เครือข่ายผู้หญิงเปิดเวทีจำลอง “พรรคบูรณาการแรงงานสตรี”

เครือข่ายผู้หญิง กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี จัดงานรณรงค์ใน “8 มีนาวันสตรีสากล’61” เปิดเวทีจำลองแถลงนโยบาย ด้านภาครัฐจัดงานภายใต้แนวคิด “พลังสตรีชนบท พลังขับเคลื่อนสังคมไทย” มอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่สตรี บุคคล และหน่วยงานองค์กรดีเด่น

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 เครือข่ายผู้หญิงประกอบด้วย กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ร่วมกับองค์กรเครือข่ายสตรี และองค์กรแรงงานทั่วประเทศ ได้จัดงานรณรงค์เนื่องใน “8 มีนาวันสตรีสากล’61” โดยได้มีการเดินรณรงค์จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปจัดกิจกรรม เวทีจำลอง “พรรคบูรณาการแรงงานสตรี” เตรียมการเลือกตั้ง เสนอปัญหาและนโยบายสิทธิสตรี ที่หอเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งมีคำขวัญว่า “ความมั่นคงของผู้หญิง คือความมั่นคงของชาติ” โดยมีข้อเสนอพรรคบูรณาการแรงงานสตรี ดังนี้

  1. ให้ประเทศไทยรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 183 ว่าด้วยสิทธิการคุ้มครองความเป็นมารดา

1) ให้แรงงานหญิงทั้งภาครัฐและเอกชนมีสิทธิลาคลอดได้ ไม่น้อยกว่า 120 วัน โดยได้รับค่าจ้างเต็มจำนวน โดยสิทธินี้ครอบคลุมถึงแรงงานนอกระบบ และรงงานในรูปแบบการจ้างงานที่ไม่ใช่สัญญาจ้างแบบปกติ และหญิงพิการ

2) ให้ผู้ชายมีสิทธิลาเพื่อช่วยดูบุตรแรกคลอดอย่างน้อย 15 วัน โดยได้รับค่าจ้างเต็มจำนวน

3) สถานประกอบการมีสิ่งสนับสนุนสิทธิและการคุ้มครองความเป็นมารดา โดยต้องจัดให้มี “มุมนมแม่” เพื่อให้ผู้หญิงทำงานที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีสิทธิพักการทำงานเป็นครั้งคราว หรือลดชั่วโมงการทำงานในแต่ละวัน เพื่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยให้เวลาพักการทำงานเป็นเวลาที่ได้รับค่าจ้างอย่างน้อย 1.30 ชั่วโมงของวันทำงาน

  1. ให้รัฐจัดให้ หรือสนับสนุนภาคเอกชนในการจัดให้บริการศูนย์เลี้ยงเด็กที่ยึดเอาผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง เข้าถึงง่าย มีปริมาณที่เพียงพอ และมีคุณภาพทั้งทางกายภาพบุคลากร โดยตระหนักผู้ดูแลเด็กจำเป็นต้องมีค่าจ้างที่เหมาะสม สามารถเข้าถึงการคุ้มครองทางสังคมและมีสวัสดิการ รวมถึงมีการฝึกทักษะที่เหมาะสมในการดูแลเด็กทุคนด้วย สำหรับผู้หญิงทำงานทุกกลุ่มแรงงานในระบบ และแรงงานนอกระบบ ทั้งในพื้นที่เมือง และชนบท
  2. ให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 0-6 ปี การจัดเงินอุดหนุนเด็กเล็กทั่วหน้าไม่ว่า จะอยู่ในครอบครัวสถานะใดตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปี เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่เด็กทุกคนจำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เพราะเป็นช่วงวัยที่มีผลสำคัญได้รับโภชนาการที่เพียงพอ และการกระตุ้นทางประสาท ที่เหมาะสม จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างหลักประกันว่าเด็กไทยจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาทั้งทางร่างกาย และจิตใจที่เหมาะสมกับวัย และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพของประเทศในอนาคต

การจัดเงินอุดหนุนแก่เด็กใยวัย 0-6 ขวบทุกคนทั่วหน้าเพื่อให้แต่ละครอบครัวใช้จ่ายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาการของเด็กตามเงื่อนไขและความต้องการที่แตกต่างกันของแต่ละครอบครัวเป็นสำคัญ และสร้างเสริมคุณภาพชีวิตแก่เด็กเล็กให้พัฒนาการครบทุกด้าน

