มุมมองแรงงานกรณี ร่างกฎหมายกำหนดเกษียณอายุ 60 ปี

%e0%b8%81%e0%b8%a1

ผู้นำแรงงานเสนอมุมมองมติครม.วันที่ 4 ม.ค. เรื่องการให้อำนาจคณะกรรมการค่าจ้าง  การยกเลิกบทบัญญัติให้นายจ้างส่งสำเนาข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้แก่อธิบดี และ ให้กรณีการเกษียณอายุเป็นเหตุแห่งการเลิกจ้าง นักวิชาการแรงงานชี้ข้อดี และข้อด้อยของกฎหมาย

วันที่ 5 มกราคม 2559 นายบุญสม ทาวิจิตร ประธานเครือข่ายสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง เครื่องเรือน และคนทำไม้แห่งประเทศไทย ( BWICT ) กล่าวถึงมติครม.เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….เมื่อวันที่ 4 มกราคมว่า ต่อประเด็นการกำหนดให้กฎหมายคุ้มครองแรงงานให้แรงงานอายุ 60 ปี เกษียณอายุโดยได้รับค่าชดเชยนั้น เป็นมาตรการในการดูแลกลุ่มลูกจ้างในสถานประกอบการขนาดเล็กที่นายจ้างไม่มีข้อกำหนดเรื่องการเกษียณอายุไว้ ทำให้ต้องทำงานไปจนกว่าทำไม่ไหวและลาออกไปเอง แต่ส่วนใหญ่สถานประกอบการที่มีมาตรฐานจะกำหนดการเกษียณอายุไว้ เช่นในจังหวัดสระบุรี บางสถานประกอบการที่เป็นประเภทอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ หรืออุตสาหกรรมที่มีความเสียจะกำหนดเรื่องการเกษียณอายุไว้ที่ 55 ปี บางสถานประกอบการกำหนดไว้ที่ 60 ปี โดยนายจ้างจะจ่ายค่าชดเชยให้ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานมาตรา 118 ซึ่งกำหนดอายุงานสูงสุดที่ 10 เดือน จึงคิดว่าไม่ได้มีมาตรการใหม่อะไรมากหนัก แต่ก็เป็นการเริ่มต้นในการดูแลแรงงานกลุ่มสถานประกอบการขนาดเล็กที่ไม่มีอำนาจต่อรองด้านสวัสดิการ

“ประเด็นเรื่องกรรมการค่าจ้าง ที่ออกมาให้กำหนดเรื่องความคุ้มครองค่าจ้างในส่วนของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ถือเป็นประเด็นใหม่ เนื่องจากเดิมไม่มีการดูแลคุ้มครองแบบชัดเจน แต่อยากถามว่าจำเป็นที่นักเรียน นิสิต นักศึกษาต้องมาทำงานหาเงินเป็นกรรมกรในโรงงานทั้งที่ยังต้องเรียนอยู่หรือ จริงก็มีการกำหนดการจ้างงานเป็นรายชั่วโมงอยู่ หรือว่า เป็นการดูแลในส่วนของนักศึกษาฝึกงานอันนี้ ก็คิดว่าการที่มีการฝึกงานในโรงงานเป็นเวลา 3 เดือนไม่ได้เพิ่มทักษะอะไรให้กับนักศึกษามากนัก และการที่เข้าไปทำงานในไลน์การผลิตก็เป็นเพียงระยะสั้นซึ่งจบไปอาจไม่ได้ทำงานแบบนี้จะเป็นทักษะอย่างไร ซึ่งบางสถานประกอบการมีการนำนักศึกษามาทำงานแทนการจ้างงาน หากมีการทำแบบนี้เป็นการส่งเสริมการจ้างนักเรียน นักศึกษาแบบเลี่ยงกฎหมายอื่นๆด้านสวัสดิการที่ต้องดูแลหรือไม่” นายบุญสม กล่าว

