เครือข่ายแรงงาน ชี้ บอร์ดค่าจ้างขาดคุณธรรมปรับค่าจ้างไม่เท่ากัน

20161007_100604

กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก พื้นที่ฉะเชิงเทรา ยืนยันให้นายกรัฐมนตรีตัดสินปรับค่าจ้างต้องเป็นธรรมเท่ากันทั่วประเทศ อย่าถอยหลังหมดยุคค่าจ้างแตกต่างกัน

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2559 นายวินัย ติ่นตะโตนด  ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก พื้นที่ฉะเชิงเทรา กล่าวหลังจากที่ทราบข่าวทางปลัดกระทรวงแรงงานไม่ทบทวนมติข้อเสนอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ แม้ว่าทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)ได้ยื่นหนังสือถึงนายกเพื่อขอให้ทบทวนว่า คงต้องเสนอให้ทางคสรท. เข้าไปยื่นหนังสือถึงนายกเพื่อขอติดตามข้อเสนอ แม้ว่าทางกระทรวงแรงงานจะแถลงว่า ไม่มีการทบทวนข้อเสนอแล้วก็ตาม เนื่องจากการปรับขึ้นค่าจ้างของบอร์ดค่าจ้างคณะนี้ขาดคุณธรรม เป็นการปรับค่าจ้างแบบแนวคิดถอยหลัง หมดยุคค่าจ้างไม่เท่ากัน ทั้งที่ค่าครองชีพทุกจังหวัดเท่ากันทั้งประเทศ บางส่วนในต่างจังหวัดแพงกว่ากรุงเทพปริมณฑลด้วย เช่นราคาน้ำมัน ค่าเดินทางขนส่ง นอกนั้นสินค้าอุปโภคบริโภคหากซื้อในห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อราคาเท่ากันทั้งประเทศ แต่หากไปซื้อในชุมชนที่เป็นร้านโชว์ห่วยราคาบางอย่างก็แพงกว่าเนื่องจากต้องบวกกำไร แลค่าขนส่งด้วย คำถามคือ รัฐบาลกล้าพอที่จะทำการควบคุมราคาสินค้าหรือไม่ เพราะว่า ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคขึ้นมาเป็นระลอกส่งผลกระทบกับประชาชนตั้งแต่การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ แล้วต่อด้วยรัฐวิสาหกิจ ซึ่งในส่วนของแรงงานเอกชนยังไม่ปรับมา 4 ปีแล้วซึ่งก็ไม่ทราบว่าอยู่กันได้ด้วยการทำงานล่วงเวลา(OT) คือไม่ใช่ทำงาน 8 ชั่วโมงค่าจ้างจะเพียงพอต้องทำ OT เพิ่มหากบริษัทไหนไม่มีก็ลาออกไปหางานที่มีOT

“อยากให้นายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา)มีการใช้หลักการที่เป็นธรรมต่อทุกคนในการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะทุกวันนี้ค่าจ้างเท่ากันทั่วประเทศและหลัง 1 มกราคม 2559 ค่าจ้างขั้นต่ำจะมีความต่างกันและบางส่วนก็ไม่ปรับขึ้น และค่าครองชีพ ค่าอาหาร ราคาสินค้าต่างๆที่ปรับขึ้นจะขึ้นต่างกันตามพื้นที่ที่มีค่าจ้างต่างกันหรือไม่ เพราะเท่าที่เห็นคือปรับขึ้นรวดเดียว 5 บาทเท่ากันหมดเหมือนช่วงค่าแก๊สหุงต้ม ราคาน้ำมันขึ้น พอน้ำมันลดก็ไม่เห็นทีท่าว่า ราคาสินค้าจะลดลงมาเลย นายกต้องดูแลและควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค และต้องมีการจัดทำเรื่องโครงสร้างค่าจ้างให้กับแรงงาน เพื่อให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างประจำปีเลยตามระบบซึ่งจะลดขั้นตอนการเรียกร้องของแรงงานเรื่องสวัสดิการค่าจ้างแรงงาน โดยรัฐอาจมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้กับแรงงานแรกเข้าเท่านั้น แต่ปัจจุบันปัญหาคือนายจ้างผูกการปรับขึ้นค่าจ้างของแรงงานกับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่รัฐประกาศ หากไม่มีการประกาศปรับก็ไม่ขึ้นค่าจ้างเลยเป็นต้น ” นายวินัย กล่าว

