โครงสร้างและการจัดองค์การของ UNI

                                    1           

สกุล สื่อทรงธรรม

ในการตั้งรับการรุกคืบของความเจริญทางเทคโนโลยี องค์กรที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ของผู้ใช้แรงงาน คือ ยูเอ็นไอ หรือ Union Network International นั้น ได้เห็นความจำเป็นที่จะต้องรวบรวมกิจการเหล่านี้เข้าในร่มขององค์กร ที่มีการพูดถึงเป็นเบื้องต้นคือ คือ

  • กิจการให้บริการข่าวสาร การคมนาคมยุคใหม่ และกิจการให้บริการสารสนเทศโดยใช้อินเตอร์เน็ต
  • กิจการให้บริการสื่อหลากหลาย(Multimedia) สื่อสารเพื่อการบริการข่าวสารและการบันเทิง  กิจการด้านกราฟิค และเทคโนโลยีสารสนเทศ
  • กิจการให้บริการทางการเงิน การค้าขาย ไปรษณีย์ เสริมสวยและดูแลผม การท่องเที่ยว
  • กิจการรับเหมาช่วง เช่น การให้บริการดูแลงานในอาคาร บริการธุรการต่าง ๆ เป็นต้น

ส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ค่านิยมขององค์กรที่จะต้อง “ทำงานเพื่อประชาชน” ให้มีความชัดเจน เพราะบรรษัทและองค์กรธุรกิจได้หันมาเน้นกิจกรรมเพื่อสังคมหรือซีเอสอาร์มากขึ้น

ยูเอ็นไอจะต้องสามารถจัดตั้งบริการพื้นฐานเพื่อสมาชิกดังต่อไปนี้

  1. การให้บริการด้านข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็ว ถูกต้อง และสำคัญต่อการขับเคลื่อนองค์กร
  2. การพัฒนาองค์การสหภาพแรงงานทั้งด้านความรู้และขยายฐานสมาชิก พร้อม ๆ กับการเน้นความสามัคคีเป็นปึกแผ่นของมวลสมาชิก
  3. การบริหารงานจะมีการครอบคลุมในลักษณะข้ามชาติข้ามทวีปมากขึ้น
  4. การให้บริการในลักษณะภาคอุตสาหกรรม (sectoral services) ที่มีความชัดเจน เช่น อุตสาหกรรมบริการ จะครอบคลุมถึงบริการทางการเงิน การค้าปลีก การประกัน และการคมนาคม อุตสาหกรรมการผลิต เช่น คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน รถยนต์และยานพาหนะขับเคลื่อน  อุตสาหกรรมการบันเทิงและสื่อสาร เช่น การท่องเที่ยว การไปรษณีย์ ลอจิสติกส์ ภาพยนต์และการแสดง  เป็นต้น
  5. การส่งเสริมกลุ่มแรงงานระดับจัดการและนักวิชาชีพ (inter-professional groups) หมายถึงการส่งเสริมให้มีการรวมตัวกันของแรงงานเยาวชน สตรี นักบริหารในองค์กรและนักวิชาชีพ ผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ จัดตั้งและเข้าร่วมในองค์กรมากขึ้น

ประตูที่จะเปิดไปสู่ความสำเร็จข้างต้นคือการเปิดประตูในระดับโลก (global gateway)  โดยดูจากการจัดระบบสื่อสารขององค์กรตามร่างแผนภูมิดังนี้

ตาราง

ทั้งนี้ การจัดระดับปฏิบัติการทางการบริหารจำเป็นต้องมีความชัดเจนตั้งแต่แรก มิฉะนั้นอาจมีการจัดกิจกรรมซ้ำซ้อนได้ โดยแบ่งเป็นระดับภูมิภาค ระบบภาคอุตสาหกรรม ดังนี้

ระดับภูมิภาค การขับเคลื่อนประกอบด้วยกลุ่มบุคคลหรือบุคคลตามกิจกรรมหลักดังนี้

  • การประชุมระดับภูมิภาค ปรกติกำหนดให้มีขึ้นทุกสี่ปี ตามวาระการดำรงตำแหน่ง
  • การประชุมคณะกรรมการบริหารระดับภูมิภาค กำหนดปีละครั้ง จัดหมุนเวียนไปในประเทศที่เป็นสมาชิก หรือที่สำนักงานเลขาธิการประจำภูมิภาค
  • สำนักงานเลขาธิการประจำภูมิภาค
  • การประชุมกิจการสาขาอาชีพ จัดขึ้นทุกสองปี และมักจะถูกนำมาผนวกไว้ในการประชุมของ ข้อ ก. หรือ ข. เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

ระดับภาคอุตสาหกรรม จะมีกิจกรรมที่เกิดขึ้นในการประชุมที่อาจจัดแยกเป็นการเฉพาะ หรือนำมากำหนดในแผนงานประจำปีที่มีความยืดหยุ่นในเรื่องการจัดการประชุมที่รวมเอาการประชุมที่ต้องมีการตัดสินใจเข้าไว้ด้วย

  • การประชุมคณะกรรมการบริหารระดับโลก
  • การประชุมระดับภาคอุตสาหกรรมรวมหลายภูมิภาคเข้าด้วยกัน
  • การให้บริการสมาชิกจากระดับภาคอุตสาหกรรม
  • การมีอำนาจตัดสินใจในระดับภาคอุตสาหกรรม

ตามโร้ดแม็ปที่จะมุ่งสู่การรวมตัวเป็นองค์กรใหม่ที่ใหญ่ขึ้น จึงมีขั้นตอนดังนี้

  1. ขั้นตอนระยะเปลี่ยนผ่าน
  2. ขั้นตอนจัดองค์กรเข้าหากันเพื่อพร้อมควบรวม
  3. ขั้นตอนสู่เป้าหมาย จัดตั้งสำนักงานให้สำเร็จภายในปี ค.ศ. 2000 ประชุมใหญ่ระดับโลก (World Congress)  ค.ศ. 2001
  4. แสวงหาความร่วมมือจากสหพันธ์แรงงานสาขาอาชีพต่าง ๆ

ขั้นตอนระยะเปลี่ยนผ่าน เป็นระยะที่มีความละเอียดอ่อนที่สุด จึงมีการกำหนดให้มีตำแหน่งเบื้องต้นในองค์กรใหม่ดังนี้

  • มีคณะกรรมการบริหารร่วมกัน 4 ชุด ไปจนถึงปี ค.ศ. 2001
  • มีประธานและเลขาธิการร่วมกัน
  • ในปี ค.ศ. 2001 จะต้องมีการเลือกตั้งประธาน และเลขาธิการ ระดับโลก
  • ในปี ค.ศ. 2002 รวมสำนักงานภูมิภาคของแต่ละสาขาอาชีพเข้าด้วยกันเป็นสำนักงานเดียว

ในการประชุมระดับภูมิภาคของอาโปรเฟียตครั้งนี้ ยังมีความสำคัญที่ควรบันทึกไว้ด้วยอีกเรื่องหนึ่ง คือ เพื่อลดภาระของสมาชิกที่ต้องชำระค่าบำรุงตามข้อบังคับ คณะกรรมการบริหารมีมติให้สำนักงานแจ้งสมาชิกในบางประเทศที่ประสบภาวะวิกฤติทางการเงินของประเทศ ให้คำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2540

////////////////////////////////////