สารจากอดีตประธานมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน

ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ

ย้อนหลังไปยังปี ๒๕๑๘/๑๙ รัฐบาลพรรคกิจสังคม ต้องการช่วยเหลือชาวนา  จึงประกาศประกันราคาข้าวเกวียนละ ๒,๕๐๐ บาท โดยเริ่มประกันตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๑๘ ทันทีที่ประกาศการประกันราคาข้าวเปลือก บรรดาโรงสีและพ่อค้าข้าวสารก็ขึ้นราคาข้าวสาร ขณะที่ค่าแรงของกรรมกรไม่เพิ่ม ทำให้ขบวนการแรงงานในนาม สภาแรงงานแห่งประเทศไทย ภายใต้การนำขอไพศาล ธวัชชัยนันท์ และอารมณ์ พงศ์พงัน ออกมาประท้วงและประกาศนัดหยุดงานทั่วไปเมื่อ ๒ มกราคม ๒๕๑๙ แกนนำการประท้วงที่ประสารกับนักศึกษาปัญญาชน และมีความสามารถในการเจรจากับรัฐบาลขณะนั้น ก็คือ อารมณ์ พงศ์พงัน ประธานสหภาพแรงงานการประปานครหลวง ขบวนการแรงงานสามารถหยุดยั้งการขึ้นราคาข้าวสารได้ ด้วยเหตุผลจากการพิสูจน์ให้เห็นว่า ชาวนาส่วนใหญ่ ไม่สามารถขายข้าวได้ตามราคาประกัน จึงเสนอให้ยับยั้งการขึ้นราคาข้าวสารไว้ก่อน ต่อเมื่อชาวนาส่วนใหญ่ขายได้ตามราคาประกันแล้ว ขบวนการแรงงานก็จะยอมรับการขึ้นราคาข้าวสารตามความจำเป็นได้

บทบาทโดดเด่นของอารมณ์ พงศ์พงัน จึงถูกเพ่งเล็กจากกลุ่มทุนและผู้กุมอำนาจรัฐ และเมื่อเกิดเหตุการณ์นองเลือด ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ อารมณ์ก็ถูกจับติดคุก เป็นมะเร็งในคุกและเสียชีวิตในที่สุด

หันกลับมาดูสภาพการณ์ปัจจุบัน รัฐบาลประกาศรับจำนำข้าวเกวียนละ ๑๕,๐๐๐ บาท และ ๒๐,๐๐๐ บาท แต่ไม่ปรากฏว่า ชาวนาสามารถขายข้าวได้ตามราคานี้ ขณะที่ข้าวสารได้ขึ้นราคาไปแล้ว กรรมกรผู้มีรายได้น้อยทั้งหลาย ก็ต้องซื้อข้าวแพงไปแล้ว กลับไม่ปรากฏว่า ขบวนการแรงงานปัจจุบัน ผู้นำแรงงานยุคนี้ จะได้ตระหนักรู้ ตื่นตัวและลุกขึ้นมาคัดค้านรัฐบาล จิตสำนึกทางสังคมและการเมืองของผู้นำแรงงานถดถอยไปมาก ขบวนการแรงงานปัจจุบัน รับรู้โลกภายนอกโรงงาน โลกภายนอกของสถานประกอบการของตนเองน้อยมาก

แรงงานในภาคเอกชนยิ่งรับรู้สภาพแวดล้อมของสังคมต่ำมาก พวกเขาพวกเธอสาละวนอยู่กับการมองหารายได้จากการทำล่วงเวลา วันหนึ่งๆ ต้องทำงานตามชั่วโมงปกติ ๘ ชั่วโมง ล่วงเวลาอีก ๒-๔ ชั่วโมง หนังสือไม่อ่าน ข่าวสารไม่ติดตาม การเรียนรู้สอบถามไม่มี พวกคนเหล่านี้ถูกสังคมและระบบการผลิตทำให้เป็นเหมือนไก่แจ้ ที่เห็นคุณค่าของข้าวสุกข้าวสารมากกว่าเพชรพลอย (คือวิชาความรู้) พวกรัฐวิสาหกิจรายได้ดีจำนวนหนึ่ง ก็แยกตัวเองออกไป ไม่สนใจจริงจังที่จะสร้างสรรค์ขบวนการแรงงานให้เข้มแข็ง บรรดาผู้นำแรงงานปัจจุบันก็มึนงงทางความคิด และกลยุทธ์การขับเคลื่อน ผู้นำแรงงานที่ฉลาดกว่าคนอื่น ก็กลายเป็นพวกฉ้อฉลหาประโยชน์จากขบวนการแรงงาน มองหาคนดีคนมีความสามารถเทียบเท่า อารมณ์ พงศ์พงัน และ ไพศาล ธวัชชัยนันท์ยากเต็มที

ความจริงแล้ว ไม่ใช่ว่าผู้นำแรงงานยุคนี้ จะหาคนดีคนเก่งไม่ได้ คนดีและคนเก่งมิได้เกิดขึ้นมาเอง แต่เกิดจากการหล่อหลอมของเหตุการณ์ และการหล่อหลอมของขบวนการทางสังคม แม้ว่ายุคปัจจุบันสภาพการณ์ตึงเครียดทางเศรษฐกิจและการเมือง มีความเรียกร้องต้องการผู้นำแรงงานที่มีความคิด มีความสามารถ แต่การที่สังคมบริโภคนิยมมีแต่กระตุ้นให้คนอยู่กับตนเอง อยู่กับผลประโยชน์เฉพาะหน้า ทำให้คนงานและผู้นำแรงงานขาดการศึกษา ขาดการหล่อหลอมเชิงสังคม ขาดการหล่อหลอมเชิงอุดมการณ์ ไม่มีจิตวิญญาณของการต่อสู้ ไม่รู้ภาวะแห่งชนชั้นและสำนึกทางชนชั้น มีแต่การดิ้นรนเอาตัวรอดวันต่อวัน โดยลืมอดีต และไม่คิดถึงอนาคต

การรำลึกถึงอารมณ์ พงศ์พงัน คือ การคิดถึงการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า คิดถึงความมุ่งมั่นเสียสละของผู้นำแรงงาน คิดถึงขบวนการแรงงานที่เติบโตเข้มแข็ง และคิดต่อบอกต่อไปว่า จะทำอย่างไร จึงจะทำให้ขบวนการแรงงานเข้มแข็ง มีผู้นำที่เป็นคนดี มีความสามารถ มีความเสียสละ เป็นผู้นำขบวนการแรงงานยุคปัจจุบัน หรือว่าระบบทุนนิยมสามานย์ได้ดูดกินทำลายผู้นำแรงงานดีๆ และมีศักยภาพหมดสิ้นแล้ว เหลือไว้แต่ผู้นำที่เป็นคนดี แต่ไม่มีศักยภาพ และผู้นำที่พอจะมีศักยภาพแต่เป็นคนขาดอุดมการณ์และจิตสาธารณะ?!! เช่นเดียวกับผู้นำทางการเมืองในขณะนี้ ที่มีแต่พวกฉวยโอกาสและขาดคุณธรรม