109 สหภาพ เสนอสร้างประชาธิปไตย แก้ไขรัฐธรรมนูญ เดินหน้าสู้รัฐสวัสดิการ และหยุดคุกคามประชาชน

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2563 สมัชชาแรงงานแห่งชาติ และเครือข่ายแรงงานต่อต้านการคุกคามประชาชน จำนวน 109 สหภาพฯได้จัดการชุมนุม ที่หน้าบริเวณสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย ติดแฮ็ดแท็ก #แรงงานปฎิวัติ ต่อต้านเผด็จการ แถลงจุดยืน 4 ข้อหลัก ของผู้ใช้แรงงาน ลงหลักปักฐานสร้างรัฐสวัสดิการที่แท้จริงในประเทศ โดยมีมีหลายส่วนเข้าร่วมไม่ว่าจะเป็นสหภาพแรงงาน องค์กร นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน โดยมีการร่วมกันปราศรัยและแถลงการณ์ร่วมดังนี้

จากสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันได้มีความเหลื่อมล้ำที่ขยายออกอย่างต่อเนื่องภายใต้รัฐบาลตลอด 6 ปีที่ผ่านมา การละเมิดสิทธิแรงงานเกิดขึ้นในวงกว้าง สหภาพแรงงานถูกคุกคามจากรัฐบาลทั้งทางตรงและโดยอ้อม กลุ่มทุนขนาดใหญ่มีความสัมพันธ์แนบชิดกับรัฐบาล ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศตกต่ำ ไม่สามารถต่อรองได้ และเมื่อเกิดวิกฤติโรคระบาดก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำยากจนที่ฝังรากลึกในประเทศนี้ ผู้คนนับล้านสูญเสียงาน กลุ่มนายจ้างจำนวนมากฉกฉวยช่องว่างทางกฎหมายในการเลิกจ้าง บังคับลาออกเปลี่ยนสภาพการจ้าง ผู้ใช้แรงงานจำนวนมหาศาลต้องใช้ชีวิตอย่างสิ้นหวัง รอคอยการถูกเลิกจ้าง ลดเงินเดือน อย่างไร้อำนาจการต่อรอง เพราะกลไกทางกฎหมายและรัฐสภาก็ไม่สามารถเป็นที่พึ่งได้ ประเด็นที่ก้าวหน้าที่นำเสนอโดยชนชั้นแรงงาน เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับแก้ไข หรือ พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติก็ถูกยื้อเวลา จนทำให้ขบวนการแรงงานทั้งผองรู้สึกสิ้นหวังในกลไกสืบทอดอำนาจของรัฐบาลที่ทำให้รัฐสภาไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง

ความเดือดร้อนแผ่ไปทุกหย่อมหญ้า กลุ่มคนรุ่นใหม่ นักเรียน นิสิต และนักศึกษาที่มองเห็นถึงความไม่เป็นธรรมในสังคมและความสิ้นหวังของประเทศนี้ได้ออกมาแสดงจุดยืนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการเมืองสู่ความเป็นประชาธิปไตย กลับถูกคุกคามจากอำนาจรัฐ ถูกตั้งข้อหาอย่างไม่เป็นธรรม แม้ความต้องการของพวกเขาจะเป็นเพียงแค่การปรารถนาความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การเมืองที่เป็นประชาธิปไตย และสังคมที่เท่าเทียมอันเป็นข้อเสนอเดียวกันกับขบวนการแรงงานทุกยุคทุกสมัย ที่ผู้นำแรงงานจำนวนมากนำชีวิตเข้าเสี่ยงภัย ถูกสังหารและอุ้มหายมาตลอดหลายสิบปี การคุกคามประชาชน คือการทำลายประชาธิปไตย ทำลายสิทธิในการส่งเสียง คือการทำลายขบวนการแรงงานด้วยเช่นเดียวกัน สมัชชาแรงงานแห่งชาติจึงขอประกาศแถลงข้อเรียกร้อง สี่ประการดังนี้

  1. หยุดคุกคามประชาชนทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นทางตรงโดยใช้กฎหมายที่ไม่มีความชัดเจน หรือทางอ้อมในการกดดันให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจแทรกแซงการเคลื่อนไหว หรือการข่มขู่ประชาชนในรูปแบบต่างๆ
  2. แก้ไขรัฐธรรมนูญที่เอื้อต่อระบอบอำนาจนิยม ยกเลิกการรองรับคำสั่งประกาศและการกระทำของ คสช. และหัวหน้า คสช. เพื่อให้ผู้คนสามารถโต้แย้งรัฐธรรมนูญได้ และยกเลิกสมาชิกวุฒิสภาจากการแต่งตั้งที่เป็นกลไกสำคัญต่อการสืบทอดอำนาจ พร้อมเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ที่ต้องมีคุณสมบัติสามประการ ดังต่อไปนี้

1) อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนอย่างแท้จริงพร้อมทั้งต้องมีหลักประกันด้านสิทธิเสรีภาพทั้งในความคิดและการแสดงออก

2) ต้องมีหลักประกันด้านความเสมอภาค

3) ต้องมีหลักประกันด้านคุณภาพชีวิต

  1. ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ คืนอำนาจให้ประชาชน
  2. เดินหน้าสู่รัฐสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิต คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพื่อรับประกันเสรีภาพในชีวิต และสร้างสังคมประชาธิปไตย