คณะทำงานวันกรรมกรสากลปี 62 ทวงข้อเรียกร้องแรงงานปี 60

คสรท. จับมือสรส. ทวงข้อเรียกร้องวันกรรมกรสากล ปี 60 ย้ำจะทวงทุกปีหากรัฐยังไม่ทำ ประธานคสรท.แจ้งวันกรรมกรสากล  1พ.ค.62 นี้จัดงานที่โกดังการท่าเรือแห่งประเทศไทย ชวนพี่น้องแรงงานเข้าร่วม

เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562 ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ของรัฐบาล ณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) คณะกรรมการจัดงานวันกรรมกรสากล 2562 ประกอบด้วย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)ได้ ยื่นหนังสือทวงข้อเรียกร้องวันกรรมกรสากลปี 2560  ต่อนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยทางสำนักงานปลัด สำนักนายกรัฐมนตรีนำโดยที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการเรื่องร้องทุกข์  (นายสมพาศ นิลพันธ์) เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการประชาชน มารับหนังสือในครั้งนี้ ทั้งนี้ พันเอก คฑาวุธ ขจรกิตติยุทธ หัวหน้าฝ่ายความมั่นคง ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี  ได้นั่งร่วมพูดคุย และรับฟังข้อเสนอวันกรรมกรสากลทั้ง 10 ข้อ ร่วมกับผู้แทนกระทรวงแรงงาน ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข และผู้แทนกระทรวงการคลัง โดยรับปากว่าจะมีการตอบเป็นเอกสารถึงการแก้ไขปัญหาแรงงานตามข้อเสนออีกครั้ง ว่าแต่ละส่วนได้มีการแก้ไขปัญหาต่างๆไปถึงไหนแล้ว

นายสมพร ขวัญเนตร ประธานคสรท. กล่าวว่า ทางคณะกรรมการจัดงานวันกรรมกรสากลที่ยื่นข้อเรียกร้องเนื่องในวันกรรมกรสากลเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2560 เป็นเวลามา 2 ปีแล้ว แต่รัฐบาลยังไม่ได้แก้ไขปัญหาตามที่ยื่นไว้ ซึ่งปี 2561 ก็ได้มายื่นทวงถามไปแล้ว แต่ยังได้รับคำตอบที่ แม้ว่าทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตอบทางคณะทำงานฯตามที่รัฐบาลได้มอบหมาย แต่ยังเป็นคำตอบแบบกว้างๆตามภารกิจที่หน่วยงานได้รับผิดชอบตามนโยบาย ซึ่งถือเป็นกรอบการทำงานของหน่วยงานเท่านั้นไม่ได้เป็นการดำเนินตามข้อเรียกร้องแต่อย่างใด และไม่มีเวลาที่กำหนดชัดเจนว่าจะดำเนินการเมื่อใด ความก้าวหน้าในการทำงานยังไม่มี ดังนั้นเพื่อให้ความต้องการของคนทำงานและขบวนการแรงงานได้ถูกนำไปพิจารณาดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ตามที่รัฐบาลพยายามเน้นย้ำเสมอว่าจะแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำของประเทศให้หมดไป และจะทำให้ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังจะใช้เวลาอีกไม่นาน แต่จนถึงขณะนี้แนวโน้มสัญญาณต่างๆไม่ชัดเจน การให้น้ำหนักการให้ความสำคัญต่อข้อเรียกร้อง ข้อเสนอของขบวนการแรงงานอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป การออกมายื่นหนังสือทวงถามครั้งนี้จึงหวังว่านายกรัฐมนตรีจะให้ความสำคัญต่อข้อเสนอของผู้ใช้แรงงาน จึงได้เดินทางมาเข้ายื่นหนังสือเพื่อทวงถามข้อเรียกร้องอีกครั้ง โดยมีข้อเรียกร้องจำนวน 10 ข้อ มีดังนี้

ข้อที่ 1. รัฐต้องจัดให้มีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพให้ประชาชนทุกคน ได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ อันประกอบด้วย

1.1 ด้านสาธารณสุขประชาชนทุกคนเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและไม่มีค่าใช้จ่าย

1.2 ด้านการศึกษาตามความต้องการในทุกระดับโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ข้อที่ 2. รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรม ครอบคลุมทุกภาคส่วน

2.1 กำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้าที่มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีก 2 คนตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และต้องเท่ากันทั้งประเทศ

