รำลึก 15 ปี มรณกรรม นิคม จันทรวิทุร (31 ต.ค.2544-2559)

%e0%b8%99%e0%b8%b4%e0%b8%84%e0%b8%a1

ข้อมูลจากมูลนิธินิคม จันทรวิทุร

ศาสตราจารย์นิคม จันทรวิทุร เกิดเมื่อ พ.ศ. 2468 ที่จังหวัดแพร่ ได้รับการศึกษาเบื้องต้นที่บ้านเกิด และต่อมาได้เข้ามาศึกษาต่อในกรุงเทพมหานคร ศาสตราจารย์นิคมฯ ได้รับปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี 2490 ต่อมาสอบชิงทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อยังประเทศสหรัฐอเมริกาจนสำเร็จการศึกษาปริญญาโทสาขาเศรษฐศาสตร์แรงงานจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ในปี 2497

เมื่อเดินทางกลับจากประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 2498 ศาสตราจารย์นิคม จันทรวิทุร ได้เข้าทำงานที่กรมประชาสงเคราะห์ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่วิจัย และด้วยการทำงานอย่างขยันขันแข็งและด้วยความสามารถอันประจักษ์ภายในเวลาเพียงสองปีก็ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกวิจัยและได้ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการศูนย์พัฒนาและบริการชุมชนอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

ศาสตราจารย์นิคม จันทรวิทุร เป็นผู้บุกเบิกงานทั้งในด้านวิชาชิพสังคมสงเคราะห์และด้านแรงงานเป็นบุคคลที่ได้อุทิศตนให้แก่งานสังคมสงเคราะห์และแรงงานอย่างจริงจัง ทำให้เกิดการพัฒนาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์แห่งชาติเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2503 รวมทั้งเป็นกำลังในการจัดประชุมดังกล่าวต่อมาอีกหลายสมัย ทำให้เกิดความตื่นตัวครั้งสำคัญในทางวิชาการสังคมสงเคราะห์ทำให้ผู้ปฏิบัติด้านสังคมสงเคราะห์วิชาชีพ อาสาสมัคร และนักบริหารทั้งหลายได้เข้าใจการสังคมสงเคราะห์อย่างถูกต้องอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

ศาสตราจารย์นิคม จันทรวิทุร เป็นผู้ที่เล็งเห็นความจำเป็นจะต้องมีองค์การกลางประสานงานสังคมสงเคราะห์ทั้งภาครัฐและเอกชนจึงมีส่วนร่วมผลักดันให้มีการก่อตั้งสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยขึ้นเป็นครั้งแรก รวมทั้งได้เป็นผู้สร้างรากฐานขององค์การนี้ให้มั่นคงแข็งแรง จนสามารถขยายเป็นบริการได้อย่างกว้างขวางมาเป็นลำดับ นับเป็นการผนึกพลังจากอาสาสมัครและนักวิชาการเพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศชาติ ซึ่งเป็นผลดีแก่ประชาชนผู้ด้อยโอกาสผู้เดือดร้อนทุกข์ยากอย่างยิ่ง

ศาสตราจารย์นิคม จันทรวิทุร ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการแผนกแรงงานในเวลาต่อมา และเมื่อแผนกแรงงานได้รับการเลื่อนฐานะเป็นกรม ศาสตราจารย์นิคม จันทรวิทุร ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองอธิบดีและได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี เมื่อปี 2516 ตามลำดับ

ในฐานะอธิบดีกรมแรงงาน ศาสตราจารย์นิคม จันทรวิทุร รับหน้าที่แก้ไขปัญหาความไม่สงบด้านแรงงานซึ่งเกิดขึ้นอย่างมากมายและต่อเนื่องอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเนื่องจากผลของเหตุการณ์ทางการเมือง “14 ตุลาคม 2516”

ช่วงระยะเวลานั้นได้เกิดการนัดหยุดงานในประเทศไทยถึงกว่า 600 ครั้ง ด้วยความเข้าใจอันถ่องแท้ถึง สาเหตุอันแท้จริงของปัญหาความไม่สงบด้านแรงงาน ด้วยความเคารพนับถือที่ได้รับจากบรรดาผู้ใช้แรงงานอย่างกว้างขวางและด้วยความเที่ยงธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ศาสตราจารย์นิคม จันทรวิทุร สามารถยุติปัญหาข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้

นับแต่ปี 2498 ถึงปี 2519 ศาสตราจารย์นิคม จันทรวิทุร ได้อุทิศตนให้แก่งานพัฒนาชีวิตและสภาพการทำงานของผู้ใช้แรงงานไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้สหภาพแรงงานได้รับการยอมรับโดยกฎหมาย รวมทั้งได้ผลักดันให้มีการประกาศใช้กฎหมายเกี่ยวกับแรงงานหลายฉบับ

ศาสตราจารย์นิคม จันทรวิทุร มีความเห็นว่าในขณะที่ประเทศไทยกำลังพัฒนาเป็นประเทศอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว กลไกของรัฐบาลมีความสำคัญอย่างยิ่งในการกำกับดูแลและควบคุมกิจการด้านแรงงานให้เป็นไปโดยถูกต้องและเหมาะสม จึงได้เรียกร้องและเสนอแนะมีการจัดตั้งกระทรวงแรงงานขึ้นในประเทศไทยมาโดยตลอด