  1. กำหนดสัดส่วนผู้หญิงในการตัดสินใจของคณะกรรมการทุกมิติและทุกระดับอย่างน้อย 1 ใน 3 โดยกำหนดให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการตัดสินใจอันมีผลสำคัญต่อวิถีชีวิตของคนทุกคนในสังคม เป็นเรื่องสมเหตุสมผลในฐานะที่ผู้หญิงเป็นหุ้นส่วนหลักของสังคมไทย สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และอนุสัญญาระหว่าประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี และแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งพรรคจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งระดับชาติ และระดับท้องถิ่นในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 1ใน 3 และจัดให้อยู่ในลำดับที่มีโอกาสชนะการเลือกตั้ง การเลือกตั้งกรรมการระดับตัดสินใจทุกระดับของหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน องค์กรอิสระ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน ต้องมีสัดส่วนผู้หญิงไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 อาที กรรมการกองทุนหมู่บ้าน กรรมการกองทุนต่างๆ หรือให้เป็นผู้หญิงกึ่งหนึ่ง เช่นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน รองนายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และส่งเสริมให้กรรมการสหภาพแรงงานต้องมีทั้งผู้หญิง และชายในสัดส่วนเพศใดเพศหนึ่งไม่น้อยกว่า 1 ใน 3
  2. ต้องให้คนพิการเข้าถึงสิทธิและการบริการเท่าเทียมกัน กับคนทั่วไป โดยผู้หญิงและเด็กพิการมีคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่อยู่ในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรี และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การพัฒนา และได้รับประโยชน์จากการพัฒนาประเทศอย่างเต็มศักยภาพและเท่าเทียมกับประชาชนทุกกลุ่ม โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ โดยจัดทำกฎหมายเชิงรุกเพื่อให้มีแผนงาน และมาตรการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิผู้หญิงและเด็กพิการ พร้อมทั้งส่งเสริมการศึกษา และการจ้างงาน เร่งสร้างความตระหนักต่อสาธารณะและบุคคลากรของรัฐที่เกี่ยวข้องให้สามารถปฏิบัติงานอย่างมีมิติหญิงชาติ และจัดตั้งกลไกเฉพาะเพื่อให้มั่นใจว่าผู้หญิง และเด็กพิการจะเข้าถึงความยุติธรรม รวดเร็ว และเหมาะสม
  3. ต้องส่งเสริมคุ้มครองความปลอดภัยในการทำงาน ทั้งแรงงานในระบบ และแรงงานในระบบ เพื่อป้องกันการเกิดโรคจากการทำงาน และอุบัติเหตุจากการทำงานในเมือง และชุนบท โดยความมั่นคงของผู้หญิง คือสุขภาพดี และปลอดภัยในการทำงาน จึงต้องพัฒนามาตรการและกลไก ทั้งทางกฎหมายของการรณรงค์ให้นายจ้างพัฒนาระบบการทำงานให้มีความปลอดภัยสูงสุด

การพัฒนาระบบงานสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงาน ให้คนทำงานทั้งในระบบอุตสาหกรรม คนรับงานไปทำที่บ้าน และภาคเกษตรกรให้เข้าถึงง่ายและมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มพัฒนาองค์กรของคนทำงานให้เข้มแข็ง เพื่อตระหนักถึงสถานการณ์ปัญหา และการเฝ้าระวังโรคจากการทำงาน

จัดให้มีพื้นที่ปลอดภัยให้กับผู้หญิงและเด็กในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และพื้นที่สาธารณะ โดยนโยบาย คือการสร้างหลักประกันว่าการพูดคุยสันติภาพซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ จะมีความต่อเนื่อง และความสำคัญกับมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของผู้หญิงทุกอัตลักษณ์ในพื้นที่ โดยกำหนดกลไกที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงและมีทรัพยากรเพียงพอต่อการผลักดันให้เกิดพื้นที่สาธารณะปลอดภัย ในชีวิต และทรัพย์สิน โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วม การปรับปรุง และพัฒนาการดูแลผู้ได้รับผลกระทบ และกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะผู้หญิงทุกอัตลักษณ์ ในฐานะแม่ หญิงหม้าย หญิงพิการและอื่นๆ และส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการอยู่ร่วมกันในความแตกต่างทุกด้าน