ส่วนนายชาลี ลอยสูง รักษาการประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยกล่าวว่า ในฐานะตัวแทนเครือข่ายแรงงานที่ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีนั้น วันนี้ยังให้โอกาส และเวลานายกรัฐมนตรีในการหาข้อมูลข้อเสนอของขบวนการแรงงานเนื่องจากอำนาจตัดสินใจอยู่ที่นายกรัฐมนตรี เชื่อว่าจะให้ความยุติธรรมแก่ผู้ใช้แรงงานที่รอคอยการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมานานเกือบ 4 ปีแล้ว

“ผมคิดว่าเข้าใจและเห็นใจท่านปลัดกระทรวงแรงงานที่ทำหน้าที่นั่งหัวโต๊ะประธานคณะกรรมการค่าจ้างแล้วมีปรับติดปรับขึ้นค่าจ้างที่ขัดต่อการดำรงชีพของประชาชนผู้ใชแ้แรงงานมากแม้ว่าจะบอกว่าได้มีการดูข้อมูลครอบคลุมรอบคอบแล้วแต่มติออกมาปรับบ้างไม่ปรับขึ้นบ้างขัดกับเรื่องคุณธรรมการปกครองมากทีเดียวด้วยตระกะคุณค่าของแรงงานที่ต้องเท่าเทียมกัน ซึ่งหากวัดด้วยราคาสินค้าอุปโภคบริโภคด้วยแล้ว เอาแค่ค่าน้ำค่าไฟฟ้าดูก็ได้ สินค้าที่จำเป็นก็เห็นอยู่ว่าไม่แตกต่างกันเลย แต่เข้าใจเห็นใจว่าท่านปลัดตัดสินไม่ได้ต้องเป็นไปตามมติการประชุม ตอนนี้ผมรอคำตอบจากท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการตอบกลับมาหวังว่าจะเป็นของขวัญที่คืนความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้แรงงานอย่างเท่าเทียม” นายชาลีกล่าว

14681704_10154137985449075_7068481453122172879_n

ด้านม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง(บอร์ดค่าจ้าง) ว่า  ในที่ประชุมบอร์ดค่าจ้างได้มีการรับทราบเสียงสะท้อนจากฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง ที่กล่าวถึงอัตราการจ้างขั้นต่ำที่ได้พิจารณาไปแล้วเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2559  ซึ่งบอร์ดค่าจ้าง ยังคงยืนยันว่า  พิจารณาครั้งนั้นเป็นไปตามปัจจัยที่สอดคล้องกับกฎหมายอย่างรอบคอบ และจะไม่มีการทบทวนตามข้อเรียกร้องของเครือข่ายแรงงานที่ได้ยื่นต่อนายกรัฐมนตรีให้ทบทวนการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำ มาก่อนหน้านี้ เพราะคณะกรรมการค่าจ้างได้พิจารณา และมีความเห็นร่วมกันทั้งจากฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐที่เห็นตรงกัน ซึ่งพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว จึงจะไม่จำเป็นต้องทบทวนอีกครั้ง

ทั้งนี้มติคณะกรรมการค่าจ้างเสนอการปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นอีกระหว่าง5-10บาท ทั่วประเทศ ดังนี้ 1. ไม่ปรับค่าจ้างเลย ใน 8 จังหวัด คือ สิงค์บุรี ชุมพร นครศรีธรรมราช ตรัง ระนอง นราธิวาส ปัตตานี และยะลา 2. มติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่ม 5 บาท เป็น 305 บาทต่อวัน ประกอบด้วย 49 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน ลำปาง น่าน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี พัทลุง สตูล กำแพงเพชร พิจิตร แพร่ เพชรบูรณ์ อุทัยธานี สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคราม ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ สุรินทร์ อำนาจเจริญ ชัยนาท ลพบุรี นครนายก สระแก้ว ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม จันทรบุรี ตราด ลำพูน พะเยา สุโขทัย อุตรดิตถ์ บึงกาฬ นครพนม อุบลราชธานี อ่างทอง เลย หนองบัวลำพู มุกดาหาร ยโสธร เชียงราย พิษณุโลก อุดรธานี ชัยภูมิ ศรีสะเกษ นครสวรรค์ และหนองคาย 3. ที่ประชุมมีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่ม 8 บาท เป็น 308 บาทต่อวัน จำนวน 13 จังหวัด คือ ขอนแก่น นครราชสีมา ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง สุราษฎร์ธานี สงขลา เชียงใหม่ สระแก้ว สระบุรี ฉะเชิงเทรา กระบี่ พังงา และพระนครศรีอยุธยา และ4. มีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่ม 10 บาท เป็น 310 บาท จำนวน 7 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และภูเก็ต

โดยค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่ในวันที่ 1 มกราคม2560 เป็นต้นไป

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน