมืองไทยอยู่แล้ว หรือกลุ่มที่มองแบบก้าวหน้ายอมรับความจริงว่าเราไม่สามารถปฏิเสธพวกเขาได้ในการใช้แรงงานหมุนเศรษฐกิจในกิจการการทำงานที่คนไทยไม่ทำ อาทิ งานก่อสร้าง งานประมง งานบริการ คนทำงานบ้าน ที่มีลักษณะงานที่มีค่าจ้างราคาถูก ไม่มีสวัสดิการ ระยะเวลาการทำงานไม่แน่นอน และสำคัญคือเป็นงานที่สกปรก ไม่มีความปลอดภัยในการทำงาน มีสถานะที่กดขี่ขูดรีดได้มากกว่าแรงงานไทย เป็นต้น ปัญหาแรงงานต่างด้าวต้องบอกกันตรงๆว่า ไม่ใช่ปัญหาใหม่ และไม่ใช่จัดการบริหารไม่ได้ แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยในบริบทที่ปิดตาข้างหนึ่ง เปิดตาข้างหนึ่ง คือในด้านเศรษฐกิจก็มีความจำเป็นต้องใช้กำลังแรงงานของคนจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้ประเทศอยู่รอด มีค่าใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันแบบต้นทุนไม่สูงนัก แต่ขณะเดียวกันก็ต้องการความมั่นคงของประเทศดังที่บอกกันต่อๆมาว่าระวังจะถูกยึดเมืองบ้าง เขายึดไปหมดแล้ว ดูสิมาเปิดแผงขายของ และออกลูกออกหลานเต็มไปหมด ระวังแรงงานเหล่านี้จะมาฆ่า หรือปล่อยโรคร้าย เป็นต้น ทัศนะความคิด และมายาคติเหล่านี้เมื่อมองไปมีทั้งเชิงบวก และเชิงลบ อยู่ที่ว่าใคร กลุ่มใดจะนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการปกครองอันสอดคล้องกับธุรกิจ กำไร และผลประโยชน์ของตน

ดังนั้นรัฐบาลควรพิจารณาทบทวนการแก้ปัญหาให้ถูกจุด ตรงประเด็น การออก พรก.การบริหารคนจัดการแรงงานต่างด้าว 2560 มิใช่เรื่องผิด แต่อาจมองเป็นความหวังดีของรัฐบาลที่ต้องการจัดการบริหารแรงงานต่างด้าวแบบผิดกฎหมาย ให้ถูกกฎหมาย และสร้างภาพลักษณ์ของความพยายามแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์แบบยั่งยืน แต่ในความเป็นจริงแล้วรัฐบาลแทบไม่จำเป็นต้องสร้างหรือทำกฎหมายใหม่ขึ้นมาก็ได้ เพราะเมื่อมีตัวบทกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว อาทิ