  1. ต้องเคารพสิทธิในการพัฒนาของประชาชนและผู้หญิงต้องมีส่วนร่วมในการจัดฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยนโยบายที่จะส่งเสริมการรักษาฐานทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำป่า ความหลากหลายทางชีวิภาพ และพันธุกรรมให้มีความยั่งยืน อันเป็นรากฐานความมั่นคงที่มีนัยสำคัญต่อผู้หญิง เช่น ให้ความเคารพต่อการพัฒนาประชาชน เพื่อรักษาฐานทรัพยากร เพื่อครอบครัว ชุมชน พลังงาน และสิ่งแวดล้อม ผู้หญิงต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การวางกรอบนโยบายพัฒนาการจัดการฐานทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ในการจัดการจำลองการประชุมพรรคฯได้มีเครือข่ายผู้หญิงกลุ่มต่างๆมานำเสนอปัญหา เพื่อให้มีการบรรจุเป็นนโยบาย และแก้ไขปัญหาด้วย ไม่ว่าจะเป็น ประเด็น ผู้หญิงแรงงาน ในระบบ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ ผู้หญิงสามจังหวัดภาคใต้ ผู้หญิงชนเผ่า ผู้หญิงพิการ คนข้ามเพศ ฯลฯ ด้วย

                แถลงการณ์สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล 8 มีนาคม 2561 

วันที่ 8 มีนาคมของทุกปี ทั่วทั้งโลก แซ่ซ้อง สดุดี การลุกขึ้นต่อสู้ของผู้หญิง เป็นการเฉลิมฉลอง “วันสตรีสากล”มีกิจกรรมมากมายและหลากหลายทั่วทุกมุมโลก หลายประเทศมีความตระหนักและเปิดโอกาสให้สตรีได้มีบทบาทเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามกว่าที่สิทธิสตรีจะได้รับการยอมรับ สตรีเองก็ต้องต่อสู้อย่างหนักกว่าจะได้รับสิทธิ เสรีภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพื่อรำลึกถึงคุณค่าของสตรี และวันสตรีสากล จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องทราบประวัติศาสตร์ของวันสตรีสากล

คลาร่า เซทคิน (Clara Zetkin) เดิมชื่อคลาร่า ไอนส์เนอร์ คือผู้ลุกขึ้นปลุกจิตวิญญาณการต่อสู้ของสตรี คลาร่าเป็นนักการเมืองสตรีแนวคิดสังคมนิยม หรือมาร์กซิสต์ เชื้อสายเยอรมัน เกิดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ค.ศ.1857 ที่เมืองไวเดอรูว์ แคว้นแซกโซนี ประเทศเยอรมนี ตลอดช่วงชีวิตของคลาร่า เธอได้ต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิและความเสมอภาคของสตรีอยู่ตลอดเวลา โดยในปี ค.ศ.1889 (พ.ศ.2432) คลาร่า เซทคิน ได้แสดงสุนทรพจน์ในเรื่องปัญหาของสตรีต่อที่ประชุมผู้ก่อตั้งสภาคองเกรสสากล ครั้งที่ 2 ในกรุงปารีส ซึ่งใจความสำคัญคือการเรียกร้องให้สตรีมีสิทธิในการทำงาน ให้มีการคุ้มครองสตรีและเด็ก รวมทั้งยังได้เรียกร้องให้สตรีมีส่วนร่วมในการประชุมระดับชาติและระดับสากลอีกด้วย

