สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟ แถลงเสนอ 3 ข้อ ป้องกันความเสี่ยงไวรัสCOVID-19 หลังมีผู้เสียชีวิต

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟ แถลงเสนอ 3 ข้อ ป้องกันความเสี่ยงการแพร่ระบาดของไวรัสCOVID-19 หลังมีผู้โดยสาร และต่อมาพนักงานขับรถไฟเสียชีวิต

เมื่อวันที่ 2เมายน 2563 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย(สร.รฟท.)  ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง ขอให้การรถไฟฯกำหนดมาตรการอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส COVID – 19 ซึ่งมีเนื้อหา ดังนี้ 

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ COVID-19 ที่เกิดขึ้นในทุกประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย และมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบอย่างยากที่จะคาดการณ์ แม้ในบางประเทศจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ยังอยู่ในสถานะการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด แต่บางประเทศยังต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดยากที่จะควบคุมมีผู้ติดเชื้อ เกิดอาการป่วย และเสียชีวิตเป็นจำนวนมากจนองค์การอนามัยโลก (WHO) ต้องประกาศให้เป็นภัยพิบัติของโลก

ประเทศไทยเป็นอีกประเทศหนึ่งที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยากจะควบคุม รัฐบาลจึงขอความร่วมมือมายังประชาชนในสาขาอาชีพต่าง ๆ หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ บริษัท ห้างร้าน และสถานประกอบการต่าง ๆ เพื่อเข้มงวดเฝ้าระวัง และปฏิบัติตามมาตรการและคำสั่งของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด พร้อมสั่งปิดสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบเป็นวงกว้างแก่ประชาชนในทุกสาขาอาชีพ แต่เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของไวรัส COVID-19 แล้วก็เป็นเหตุผลความจำเป็นที่ประชาชนทุกคนต้องให้ความร่วมมือเพื่อหยุดยั้งภัยพิบัติในครั้งนี้ มิฉะนั้นแล้วประเทศไทยอาจเข้าสู่สภาวะขั้นวิกฤตประชาชนล้มตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งแน่นอนว่าเราทุกคนไม่อยากเห็น ไม่ต้องการให้เกิดขึ้นจึงจำเป็นที่หน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนจะต้องให้ความร่วมมือกับรัฐบาลและหน่วยงานทางการแพทย์ สาธารณสุข ร่วมกันหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ COVID-19 รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีในคราวการประชุมเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 มีมติมอบหมายให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ( COVID-19 ) ขึ้นเพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายและมาตรการเร่งด่วนในการบริหารสถานการณ์ดังกล่าว และต่อมาได้ประกาศใช้พระราชกำหนด(พ.ร.ก.)การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยประกาศนี้มีผลทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม – 30 เมษายน 2563 โดยขอให้ทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลหน่วยงานทางการแพทย์ สาธารณสุขทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นโดยเคร่งครัด

ในส่วนของการรถไฟแห่งประเทศไทย สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย(สร.รฟท.)ได้ตระหนักถึงภัยพิบัติดังกล่าว จึงได้เข้าพบรักษาการผู้ว่าการรถไฟฯ นายวรวุฒิ มาลา เพื่อเสนอแนวทางการป้องกันดังแถลงการณ์ที่ออกมาก่อนหน้านี้ ปัจจุบันจากการแถลงข่าวของรัฐบาลสถานการณ์มีแนวโน้มที่รุนแรงขึ้น และเรียกร้องให้ประชาชนอยู่กับบ้าน ทำงานที่บ้าน งดกิจกรรมที่มีคนมากๆ พร้อมกับทยอยปิดสถานที่ต่างๆมากมาย การรถไฟฯเป็นหน่วยงานด้านการขนส่งผู้โดยสารและ สินค้า การทำงานที่บ้านอาจมีบางส่วนทำได้ แต่ส่วนมากไม่สามารถทำได้ ทำให้เกิดความวิตกกังวลต่อพนักงานที่จะมีความเสี่ยงเพราะต้องใกล้ชิดสัมพันธ์กับผู้โดยสาร ล่าสุดที่มีผู้โดยสารเสียชีวิตบนขบวนรถด่วนที่ 37(กรุงเทพฯ – สุไหงโก-ลก) ซึ่งทราบภายหลังว่าสาเหตุที่เสียชีวิตเกิดจากการติดเชื้อไวรัส COVID-19  จึงต้องตัดตู้รถโดยสารทิ้งไว้เพื่อทำความสะอาดฉีดยาฆ่าเชื้อ และการรถไฟฯมีคำสั่งกักตัวพนักงานที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับขบวนรถดังกล่าว จำนวน 9 คน เป็นเวลา 14 วัน นับตั้งแต่วันที่ 1 – 14 เมษายน 2563 นำมาซึ่งข้อเรียกร้องของพนักงานที่ต้องการให้การรถไฟฯ หยุดเดินขบวนรถทั้งหมดโดยสิ้นเชิง สนองนโยบายและคำสั่งของรัฐบาลเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคร้าย ซึ่งในความเป็นจริงปัจจุบันผู้โดยสารก็น้อยมาก บางขบวนรถแทบจะวิ่งรถเปล่า และในบางจังหวัดก็ประกาศปิดจังหวัดห้ามรถไฟ รถโดยสารทั่วไป เครื่องบิน เรือเข้าไปยังจังหวัดนั้นๆเช่น พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภูเก็ต เป็นต้นและมีอีกหลายจังหวัดที่จะตามมา