2.2 กำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้างและปรับค่าจ้างทุกปี

ข้อที่ 3. รัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม และการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และ ฉบับที่  98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัว และการร่วมเจรจาต่อรอง และอนุสัญญาILO ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา (ตามรัฐธรรมนูญหมวด 3 มาตรา 48)

ข้อที่ 4. รัฐต้องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพในการบริการที่ดี มีคุณภาพ มีคุณภาพเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนดังนี้

4.1  ยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ

4.2 จัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจ

4.3  ให้มีการบริหารจัดการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้และมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ

ข้อที่ 5. รัฐต้องยกเลิกนโยบายที่ว่าด้วยการลดสวัสดิการพนักงานรัฐวิสาหกิจและครอบครัว

ข้อที่ 6. รัฐต้องปฏิรูประบบประกันสังคม ดังนี้

6.1 ปฏิรูปโครงสร้างการบริหารงานสำนักงานประกันสังคม ให้เป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วม

6.2 จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ในสัดส่วนที่เท่ากัน ระหว่างรัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง ตามหลักการพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และนำส่งเงินสมทบที่รัฐค้างจ่ายให้เต็มตามจำนวน

6.3 เพิ่มสิทธิประโยชน์ ผู้ประกันตนมาตรา 40 ให้เท่ากับ มาตรา 33

6.4 เพิ่มสิทธิประโยชน์ ชราภาพร้อยละ 50 ของเงินเดือนสุดท้าย

6.5 ให้สำนักงานประกันสังคมประกาศใช้อนุบัญญัติทั้ง 17 ฉบับ ที่ออกตามพระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับแก้ไข พ.ศ. 2558

6.6 ขยายกรอบเวลาการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ในกองทุนเงินทดแทน จนสิ้นสุดการรักษาตามคำวินิจฉัยของแพทย์

ข้อที่ 7. รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย เช่น การปิดกิจการ หรือยุบเลิกกิจการในทุกรูปแบบ (ตามรัฐธรรมนูญ หมวด 5 มาตรา 53)

ข้อที่ 8. รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน โดยให้นายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เมื่อมีการเลิกจ้าง หรือเลิกกิจการไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากกองทุน รวมทั้งการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างได้ (กรณีศึกษา บริษัท บริติช-ไทยซิน เท็กสไทล์ จำกัด)

ข้อที่ 9. รัฐต้องเร่งรัดให้มีการพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิ การบังคับใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 อย่างจริงจัง ภายใต้การมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน และยกเลิกการใช้แร่ใยหินในทุกรูปแบบ

ข้อที่ 10. รัฐต้องจัดสรรงบให้กับสถาบันความปลอดภัยฯเพื่อใช้บริหารจัดการเรื่องความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ นายสมพร ยังกล่าวอีกว่า การจัดงานวันกรรมกรสากลในวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 ที่จะถึงนี้ ทางคณะทำงานวันกรรมกรสากลปี 2562 ได้กำหนดจัดงานที่ โกดัง ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยจะมีกิจกรรมต่างๆของผู้ใช้แรงงาน และภาคีต่างๆด้วย จึงขอเชิญชวนผู้ใช้แรงงานเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวนี้ด้วย

ด้านนายมานพ เกื้อรัตน์ รองเลขาธิการสรส. กล่าวว่า ด้านข้อเสนอของสรส.คือ รัฐต้องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพในการบริการที่ดี มีคุณภาพ มีคุณภาพเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนดังนี้คือ ยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ รัฐต้องจัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจ ให้มีการบริหารจัดการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้และมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆและ รัฐต้องยกเลิกนโยบายที่ว่าด้วยการลดสวัสดิการพนักงานรัฐวิสาหกิจและครอบครัว ด้วย โดยข้อเสนอดังกล่าวเป็นข้อเสนอเพื่อการพัฒนารัฐวิสาหกิจให้ดำรงอยู่เพื่อประชาชน แน่นอนหากมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจไปเป้นของทุนเอกชน การบริการต่างๆก็เพื่อแสวงหากำไรเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงสวัสดิการประชาชน ซึ่งอาจส่งผลต่อประชาชนในการเข้าถึงบริการ หากยังคงเป็นของภาครัฐการบริการต้องทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐานเป็นเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำได้

รายงานโดย วาสนา ลำดี