พรบ.คนทำงานต่างด้าว

พรบ.คุ้มครองแรงงาน

พรบ.แรงงานสัมพันธ์

พรบ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์

พรบ.หลบหนีเข้าเมือง กฎหมายอาญา

พรบ.ประกันสังคม

พรบ.กองทุนเงินทดแทน

อีกทั้งมีศูนย์ช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวเพื่อเอื้อให้นายจ้างและแรงงานที่ผิดกฎหมายได้เข้ามาดำเนินการให้ถูกกฎหมาย(OSCC) เป็นต้น นี่คือสิ่งที่มีอยู่ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือแม้นแต่กระทรวงสาธารณะสุข กระทรวงศึกษาธิการ อาจจะต้องหันหน้าเข้าหากันบูรณาการการทำงานให้เข้าใจ ไม่เลือกแค่งานหน้าเสื่อตัวเอง ทั้งนี้เพื่อลดขั้นตอนการเข้าถึงบริการของรัฐได้อย่างรวดเร็ว สบายใจปลอดภัยจากนายหน้า อีกจุดสำคัญของปัญหาที่นับเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดคือกลุ่มนายจ้างบางคนบางกลุ่ม “ที่มีความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้คอยหาช่องว่างของกฎหมาย การแสวงกำไรแบบไม่สนใจชาติ นำเข้าแรงงานถูกกฎหมายส่วนหนึ่งแต่นำเข้าแรงงานแบบผิดกฎหมายที่มีจำนวนมากกว่าถูกกฎหมายโดยผ่านนายหน้า และเจ้าหน้าที่รัฐบางคน ที่แสวงประโยชน์จากกลไกที่ตัวเองถืออยู่ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงนโยบาย กฎหมาย
ไม่ว่ารัฐบาลที่มาจากระบบประชาธิปไตย หรือมาจากเผด็จการ ประเทศไทยไม่เคยจัดการกับกลุ่มนายจ้างบางคน หรือกลุ่มนายจ้างบางกลุ่มที่น่าจะเป็นคนกลุ่มไม่ใหญ่แต่มีอิทธิพล ผมในฐานะที่ทำงานด้านแรงงานทั้งไทย และข้ามชาติ จึงมีข้อเสนอ 3 ข้อให้รัฐบาลได้คิดทบทวนและเร่งนำไปปฏิบัติการกล่าวคือ

หนึ่ง ต้องเอาจริงกับนายจ้างกลุ่มที่ทำผิดกฎหมาย ปรากฏการณ์ พรก.ฉบับบนี้ เมื่อมองไปแล้วก็ยังไม่มีการจัดการกับนายจ้างที่ลอยแพคนงาน ดังนั้นจึงขอให้รัฐบาลทั้งไทย และประเทศต้นทางได้ทำแบบบันทึกสอบถามแรงงานข้ามชาติที่กลับประเทศจำนวน 30,000 กว่าคนนำร่องเอาผิดนายจ้าง ที่ปล่อยให้ตนเองต้องเผชิญชะตากรรมแบบไร้มนุษยธรรม

สอง กลุ่มนายจ้าง และลูกจ้างที่ ม. 44 ขยายเวลา ออกไป 120 วัน ในการเปิดให้แรงงานมาจดทะเบียน ทำเอกสารให้ถูกกฎหมาย แต่หลัง 120 วันที่ขยายโอกาสให้แล้ว รัฐบาลไทยและประเทศต้นทางจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างจริงจัง

สาม รัฐบาลอาจต้องมีการทำแผนการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ ระยะยาวและเปิดโอกาสให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รอบด้าน เพื่อการปฎิรูปประเทศสู่ ไทยแลนด์ 4.0 และการเข้าสู่ประชาคมอาเซี่ยนอย่างภาคภูมิ ทั้งนี้อาจพัฒนาระบบไปสู่ความร่วมมือ

ด้านการเป็นแรงงานอาเซี่ยนในอนาคต
สุดท้ายขอย้ำว่ารัฐบาลต้องแก้ให้ตรงจุดโดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมาย กับนายจ้างที่ทำผิดกฎหมาย หลังการประกาศ มาตรา 44 ออกมาเพื่อยับยั้ง พรก.การบริหารแรงงานต่างด้าว 2560 ม.101,102 และม.122 เพื่อบรรเทาผลกระทบ และให้โอกาสนายจ้าง รวมถึงแรงงานข้ามชาติ ให้เร่งดำเนินการการจัดจ้างและเอกสารการทำงานให้ถูกกฎหมาย ภายใน 120 วันหลังประกาศ ม.44 ของท่านนายกรัฐมนตรี ตามคำร้องขอของภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ตรงนี้น่าจะเป็นงานที่กลุ่มนายจ้างต้องเร่งไปจัดการกับกลุ่มตนเองในการจ้างแรงงานแบบถูกกฎหมาย และต้องเอื้อให้แรงงานข้ามชาติเข้ามาแบบไม่เสียเงินซ้ำซ้อนในการดำเนินการ น่าจับตามองที่สุดเลยครับ กับการใช้ ม.44 และหลังจากนั้นประเทศไทยจะไปอย่างไรต่อ ข้อเสนอที่ 3 ของผมจะเป็นทางออกในอนาคตครับ ถ้ารัฐบาลนำไปปฏิบัติการต่อ