เปิดงานวิจัยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ระบุอุตสาหกรรมก่อสร้างในไทยใช้แรงงานต่างชาติ หญิงถึงเกือบ 40% งานหนัก เสี่ยงอันตราย
จากที่เว็บไซต์ประชาไทได้รายงาน High rise, low pay: Experiences of migrant women in the Thai construction sector ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่เปิดเผยเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2559 ว่า รายงานชิ้นนี้ได้ทำการสัมภาษณ์แรงงานไทยและต่างชาติในอุตสาหกรรมก่อสร้าง 125 คน ในกรุงเทพฯ และ จ.เชียงใหม่ ระหว่างเดือน ต.ค.-ธ.ค. 2558 โดยระบุว่าข้อมูลจากรัฐบาลไทยพบว่ามีแรงงานต่างชาติถูกกฎหมายในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างประมาณ 557,724 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากพม่าและกัมพูชา ในจำนวนนี้ร้อยละ 38 เป็นแรงงานหญิง และจากงานศึกษาเมื่อช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 ชี้ว่าไทยเป็นประเทศเดียวในประเทศกำลังพัฒนา 49 ประเทศ ที่มีสัดส่วนผู้หญิงในภาคแรงงานก่อสร้างเกินกว่าร้อยละ 10 ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาแล้ว ตัวอย่างเช่นสหรัฐอเมริกามีสัดส่วนแรงงานหญิงในอุตสาหกรรมก่อสร้างไม่ถึงร้อย 9 เท่านั้น ส่วนในสหราชอาณาจักรแรงงานในภาคการก่อสร้างเป็นผู้ชายถึงร้อยละ 99 เลยทีเดียว โดยในรายงานชิ้นนี้ยังมีประเด็นที่น่าสนใจต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
ประเด็นทางเพศ
แรงงานหญิงที่ให้สัมภาษณ์ในรายงานชิ้นนี้ 39 คนจาก 44 คน ต่างสมรสแล้ว เนื่องจากสภาพการทำงานที่เพื่อนร่วมงานส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย รวมทั้งที่พักอาศัยที่ต้องอยู่รวมกันในแคมป์นั้น ทำให้แรงงานหญิงในภาคการก่อสร้างต้องหา ‘สามี’ ไว้เป็นผู้คุ้มครองความปลอดภัย แต่พวกเธอก็ต้องระวังตนเองไม่ให้ตั้งครรภ์ เพราะเมื่อใดที่ตั้งครรภ์ก็หมายความว่าพวกเธอจะต้องสูญเสียงาน ทั้งที่กฎหมายไทยอนุญาตให้แรงงานหญิงลาคลอดได้ 90 วัน นอกจากนี้ทั้งตัวแรงงานหญิงเองหรือลูกสาวก็มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกล่วงละเมิดทางเพศในแคมป์แรงงาน
สำหรับมุมมองของนายจ้างแรงงานหญิงในอุตสาหกรรมการก่อสร้างมักจะถูกมองเป็น ‘แรงงานผู้ช่วยของสามี’ (ซึ่งอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พวกเธอได้รับค่าแรงต่ำกว่าแรงงานชาย) เพราะถึงแม้ว่าแรงงานหญิงจะเปรียบเสมือนแรงงานราคาถูกสำหรับอุตสาหกรรมนี้ แต่สำหรับมุมมองของนายจ้างเองก็ไม่ค่อยอยากจะรับแรงงานหญิงเข้ามาทำงานมากนัก แต่ถ้าพวกเธอมาสมัครงานพร้อมกับสามี นายจ้างก็มักจะไม่ปฏิเสธด้วยเช่นกัน ผู้ประกอบการรายหนึ่งใน กทม. ระบุกับผู้วิจัยว่าถ้าหากแรงงานคู่สามีภรรยาเดินทางมาสมัครงานด้วยกันเขาก็ต้องหางานให้ภรรยาด้วย มิเช่นนั้นเขาก็จะต้องสูญเสียแรงงานไปทั้งคู่ เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วแรงงานชายทั้งจากประเทศเพื่อนบ้านและแรงงานจากภาคอีสานมักจะมาสมัครงานเป็นคู่พร้อมภรรยา ด้านผู้จัดการบริษัทก่อสร้างแห่งหนึ่งระบุว่าถ้าหากเขาสามารถเลือกแรงงานได้ระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย เขาจะเลือกแรงงานชายเป็นอันดับแรกเพราะผู้ชายสามารถทำงานได้มากกว่า
