พันธมิตรสหภาพแรงงานคนทำงานสนามบิน แถลง 4 ข้อห่วงใยแรงงานในอุตสาหกรรมการบินผลกระทบโควิด-19

พันธมิตรสหภาพแรงงานคนทำงานสนามบิน แถลง ความห่วงใยต่อเพื่อนพี่น้องแรงงานในอุตสาหกรรมการบินภายใต้สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เสนอ 4 ข้อให้รัฐบาลแก้ปัญหาด่วน

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2563 พันธมิตรสหภาพแรงงานคนทำงานสนามบิน สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้แถลงเรื่อง ความห่วงใยต่อเพื่อนพี่น้องแรงงานในอุตสาหกรรมการบินภายใต้สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19

นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) แถลงว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธ์ใหม่ หรือโควิด-19 (Covid-19) ที่เริ่มมาตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2562 และระบาดมากขึ้น จนเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2563 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้เป็นโรคระบาดใหญ่ทั่วโลก (Pandemic) เพราะนอกจากแพร่ระบาดไปนอกเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ ประเทศจีนแล้ว ก็ยังระบาดไปทั่วจีน และทั่วโลกมากกว่า 199 ประเทศและดินแดนต่างๆ จนมีจำนวนสะสมของผู้ป่วยมากกว่า 677,705 คน และผู้เสียชีวิตมากกว่า เสียชีวิตแล้ว 31,737 คน (ข้อมูลวันที่ 29 มีนาคม 2563)  สำหรับในประเทศไทย การแพร่ระบาดได้ทวีความรุนแรง จนกระทั่ง รัฐบาลได้ออกประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 เพื่อควบคุมมิให้ไวรัสแพร่ระบาดออกไปในวงกว้าง

ความหวาดหวั่นและความรู้สึกไม่ปลอดภัยจากโรคระบาด ทำให้มีผู้โดยสารด้วยสายการบินน้อยลง การห้ามผู้โดยสารต่างประเทศเข้าประเทศ โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 นโยบาย Work from Home เพื่อให้ประชาชนอยู่กับบ้าน โดยไม่เดินทางที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของไวรัสมากขึ้น ล้วนส่งผลกระทบต่อธุรกิจสายการบินของประเทศไทยอย่างหนัก บริษัทสายการบินราคาประหยัดหลายบริษัทออกประกาศลด/หยุดบินชั่วคราว และล่าสุด บมจ.การบินไทย ได้ประกาศหยุดบินชั่วคราว ทั้งเส้นทางในภูมิภาค ยุโรปและออสเตรเลียจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2563 เหตุการณ์เหล่านี้ กระทบต่อการจ้างแรงงานหลายหมื่นคน ตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมการบิน ลูกจ้างสัญญาจ้างหลายแห่งถูกเลิกจ้าง พนักงานประจำถูกกดดันให้ลดเงินเดือนค่าจ้าง

การประกาศหยุดบินชั่วคราวของ บมจ.การบินไทย ส่งผลกระทบอย่างยิ่งการจ้างแรงงานที่เป็นพนักงานประจำของ บมจ.การบินไทยจำนวน 20,000 คน และแรงงาน Outsource ของบริษัทวิงสแปน 4,900 คน ที่ส่งแรงงานไปปฏิบัติให้กับ บมจ.การบินไทย พันธมิตรสหภาพแรงงานคนทำงานสนามบิน สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และคณะกรรมการสมาฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) มีความกังวลอย่างยิ่งต่อการจ้างงานแรงงานเหล่านี้ แม้ว่า วิกฤตครั้งนี้ จะเกิดขึ้นทั่วโลก หลายประเทศได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมทั้งประเทศไทย แต่ไม่อยากให้มีการซ้ำเติมชีวิตของแรงงานเหล่านี้ ด้วยการออกมาตรการความอยู่รอดของนายจ้าง เช่น การเลิกจ้าง เป็นต้น ซึ่งครั้งหนึ่งในอดีต ธุรกิจสายการบินได้สร้างผลกำไรให้เกิดขึ้นมากมาย และแรงงานเหล่านี้ก็มีส่วนในความสำเร็จเหล่านั้นของนายจ้าง เมื่อเกิดวิกฤตในครั้งนี้ จึงขอเรียกร้องให้นายจ้างและรัฐบาลช่วยดูแลแรงงานเหล่านี้ให้ผ่านพ้นวิกฤตไปด้วยกัน

ดังนั้น พันธมิตรสหภาพแรงงานคนทำงานสนามบิน สรส. และ ครสท. จึงขอเรียกร้องให้ รัฐบาลและนายจ้างทุกองค์กร ตลอดห่วงโซ่คุณค่าในอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย รวมทั้ง บมจ.การบินไทย และบริษัทวิงสแปน ปฏิบัติต่อลูกจ้างและพนักงาน ให้เป็นไปตามาตรฐานแรงงานในระดับสากล และหลักมนุษยชน โดยมีข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้

  1. ขอให้นายจ้างในกิจการการบินจัดให้มีเวทีปรึกษาหารือร่วมกับสหภาพแรงงาน เพื่อร่วมกำหนดนโยบายความอยู่รอดของบริษัท หากนโยบายดังกล่าวกระทบต่อสภาพการจ้างของลูกจ้าง/พนักงานของบริษัท ขอให้พิจารณากำหนดนโยบาย บนหลักการกฎหมายแรงงาน มาตรฐานแรงงานในระดับสากลและหลักมนุษยชน เพื่อให้ลูกจ้าง/พนักงานได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
  2. ขอให้นายจ้างในกิจการการบินที่มีการประกาศหยุดงานชั่วคราว กำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินการที่ชัดเจน เพื่อเรียกลูกจ้าง/พนักงานกลับเข้าทำงานตามเดิม ภายหลังสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ดีขึ้น เพื่อป้องกันการบังคับใช้มาตรการที่นำไปสู่การเลิกจ้าง หรือลอยแพคนงาน อย่างไม่เป็นธรรม จากวิกฤตโรคระบาดในครั้งนี้
  3. ขอให้นายจ้าง โดยเฉพาะ บริษัท Outsource หรือบริษัทที่รับเหมาช่วงเหมาค่าแรงทุกบริษัทในกิจการการบิน ดูแลลูกจ้างของบริษัท ซึ่งมีลักษณะงานไม่มั่นคง (Precarious work) ด้วยการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานอย่างเคร่งครัด โดยจะต้องไม่ข่มขู่ กดดัน หรือบังคับให้ลูกจ้างเขียนใบลาออกจากงาน เพื่อเจตนาหลีกเลี่ยงการเลิกจ้างและการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายให้แก่ลูกจ้าง โดยอาศัยสถานการณ์โรคระบาดนี้ ในการละเมิดสิทธิแรงงานและปฏิบัติต่อคนงานแบบไร้มนุษยธรรม
  4. ขอให้นายจ้างในธุรกิจกิจการการบินจัดหาอุปกรณ์ เครื่องมือ หน้ากากอนามัย และอุปกรณ์ป้องกันที่เพียงพอให้กับลูกจ้าง/พนักงานที่ยังคงปฏิบัติงานที่สนามบินในการบริการแก่ผู้โดยสาร มีความปลอดภัยและลดความเสี่ยงที่อาจจะได้รับไวรัสจากการปฏิบัติงาน