ศาสตราจารย์นิคม จันทรวิทุร รับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในคณะกรรมการชุดต่างๆ เช่น คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการอัตรากำลัง คณะกรรมการสภาการศึกษาแห่งชาติ และคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ รวมทั้งได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยหลายแห่โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์เมื่อปี 2513 และต่อมาได้พระราชทานปริญญาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เมื่อปีการศึกษา 2525 รวมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นราชบัณฑิต (Fellow of Royal institute) เมื่อปี 2537

ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี นอกจากการทำหน้าที่ในราชการประจำแล้ว ศาสตราจารย์นิคม จันทรวิทุร ยังได้อุทิศเวลาให้กับการสอนหนังสือและการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับชีวิตและสภาพการทำงานของแรงงานไทย รวมทั้งเปิดแพร่รายงาน บทความและข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับแรงงานไว้เป็นจำนวนมาก

ด้วยเหตุผลที่ยาวนานและต่อเนื่องด้านการพัฒนาแรงงานไทย ศาสตราจารย์นิคมฯ ได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ร่วมเป็นองค์ปาฐกในการบรรยายทางวิชาการพิเศษ เพื่อรำลึกถึงและเป็นเกียรติแก่ สาสตร์ ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ่งภากรณ์ ครั้งแรกในปี พ.ศ.2529 โดยได้นำเสนอบทความทางวิชาการเรื่อง Thai Labour and 30 Years of Development ด้วย

หลังจากเกษียณอายุ เมื่อปี 2517 ศาสตราจารย์นิคม จันทรวิทุร ยังคงอุทิศเวลาให้กับการสอนหนังสือและเป็นที่ปรึกษาในกิจการของรัฐต่างๆ อาทิ เป็น ประธานสภาที่ปรึกษาพัฒนาแรงงานแห่งชาติในระหว่างปี 2529-2532 ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษานโยบายแรงงานของนายกรัฐมนตรี 2531-2532 เป็นวุฒิสมาชิก และกรรมาธิการสวัสดิการสังคมและการแรงงานวุฒิสภาและประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เป็นต้น

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์นิคมฯ ได้ร่วมงานกับองค์การพัฒนาเอกชน (Non-Govemmental Organizations) หลายองค์กร โดยให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์อย่างใกล้ชิดและด้วยท่าทีที่เป็นกันเองทั้งได้ร่วมงานกับกลุ่มผู้ใช้แรงงานหนุ่มสาว ที่มีความมุ่งมั่นในการบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม เช่น มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน สมาคมกฎหมายแรงงานแห่งประเทศไทย ซึ่งทั้งสององค์กรมีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ใช้แรงงานและผู้ด้อยโอกาสในสังคม

ภาพลักษณ์ของศาสตราย์นิคม จันทรวิทุร เป็นภาพของผู้ที่ยืนหยัดอย่างมั่นคงเคียงข้างผู้ด้อยโอกาส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ย่อท้อในการผลักดันความคิดที่สร้างสรรค์เพื่อความเป็นธรรมสนสังคมอย่างสันติ ศาสตราจารย์นิคม จันทรวิทุร ได้รับการกล่าวขวัญในฐานะเป็นผู้เป็นปากเสียงชั้นนำของผู้ยากไร้ และผู้ด้อยโอกาสในสังคม คุณงามความดีของท่านเป็นที่ทราบถึงมหาวิทยาลัยชิคาโก สถาบันที่ท่านสำเร็จการศึกษาด้านการบริหารงานสังคม จึงได้มอบรางวัล ‘Alma Mater’ คือรางวลีผู้ประสบความสำเร็จอย่างสูงในวิชาชีพ ตลอดจนได้รับการคัดเลือกให้เป็นศิษย์เก่าดีเด่นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แม้ว่า ศาสตราจารย์นิคม จันทรวิทุร จะเกษียณอายุราชการมาเป็นเวลายาวนาน แต่การเกษียณอายุราชการหาได้ทำให้ความสนใจและการทุ่มเทเพื่อการพัฒนาชีวิตความเป้นอยู่ของผู้ใช้แรงงาน และผู้ด้อยโอกาสลดน้อยลงไปด้วย ยังคงทุ่มเททำงานในหลายๆรูปแบบ ด้วยการเรียกร้องให้ทั้งภาครัฐและเอกชนเพิ่มความเอาใจใส่ในการพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของผู้ด้อยโอกาส และผู้ใช้แรงงาน โดยได้เขียนบทความประจำในหนังสือพิมพ์รายวัน ได้อภิปราย และแสดงปาฐกถาในโอกาสต่างๆอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียกร้องให้มี “การประกันสังคม” ในประเทศไทย ซึ่งศาสตราจารย์นิคม จันทรวิทุร เห็นว่าเป็นรูปธรรมที่สุดของการกระจายรายได้ และสร้างความเป็นธรรมทางสังคม โดยรณรงค์อย่างต่อเนื่อง และดำเนินการผลักดัน นับตั้งแต่ปี 2528 เป็นต้นมา จนกระทั่งรัฐบาลประกาศใช้พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ทั้งผลักดันให้มี “พระราชบัญญัติสวัสดิการสังคม” ซึ่งโดยสากลถือว่าเป็นกลไกคู่สำคัญควบคู่กับการประกันสังคมเพื่อสร้างความมั่นคง และสร้างความเสมอภาคให้แก่แรงงาน