อคติด้านชาติพันธุ์
อคติด้านชาติพันธุ์ส่งผลต่อการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานต่างชาติ แรงงานต่างชาติมักจะถูกล้อเลียนและดูถูกจากคนไทย โดยแรงงานหญิงจากรัฐฉานคนหนึ่งที่ทำงานใน จ.เชียงใหม่ ระบุกับผู้วิจัยว่าว่าแรงงานต่างชาติมักจะถูกแรงงานไทยล้อเลียนว่าพูดไทยไม่ชัด และแรงงานหญิงมักจะถูกดูถูกว่าทำงานได้ช้า ส่วนแรงงานหญิงชาวพม่าคนหนึ่งที่ทำงานในกรุงเทพฯ ระบุว่าเธอเลือกที่จะเงียบและไม่โต้ตอบเมื่อได้รับคำพูดที่ไม่ดีจากคนไทย
ผู้ประกอบการรายหนึ่งที่ไม่ใช่คนไทย ให้สัมภาษณ์แก่ผู้วิจัยว่าแรงงานชาวไทยจะคิดว่าพวกเขาดีกว่าคนอื่นเพราะว่าที่นี่คือประเทศของเขา แต่พวกเขาจะไม่คิดว่าตัวเองนั้นอยู่ในสถานะเดียวกันกับแรงงานจากพม่าและกัมพูชาที่ทำงานร่วมกันกับพวกเขา โดยแคมป์ที่พักคนงานของผู้ประกอบการรายนี้แบ่งออกเป็นสองส่วน คือส่วนของคนไทยและส่วนของแรงงานต่างชาติจากพม่าและกัมพูชา
สภาพการทำงาน ค่าจ้าง และการทำงานล่วงเวลา
แม้แรงงานหญิงบางส่วนจะทำงานฝีมือเช่นก่ออิฐ ฉาบปูน และงานเชื่อมบ้าง แต่โดยส่วนใหญ่แล้วลักษณะการทำงานของแรงงานหญิงมักจะเป็นการ ‘แบก-หาม-ลาก’ วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งทำให้พวกเธอได้รับค่าแรงน้อยกว่าแรงงานชาย และมีโอกาสพัฒนาฝีมือได้น้อยกว่าเช่นกัน (ที่มาภาพ: UN Women/P.Visitoran และ ILO/M. Crozet)
ลักษณะการทำงานของแรงงานหญิงเหล่านี้มักจะเป็นการ ‘แบก-หาม-ลาก’ วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ส่วนงานที่ใช้ทักษะมากกว่าเช่นงานก่ออิฐ ฉาบปูน และงานเชื่อมนั้นส่วนใหญ่แล้วจะเป็นงานของแรงงานชาย แม้แรงงานหญิงบางคนจะได้ทำงานก่ออิฐ ฉาบปูน หรืองานเชื่อมบ้างก็เป็นส่วนน้อย ซึ่งทำให้พวกเธอได้รับค่าแรงน้อยกว่าแรงงานชายและขาดโอกาสในการพัฒนาทักษะแรงงาน
แรงงานหญิงส่วนใหญ่ที่ให้สัมภาษณ์ในงานวิจัยชิ้นนี้ระบุว่าพวกเธอไม่ชอบงานในภาคก่อสร้าง และต่อมาแรงงานบางคนก็ได้ไปทำงานในโรงงานและแรงงานรับจ้างอื่น ๆ แรงงานหญิงชาวกัมพูชาคนหนึ่งระบุว่า “ฉันไม่ชอบงานก่อสร้าง แต่ฉันไม่มีทางเลือก ฉันต้องการนั่งทำงานและใช้สมองของฉัน ฉันเสียใจที่ฉันได้รับการศึกษามาไม่เพียงพอ” ส่วนแรงงานหญิงชาวพม่าคนหนึ่งที่ทำงานในกรุงเทพฯ ระบุกับผู้วิจัยว่าไม่มีอะไรที่เธอชอบในงานก่อสร้างที่เธอทำเลย เธอเพียงมายังประเทศไทยเพื่อหารายได้ส่งกลับไปให้ครอบครัวเกษตรกรที่พม่า และเธอจะกลับไปที่พม่าไปอยู่กับครอบครัวหากที่พม่ามีงานที่ดีสำหรับเธอ
โดยแรงงานหญิง 44 คน ที่ให้สัมภาษณ์ในรายงานชิ้นนี้ ทำงานเป็นแรงงานทั่วไป 37 คน ลักษณะงานก็คือการแบกหามและเป็นลูกมือให้กับแรงงานฝีมือ มีเพียง 5 คนที่ได้ทำงานเป็นแรงงานฝีมือ (ก่ออิฐ ฉาบปูน และงานเชื่อมโลหะ) ส่วนอีก 2 คน ทำงานทำความสะอาด ทั้งนี้หากผู้หญิงได้ทำงานฝีมือบ่อยครั้งขึ้น ทักษะและค่าแรงของพวกเธอก็จะเพิ่มขึ้นด้วย แต่ทัศนะคติของผู้ประกอบการเป็นส่วนสำคัญเพราะผู้ประกอบการมักจะมองว่าผู้ชายทำงานหนักกว่าและทำงานฝีมือได้ดีกว่าผู้หญิง โดยผู้ประกอบการรายหนึ่งระบุว่างานเชื่อมต้องให้ผู้ชายทำเท่านั้น
ในด้านลักษณะการจ้างงานนั้น ส่วนใหญ่แรงงานในอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทยเป็นแรงงานจ้างเหมารายวัน ไม่มีสวัสดิการอื่น ๆ นอกจากค่าจ้างรายวัน ซึ่งส่วนใหญ่จะจ่ายค่างจ้าง 15 วันครั้ง แรงงานที่ให้สัมภาษณ์ผู้วิจัยในรายงานชิ้นนี้ได้รับค่าจ้างระหว่าง 190-400 บาทต่อวัน ส่วนใหญ่ไม่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมายคือ 300 บาท โดยมีเพียง 21 จาก 51 คน (ทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างชาติ) เท่านั้นที่ได้รับค่าแรง 300 บาทต่อวัน แรงงานต่างชาติที่ให้สัมภาษณ์ผู้วิจัยในรายงานชิ้นนี้ได้รับค่าแรงเฉลี่ย 282 บาท แต่แรงงานต่างชาติหญิงได้รับค่าแรงเฉลี่ยน้อยกว่านั้นเพียง 274 บาท นอกจากนี้แรงงานต่างชาติหญิง 42 คนจากการสัมภาษณ์มีถึง 30 คนได้รับค่าจ้างน้อยกว่า 300 บาท ทั้งนี้หากแรงงานที่ต้องการได้ค่าแรงเพิ่ม ก็ต้องยอมทำงานล่วงเวลาทุกวัน โดยเฉลี่ยแล้วทำงานรวม 13.5 ชั่วโมงในแต่ละวัน และเกือบหนึ่งในสี่ของแรงงานที่ให้สัมภาษณ์รายงานไม่มีวันหยุด แม้จะมีกฎหมายไทยจะบังคับให้นายจ้างต้องจัดวันหยุดให้แรงงานอย่างน้อยหนึ่งวันต่อสัปดาห์
ความปลอดภัยในการทำงาน และที่อยู่อาศัย
ในรายงานระบุว่าพบบริษัทก่อสร้างหลายแห่งของไทยละเลยเรื่องมาตรการความปลอดภัย พบโครงสร้างของเครนก่อสร้างและนั่งร้านต่าง ๆ ทำขึ้นแบบใช้งานชั่วคราว ไม่แข็งแรงและขาดความปลอดภัยสำหรับแรงงานหญิงที่ต้องขึ้นไปทำงานในที่สูง แม้ไม่มีรายงานแน่ชัดเกี่ยวกับอัตราการเสียชีวิตจากการทำงานก่อสร้าง แต่ในรายงานระบุว่าคาดว่าการทำงานก่อสร้างในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีความเสี่ยงมากกว่าประเทศตะวันตกราว 3-6 เท่า ส่วนใหญ่แล้วจากงานวิจัยชิ้นนี้ระบุว่านายจ้างจำนวนไม่จัดให้มีอุปกรณ์ความปลอดภัยหรือมีเครื่องมือที่เพียงพอสำหรับคนงานทุกคน
นอกจากนี้ในด้านอยู่พักอาศัยซึ่งนายจ้างจัดไว้ให้ก็ไม่มีความปลอดภัย ส่งผลให้พวกเธอต้องใช้ชีวิตอย่างหวาดกลัวว่าจะถูกเพื่อนร่วมงานชายล่วงละเมิดทางเพศ ทำให้การหาสามีไว้เป็นผู้คุ้มครองความปลอดภัยกลายเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับคนงานหญิงเหล่านี้
แรงงานหญิงคนหนึ่งจากรัฐฉานที่ทำงานใน จ.เชียงใหม่ ระบุกับผู้วิจัยว่างานก่อสร้างนั้นเป็นงานของผู้ชาย ผู้หญิงโสดไม่สามารถอยู่ในแคมป์ก่อสร้างตามลำพังได้ เพราะวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของแรงงานชายในภาคก่อสร้างนี้ก็คือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลังเลิกงาน ซึ่งมันทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง ส่วนแรงงานหญิงชาวกัมพูชาที่ทำงานในกรุงเทพฯ คนหนึ่งระบุว่าที่ผู้หญิงจำเป็นต้องถือเงินไว้นั้น เพราะหากให้สามีถือเงินพวกเขาก็จะเอาไปซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนหมด.