รำลึก 26 ปีไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ ถาม คนงานได้อะไร? จากวันความปลอดภัยฯ ภาครัฐเผยตัวเลขการประสบอันตรายจากการทำงานปี61 ลดลง

26 ปี กับความสูญเสียของคนงานจำนวน 188 ศพ ไฟไหม้โรงงานผลิตเคเดอร์ คนงานได้อะไร? จากวันความปลอดภัยในการทำงาน ตอกย้ำเมื่อคนงานเล่าประสบการณ์ที่ส่งผลกระทบที่ไม่เคยลืม ภาครัฐเผยสถิติการประสบอันตรายจากการทำงานของลูกจ้างกรณีร้ายแรง (เสียชีวิต ทุพพลภาพ สูญเสียอวัยวะบางส่วน และหยุดงานเกินสามวัน) ในปี 2561 ลดลงเหลือเท่ากับ 2.59 (ต่อลูกจ้าง 1,000 ราย)

วันที่ 10 พฤษภาคม 2562 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ร่วมกับสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยเนื่องจากการทำงาน และสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ได้จัดรำลึกโศกนาฏกรรมเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ และเสวนาเรื่อง คนงานได้อะไร? จากวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ

โดยช่วงเช้าได้มีการกล่าวรำลึก และวางดอกไม้ที่อนุสรสถานความปลอดภัยในการทำงาน และวงดนตรีภราดรขับร้องบทเพลงคิดถึงตุ๊กตา

จากนั้นผู้จัดได้มีเวทีเสวนา คนงานได้อะไร? จากวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ โดยผู้แทนกลุ่มต่างๆ และการประกาศเจตนารมณ์ พร้อมข้อเรียกร้อง 16 ข้อ ซึ่งนายสมพร ขวัญเนตร ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้อ่านคำประกาศเจตนารมณ์เนื่องในวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ 26 ปีโศกนาฏกรรมเคเดอร์คนงานได้อะไร? มีเนื้อหาดังนี้

ย้อนรอยไปเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2536 เวลา ประมาณ 16.00 น. ณ โรงงานผลิตตุ๊กตา เคเดอร์อินดัสเตรียล (ไทยแลนด์) จำกัด อันเป็นบริษัทที่มีเครือข่ายการผลิตทั้งใน ฮ่องกง ไต้หวัน และประเทศไทย จัดจำหน่ายหลายแห่งทั้งในยุโรป และสหรัฐอเมริกา ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้และลุกลามอย่างรวดเร็ว ทางหนีไฟถูกปิดกั้นคนงานออกมาไม่ได้ เพียง 15 นาที อาคารโรงงานได้ถล่มลงมา ทำให้คนงานถูกย่างสดทั้งเป็น เสียชีวิตในกองเพลิงพร้อมกันถึง 188 ศพ เป็นชาย 14 ราย เป็นหญิง 174 ราย และยังมีคนงานที่ได้รับบาดเจ็บอีก 469 คน นับเป็นอุบัติภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในประเทศไทย  และเป็นโศกนาฏกรรมครั้งสำคัญอันเนื่องมาจากความไม่ปลอดภัยของโรงงานแห่งนั้น ซึ่งก่อนหน้านั้นเคยเกิดเหตุเพลิงไหม้มาก่อนถึง 3 ครั้ง จึงน่าจะมีการหาวิธีป้องกันได้ดีกว่านี้

26 ปีของโศกนาฏกรรมอันสะเทือนใจที่ยากจะลืมเลือนไปจากความทรงจำ คนงานก็ยังตกเป็นเหยื่อของการพัฒนามาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง ทั้งอุบัติเหตุ เพลิงไหม้ ตกจากที่สูง โรคมะเร็งจากสารเคมีและแร่ใยหิน ฝุ่น สภาพแวดล้อมที่เลวร้าย กระบวนการผลิตที่เร่งรัดหักโหม การทำงานที่ยาวนาน ด้วยค่าแรงราคาถูก ขณะที่ระบบการป้องกัน การทดแทนเยียวยายังไร้ประสิทธิภาพ และมีการขยายวงกว้างไปยังแรงงานทั้งในระบบ นอกระบบ คนในชุมชน หรือแรงงานข้ามชาติ คนที่อาศัยอยู่บริเวณรอบโรงงานหรือนิคมอุตสาหกรรม ระบบที่เป็นอยู่มุ่งแก้ปัญหาที่ปลายเหตุแบบผักชีโรยหน้า เช่น การชูนโยบาย Zeroaceident  ความปลอดภัยเป็นศูนย์ หรือโครงการ Safety Thailand ยิ่งเป็นเงื่อนไขให้คนงาน เข้าไม่ถึงสิทธิตามกฎหมาย ที่ผ่านมารัฐไม่ได้เน้นมาตรการป้องกันปัญหา  ทำงานยังรวมศูนย์อำนาจอยู่ในมือของข้าราชการประจำ  ซึ่งจำนวนน้อยไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหา  แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวเวชศาสตร์เพียงพอ ถึงคนงานจะพยายามเรียกร้องผลักดันให้มี สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯขึ้นมาได้หลังต้องใช้เวลาผลักดันถึง 20 ปี ก็ยังขาดการมีส่วนร่วมของแรงงานกลุ่มแรงงาน ผู้ถูกผลกระทบ นักวิชาการ NGO ที่เคลื่อนไหวผลักดันมาอย่างยาวนาน จึงยังคงทำงาน  รับใช้นโยบายฝ่ายรัฐแบบเดิมๆ ซึ่งเป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อน ขาดความเป็นเอกภาพ ขาดการประสานงาน ขาดงบประมาณ การทำงานยังเกี่ยงกันรับผิดชอบระหว่างหน่วยงานของรัฐที่อยู่ต่างกรมต่างกระทรวง  ระบบที่เป็นอยู่ไม่ได้เอื้อให้ผู้ใช้แรงงานและนายจ้างผู้เป็นเจ้าของปัญหา ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาอย่างเต็มที่ รัฐทำตัวเป็นเจ้าของกองทุน บริหารกองทุนเงินทดแทนอย่างไม่มีประสิทธิผล เข้าใจว่าการทำให้กองทุนใหญ่คือความสำเร็จ ขณะที่คนทำงานยังได้รับความเดือดร้อน และไม่ได้รับการแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที การเยียวยาทดแทน  ถูกสร้างเงื่อนไขมากมาย แม้มีประกาศกฎหมายใหม่ ก็ยังบังคับใช้ไม่ได้  ขาดกฎหมายลูกที่เป็นกลไกเข้าถึงสิทธิ  เกณฑ์การวินิจฉัยไม่เป็นสากล  คลินิกโรคจากงาน ยังจำเป็นต้องถูกยกระดับให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกันและใช้การได้จริง จึงยังขาดการสนับสนุนระบบ การวินิจฉัย  คนงานทั้งในและนอกระบบ  ชุมชน คนงานเกษตร คนงานข้ามชาติ ก็ยังเข้าไม่ถึงแพทย์ที่เชี่ยวชาญ และยังต้องเผชิญเสี่ยงภัยคุกคามจากมลพิษสิ่งแวดล้อม สารเคมี ต่างๆ แร่ใยหิน เอสเบสตอส (Asbestos) ปะปนใน ฝุ่น 2.5 ที่เป็นเหตุเจ็บป่วยเป็นโรคมะเร็งตายและมีสถิติสูงติดอันดับโลก โดยไม่มีการจ่ายค่าทดแทนแต่อย่างใด อีกทั้งปัญหาโลกร้อนที่เป็นอยู่ขณะนี้ ล้วนเป็นสภาวะที่บั่นทอนสุขภาพของคนในวงกว้าง ทั้งในและนอกโรงงาน โดยไม่จำกัดเพศ อายุ ภาษา เชื้อชาติ คนทำงานยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหากำไรสูงสุดและยังถูกกีดกันการได้รับสิทธิตามกฎหมาย

ข้อเรียกร้องในวันความปลอดภัยแห่งชาติ จึงมีข้อเสนอดังนี้

  1. ขอให้ผู้เจ็บป่วยหรือผู้เจ็บป่วยจากการทำงานสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลจนกว่าจะสิ้นสุกการรักษา
  2. การประเมินการสูญเสียสิ้นสุดการรักษาต้องให้คนงานรักษาจนถึงที่สุดจนหายดีและเงินประเมินต้องทดแทนให้คนงานอยู่ได้อย่างไม่ลำบาก

3.ขอให้คณะกรรมการสมานฉันท์เข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการแพทย์ คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน คณะกรรมการสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ

4.ขอให้รัฐจัดสรรงบประมาณสนับสนุนเพื่อสร้างจิตสำนึกให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยฯเช่นวันแรงงาน

5.ขอให้รัฐยกเลิกการใช้แร่ใยหินทุกรูปแบบ เพราะถึงจะประกาศ ลดความเข้มข้นในชั้นบรรยากาศเป็น 0.1 เส้นใยต่อ 1 ลูกบาศก์เซนติเมตรแล้วก็ตาม แต่ระบบตรวจสอบก็ยังไม่สามารถรองรับได้จริง

6.ขอให้รัฐจัดสรรงบประมาณให้สถาบันส่งเสริมให้เพียงพอต่อการทำงานฯ

7.ขอให้รัฐเพิ่มการตรวจสุขภาพประจำปี แบบอาชีวเวชศาสตร์ทุกคนและต้องส่งสมุดพกประจำตัวการตรวจสุขภาพให้ลูกจ้างทุกคน

8.ขอให้รัฐตรวจสอบสถานประกอบการให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยทุกแห่ง

9.ขอให้คลินิกโรคจากการทำงาน เร่งวินิจฉัยโรคจากการทำงาน ทุกพื้นที่อุตสาหกรรม และยกระดับคลินิกโรคฯอยู่ในระดับที่ได้มาตรฐานเดียวกัน และสนับสนุนให้วินิจฉัยโรคมะเร็งจากแร่ใยหิน สนับสนุนงบประมาณ และมีการประชาสัมพันธ์ให้มากกว่านี้

10.ขอให้มีแพทย์ทางด้านอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมประจำทุกโรงพยาบาล และขอให้มี รพ.ในประกันสังคมจัดตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับแรงาน

11.ทบทวนยกเลิก นโยบายซีโร่เอ๊กซิเด้นท์ Zero accident หากคนงานมีผลกระทบมากให้ยกเลิก

12.การบริการเรื่องความปลอดภัยให้ครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วน เช่นภาคเกษตรและภาคบริการ

13.การจัดตั้งกองทุนพิทักษ์สิทธิแรงงาน เพื่อสนับสนุนแรงงานในการต่อสู้คดี หรือกองทุนเพื่อสุขภาพความปลอดภัยของชุมชนภาคเกษตร

14.การเข้าถึงระบบสาธารณสุข การแพทย์ทางเลือก

15.การตั้งกองทุนเพื่อสุขภาพความปลอดภัยของภาคเกษตรภาคบริการ

16.รัฐต้องมีมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อน

ทั้งนี้ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เครือข่ายแรงงานทุกภาคส่วน ทั้งแรงงานนอกระบบในระบบ ชุมชน ภาคเกษตร ที่ร่วมจัดงานวันความปลอดภัยแห่งชาติ ขอประกาศจุดยืนว่า “พวกเราขอให้ใครก็ตามที่จะมาเป็นรัฐบาล“ ต้องดำเนินการให้สอดคล้องตามหลักอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 187 ว่าด้วยกรอบเชิงส่งเสริมการดำเนินงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ค.ศ. 2006 (พ.ศ.2549) เน้นที่ระบบรองรับและการส่งเสริมป้องกันที่ตัวคน และ ส่งเสริมกลไกสำคัญ ที่จะทำให้คนทำงานทุกภาคส่วน มีสุขภาพดี มีความปลอดภัยอย่างถ้วนหน้า  และข้อเสนอทั้งหมดนี้คือข้อเรียกร้องในวันความปลอดภัยฯแห่งชาติ และพวกเราทุกคนจะร่วมกันผลักดันข้อเรียกร้องทั้งหมดนี้ร่วมกันต่อไปเพื่อให้รัฐบาล ดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุด

นายสมพร ขวัญเนตร ประธานคสรท. กล่าวว่า ประเทศไทยมีกฎหมายดี แต่ไม่บังคับใช้เจ้าของปัญหาไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วม แรงงานไม่มีความเป็นอิสระ ไม่กล้าที่จะเอาเรื่องกับนายจ้าง เพราะลูกจ้างถูกทำให้เป็นลูกจ้าง ไม่มีอำนาจในการต่อรองกับนายจ้างได้จริง และสถิติความปลอดภัยมีตัวเลขลดลง แต่ว่าในความเป็นจริงมีปัญหาเรื่องความไม่ปลอดภัยเกิดขึ้นทุกวัน ปัญหาที่รัฐไม่ได้ดูแลทำให้เกิดปัญหาด้านความปลอดภัยในการทำงาน และประเด็นร่างกฎหมายที่กำหนดเรื่องเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่กำหนดว่าต้องจบปริญญาตรี และหลักเกณฑ์ต่างๆในร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หรือคณะบุคคล พ.ศ. …. ทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าวาระการประชุมเพื่อดูรายละเอียดหากดูแล้วไม่เหมาะสมก็จะต้องไปหาคำตอบจากกระทรวงแรงงาน แม้ว่าเวลานี้จะไม่มีทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และปลัดกระทรวงแรงงานก็ตาม

นางสาวธนวรรณ ชมหอม ประธานสหภาพแรงงานรวมใจสัมพันธ์ อดีตคนงานโรงงานเคเดอร์ เตรียล (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า เป็นหนึ่งคนที่รอดชีวิต ในชีวิตที่ผ่านมา 26 ปี ที่ผ่านมาไม่เคยลืมเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวันที่ 10 พฤษภาคม 2536 เนื่องจากอาคารตึกที่เชื่อมถึงกันของโรงงาน ภาพไฟไหม้ ตึกถล่มภาพของเพื่อนๆที่ร่วมทำงานด้วยกันเสียงร้องขอความช่วยเหลือภาพจำนวนมากยังวนเวียนอยู่  เช้ามาเหมือนฝันที่ตนเองเดินออกไปที่โรงงานดูเพื่อนๆนอนเรียงรายกันเต็มข้างทาง อยากให้สิ่งที่เห็นเป็นเพียงภาพฝัน เหมือนเรากำลังละเมอ มันใช่เรื่องจริงที่เกิดขึ้น สิ่งที่ถามคือ “หากพี่น้องเราไม่ตาย ไม่เจ็บจะมีกฎหมายออมาดูแลคนงานอย่างเราหรือไม่” และวันนี้เรื่องความไม่ปลอดภัยในการทำงานยังคงเกิดขึ้นทุกวัน คนงานยังไม่ได้เข้าถึงสิทธิการดูแล และเข้าถึงสิทธิการรักษา การดูแล ป้องกัน อุปกรณ์ป้องกันไม่มีคุณภาพ การทำงานในที่ร้อน เป็นอย่างไร ตอนนี้มีคนงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงาน ปัญหาคือเขาไม่รู้สิทธิและเมื่อเกิดปัญหาความไม่ปลอดภัยในการทำงานก็หายา ดูแลตัวเองไป ซึ่งต้องการให้รัฐบาลเข้ามาดูแลเรื่องความปลอดภัยในการทำงานอย่างจริงจัง

นางสมบุญ สีคำดอกแค ประธานเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงาน และสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่ได้ทำงานลงพื้นที่ก็ประสบกรณีปัญหาของแรงงานที่ป่วยจากการทำงาน จำนวนมาก ทั้งป่วยเป็นโรคมะเร็ง ปวดหัว โรคผิวหนัง ประสบอันตรายจากการทำงาน และการที่ได้ไปสัมผัสกับพื้นที่รอบๆโรงงานยังพบปัญหาเรื่องความไม่ปลอดภัยในการทำงานจำนวนมาก จึงคิดว่าความไม่ปลอดภัยในการทำงานที่มีกฎหมายคุ้มครองดูแล แม้ว่าผู้ใช้แรงงานเองก็ไม่ได้สามารถเข้าถึงสิทธินั้นได้ แต่ก็อยากให้รัฐได้ดูแลเรื่องสุขภาพความปลอดภัยถึงชุมชนด้วย

ทั้งนี้ในเวทีเสวนา ยังมีการนำเสนอปัญหาผลกระทบด้านสุขภาพความปลอดภัยของผู้ใช้แรงงาน ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งด้านความพร้อมของแพทย์ด้านอาชีวเวชศาสตร์ และการเข้าไม่ถึงสิทธิการรักษา การดูแลด้านสิทธิ ด้านการคุ้มครองของกฎหมาย นายจ้างไม่ยอมรับเรื่องการเจ็บป่วย แพทย์ไม่ยอมชี้เรื่องการเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน การใช้เวลาทางกฎหมาย การอุทธรณ์คดี ยังมีเรื่องความไม่ปลอดภัยในขณะเดินทางไปทำงานของคนงานที่ส่งผลกระทบกับคนงานมีทั้งเสียชีวิต บาดเจ็บและพิการ

ปัญหาด้านสุขภาพของภาคเกษตรกรในคนทำงานเกษตรกรรม การทำงานไร่ทำนาส่งให้คนได้กิน การทำงานของเกษตรกรคือต้องทำงานทั้งวันไม่ได้รับการดูแล ทำงานไม่มีเวลาพักผ่อน พืชสวนไร่ นา ราคาก็ไม่ได้ คนทำงานเกษตรก็ไม่ได้รับการดูแลด้านสุขภาพ การเจ็บป่วยจากงานเกษตรไม่มีเงินทดแทน และกรณีแรงงานที่ทำงานในโรงงาน ทำงานในเมืองเมื่อเจ็บป่วยก็กลับไปอยู่ต่างจังหวัด นี่ก็เป็นแม่บ้านที่ป่วยเป็นมะเร็งก็กลับไปอยู่บ้าน จริงแล้วชนบทกลายเป็นที่รองรับด้านคนตกงาน หรือคนเจ็บป่วยทำงานไม่ไหวก็กลับไปอยู่บ้านในชนบท ภาคเกษตรกลายเป็นพื้นที่รองรับทุกอย่าง โดยที่ภาครัฐไม่ได้ดูแล ไม่มีกองทุนอะไร ตอนนี้รัฐบาลมีการส่งเสริมการออมผ่านทางกองทุนการออมแห่งชาติ แต่ชาวบ้านไม่มีเงินการออม แม้รัฐบาลจะบอกว่าจะสมทบให้หากมีการออมก็ตาม อีกด้วย

ด้านกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้จัดงานวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ประจำปี 2562  เพื่อกระตุ้นเตือนทุกภาคส่วนใส่ใจและสร้างจิตสำนึกในเรื่องความปลอดภัยในการทำงานผ่านกลไกลประชารัฐ ขับเคลื่อนนโยบาย Safety Thailand  โดยจัดที่อาคารกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (ส่วนแยกตลิ่งชัน) กรุงเทพมหานคร ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย นายจ้าง ลูกจ้าง เครือข่ายเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานและหน่วยงานภาครัฐ
นายวิวัฒน์ ตังหงส์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า  “10 พฤษภาคม วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ประจำปี 2562”  จากเหตุโศกนาฏเพลิงไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตาเคเดอร์ จ.นครปฐม เมื่อปี 2536 เป็นเหตุให้คนงานเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก เพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว และกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัยในการทำงาน คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบให้วันที่ 10 พฤษภาคมของทุกปีเป็น “วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ” กระทรวงแรงงาน จึงจัดงาน วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติเป็นประจำทุกปี เพื่อแสดงเจตนารมณ์ที่มุ่งมั่นของภาครัฐในการที่จะดูแลแรงงานให้มีความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยที่ดี และรณรงค์ให้ผู้ใช้แรงงานทุกสาขาอาชีพตระหนักในเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน ตลอดจนนำเหตุการณ์ในอดีตมาเป็นบทเรียน ให้เกิดความตระหนักรู้ความเข้าใจ และให้ความสำคัญในเรื่อง ความปลอดภัยในการทำงาน พร้อมทั้ง ได้กำหนดให้การขับเคลื่อน “ความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของประเทศไทย หรือ Safety Thailand” เป็นนโยบายเร่งด่วน โดยมุ่งเน้นการตรวจบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและจริงจัง ควบคู่ไปกับการสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยแก่ผู้เกี่ยวข้องและบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนตามแนวทางประชารัฐ ขับเคลื่อนความปลอดภัยในการทำงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อประชาชนเพื่อให้เกิดเป็นวัฒนธรรมความปลอดภัยเกิดขึ้นในสังคมไทย เป็นผลให้สถิติการประสบอันตรายจากการทำงานของลูกจ้างกรณีร้ายแรง (เสียชีวิต ทุพพลภาพ สูญเสียอวัยวะบางส่วน และหยุดงานเกินสามวัน) ในปี 2561 ลดลงเหลือเท่ากับ 2.59 (ต่อลูกจ้าง 1,000 ราย) หรือลดลงร้อยละ 10.07 จากปี 2560 ที่มีอัตราเท่ากับ 2.88 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การประสบอันตรายและการเสียชีวิตจากการทำงานลดลงอย่างเป็นรูปธรรม

รายงานโดยวาสนา ลำดี