มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา แถลงการณ์แสดงความกังวลต่อการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์

แถลงการณ์แสดงความกังวลต่อการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะการบังคับใช้แรงงานในประเทศไทย

          เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2562 กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ได้นำเสนอรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์(Trafficking in Persons Report : TIP report) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินมาตรฐานการคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ของแต่ละประเทศว่าเป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำของประเทศสหรัฐอเมริกาหรือไม่ รายงานฉบับนี้ส่งผลต่อการประเมินของประเทศสหรัฐอเมริกาในการสนับสนุนประเทศไทยในด้านต่างๆ โดยในปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับการประเมินให้อยู่ในระดับที่ 2 (Tier 2) กล่าวคือ ประเทศไทยยังมีมาตรการในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ต่ำกว่ามาตรฐานของสหรัฐอเมริกาแต่เห็นได้ชัดว่า มีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหา

ในปีนี้ประเทศไทยได้รับการประเมินให้อยู่ในระดับที่ 2 ดังในปีที่ผ่านมาโดยรายงานระบุว่า ประเทศไทยยังคงต้องพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ อันนำไปสู่การค้ามนุษย์ โดยประเด็นที่น่าสนใจในรายงานมีดังนี้

  • เจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ยังคงประสบปัญหาไม่สามารถคัดแยกผู้เสียหายจากกรค้ามนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยพบว่าบางกรณีเจ้าหน้าที่เลือกที่จะไม่ประเมินให้มีบุคคลใดเข้าข่ายเป็นผู้เสียหายเนื่องจากกลัวว่าจะเกิดผลกระทบกับตนเอง
  • ในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจำนวน 631 คน โดยมีผู้เสียหายจำนวน 149 คนที่ไม่แน่ใจว่าเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ประเภทใด
  • สถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ของรัฐยังคงมีปัญหาในการดูแลผู้เสียหายในด้านการเยียวยาจิตใจ ขาดล่ามแปลภาษาเพื่อใช้สื่อสารกับผู้เสียหาย
  • แม้ว่าประเทศไทยจะมีพัฒนาการทางกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้เสียหายสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้กระทำความผิดได้สะดวกยิ่งขึ้น แต่กลับไม่มีรายงานระบุจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่แท้จริงที่ผู้เสียหายได้รับจากผู้กระทำความผิด
  • แม้กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์จะวางหลักให้มีการคุ้มครองผู้ที่ร้องเรียนการค้ามนุษย์(whistleblower) ต่อเจ้าหน้าที่รัฐก็ตาม แต่ในปีที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่กลับยินยอมให้นายจ้างหรือผู้ประกอบการแจ้งความข้อหาหมิ่นประมาทแก่แรงงานและผู้ที่แจ้งความแก่เจ้าหน้าที่รัฐ
  • นอกจากกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์แล้วประเทศไทยยังมีพัฒนาการในกฎหมายคุ้มครองแรงงานและนโยบายการจ้างแรงงานข้ามชาติ ทั้งนี้ในทางปฏิบัติกลับพบว่าแรงงานข้ามชาติยังคงถูกละเมิด อาทิเช่น แรงงานยังคงถูกเรียกเงินจากนายหน้าจัดหางานในราคาที่สูงกว่ามาตรฐาน แรงงานภาคเกษตรยังคงได้ค่าจ้างที่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างที่กฎหมายกำหนด ขาดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการตรวจสอบเงื่อนไขการทำงานของแรงงานประมง รวมถึงประเทศไทยยังคงจำกัดสิทธิในการรวมกลุ่มของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งปัญหาในทางปฏิบัติเหล่านี้เป็นต้นเหตุในการนำไปสู่ปัญหาการค้ามนุษย์ในแรงงานรูปแบบต่างๆ

 

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ในฐานะองค์กรภาคประชาสังคมที่ให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติและผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์จากการบังคับใช้แรงงาน เห็นว่าแม้รัฐไทยได้มีความพยายามแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์มาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาหลังจากที่ประเทศไทยถูกประเมินว่าเป็นประเทศที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำ (Tier 3) แต่ปัญหาการค้ามนุษย์ยังคงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย การชดใช้เยียวยาผู้เสียหาย

ประเด็นที่ได้ถูกกล่าวขึ้นในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ฉบับนี้ ซึ่งเป็นประเด็นที่ มูลนิธิฯ ได้พยายามนำเสนอต่อรัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตลอดเพื่อส่งเสริมให้แรงงานสามารถเข้าถึงสิทธิอันพึงมีของตนเองและเพื่อขจัดปัจจัยที่นำไปสู่ปัญหาการค้ามนุษย์ด้านการบังคับใช้แรงงานอย่างยั่งยืน ซึ่งมูลนิธิฯ กังวลว่าปัญหาการค้ามนุษย์ยังคงเกิดขึ้นต่อไป หากรัฐไทยไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ ยิ่งไปกว่านั้น มูลนิธิฯ มีความวิตกกังวลมากยิ่งขึ้น จากการแถลงข่าวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา ว่ารัฐบาลกำลังดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ไข พระราชกำหนดประมง พ.ศ. 2560 ถึง 16 มาตรา โดยขาดการปรึกษาหากับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ซึ่งอาจจะกระทบต่อมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในภาคประมงทะเล

ดังนั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างยั่งยืน มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลดังต่อไปนี้

  1. รัฐไทยควรจัดให้มีหน่วยงานกลางในการตรวจสอบกระบวนการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ที่ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เพื่อให้มั่นใจว่ากระบวนการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์เป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งควรมีมาตรการส่งเสริมในการให้สิทธิแก่บุคคลที่ได้รับการประเมินว่าเป็นผู้เสียหายและผู้ที่ได้รับการประเมินว่าไม่ใช่ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ แต่เป็นผู้เสียหายตามกฎหมายอื่น ให้สามารถเข้าถึงสิทธิของตนเอง
  2. รัฐไทยต้องเร่งสร้างกลไกและแนวปฏิบัติในการบังคับคดีค้ามนุษย์ รวมถึงสร้างหลักประกันให้แก่ผู้เสียหายว่ารัฐไทยจะให้ความช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้เสียหายอย่างเพียงพอและทันท่วงทีจนกว่าจะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามคำพิพากษา
  3. รัฐไทยควรจัดสรรงบประมาณในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างเหมาะสมและครอบคลุมในทุกกระบวนการ เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ เช่น ล่ามแปลภาษา เป็นต้น
  4. รัฐไทยต้องสร้างหลักประกันว่าเจ้าหน้าที่จะบังคับใช้กฎหมายอย่างถูกต้อง มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน โดยมุ่งเน้นคุ้มครองแรงงานและผู้ที่ให้ความช่วยเหลือแรงงาน
  5. รัฐไทยควรทบทวนความริเริ่มที่จะแก้ไข พระราชกำหนดประมง พ.ศ. 2560โดยควรจะต้องรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะแรงงาน ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และองค์การภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง เพราะการแก้ไขในหลายประเด็น เช่นการผ่อนปรนการใช้เครื่องติดตามเรือ เป็นต้น อาจกระทบต่อมาตรการในการป้องกันและช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในกิจการประมงได้
  6. รัฐไทยต้องมีมาตรการที่จริงจังเร่งด่วน เพื่อป้องกันมิให้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญาต่อแรงงงานหรือผู้ให้ข้อมูลโดยสุจริต(Strategic Litigation Against Public Participation : SLAPP) ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับเจตจำนงทางกฎหมายและนโยบายของรัฐในเรื่องการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน
  7. รัฐไทยต้องมีนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมในการจัดให้มีการมีส่วนร่วมระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานในการป้องกัน แก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ และปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้เสียหายอย่างจริงจัง

 

————————————————————————————————————————–

ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา