คสรท.ชี้การพัฒนา 4.0 ต้องดูแลสิทธิแรงงาน

ที่ปรึกษารมว.แรงงาน เปิดโมเดลโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจ เพื่อก้าวข้ามกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ย้ำไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ด้านผู้นแรงงานชี้ให้เห็นประเด็นละเมิดสิทธิแรงงาน ยุค 4.0 ใช้ระบบไลน์ส่งข้อความเลิกจ้าง

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2561 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ร่วมกับโซลิดาริตี้เซ็นเตอร์(SC)  จัดเสวนาเชิงปฏิบัติการ “การละเมิดสิทธิแรงงานทุนข้ามชาติในยุค 4.0 กระทรวงแรงงานจะป้องกันอย่างไร?” โรงงานแรมบางกอกพาเลส กรุงเทพฯ

นางสาวอนุสรี ทับสุวรรณ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ตามโมเดลประเทศไทย 4.0 ซึ่งเป็นโมเดลใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศที่มุ่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนได้เพื่อสร้างนวตกรรม เพื่อก้าวข้ามกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง เพื่อให้ธุรกิจขนาดกลางสามารถปรับตัวท่ามกลางบริบทใหม่ทางเศรษฐกิจที่เติบโตและยั่งยืนรัฐบาลก็จะทำภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 คือการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่ประกอบด้วยชุมชน จังหวัดสถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัยต่างๆและยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และศาสพระราชาเป็นพื้นฐานในการพัฒนาที่เราจะใช้ความได้เปรียบของประเทศไทยที่เราเชื่อว่าเรามีความหลากหลายทั้งในเชิงชีวภาพ ความหลากหลายทั้งในเชิงวัฒนธรรมเป็นปัจจัยสำคัญนำพาไปสู่ความสำเร็จ และเชื่อมโยงประเทศไทยเข้าสู่โลก ขณะเดียวกันไทยแลนด์ 4.0 รัฐบาลจะใช้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นกรอบในการพัฒนาประเทศในระยะยาวต่อเนื่อง โดยมีกรอบแนวทางที่สำคัญ ใช้ยุทธศาสตร์ 6 ด้าน ประกอบด้วย ด้านความมั่นคง ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน  ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน  ด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาค ความเท่าเทียมของคนในสังคม ด้านสร้างความเติบโตมีคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และด้านการปรับสมดุล และการบริหารจัดการของภาครัฐ นี่คือหลักการเศรษฐกิจ 4.0

เป้าประสงค์ในการขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 คือ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน และต้องมีการสร้างความเข้มแข็งตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