ส่วนนายวิสุทธิ์ เรืองฤทธิ์ รองประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแก้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ตามมติครม.นั้นเป็นประเด็นที่กำลังติดตาม เพื่อดูผลได้ ผลเสียจากการแก้ไขกฎหมายครั้ง หลังจากผ่านมติคณะรัฐมนตรี หลังเข้าสภาพิจารณาก็คิดว่าคงจะผ่านแบบ 3 วาระรวด ด้วยเห็นว่าสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการที่จะขยายกฎหมายประกันสังคมกรณีชราภาพจากเดิมกำหนดไว้ที่อายุ 55 ปี และต้องการขยายอายุการเกษียณอายุออกไปในการใช้ระบบบำนาญชราภาพ การที่ครม.มีมติเห็นด้วยกับร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงานประเด็นที่กำหนดเรื่องเกษียณอายุเป็น 60 ปี ซึ่งคิดว่าหลายที่ที่กำหนดการเกษียณอายุที่ 55 ปีอาจมีการแก้ข้อบังคับการทำงานเพิ่มระบบการเกษียณอายุเป็น 60 ปีไปด้วย ซึ่งก็เป็นการขยายการจ้างงานตามที่รัฐบาลมีการกำหนดเรื่องการจ้างงานแรงงานสูงวัย

“ระบบการเกษียณอายุแต่ละสถานประกอบการในประเภทกิจการยานยนต์นั้นมีการทำข้อตกลงสภาพการจ้างไว้ตามอายุงาน คือนอกเหนือจากกฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนด เช่น หากทำงานมานานกว่า20 ปีนายจ้างต้องจ่ายเพิ่มนอกเหนือจากกฎหมายกำหนดตามปีที่ทำงาน อย่างกรณีของตนเองที่ทำงานมากว่า 30 ปี นายจ้างจะจ่ายค่าชดเชยให้ทั้งหมด 10 เดือนตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน บวกอีก 20 เดือน บวกเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น อันนี้แค่ยกตัวอย่างให้เป็น ซึ่งหลายบริษัทมีการกำหนดบวกเพิ่มนอกเหนือจากค่าชดเชยตามกฎหมาย ด้วยนายจ้างกับลูกจ้างมีการทำข้อตกลงสภาพการจ้างไว้ และคิดว่านายจ้างก็มองว่าลูกจ้างได้ทำงานร่วมกันพัฒนาบริษัทมาด้วยจึงเพิ่มเงินเกษียณอายุให้ ” นายวิสุทธิ์ กล่าว

นายวิสุทธิ์ ยังกล่าวอีกว่าประเด็นที่คิดว่ากระทบกับการจ้างงานคือประเด็นการจ้างงานนักศึกษาฝึกงาน ปัจจุบันมีหลายบริษัทที่มีการทำMOU กับวิทยาลัยอาชีวะเพื่อส่งนักศึกษามาฝึกงานในสถานประกอบการ การกำหนดค่าจ้างให้มีความครอบคลุมถือว่าดี แต่ปัญหาคือมีการคุ้มครองด้านสวัสดิการอื่นๆที่นอกเหนือจากค่าจ้างหรือไม่ต้องดู บางบริษัทดีมากมีการรับนักศึกษามาฝึกงานใช้เวลา 3 เดือนแล้วกลับไปเรียนตามระบบ จากนั้นส่งมาฝึกอีกสามเดือนก่อนที่จบ แต่บางบริษัทในกิจการเครื่องใช้ไฟฟ้ามีนักศึกษาฝึกงานเกินครึ่งของลูกจ้างที่ทำงานประจำในโรงงาน และปัญหาคือเป็นการจ้างงาน หรือว่าฝึกงานมีการทำกันเป็นปี มีการทำงานล่วงเวลาหรือ OT ด้วย เป็นการหลีกเลี่ยงการจ้างงาน หรือจัดสวัสดิการตามกฎหมายหรือไม่ รัฐต้องดูแลประเด็นนี้ด้วย เพื่อการทำให้นักศึกษาได้เรียน หรือฝึกงานอย่างแท้จริง ไม่ใช่ทำงานจนส่งผลกระทบกับการเรียน และเคยมีกรณีที่ประสบอุบัติเหตุแล้วส่งผลกระทบหมดอนาคตไปเลยแม้ว่าทางบริษัทจะดูแลแต่มันอาจดูแล้วไม่สมเหตุผลในการที่จะฝึกงานแบบมีความเสียงแล้วไม่มีการคุ้มครองจริง รวมทั้งบางบริษัทใช้นักศึกษาฝึกงานมาทำงานช่วงที่ปิดงานลูกจ้างที่ยื่นข้อเรียกร้อง อันนี้จะเป็นการเข้าข่ายแบบเดียวกับการจ้างงานแรงงานเหมาค่าแรงหรือไม่ ตรวจสอบด้วย

ด้าน นายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ นักวิชาการมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน กล่าวว่า จากประเด็นการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงานนั้น ตามจริงแล้วมีหลายข้อแต่ไม่เข้าใจว่าทำไมรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานถึงเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพียง 4 ข้อตามที่มีมติออกมา ซึ่งข้อที่หนึ่งเรื่องอำนาจคณะกรรมการค่าจ้างในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำก็ไม่ได้มีอะไรที่ใหม่ ซึ่งร่างกฎหมายเดิมได้มีการเสนอให้มีการยกเลิกอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ โดยให้แต่ละปีมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ว่าหากมองเพียงค่าจ้างขั้นต่ำกับคนทุกกลุ่มจริงแล้วเดิมก็ไม่ได้แบ่งแยกมีความครอบคลุม และบางอาชีพมีกฎหมายเฉพาะแยกออกไปดูแล เช่น แรงงานนอกระบบ คนทำงานบ้าน นอกนั้นไม่ว่าจะเป็นคนพิการ นิสิต นักศึกษา คนพิการ ผู้สูงอายุ

ประเด็นที่สอง เรื่องการที่มีการยกเลิกบทบัญญัติให้นายจ้างส่งสำเนาข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้แก่อธิบดีนั้นเป็นประเด็นปัญหากับลูกจ้าง ที่เห็นว่าเป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ เนื่องจากนายจ้างอาจหลีกเลี่ยงการประกาศให้ลูกจ้างได้รับรู้เรื่องการปรับเปลี่ยนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน และส่งผลกระทบต่อลูกเมื่อนายจ้างเลิกจ้าง แล้วอ้างถึงการกระทำการผิดข้อบังคับอันนี้เป็นประโยชน์ต่อนายจ้างหากนายจ้างต้องการที่จะเลิกจ้างลูกเนื่องจากการรวมตัว ด้วยอ้างกฎระเบียบ ซึ่งถือเป็นความผิดร้ายแรงเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย ซึ่งของเดิมดีอยู่แล้ว นายจ้างต้องปิดประกาศให้ลูกจ้างได้รู้เมื่อเปลี่ยนแปลงข้อบังคับการทำงาน หรือหากลูกจ้างต้องการรู้ก็มาขอดูที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้หากต้องการที่จะเรียกร้องให้นายจ้างเปลี่ยนข้อบังคับที่มองว่ามีผลกระทบต่อลูกจ้าง

ประเด็นที่สาม และประเด็นที่ 4 หากถามว่าเป็นคุณกับลูกจ้างในแง่กฎหมายนั้นเป็นคุณ เนื่องจากมีโรงงาน หรือสถานประกอบการจำนวนมากที่ไม่มีการกำหนดการเกษียณอายุไว้ในสภาพการจ้างหรือข้อบังคับ ซึ่งส่งผลกระทบต่อลูกจ้างที่ต้องทำงานไปโดยไม่มีกำหนด หรือต้องลาออกจากงานไปโดยไม่ได้รับอะไรเลยเมื่อทำงานไม่ไหว เป็นประเด็นที่น่าสนใจที่กระทรวงแรงงานเสนอให้มีการปรับแก้กฎหมายคุ้มครองแรงงานมาตรา118/1ให้ลูกจ้างที่ทำงานมาอายุครบ 60 ปี ถือว่าเป็นการเกษียณอายุ และนายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานซึ่งมีการกำหนดเป็นอายุงานไว้ ในกรณีที่ทำงานอายุงาน 10 ปี ได้รับเงินชดเชยการเกษียณอายุ 10 เดือน ของเงินเดือนสุดท้าย กรณีอายุงาน 6 ขึ้นไปไม่ถึง10 ปี ได้รับเงินชดเชย 8 เดือน กรณี 3ไม่ถึง 6 ปี รับเงินชดเชย 6 เดือน เป็นต้น ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดไว้ คือกฎหมายปัจจุบันกำหนดการเกษียณอายุไม่ใช่การเลิกจ้างนายจ้างจึงอาจจ่ายให้ตามที่ตกลงกัน แต่อันนี้เมื่อมีการกำหนดว่าเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้างนายจ้างต้องจ่ายเงินค่าชดเชยให้ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน หากไม่จ่ายก็มีความผิดตามมาตรา 144 กำหนดโทษสำหรับนายจ้างที่ฝ่าฝืนไม่จ่ายค่าชดเชยเพราะเหตุเกษียณอายุ และหากนายจ้างต้องการจ้างต่อก็ต้องจ่ายสวัสดิการตามเดิมที่ลูกจ้างพึงมีพึงได้

