44 ปี 14 ตุลา ตัวแทนแรงงานเรียกร้องสามัคคี หยุดคาดหวังการเปลี่ยนผ่านโดยชนชั้นนำ ชนชั้นปกครอง

ตัวแทนแรงงานร่วมกล่าวรำลึก 44 ปี สดุดีวีรชน 14 ตุลา ชวน กรรมกร คนจนเมือง เกษตรกรชาวนา นิสิตนักศึกษาเปลี่ยนผ่านสังคมภายใต้อนาคตที่เรากำหนดเอง ด้านรมต.ออมสิน แจงบทบาทรัฐบาลชัด มีเจตนารมณ์สร้างความปรองดอง เพื่อลดความขัดแย้ง และความเหลื่อมล้ำทางสังคม

วันที่ 14 ตุลาคม 2560 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน มีการจัดรำลึกครบรอบ 44 ปี 14 ตุลา เพื่อรำลึกถึงวีรชนด้านประชาธิปไตย  โดยมีการเชิญตัวแทนจากกลุ่มต่างๆกล่าวสดุดี อาทิ ตัวแทนจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ ตัวแทนจากกรุงเทพมหานคร ตัวแทนจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตัวแทนจากญาติวีรชน ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวแทนจากนักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิต และตัวแทนแรงงาน

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)และเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรับวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) กล่าวว่า บทเรียนหลายครั้งที่ผ่านมาที่ประชาชนลุกขึ้นมาเรียกร้องต่อสู้เป็นเพียงสิทธิขั้นพื้นฐานแต่ก็ถูกปราบปรามทุกครั้ง จนถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะเป็นการยึดอำนาจโดยไม่ได้ใช้กำลังปราบปรามก็ตาม วันนี้สถานการณ์ชัดเจนว่า ความเป็นประชาธิปไตยที่ทุกคนใฝ่หา ทั้งจิตรวิญาณวีรชน 14 ตุลา ในการต่อสู้ทุกครั้ง แต่เมื่อคนส่วนใหญ่ในสังคม โดยเฉพาะกรรมกร ทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรมและภาคบริการ สาขาวิชาชีพทั้งหลายกำลังไม่มีความมั่นคงในการทำงาน ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพภายใต้กฎหมาย และนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนทำให้ประชาชนยากจนลงเศรษฐกิจตกต่ำ แต่กลุ่มทุนไม่กี่ตระกูลร่ำรวยขึ้น คนที่รายล้อมเคียงข้างรัฐบาล ได้สร้างกลไกล สร้างนโยบายเพื่อปิดล้อมประชาชนให้อยู่ในภาวะทุกข์ยากคับแค้นมากยิ่งขึ้น วันนี้เมื่อเรายังถามหาประชาธิปไตย และเรียกร้องความเป็นธรรมต่อสังคม แต่จะเกิดไม่ได้เลยหากประชาชนคนส่วนใหญ่ของสังคมยังอยู่ในภาวะถูกขูดรีด เอารัดเอาเปรียบ

“ระบบประชาธิปไตย โดยรากฐานพื้นฐาน หลักการเป็นของประชาชน และเพื่อประชาชน  เมื่อคนกลุ่มใหญ่ของสังคมไม่ว่า จะเป็นชาวนา กรรมกรแรงงานทุกภาคส่วนอยู่ในภาวะที่อดอยากยากแค้น คุณภาพชีวิตตกต่ำทุกวันความเป็นประชาธิปไตยจะมีขึ้นได้อย่างไร โดยประสบการณ์ 44 ปีในการต่อสู้ของวีรชน 14 ตุลา รวมถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 กว่า 80 ปี ฉะนั้นพี่น้องกรรมกร คนจนเมือง ชาวนา เกษตรกรและทุกเครือข่าย พึงระลึกว่า เราไม่สามารถจะคาดหวังการเปลี่ยนผ่านสังคมโดยกลุ่มคนโดยชนชั้นนำ ชนชั้นปกครองได้อีกต่อไป วันนี้ประชาชนต้องสถาปนาอำนาจ ต้องกำหนดอนาคตตนเอง จากประสบการณ์การต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงหลายครั้งที่ผ่านมา บางครั้งเจ็บปวดที่ถูกครหาว่าไปรับใช้เผด็จการเรียกร้องทหารเข้ามา โดยเนื้อแท้ โดยสาระคือเราต้องการเปลี่ยนแปลงโดยภาคประชาชนด้วยเงื่อนไขประชาชนไปไม่ถึงการเปลี่ยนแปลง ด้วยเงื่อนไขความทุกข์ยาก แร้นแค้นต้องหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง จนทำให้การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เริ่มหายไปในจิตรวิญญาณ โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์โลกาภิวัตน์ ระบบเสรีนิยมทุนผูกขาดที่กำลังแพร่กระจายไปทั้งโลกในขณะนี้” นายสาวิทย์ กล่าว

นายสาวิทย์ กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมยุค 4.0 กำลังจะเปลี่ยนแปลงสังคมขนานใหญ่ ความทุกข์จะเพิ่มขึ้นทรัพยากรมีน้อยลง ประชากรโลกเพิ่มมากขึ้น สัญญาณอันตราย ความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นทุกภูมิภาคของโลก กำลังอยู่ในภาวะรอการต่อชนวน ซึ่งสังคมไทย สังคมโลกจะต้องเผชิญกับหายนะที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ด้วยการต่อสู้ของวีรชน 14 ตุลาและที่ผ่านมา จึงอยากเรียกร้องต่อ กรรมกร นิสิตนักศึกษา ประชาชนว่า วันนี้ถึงเวลาที่ต้องรักและสามัคคี ต้องเปลี่ยนผ่านสังคมภายใต้อนาคตที่เรากำหนดเอง หากปล่อยเวลาเนินช้ากว่านี้เราไม่อาจอยู่ดีในสังคมปกติสุขได้

ด้านนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตัวแทนนายกรัฐมนตรีได้กล่าวสดุดีวีรชนว่าวันที่ 14 ต.ค. ซึ่งเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ เป็นวันที่ระลึกถึงความกล้าหาญของประชาชนที่ต่อสู้ เรียกร้องความเป็นประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นทรงประมุข รัฐบาลมีเจตนารมณ์แน่วแน่ในการสร้างความปรองดอง เพื่อลดความขัดแย้ง ความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งด้วยสันติวิธี พร้อมขอให้ประชาชนทุกคนมีความรักชาติบ้านเมือง เสียสละอดทนให้อภัยกันและยึดประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง และทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมในการนำพาประเทศชาติไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน ตนในฐานะตัวแทนรัฐบาลขอสุดดี ผู้กล้าหาญ และขอส่งเสริมการมีประชาธิปไตยยั่งยืน

ทั้งนี้ ช่วงเช้ามีการตักบาตรพระสงฆ์จำนวน 14 รูป และพิธีกรรม 3 ศาสนา ประกอบด้วย ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม และตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆร่วมวางพวงมาลาร่วมกัน

รายงานโดย วาสนา ลำดี