สำหรับแรงงาน ถือเป็นกลไกสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันพัฒนาศักยภาพแรงงานให้เป็นแรงงานฝีมือมีความพร้อมที่จะก้าวสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 และขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาอุตสาหกรรมให้ทันเทคโนโลยีการผลิตให้ทันต่อนวตกรรม และกระบวนการผลิตแบบใหม่ด้วย และมีสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค และมีราคาที่สูงขึ้นด้วย โดยแนวทางของกระทรวงแรงงานกับการดูแลคุ้มครองแรงงาน และการส่งเสริมศักยภาพของแรงงานให้ก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0อย่างสง่างาม และยั่งยืน คือ  ต้องมีการพัฒนาฝีมือแรงงาน และกระทรวงแรงงานดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ของประเทศไทยให้เป็นแรงงานฝีมือมีความพร้อมสู่ไทยแลนด์ 4.0 และยังยกระดับจัดตั้งสถาบันนำร่อง 13 แห่งเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานด้านเทคโนโลยีขั้นสูง   การคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานให้ได้รับการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน ตอนนี้กำลังร่างพระราชบัญญัติการปราบปรามการใช้แรงงานบังคับ เพราะประเทศไทยยังไม่เคยกำหนดกฎหมายระบุความผิด อันเป็นการใช้แรงงานบังคับที่เข้าข่ายค้ามนุษย์ไว้ชัดเจน ไม่มีกลไกในกาคุ้มครอง เยียวยาผู้เสียหายทำให้ไม่สามรารถแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานบังคับได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงแรงงานจึงพิจารณาตรากฎหมายนี้ขึ้นเพื่อกำหนดความผิดให้ครอบคลุมถึงการกระทำอันเป็นความผิด และกำหนดมาตรการในการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการใช้แรงงานบังคับให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน อันเป็นการสร้างความมั่นคงด้านแรงงาน เศรษฐกิจ และสังคม ตอนนี้อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็น เรื่องต่อมากำลังเพิ่มประสิทธิภาพศูนย์ฮอตไลน์ เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานสามารถสอบถาม หรือปรึกษาปัญหาแรงงานได้ที่1506 และกำลังสร้างบริการอีเซอร์วิส อำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ โดยทำงานร่วมกับภาคเอกชน ผู้นำแรงงานและเอ็นจีโอ ข้อต่อมาก็คือการส่งเสริมป้องกันและเน้นการมีส่วนร่วม ส่งเสริมระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดีในสถานประกอบการด้วยระบบทวิภาคีด้วยหลักสุจริตใจ ส่งเสริมการจัดสวัสดิการแบบยืดหยุ่น ซึ่งถือว่าเป็นการจัดสวัสดิการที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงสังคม และเหมาะสมต่อการบริหารแรงงานในยุคปัจจุบันที่มีลูกจ้างหลายวัย ซึ่งความต้องการในการดำเนินชีวิตก็มีความหลากหลาย การจัดสวัสดิการแบบยืดหยุ่นจะสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมให้กับลูกจ้างในการจัดรูปแบบของสวัสดิการ โดยคำนึงถึงความแตกต่างเรื่องของวัยเพศ วิถีการดำเนินชีวิตทำให้ลูกจ้างสามารถเลือกและปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมตามสถานการด้วยมีรูปแบบการจ้างงานแบบใหม่ในยุค 4.0

นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)กล่าวว่า นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ต้องดูแลนักลงทุนไทย และข้ามชาติ และต้องดูแลแรงงานด้วย โดยกระทรวงแรงงานต้องทำงานเชิงรุกมากกว่านี้ ในการดูแลแรงงาน วันนี้ผู้ใช้แรงงานถูกกระทำการเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างมากมาย ผู้ก่อการจัดตั้งสหภาพแรงงานถูกเลิกจ้าง อย่างกรณีของสหภาพแรงงานนางอภันตรี เจริญศักดิ์ ผู้จัดการเขตร้านนวัตกรรมใหม่ เคเอฟซี และในฐานะประธานสหภาพแรงงานผู้ปรุงอาหารและให้บริการ ซึ่งเห็นอกเห็นใจพนักงานชั้นผู้น้อย จึงได้มีการตั้งสหภาพแรงงานเพื่อการขอปรับสภาพการจ้างตามสิทธิที่มีตามกฎหมายตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมาทั้งถูกนายจ้างขอเลิกจ้าง แม้ว่าจะจ่ายค่าชดเชยสูงกว่ากฎหมาย แต่เขาก็ยังต้องการที่จะเรียกร้องเพื่อการทำงานต่อไป ตอนนี้ศาลฎีกายังไม่ได้ตัดสิน ก็มาโดนเลิกจ้างอีกครั้งเมื่อนายจ้างอ้างว่าได้ขายเฟรนไซส์ต่อให้กับอีกบริษัทหนึ่ง และบริษัทใหม่ที่รับซื้อภายใต้แบร์นเดิมไม่มีตำแหน่งรองรับ จึงขอเลิกจ้าง ซึ่งตรงนี้มีการใช้การโยกย้ายกรรมการและสมาชิกสหภาพแรงงาน การเลิกจ้างสหภาพแรงงาน หลายคนทนต่อการบีบคั้นไม่ไหวก็ยอมรับข้อเสนอของนายจ้างไป ตรงนี้ภาครัฐคิดว่าจะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร ซึ่งคงไม่ใช่ประเด็นเดียวที่เกิดขึ้น ซึ่งการต่อสู้ของลูกจ้างก็เพียงต้องการกลับเข้าทำงาน และต้องการความมั่นคงในการมีงานทำ มีค่าจ้างสวัสดิการ อย่างกรณีอีซีโตโมทีฟ (ไทยแลนด์)จำกัด ก็มีการเลิกจ้างทางไลน์ 28 คน ด้วยลูกจ้างมีการลงลายมือชื่อในการยื่นข้อเรียกร้องเพื่อปรับสภาพการจ้างใหม่ โดยมีการไกล่เกลี่ยกัน 2 ครั้งนายจ้างตกลงจ่ายโบนัสประจำปีให้ 2.8 เดือน ตกลงปรับค่าจ้างประจำปีให้ 2 ครั้ง ในเดือนมีนาคม และเมษายน 2561 โดยมีเงื่อนไขตามอายุงาน แต่ปฏิเสธที่จะรับลูกจ้างจำนวน 28 คนที่ได้แจ้งเลิกจ้างทางไลน์ แบบยุค 4.0 เลย ในข้อกล่าวหาว่าปฏิเสธการทำงานล่วงเวลา และเฉื่อนงาน โดยในจำนวนนี้มีตัวแทนเจรจา 7 คน พร้อมทั้งร่วมกันชักชวนเพื่อนไม่ทำงานล่วงเวลา ซึ่งตนมองว่า เป็นการซุ่มเอา คือเลิกจ้างก่อน รู้ว่าลูกจ้างสายป่านสั้นสู้ไม่ได้นานหากขึ้นศาล ส่วนใหญ่ก็ตัดสินเป็นคุณกับนายจ้าง แม้จะชนะคดีศาลขั้นต้นไปถึงศาลฎีกาบางรายศาลกลับคำตัดสินใหม่ให้เลิกจ้างได้อีกโดยมุมมองศาลเมื่อนายจ้างไม่รับก็เลิกจ้างไป หรือบางรายตัดสินให้รับกลับแต่นายจ้างประวิงเวลาไม่รับเข้าทำงานให้อยู่ข้างนอกโรงงาน ซึ่งตรงนี้จะแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานอย่างไร

นายโรเบิร์ต ไพคอฟสกี้ ผู้อำนวยการโซริดาลิตี้เซ็นเตอร์ กล่าวว่า การพัฒนาเศรษฐกิจ หากไม่มีการพัฒนาคนด้วย เหมือนเป็นการพัฒนา ที่สร้างความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้นประเทศไทยขณะนี้มีความเหลื่อมล้ำสูงอยู่ที่อันดับที่ 3 หรือ 4 ของโลก รัฐยังคงใช้นโยบายค่าจ้างต่ำเพื่อดึงดูดนักลงทุน ท่ามกลางแนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่แรงงานยังไม่ได้ถูกพัฒนาเพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ และแรงงานยังคงอยู่กับปัญหาสิ่งแวดล้อม ความไม่ปลอดภัยในการทำงาน การละเมิดสิทธิแรงงาน การรวมตัวเพื่อการเจรจาต่อรอง ซึ่งปัญหาแรงงานที่ถูกกระทำไม่ใช่เพียงแรงงานข้ามชาติ หรือทุนข้ามชาติ ปัญหากระทบทั้งแรงงานไทย นายทุนไทยเองก็เอาเปรียบแรงงาน การที่แรงงานคนหนึ่งได้เข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรม เพื่อทำงานสร้างตัว ต่อมาแรงงานคนนั้น ต้องการที่จะมีครอบครัว มีลูกและต้องการที่จะมีความมั่นคงในรายได้ มีบ้านอยู่ แต่นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ไม่ได้มองเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ท่ามกลางรัฐบาลพิเศษ แรงงานขาดการรวมตัว ชุมนุมเรียกร้องไม่ได้ ถูกปิดกั้นสิทธิ เป็นระยะเวลา 4 ปีแล้วที่ต้องเสียสิทธิในการเลือกตั้ง และการเสนอนโยบายต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาด้านสิทธิแรงงาน ถูกนายจ้างละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งได้มีการร้องเรียนปัญหาการถูกละเมิดสิทธิไปที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) หลายกรณี ด้วยภาครัฐไม่สามารถดูแลและแก้ปัญหาได้