ดังนั้นสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย(สร.รฟท.)จึงเสนอต่อการรถไฟฯดังนี้

1.ขอให้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกาศงดการเดินขบวนรถโดยสารทั้งหมด แต่หากมีความจำเป็นที่จะเดินรถบางขบวนที่มีความจำเป็น รัฐบาล และการรถไฟฯต้องจัดอุปกรณ์ตรวจร่างกายคัดกรองผู้โดยสารทุกสถานีที่จอดรับส่ง จัดเครื่องป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย ถุงมือยาง เจลทำความสะอาด แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อให้เพียงพอ ซึ่งปัจจุบันยังขาดอยู่ไม่ทั่วถึงและต้องทำความสะอาด พ่นยาฆ่าเชื้อตู้รถโดยสารทั้งขบวน รวมถึงรถจักรเมื่อเดินทางถึงปลายทางทั้งไปและกลับ

2.พนักงานในกลุ่มเสี่ยงที่ต้องใกล้ชิดสัมพันธ์กับผู้โดยสาร หากต้องกักตัวตามคำสั่งของรัฐบาลต้องไม่คิดคะแนนวันลา หรือพนักงานที่ตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัส COVID-19  ต้องกักตัวและต้องเข้ารับการรักษาตามคำสั่งแพทย์ก็จะต้องไม่คิดคะแนนวันลาด้วย

3.พนักงานที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงและการรถไฟฯมีคำสั่งให้ไปตรวจเชื้อไวรัส COVID-19 การรถไฟฯต้องออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด รวมถึงพนักงานที่ไปตรวจด้วยตัวเองแล้วพบว่าติดเชื้อให้สามารถเบิกจ่ายจากการรถไฟฯได้ เว้นแต่ไปตรวจเองแล้วไม่พบค่าตรวจบุคคลนั้นต้องรับผิดชอบเอง

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ขอส่งกำลังใจให้กับพนักงานรถไฟและครอบครัวทุกคนให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ด้วยการหมั่นออกกำลังกายอยู่เสมอ และปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาล หน่วยงานสาธารณสุข อย่างเคร่งครัดเพื่อร่วมกันหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคร้ายและสำคัญยิ่งขอส่งกำลังใจให้แพทย์ พยาบาล ลูกจ้าง บุคลากรสาธารณสุขทุกคนที่ทำงานอย่างหนัก “คนรถไฟขอปรบมือดัง ๆ และส่งกำลังใจให้ทุกคน และเชื่อมั่นว่าด้วยระบบและคุณภาพมาตรฐานของการสาธารณสุขไทย เราจะก้าวไปสู่ชัยชนะในการต่อสู้กับโรคร้ายไปด้วยกัน”

ต่อมาเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2563 สื่อมวลชนรายงานว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ โควิด-19 พบผู้เสียชีวิตรายที่ 16 ของประเทศไทย เป็นชายไทย อายุ 59 ปี เป็นพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย เริ่มป่วยวันแรก 16 มีนาคม 2563 ด้วยอาการไข้ ไปพบแพทย์ที่ โรงพยาบาลวันที่ 26 มีนาคม2563 แล้วไปทำงานปกติ แต่ต่อมาวันที่ 31 มีนาคม2563 อาการหนักขึ้น มีอาการเหนื่อยหอบ เข้ารับการรักษาที่ โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง พบเชื้อในร่างกาย กระทั่งจะเสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 เมษายน2563 เวลา 11.00 น.