ต่อมาในปี 1907 คลาร่า เซทคิน ได้ก่อตั้งกลุ่มนักสังคมนิยมสตรีในเยอรมนี ก่อนที่จะเป็นแกนนำของกลุ่มผู้ใช้แรงงานสตรีโรงงานทอผ้า เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา เดินขบวนประท้วงเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานของสตรี เหลือ 8 ชั่วโมง และเรียกร้องสิทธิทางการเมืองในการออกเสียง พร้อมเรียกร้องให้มีการปรับปรุงสวัสดิการในโรงงาน จนนำไปสู่การประชุมของสมัชชาสตรีสังคมนิยม ครั้งที่2 ในปี ค.ศ.1910 ที่เมืองโคเปญเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก มีการเรียกร้องให้มีระบบ “สามแปด” คือ ทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมง เรียกร้องให้งานประเภทเดียวกันให้มีค่าจ้างเท่ากันระหว่างหญิงชาย และคุ้มครองสิทธิสตรีและเด็ก พร้อมกันนี้คลาร่าก็ได้เสนอให้วันที่ 8 มีนาคมของทุกปีเป็น “วันสตรีสากล” เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1857 ที่กลุ่มผู้ใช้แรงงานสตรีโรงงานทอผ้า เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา รวมตัวกันประท้วงก่อนเกิดโศกนาฏกรรม ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของเธอทำให้สิทธิพื้นฐานของแรงงานทั้งหญิง เด็ก และชายได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ในปี ค.ศ.1920 – 1932 คลาร่า เซทคินเข้าเป็นแกนนำต่อต้านอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ แห่งพรรคนาซี และต่อต้านการใช้อำนาจเผด็จการ โดยเธอได้กล่าวสุนทรพจน์โจมตีอดอล์ฟ ฮิตเลอร์อย่างรุนแรง จนถึงปี ค.ศ.1933 พรรคนาซีเยอรมันเข้ารวบอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จ และอดอล์ฟ ฮิตเลอร์มีอำนาจในการปกครองอย่างเด็ดขาด ทำให้คลาร่า เซทคิน ต้องยุติบทบาทนักการเมืองสายแนวคิดสังคมนิยม ก่อนถูกรัฐบาลตามล่ากวาดล้างจนต้องลี้ภัยไปใช้ชีวิตที่ประเทศรัสเซียแทน และถึงแก่กรรมในปีเดียวกันความพยายามของคลาร่า เซทคิน ในการเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคให้กับสตรี อีกทั้งยังทำงานเพื่อสตรีมาโดยตลอด ทำให้คลาร่า ได้รับการขนานนามจากกลุ่มองค์กรสตรีนานาชาติว่าเป็น “มารดาแห่งการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีสากล

ประเทศไทยบทบาทของสตรีมีความสำคัญอย่างมากในการพัฒนาและเปลี่ยนผ่านประเทศในทุกมิติแต่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ก็ต้องผ่านการต่อสู้อย่างหนักหน่วงเข้มข้นไม่แพ้ในต่างประเทศ มีผู้นำแรงงาน และคนงานจำนวนมากที่ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมเช่น คนงานโรงงานสแตนดาร์ดการ์เม้น คนงานโรงงานฮาร่า คนงานทอผ้ากรุงเทพ สหภาพแรงงานไทยเกรียง แต่ต้องถูกจับ ถูกปราบ บางคนต้องสูญเสียชีวิตจากการต่อสู้ เช่น สำราญ คำกลั่น ผู้นำแรงงานย่านอ้อมน้อย อ้อมใหญ่ เป็นต้น แม้สถานการณ์จะเปลี่ยนไปแต่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม แรงงานสตรีก็ยังคงต้องต่อสู้อย่างหนัก ทั้งในเรื่องสิทธิ และคุณภาพชีวิต แต่ยังไม่อาจคาดหวังได้ว่าสิทธิสตรีจะมีการพัฒนาการให้ดีขึ้นกว่าเก่า ยังมีประเด็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ..

สถานการณ์ปัจจุบันสถานการณ์โลก สถานการณ์ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงอย่างมากโดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจภายใต้ระบบทุนเสรีนิยมที่เบ่งบานและเชื่อมประสานกันทั่วทั่งโลก สร้างอิทธิพล บารมีแห่งการกดขี่ขูดรีดอย่างเข้มข้น ซึมลึกเลยชั้นผิวหนังร่างกายที่สัมผัสได้เข้าห้วงสำนึกและจิตวิญญาณที่ยากจะแกะออกให้หลุดพ้นได้ กระแสวาทะกรรมที่บ่มเพาะหล่อหลอมเข้าเป็นหนึ่งเดียวของฝ่ายทุนส่งผ่านถึงรัฐบาลที่โง่เขลา เบาปัญญาในบางประเทศโดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา กำหนดนโยบายสดุดีในความ..ทาส..เป็นทางทางความคิด ไม่เข้าใจ ไร้สติปัญญา โดยเฉพาะกระแสเรื่องการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุค 4.0 หลายประเทศกำลังดำดิ่งไปสู่ยุคใหม่ที่มืดมน ประเทศไทยก็เช่นเดียวกันภายใต้ นโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ที่เน้นการเติบโตของระบบทุน กลุ่มทุน ทั้งในชาติและต่างชาติ ในโครงการเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ต่างๆ กิจการของประเทศ โภคทรัพย์ของสังคม ทรัพย์สมบัติของแผ่นดิน เช่นที่ดินที่สามารถให้ต่างชาติเช่าได้ 99 ปี และถือครองกรรมสิทธิ์ได้ รัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นเครื่องมืออย่างดีในการให้บริการแก่ประชาชน ได้ถูกหยิบยื่น ปรนเปรอให้แก่กลุ่มทุนทั้งการออกกฎหมาย นโยบาย การสนับสนุนทั้งการเงินและการคลังในเรื่องเงินทุนและการยกเว้นเรื่องภาษี ในขณะที่หลักประกันทางสังคมความมั่นคงของมนุษย์กลับไม่มีการพูดถึงแต่อย่างใดแต่ที่เลวร้ายกว่านั้นคือการยกเว้นกฎหมายบางฉบับไม่ต้องปฏิบัติตามให้แก่กลุ่มทุน นักลงทุน เช่น กฎหมายผังเมือง กฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ภายใต้การพัฒนายุคใหม่ ยุคที่ 4 ที่จะนำเครื่องจักร หุ่นยนต์ เทคโนโลยีเข้ามาแทนคน..แต่ไม่ได้มีแผนรองรับว่าหากคนตกงาน ว่างงานจำนวนมากแล้วจะมีมาตรการอย่างไร..ประเทศกำลังเดินไปข้างหน้าอย่างไร้ทิศทาง ไร้อนาคต “เดินทางเข้าสู่ยุคใหม่ที่มืดมน

ดังนั้น ภารกิจของขบวนการแรงงาน ขบวนการทางสังคม ทั้งที่เป็น หญิง และ ชาย จะต้องศึกษาหาความรู้ทบทวนแลกเปลี่ยนกันอย่างเข้าใจมีสติปัญญา เท่าทัน และสร้างพลังอำนาจของขบวนการแรงงานและพลังทางสังคมขึ้นมาเปลี่ยนแปลงอำนาจและโครงสร้างด้านบนที่เป็นโครงสร้างกำหนดทิศทางของประเทศหรือโครงสร้างทางการเมืองเพื่อปรับทิศเปลี่ยนทางให้โครงสร้างด้านล่างหรือโครงสร้างทางเศรษฐกิจมีความยุติธรรม เผื่อแผ่ แบ่งปันกันอย่างเหมาะสม พอเพียงไม่ขูดรีด เอาเปรียบกันและกัน เพื่อให้โครงสร้างที่อยู่ตรงกลางคือโครงสร้างทางสังคมอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข เพราะการกดขี่ขูดรีดนั้นมันไม่เลือกว่าจะเป็นหญิงหรือชายมันมีความเสมอภาคในการขูดรีด ดังนั้นหญิงชายต้องสามัคคีกันร่วมกันปลดปล่อยและต่อสู้กับ บุคคล ความคิด นโยบาย กฎหมายที่ไร้ความยุติธรรม ข้อเสนอทั้งหลายจึงต้องมีเป้าหมายที่จะต้องเปลี่ยนแปลงสังคมที่เลวไปสู่สังคมที่ดีกว่าภายใต้ความร่วมมือ สามัคคีในหมู่เรา ชนชั้นเรา ขบวนการแรงงาน ขบวนการทางสังคมและคนยากจนทั้งหลาย

ในส่วนบทบาทของผู้หญิงสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.)ได้ตระหนักถึงสิทธิสตรี กว่าทศวรรษที่ผ่านมา สรส. ได้พยายามอย่างมากในการส่งเสริมสิทธิสตรีให้เข้ามามีบทบาทในการเป็นผู้นำแรงงาน และในปี 2550 ก็สามารถบรรลุเป้าหมายได้ระดับหนึ่งในการแก้ไขธรรมนูญของ สรส. ให้มีสัดส่วนสตรีเป็นกรรมการบริหาร สรส. ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 และผลักดันให้แต่ละองค์สมาชิกมีโครงสร้างสตรีเป็นกรรมการบริหาร รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรมต่างๆของสตรีอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นวันสตรีสากลของทุกปี จึงมีความสำคัญและมีความหมายอย่างมากต่อสิทธิของสตรีในอนาคตและผู้ใช้แรงงานทั้งหญิงและชาย ต้องไม่ลืมว่าในโลกแห่งความเป็นจริง การกดขี่ขูดรีดเกิดขึ้นตลอดระยะเวลาไม่ว่าจะเป็น ชายกดขี่หญิง หญิงกดขี่ชาย ชายกดขี่ชายหรือแม้แต่หญิงกดขี่หญิง ดังนั้นผู้ใช้แรงงานพึงตระหนักเสมอว่าหากเรามองการกดขี่ในมิติทางชนชั้นเราจะสามารถทราบได้เป็นอย่างดีว่าเราจะสามัคคีกับใคร เราจะต่อสู้กับใครซึ่งเป็นผู้กดขี่เรา หากเราไม่แจ่มชัดก็จะทำให้เราสับสนจนไม่อาจแยกมิตรศัตรูได้ซึ่งก็จะทำให้เราอ่อนแอในที่สุด และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพัฒนาการจัดตั้ง ภายใต้เงื่อนไขและรูปแบบที่เหมาะสมเพื่อต่อสู้กับผู้กดขี่และความไม่เป็นธรรมทั้งหลายที่แพร่ขจายหลากหลายรูปแบบ ในมิติเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม พร้อมประสานความร่วมมือระหว่างหญิงและชายทั้งภายในประเทศและระดับสากล ความสำเร็จจึงจักเกิดขึ้นได้

ในวันเดียวกันกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) จัดงานวันสตรีสากล ประจำปี 2561 ภายใต้แนวคิด “พลังสตรีชนบท พลังขับเคลื่อนสังคมไทย” โดยมี พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่สตรี บุคคล และหน่วยงานองค์กรดีเด่น เนื่องในวันสตรีสากล ประจำปี 2561 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี โดยได้กล่าวว่า

“รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในบทบาทของสตรีไทยและความเสมอภาคระหว่างเพศมาโดยตลอด จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี มุ่งเน้นการสร้างโอกาสความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม ขณะเดียวกันแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ได้ให้ความสำคัญในการสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เพื่อเป็นกรอบในการพัฒนาศักยภาพ ทุนมนุษย์ที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน และการเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่เป็นสตรี คือหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญของรัฐบาลในการเพิ่มบทบาท และพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่สตรีทุกกลุ่มในทุกระดับ เพื่อส่งเสริมให้สตรีมีความเข้มแข็ง และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอีกด้วย

สำหรับการจัดงานวันสตรีสากล ประจำปี 2561 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “พลังสตรีชนบท พลังขับเคลื่อนสังคมไทย” มีการจัดกิจกรรมสำคัญ ประกอบด้วย พิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่สตรี บุคคล และหน่วยงานองค์กรดีเด่น เนื่องในวันสตรีสากล ประจำปี 2561 จำนวน 19 สาขา 47 รางวัล เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติสตรี บุคคล หน่วยงาน องค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย และเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้ที่ทุ่มเททำงาน เพื่อความก้าวหน้าของสตรีและความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย รวมทั้งการรับมอบข้อเสนอเชิงนโยบายจากการประชุมสมัชชาสตรีแห่งชาติ ประจำปี 2561 จากคณะผู้แทนสมัชชาสตรีแห่งชาติ เพื่อนำไปสู่การผลักดันให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของสตรีไทยก้าวเดินต่อไปอย่างมีศักดิ์ศรีสู่สากล สตรีไทยทุกท่านต้องหมั่นเรียนรู้และฝึกฝนตนเองให้เป็นผู้มีความรู้ ความชำนาญ มีทักษะต่างๆ ที่เอื้อต่อการดำรงชีพ ด้วยการพึ่งพาตนเอง มีการคิดอย่างเป็นระบบด้วยวิจารณญาณ มีความเป็นผู้นำ ด้วยความมั่นใจ ก้าวทันเทคโนโลยี และรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการรักษาภาพลักษณ์อันงดงามของสตรีไทย พร้อมที่จะก้าวเดินต่อไปอย่างมีศักดิ์ศรี เพื่อมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ และได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติต่อไป”