สรส.เร่งรัฐบาลซื้อรถไฟฟ้าแก้ปัญหาผู้โดยสารแออัด

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์  2561 สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) นำโดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการฯได้เข้ายื่นหนังสือ เรื่อง ขอให้พิจารณาสั่งการให้มีการซื้อขบวนรถไฟฟ้าโดยเร่งด่วนเพื่อแก้ไขความแออัดของผู้โดยสาร ถึง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เนื้อหาหนังสือมีดังนี้

ด้วยความนิยมในการโดยบริการเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งก์ของประชาชนและผู้โดยสารที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีสถิติสูงสุดของการใช้บริการในเดือนเมษายน 2560 ที่ผ่านมา เป็นจำนวนที่มากถึง 85,221 คนต่อวัน หรือ 1,997,815 คนต่อเดือน เกินขีดความสามารถในการให้บริการของ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ที่ปัจจุบันมีขบวนรถไฟฟ้าเพียง 9 ขบวนๆ ละ 3 ตู้ สามารถรองรับความจุของผู้โดยสารได้เพียง 72,000 คนต่อวันเท่านั้น ทำให้เกิดความแออัดของผู้โดยสารที่มาใช้บริการ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของการให้บริการและความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ  ที่ผ่านมา บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ได้แก้ปัญหาความแออัดของผู้โดยสาร ด้วยการยกเลิกขบวนรถด่วนและถอดที่นั่งออกจากขบวนรถด่วน เพื่อให้สามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารให้มากขึ้น รวมทั้งแผนการเปลี่ยนตู้ขนกระเป๋าโดยสารมาเป็นตู้ขบวนรถโดยสารแทน ที่จะดำเนินการ แต่ก็จะรองรับผู้โดยสารได้เพียง 83,342 คนต่อวันเท่านั้น ยังไม่เพียงพอที่จะรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละวันได้

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ หรือ สรส. ซึ่งจัดตั้งโดยองค์กรสมาชิกที่เป็นสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจกว่า 44 แห่ง และมี สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ รถไฟฟ้า เป็นองค์กรสมาชิกด้วย ได้รับหนังสือขอความช่วยเหลือจาก สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ รถไฟฟ้า ในการร่วมเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐบาลและประธานคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ให้เร่งรัดสั่งการให้มีการซื้อขบวนรถไฟฟ้าโดยเร่งด่วนเพื่อแก้ไขความแออัดของผู้โดยสาร  ดังนั้น สรส. จึงกราบเรียนมายังท่าน เพื่อร่วมสนับสนุนการเรียกร้องของ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ รถไฟฟ้า และขอให้พิจารณาสั่งการให้มีการเร่งรัดการจัดซื้อขบวนไฟฟ้าจำนวน 7 ขบวน โดยเร่งด่วน โดยมีเหตุผลสนับสนุน ดังนี้

  1. เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาความแออัดของผู้โดยสาร อันเนื่องจากปริมาณขบวนรถไฟฟ้ามีไม่เพียงพอต่อปริมาผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี และที่สำคัญ เพื่อให้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด สามารถให้บริการระบบขนส่งมวลชนด้วยระบบราง (รถไฟฟ้า) ที่มีประสิทธิภาพ ตอบสนองการใช้งานของผู้โดยสาร และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนผู้ใช้บริการ
  2. การใช้ขบวนรถไฟฟ้าที่มีอยู่ในขณะนี้ ให้บริการแก่ผู้โดยสารที่เกินขีดความสามารถ ทำให้ขบวนรถไฟฟ้าไม่สามารถหยุดให้บริการ เพื่อทำการซ่อมบำรุงแบบ Preventive maintenance ตามกำหนดระยะเวลาของแผนซ่อมบำรุงขบวนรถไฟฟ้าได้ เนื่องจากต้องนำขบวนรถออกให้บริการแก่ผู้โดยสารที่มีจำนวนมากตลอดเวลา ขบวนรถไฟฟ้าที่นำออกให้บริการอย่างหนักจะเกิดความเสื่อมสภาพของอุปกรณ์ของขบวนรถเร็วกว่าที่กำหนด อันเป็นเหตุที่ทำให้ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณเพิ่มขึ้นในการซ่อมอุปกรณ์ที่เสื่อมสภาพ และยังส่งผลทำให้อายุการใช้งานของขบวนรถไฟฟ้ามีอายุการใช้งานที่สั้นลงอีกด้วย ส่งผลกระทบในระยะยาวต่อคุณภาพการให้บริการได้ ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงก็คือประชาชนผู้ใช้บริการ
  3. คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2556 เห็นชอบโครงการจัดหารถไฟฟ้าธรรมดา (City Line Airport Rail Link) จำนวน 7 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มรายได้เชิงพาณิชย์ด้านการโดยสารรถไฟฟ้า เพิ่มความปลอดภัยในการเดินขบวนรถไฟฟ้า และแก้ปัญหาปริมาณผู้โดยสาร ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ขบวนรถไฟฟ้าธรรมดา ที่บริษัทฯ มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่สามารถรองรับได้อย่างเพียงพอ โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน แต่กระนั้นก็ตาม ก็ยังไม่มีการดำเนินการให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีดังที่กล่าว โดยผู้ที่เกี่ยวข้องอ้างว่า ให้รอความชัดเจนของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ก่อน โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่ง สรส. มีความเห็นว่า การจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้าเพื่อแก้ไขความแออัดของผู้โดยสารที่ใช้บริการในขณะนี้เป็นคนละเรื่องกับแผนโครงการ EEC ที่ยังไม่มีความชัดเจนในขณะนี้ และไม่มีความชัดเจนว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะดำเนินการให้แล้วเสร็จเมื่อไหร่ ซึ่งจะใช้เวลาอีกหลายปี แต่ผู้โดยสารที่ใช้บริการเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งก์ ไม่สามารถรอได้ เพราะสภาพความแออัดจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และส่งผลกระทบต่อคุณภาพบริการและความปลอดภัยของผู้โดยสาร หากยังไม่เร่งรีบแก้ไข

จึงกราบเรียนมา เพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการโดยเร่งด่วน และขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้