“ในส่วนของมติครม.ที่เสนอเรื่องการกำหนดการเกษียณอายุไว้ทำให้ลูกจ้างจำนวนมากได้ประโยชน์จากเดิมที่นายจ้างไม่ได้กำหนดไว้ ซึ่งเป็นไปตามที่รัฐบาลพูดถึงเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงการจ้างงานที่อาจขยับขึ้นจากเดิมที่กำหนดไว้ในประกันสังคมคือ 55 ปีรับสิทธิบำนาญหรือบำเหน็จชราภาพ เมือส่งเงินสมทบครบ 15 ปี ซึ่งตอนนี้มีความต้องการที่จะขยายเรื่องอายุการรับสิทธิออกไปด้วยประเด็นนี้ถือว่าสอดคล้องกับนโยบาย แต่อีกหลายประเด็นที่ขบวนแรงงานมีการเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไขกับไม่มีการนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาคณะรัฐมนตรี” นายบัณฑิตย์ กล่าว

ด้านนายชฤทธิ์ มีสิทธิ์ นักกฎหมาย ทนายความ ได้ตั้งข้อสังเกตต่อประเด็นร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ที่ผ่านครม.แล้วไว้ดังนี้ว่า

ประเด็นที่ 1. เป็นการแก้ไขกฎหมายบางจุดที่เป็นปลีกย่อยเหมือนที่ผ่านๆมา ส่วนเรื่องใหญ่ที่ควรแก้มิได้ทำเลย

ประเด็นที่ 2. เอกชนรายใดไม่มีสัญญาเรื่องเกษียณ หรือมิได้ตกลงกันให้ลูกจ้างต้องเกษียณที่ 60 ปี จะมีปัญหากับบางลักษณะและสภาพของงานที่ทำงานมาถึงอายุ 55 ปีก็แย่แล้ว เช่นงานคุมเครื่องจักรอันตราย งานเหมืองแร่ งานประมงทะเล งานขับรถบรรทุกสินค้า เป็นต้น ควรมีมาตรการเสริมกำหนดในกฎหมายด้วยหรือไม่ เช่น การเปลี่ยนย้ายงานที่เหมาะสมกับสภาพของแรงงานซึ่งสูงอายุแล้ว ให้ต้องเลี่ยงการทำงานที่เสี่ยงไม่สมวัย

ประเด็นที่ 3. เรื่องไม่ต้องส่งสำเนาข้อบังคับให้แก่เจ้าหน้าที่ คำถามก็คือ รัฐจะตรวจสอบระเบียบหรือข้อบังคับที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นธรรมด้วยกลไกหรือเครื่องมืออะไร และอย่างไร? จึงมีข้อเสนอให้นายจ้างส่งสำเนาข้อบังคับที่ผ่านการตรวจสอบของรัฐแล้วให้แก่คณะกรรมการสวัสดิการ หรือคณะกรรมการลูกจ้าง หรือคณะกรรมการสหภาพแรงงาน และให้องค์กรดังกล่าวแจ้งให้ลูกจ้างทราบ เพื่อให้มีการตรวจสอบกันเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับ หรือสภาพการจ้าง เป็นต้น

ครม.มีมติเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2560 เรื่องร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ดังนี้คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป โดยมีสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ดังนี้

  1. เพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการให้อำนาจคณะกรรมการในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับกลุ่มลูกจ้างต่าง ๆ
  2. ยกเลิกบทบัญญัติให้นายจ้างส่งสำเนาข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้แก่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย
  3. เพิ่มมาตรา 118/1 ให้กรณีการเกษียณอายุเป็นเหตุแห่งการเลิกจ้างในกรณีที่มิได้ตกลงหรือกำหนดการเกษียณอายุลูกจ้างไว้ให้ลูกจ้างเกษียณอายุ เมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์และนายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย
  4. เพิ่มเติมบทบัญญัติ มาตรา 144 กำหนดโทษสำหรับนายจ้างที่ฝ่าฝืนไม่จ่ายค่าชดเชยเพราะเหตุเกษียณอายุ

รายงานโดยวาสนา ลำดี