ภาคประชาสังคม 12 องค์กร ร่อนจดหมายถึงสือ “ไม่โยนบาป คาดโทษแรงงานข้ามชาติ ใช้ปัญญาฝ่าวิกฤติร่วมกัน”

จดหมายเปิดผนึกถึงสื่อมวลชน “ไม่โยนบาป คาดโทษแรงงานข้ามชาติ ใช้ปัญญาฝ่าวิกฤติร่วมกัน”

วันที่่ 24 ธันวาคม 2563 คณะทำงานพัฒนาและขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสุขภาวะของแรงงานข้ามชาติที่ยังมิได้รับการคุ้มครอง 12 องค์กร ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงสื่อมวลชน “ไม่โยนบาป คาดโทษแรงงานข้ามชาติ ใช้ปัญญาฝ่าวิกฤติร่วมกัน

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2563 ที่พบกรณีแม่ค้ากุ้งวัย 67 ปี ที่ตลาดกุ้ง ตำบลมหาชัย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ติดเชื้อโรคโควิด-19 และหลังจากนั้นมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มจำนวนและขยายวงอย่างรวดเร็วไปในจังหวัดต่างๆ จนกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศว่าเป็นการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 1,000 ราย โดยพบว่ากลุ่มแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าในตลาดกุ้งและพื้นที่ใกล้เคียงเป็นผู้ติดเชื้อกลุ่มใหญ่ที่สุดในการระบาดระลอกใหม่นี้ ซึ่งส่งผลกระทบวงกว้าง ทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม

อย่างไรก็ตามภายใต้สถานการณ์ความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆในการแก้ไขปัญหาฝ่าวิกฤตร่วมกันในครั้งนี้ กลับพบว่า ได้มีการโยนบาปคาดโทษกลุ่มแรงงานข้ามชาติในฐานะผู้ร้าย จำเลย กระทั่งตัวปัญหา และนำมาสู่การเรียกร้องจากประชาชนไทยบางกลุ่มให้รัฐบาลไทยจัดการส่งตัวกลับประเทศ เพราะสร้างความเดือดร้อนและเห็นควรให้ใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด

คณะทำงานพัฒนาและขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสุขภาวะของแรงงานข้ามชาติที่ยังมิได้รับการคุ้มครอง 12 องค์กร (ตามรายชื่อด้านท้ายนี้)

เป็นการรวมตัวของภาคีเครือข่ายภาคเอกชน ประชาสังคม และวิชาการ มาตั้งแต่ปี 2562 เพื่อทำงานร่วมกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน

ในการผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการจ้างงาน ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในบ้านโดยมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย และงานภาคเกษตรกรรมที่ไม่ได้ทำงานตลอดทั้งปี ให้ได้รับความคุ้มครองในการจ้างงานและเข้าถึงการให้บริการสุขภาพอย่างเป็นธรรม

เห็นว่า

1) แรงงานข้ามชาติและประชาชนไทยต่างก็เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ต่างก็เป็นเหยื่อของเชื้อโรคด้วยกันทั้งสิ้น ไม่มีแรงงานข้ามชาติคนใดอยากติดโควิด ป่วย หรือเสียชีวิตซึ่งไม่แตกต่างจากคนไทยคนอื่นๆ

ทั้งนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่างานที่แรงงานข้ามชาติทำอยู่ เป็นงานที่คนไทยไม่ทำแล้ว เฉกเช่นงานแกะกุ้งในพื้นที่สกปรก เฉอะแฉะ ผิดหลักอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ท่ามกลางค่าแรงขั้นต่ำและคุณภาพชีวิตต่ำ จนนำมาสู่การติดเชื้อและไม่สามารถควบคุมโรคได้

2) แม้มีแนวคิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเรื่องการเสนอให้มีการตั้งนิคมอุตสาหกรรมแรงงานราชทัณฑ์ในจังหวัดสมุทรสาคร ที่จะนำผู้ต้องขังใกล้พ้นโทษไปทำงานในอุตสาหกรรมประมงทะเลต่อเนื่องดังกล่าว

กลับยิ่งเป็นการทำให้ประเทศไทยถูกตั้งคำถามจากประชาคมโลกมากขึ้น เนื่องจากตอนนี้ในประเทศต่างๆมีกฎหมายห้ามนำเข้าสินค้าที่สายพานการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆคาบเกี่ยวกับการบังคับละเมิดสิทธิแรงงานและการค้ามนุษย์

3) ด่านชายแดนมีการปิดทางการมากว่า 10 เดือนแล้ว แต่กลับพบว่ามีการลักลอบข้ามพรมแดนมาอย่างต่อเนื่อง

ดังที่ปรากฏว่าสายพันธุ์ไวรัสที่ระบาดในพื้นที่มหาชัย เป็นสายพันธุ์เดียวกับที่พบในกลุ่มแรงงานที่ข้ามมาจากโรงแรม 1G1 อำเภอท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า ซึ่งอยู่ห่างจากพรมแดน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย 1.5 กิโลเมตรเท่านั้น

นี้อาจแปลว่ามีแรงงานที่ติดเชื้อจากฝั่งพม่าเข้ามาที่ประเทศไทย และเดินทางต่อมาทำงานที่ตลาดกุ้ง ภายใต้การเป็นแรงงานที่ไม่ถูกกฎหมายและตกหล่นจากการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการต่างๆตามที่กฎหมายไทยกำหนดไว้

ผ่านการหลบซ่อนและเอื้ออำนวยจากสถานประกอบการ นายจ้าง นายหน้า และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง

ดังนั้นด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้น การเพ่งโทษ ชี้นิ้ว หาคนผิด หาแพะ โยนบาป หรือสร้างข่าวใดๆให้ร้ายกัน มิอาจนำไปสู่สถานการณ์ที่ดีขึ้น คณะทำงานจึงมีข้อเสนอ ดังนี้

1) ขอให้หน่วยงานสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักในการจัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยสร้างความมั่นใจให้กับแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในประเทศไทย ไม่ว่าจะถูกหรือไม่ถูกกฎหมาย

เพื่อให้เข้าถึงบริการสุขภาพตั้งแต่ขั้นตอนคัดกรองโรค รักษา เยียวยา ฟื้นฟู การนำแนวคิดความมั่นคงมาใช้เพื่อการจับกุมปราบปรามส่งกลับ ยิ่งผลักใสให้แรงงานข้ามชาติหลบซ่อนไม่ปรากฏตัว และทำให้การควบคุมสถานการณ์โควิดเป็นไปยากยิ่งขึ้น

การคลี่คลายวิกฤติครั้งนี้มิสามารถอาศัยบทบาทของการควบคุมอย่างเดียว แต่จักต้องเป็นบทบาทประสานความร่วมมือกันแทน

การแก้ปัญหาด้วยการชี้เป้าอย่างเดียวนั้นรังแต่ไม่สำเร็จ แต่ยังปล่อยให้หน่วยงานบางหน่วยงานยิ่งมีอำนาจมากยิ่งขึ้น ในการกดทับปัญหาแรงงานที่ซับซ้อนอยู่แล้วให้ซ่อนเงื่อนเพิ่มเข้าไป

2) ขอให้หน่วยงานความมั่นคงออกแนวปฏิบัติที่ชัดเจนต่อการผ่อนผันให้แรงงานที่ไม่ถูกกฎหมายได้มีโอกาสปรากฎตัวเพื่อเข้าสู่กระบวนการคัดกรองโรค ภายใต้ความร่วมมือในการทำงานกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคมที่พร้อมเป็นหุ้นส่วนรัฐในการทำงานอย่างยิ่งยวด

ขณะเดียวกันขอให้ภาครัฐซึ่งปัจจุบันมีคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นประธานกรรมการ เป็นกลไกการทำงานบูรณาการเรื่องแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย

ออกแนวนโยบายเพื่อนำแรงงานข้ามชาติกลุ่มดังกล่าวเข้าสู่ระบบการจดทะเบียน การประกันสุขภาพ และการจ้างงานที่เป็นทางการต่อไป

3) ภายใต้ที่ยังคงมีการลักลอบข้ามพรมแดนอย่างต่อเนื่อง รัฐไทยจำเป็นต้องมีมาตรการเอาจริงเอาจังต่อการแสวงหาประโยชน์ข้ามพรมแดน และมีบทลงโทษที่ชัดเจนกับผู้เกี่ยวข้องต่อขบวนการดังกล่าว

โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการเฝ้าระวังชายแดน เพื่อมิให้เกิดวงจรเคลื่อนย้ายแรงงานและเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์ต่อไป

4) สำหรับกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ไม่ถูกกฎหมายและตกหล่นจากระบบบริการสุขภาพ ไม่ว่าจะระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือระบบประกันสังคม รวมถึงตกหล่นจากระบบกองทุนต่างๆที่ภาครัฐดำเนินการอยู่

เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและไม่ติดกับดักช่องว่างทางกฎหมายที่มีอยู่ ขอให้ภาครัฐนำงบประมาณส่วนกลางมาใช้ในการจัดการเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ครั้งนี้เป็นการเบื้องต้นก่อน และหลังจากนั้นขอให้มีการจัดเวทีปรึกษาหารือเพื่อดำเนินการจัดการเข้าสู่ระบบต่อไป

5) ขอให้กระทรวงแรงงานมีมาตรการเยียวยากลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากสถานการณ์โควิด ทั้งที่อยู่ในระบบประกันสังคมและนอกระบบประกันสังคม

ไม่ว่าจะเป็นการถูกสั่งให้กักตัว ถูกสั่งห้ามทำงาน ถูกให้ออกจากงาน หรือกระทั่งเกิดความหวาดกลัวแล้วหลบหนีออกจากที่ทำงานหรือที่พักอาศัย

เพื่อเป็นหลักประกันให้แรงงานเกิดความมั่นคงในการทำงานในประเทศไทย และนายจ้างยังคงมีลูกจ้างทำงานต่อภายหลังสถานการณ์คลี่คลายขึ้น

รายชื่อคณะทำงานพัฒนาและขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสุขภาวะของแรงงานข้ามชาติที่ยังมิได้รับการคุ้มครอง 12 องค์กร และผู้ประสานงานแต่ละองค์กร

1) คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทรงพันธ์ ตันตระกูล)

2) สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ดร.กฤษฎิ์ กาญจนกิตติ)

3) สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย (นางสิริวัน ร่มฉัตรทอง)

4) สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย (นายมนัส โกศล)

5) เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (นายมนัส โกศล)

6) สมาพันธ์ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งประเทศไทย (นางสุจิน รุ่งสว่าง)

7) มูลนิธิเพื่อนหญิง (นายบัณฑิต แป้นวิเศษ)

8) มูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า (นายเมี่ยน เวย์)

9) หน่วยงานพัฒนาและบริการสังคม สภาคริสตจักรในประเทศไทย (นางสาวขวัญจิตร คำแสน , นายประสิทธิ์ ธงทัศวรรธนะ)

10) มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (นางศุกาญจน์ตา สุขไผ่ตา)

11) มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (นายสุชาติ ตระกูลหูทิพย์)

12) มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย (นางสาววาสนา ลำดี)

13) คณะทำงานที่เป็นนักกฎหมายและนักวิชาการอิสระ (นายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ ,นางสาวบุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์)