นางรัชฏาภรณ์ แก้วสนิท กรรมการสมาคมส่งเสริมสิทธิและความเสมอภาค กล่าวว่า ข้าราชการกระทรวงแรงงานทำหน้าที่เป็นกรรมการระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ซึ่งในความเห็นนั้น อยากให้มองกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสกว่าอย่างกลุ่มแรงงาน ไม่ใช่อะไรก็นายจ้างต้องดูแลชาวบ้าน หรือแรงงานก่อน ยุค 4.0 การส่งเสริมการลงทุนในการพัฒนาเขตพื้นที่อุตสาหกรรม EEC ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ได้ถามชาวบ้านหรือไม่ว่าเขาต้องการหรือไม่ เท่าที่ทราบคือชาวบ้านบอกว่าการพัฒนาตอนนี้พอแล้วไม่ต้องการอะไรอีก แม้จะบอกว่านิคมอุตสาหกรรมใหม่นี้จะเป็นการใช้เทคโนโลยีใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็ตาม หรือแม้แต่นโยบายนาแปลงใหญ่ สมาร์ทฟาร์มเมอร์ ที่ว่ารวมกัน เพื่อรับการสนับสนุนจากรัฐ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นที่นาแปลงใกล้กันก็ได้ ซึ่งถามว่าต่างจากระบบสหกรณ์ตรงไหนในการสนับสนุน ต่างตรงที่ว่าจดทะเบียนกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ หรือกระทรวงเกษตรเป็นต้น นี่คือนโยบายของรัฐบาลชุดนี้

กรณีการเลิกจ้างสหภาพแรงงาน และการละเมิดสิทธิแรงงานท่ามกลางการรณรงค์เรียกร้องให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวเจรจาต่อรอง ซึ่งอยากให้เจ้าหน้าที่รัฐมองเรื่องการคุ้มครองคนทำงาน ซึ่งถือว่า ผู้ใช้แรงงานเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจ หากไม่มีแรงงานจะผลิตสินค้าได้ไหม ฉะนั้นควรต้องดูแลอย่างสมศักดิ์ศรีหรือไม่

อีกสถานะหนึ่งคือพรรคการเมืองเองก็ไม่ได้ให้คุณค่า หรือมีนโยบายด้านแรงงานอย่างจริงจัง ซึ่งตอนนี้ก็พยายามที่จะใส่นโยบายด้านแรงงานเข้าไปในพรรคที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ เพื่อให้ดูแลผู้ใช้แรงงาน เช่นประเด็นโครงสร้างค่าจ้าง การปฏิรูปประกันสังคม ทุกเรื่องที่เป็นข้อเสนอตอนนี้ก็ส่งข้อเสนอมาได้ หากเลือกตั้งมาถึงจะได้มีนโยบายด้านแรงงานครบถ้วน

นายอนันต์ บวรเนาวรักษ์ ผู้ตรวจราชการกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐมองว่ากฎหมายแรงงานในประเทศไทยเป็นกฎหมายที่ค้อนข้างดีกว่าอีกหลายประเทศในการกำหนดเรื่องสิทธิแรงงานไว้ การที่ลูกจ้าง หรือนายจ้าง นายทุนไทย หรือนายทุนข้ามชาติ เรื่องแนวคิดทุนคือแสวงหากำไรสูงสุดเหมือนกันหมด ว่าแล้วคือความเป็นทุนเหมือนกันทุกประเทศ คือเอาเงินเป็นตัวตั้ง  และเป็นลูกจ้างก็ไม่ได้เลือกว่าจะเอาเปรียบลูกจ้างประเทศไหน โดนเหมือนกันหมดขึ้นว่าเป็นลูกจ้าง กรณีการเลิกจ้างสหภาพแรงงาน เจ้าหน้าที่หระทรวงแรงงาน ทำหน้าที่ในการเชิญให้ฝ่ายนายจ้างมาเพื่อเจรจา ซึ่งบางรายก็มา บางรายก็ยากมาก เรียกว่าต้องตื้อให้มาก็ยังไม่มา เมื่อเข้าสู่กระบวนการคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.)ตรงนี้เข้าสู่การใช้อำนาจของกฎหมายในการเรียกให้มาพบได้ ถือเป็นอำนาจตามกฎหมายนายจ้าง และลูกจ้างต้องมา ว่ากันตามกฎหมายซึ่งตรงนี้จะเป็นการใช้เวลาซึ่งเมื่อตัดสินไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจไม่ยอมรับ และส่งเข้าสู่กระบาวนการฟ้องศาลก็ได้

เรื่องอำนาจการลงทุน ทางBOI ทำหน้าที่ในการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งให้อภิสิทธิ์มากมาย แต่ตรงนี้ไม่มีตัวแทนของลูกจ้างเข้าไป หรือกระบวนการมีส่วนร่วมทางสังคม คิดว่าต้องไปดูกฎหมายว่ากำหนดกันอย่างไร เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการลงทุน ซึ่งกฎหมายกำหนดเรื่องสิทธิไว้อยู่ อย่างการจ้างงานเป็นต้น การที่จะมีมองมองว่าสหภาพแรงงานเป็นมิตรกับนายจ้าง หรือว่าเป็นฝ่ายตรงกันข้ามกันของเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำหน้าที่อยู่ระหว่างกลางเหมือนเป็นกรรมการว่าจะยกให้ใคร อันนี้จริงอยู่ว่าแนวปฏิบัติของข้าราชการมีความต่างกันอยู่ บางคนมองว่าสหภาพแรงงานดื้อ หัวแข็ง เป็นส่วนคนจริงๆ ทางกระทรวงก็ให้แนวไปเหมือนกันในการปฏิบัติเพื่อดูแลให้เกิดความสงบ ใช้แรงงานสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างที่มีการยื่นข้อเรียกร้อง เจ้าหน้าที่บางท่านอาจดูแบบห่าง บางท่านก็ใกล้ชิดตักเตือนกันบ้างอย่างพี่น้อง สหภาพแรงงานบางทีก็ฟังบางทีก็ไม่ฟังแล้วแต่มุมมองอีกเช่นกัน ถามว่าทำงานลำบากไหม แต่ด้วยหน้าที่ต้องทำให้ดีที่สุดอยู่แล้ว อย่างว่า นายจ้างบางคนเขาขุดบ่อล่อปลา ก็ยังหลงไปติดกับดักอีก ระวังกันยากอยู่ นายจ้างเขาก็เลิกจ้างไว้ก่อนแล้วไปว่ากันทีหลังอีก ซึ่งตอนนี้ทางกระทรวงแรงงานได้มีการร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฉบับใหม่ขึ้นมา  ตนคิดว่าดีกว่าฉบับเดิมปี 2518 ซึ่งจะมีการประชาพิจารณ์ในวันที่ 9 มีนาคม 2561 ที่กระทรวงแรงงาน กฎหมายฉบับนี้เป็นการเตรียมความพร้อมในการรับรองอนุสัญญา ILO ซึ่งอาจมีการรับรองฉบับหนึ่งก่อน คือฉบับที่ 98 ส่วนฉบับที่ 87 อาจต้องรอไปก่อนด้วยนายจ้างยังกลัวเรื่องสิทธิการรวมตัวของแรงงานข้ามชาติ เป็นต้น

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน