เสนอ 7 ข้อ จัดสวัสดิการถ้วนหน้า แก้ปัญหาแรงงาน ปฏิรูปประกันสังคม

วันที่ 7  ตุลาคม 2563 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.)ได้ ยื่นข้อเรียกร้องในวัน“งานที่มีคุณค่าสากล”ปี พ.ศ.2563 ผ่านนายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เนื่องในวัน “วันงานที่มีคุณค่า”(World Day for Decent Work)หรือวัน Decent Work

โดย นายสมพร ขวัญเนตร ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้อ่าน คำประกาศเจตนารมณ์เนื่องในวันงานที่มีคุณค่าสากล (Decent Work Day ) 2020 รัฐบาลต้อง“ปฏิรูปการจ้างงาน   ปฏิรูปประกันสังคม  เพื่อความมั่นคงของคนทำงาน” พร้อมแถลงข้อเรียกร้อง ดังนี้  ด้วยวันที่ 7 ตุลาคมของทุกปีเป็น“วันงานที่มีคุณค่า”(World Day for Decent Work)หรือวัน Decent Work ซึ่งที่ประชุมใหญ่ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ได้กำหนดขึ้นในการประชุมใหญ่ครั้งที่ พ.ศ. 2547  ขบวนการแรงงานทั่วโลกถือเป็นวันสำคัญ และออกมาจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อการจ้างงานที่ดีและมั่นคง โดยเชื่อว่างานที่มีคุณค่าจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทำงานให้ดีขึ้น อย่างมั่นคงยั่งยืน

เนื่องจากสภาพปัญหาการจ้างงาน และระบบประกันสังคมของประเทศไทย ยังไม่สามารถที่จะเป็นหลักประกัน และนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทำงานให้ดีขึ้นมาได้(รายละเอียดตามเอกสารประกาศเจตนารมณ์ที่ส่งมาด้วย)

ดังนั้นเพื่อให้เกิดการแก้ไขปรับปรุง อันจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทำงานให้ดีขึ้น สอดคล้องกับหลักการขององค์การแรงงานระหว่าประเทศ(ILO) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)  สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) จึงขอยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล จำนวน 7 ข้อ ดังนี้

ข้อเรียกร้องเนื่องในวันงานที่มีคุณค่าสากล (Decent Work ) ปี พ.ศ.2563

  1. รัฐต้องจัดให้มีสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพให้ประชาชนทุกคน ได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ
    • ด้านสาธารณสุข ประชาชนทุกคนต้องเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและไม่มีค่าใช้จ่าย
    • ด้านการศึกษา ประชาชนทุกคนต้องเข้าถึงการศึกษาตามความต้องการในทุกระดับ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
  2. รัฐต้องจัดหางานให้ประชาชนวัยทำงานมีงานทำอย่างทั่วถึง จัดหาอาชีพให้กับประชาชนที่ออกจากงาน และ มีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพให้กับประชาชนที่ไม่มีงานทำอย่างเพียงพอ และยกเลิกการจ้างงานที่ไม่มีความมั่นคงทุกรูปแบบ
  3. รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน

3.1    กำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้าให้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีก 2 คน ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ และต้องเท่ากันทั้งประเทศ

3.2        กำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้าง มีระบบการปรับค่าจ้างทุกปีไม่น้อยกว่าอัตราค่าครองชีพที่สูงขึ้น และรัฐต้องเร่งดำเนินการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ  425 บาท ตามที่ได้ให้สัญญาไว้กับประชาชน

3.3 รัฐต้องควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพไม่ให้แพงเกินจริง

  1. รัฐต้องปฏิรูปโครงสร้างการบริหาร สำนักงานประกันสังคม ให้เป็นองค์กรอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วมในการบริหารอย่างแท้จริง รวมทั้งปรับสิทธิประโยชน์ ให้เพียงพอตามความจำเป็นให้กับผู้ ประกันตนโดยไม่เลือกปฏิบัติ ประกาศใช้อนุบัญญัติทั้งหมดที่ออกตาม พ.ร.บ.ประกันสังคมแก้ไขปี 2558 และดำเนินการเลือกตั้งกรรมการประกันสังคมแทนชุดที่มาจากการแต่งตั้งของ ค.ส.ช.เป็นกรณีเร่งด่วน
  2. รัฐต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม สัดส่วน5%เท่ากันกับลูกจ้าง นายจ้าง และให้เลขาธิการประกันสังคมเร่งดำเนินการให้รัฐบาลนำเงินสมทบค้างจ่าย จำนวน 87,737 ล้านบาท มาคืนให้กับประกันสังคมทั้งหมดเป็นกรณีเร่งด่วน
  3. ให้ประกันสังคมจัดตั้งสถาบันการเงินเพื่อให้บริการผู้ประกันตน
  4. ให้ประกันสังคมจัดสร้างโรงพยาบาลเพื่อให้บริการผู้ประกันตน

เพื่อให้ข้อเรียกร้องเกิดการแก้ไขปรับปรุงอย่างเป็นรูปธรรม ขอให้รัฐบาลจัดตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการตามข้อเรียกร้อง โดยให้มีตัวแทนคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ร่วมเป็นคณะทำงานด้วย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)  สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) หวังเป็นอย่างยิ่งว่าปัญหาตามข้อเรียกร้อง รัฐบาลจะให้ความสำคัญ และพิจารณาแก้ไขปรับปรุงในลำดับต่อไป

ด้าน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรมว.แรงงาน กล่าวว่า จะนำข้อเรียกร้องต่างๆที่ยื่นไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมทั้งรัฐบาล โดยคระเลขานุการจะมีการศึกษารายละเอียดเพื่อการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมทั้งนี้ทางรัฐมนตรี และรัฐบาลมีความเป็นห่วงผู้ใช้แรงงานและต้องการที่จะทำงานให้สอดคล้องกันนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และต้องการที่จะแก้ไขปัยหาอย่างแท้จริง โดยจะเร่งตั้งคระทำงานตามที่มีการเสนอมาเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา