อารมณ์ พงศ์พงัน (3) ภัยสังคม คอมมิวนิสต์ กบฎ จลาจล พยามฆ่า และข้อหาอื่นๆ

ในวันที่ 15 ตุลาคม 2519 อารมณ์ ถูกจับที่บ้านพัก ข้อหาภัยสังคม และตามด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์ กบฎ จลาจล พยายามฆ่าเจ้าพนักงาน สะสมอาวุธ และซ่องโจร ทั้งที่อารมณ์ มิได้เข้าร่วมชุมนุมในเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 เลย ช่วง 2 ปีที่ในคุกนี้เองโรคร้ายเริ่มคุกคามอย่างมาก ถึงกระนั้นอารมณ์ก็ใช้เวลาเขียนหนังสือออกมามากมาย ทั้งเรื่องสั้น บทกวี ประวัติศาสตร์ขบวนการกรรมกร ฯลฯ

ทัศนะอันยาวไกล ที่จารึกเป็นตัวอักษร เป็นแนวคิดที่มีชีวิตชวาสามารถอธิบายได้เป็นอย่างดี เนื้อหาที่เขาแสดงทรรศนะไว้ ดังเช่น

ด้วยความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวในการต่อสู้ในสิ่งที่ตนเชื่อถือ จากหนังสือจดหมายจากคุก ที่ว่า

“เป็นเพียงการจากไป เพื่อปฏิบัติหน้าที่ของเสรีชน ปฏิบัติหน้าที่ของผู้นำกรรมกร เพื่อเรียกร้องเสรีภาพ เรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนทั่วๆไป เป็นการจากไปที่มีเกียรติ”

อารมณ์ได้ตั้งคำถามต่อระบบสังคมไทยที่ครอบงำโดยชนชั้นสูงว่า “นี่เราทำความผิดอะไร ความที่พยายามผลักดันให้กรรมกร มีฐานะความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจดีขึ้น เป็นความผิดอันร้ายแรงด้วยหรือ? แน่นอนถ้าประณามผมว่า ทำลายความมั่นคงของคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งผูกขาดความร่ำรวยเอาไว้เพียงกลุ่มเดียว โดยไม่ชอบด้วยหลักเกณฑ์แห่งคุณธรรมอันดีงาม ผมก็คือผู้ปรารถนาจะเป็นคนทำลายความมั่นคงทางเศรษฐกิจ โดยมิชอบของคนกลุ่มนี้ แต่ผมไม่ใช่คนทำลายความมั่นคงของชาติอย่างแน่นอน”

ด้วยความเชื่อมั่นในพลังประชาชน และความผุกร่อนของระบบเผด็จการ ด้วยการยึดกุมการวิเคราะห์สังคมได้อย่างลึกซึ้ง ทำให้เขามีความมุ่งมั่น และมีกำลังใจที่ไม่ย่อท้อ แม้บางช่วงเวลาขบวนการต่อสู้จะซวนเซ ซึ่งอารมณ์ได้บันทึกไว้ว่า ดอกไม้บานแล้ว บริสุทธิ์กล้าหาญ บานอยู่ในใจของประชาชน ผู้รักความเป็นธรรมทุกคน

ความเป็นจริงของสังคมที่ต้องพัฒนาตัวของมันเองนั้น ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะพัฒนาจากซากที่สลักหักพัง หรือสภาพของความสดใสที่คงสภาพเดิมในเปลือกนอกเอาไว้

“เผด็จการนั้นไม่ว่าจะมาในรูปแบบใด ก็จะไม่สามารถดำรงอำนาจอยู่ในสังคมนี้ได้นาน”

ด้วยความสำคัญของการสร้าง ตลาดภายใน นัยยะข้อเสนอของเขาก็คือ การชี้นำให้นายจ้างพิจารณาว่า “ค่าจ้าง” ของคนงานนั้นมีบทบาทสำคัญในฐานะ “ตลาดสินค้า” ด้วยหาใช่แค่ “ต้นทุนการผลิตสินค้า” เพียงประการเดียว อารมณ์ได้เสนอแนวคิดอย่างน่าสนใจ โดยได้วิพากษ์การทำลายตลาดภายในของพวกนายจ้าง “ผมเห็นด้วยกับการแสวงหาผลกำไรการลงทุน แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการแสวงหาผลกำไรอย่างโง่เขลา และละโมบโลภมาก ”

นายจ้างนายทุนจำนวนไม่น้อยภายในประเทศไม่เข้าใจถึงหลักเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น สิ่งที่นายจ้างทำอยู่ในปัจจุบันนี้คือ การทำลายตลาดภายในประเทศ เพราะผู้บริโภคสินค้ารายใหญ่ที่สุดภายในประเทศ คือผู้ใช้แรงงาน เงินที่ผู้ใช้แรงงานได้รับมาจากการขายแรงงาน ซื้อสินค้าที่พวกเขาใช้หยาดเหงื่อแรงงานผลิตขึ้นมา หากนายจ้างไม่ปรับอัตราค่าจ้างแรงงานของกรรมกรให้สมดุลกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ผู้ใช้แรงงานทั้งหมดจะเอาเงินที่ไหนไปบริโภคสินค้าของนายจ้าง “แน่นอนพวกเขาต้องหาทางออก ทางออกของพวกเขา ผู้ใช้แรงงานก็คือ พยายามเปลี่ยนแปลงโครงสร้างแห่งอำนาจทางการเมืองในประเทศนี้เสียใหม่”

ด้วยการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงาน ต้องเชื่อมโยงกับการสร้างสรรค์ระบบประชาธิปไตย ในทรรศนะของอารมณ์ ชี้ชัดว่าการต่อสู้เพียงเรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่พอ จะต้องให้ “ความสนใจทิศทางการเมือง” เพื่อให้ขบวนการนี้สามารถควบคุมพฤติกรรม และบทบาทของรัฐบาลต่อขบวนการแรงงาน “กรรมกรก็คือประชาชนผู้ทุกข์ยาก และต่ำต้อยของสังคม เช่นเดียวกับชาวนา ” ในเมื่อกรรมกรสามารถรวมพลังอำนาจต่อรองได้ระดับหนึ่ง เราก็ควรสนใจทิศทางการเมืองให้มาควบคุมรัฐบาล ถ้าฝ่ายรัฐบาลเป็นฝ่ายตรงข้ามกับกรรมกรเสียแล้ว มันก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่กรรมกรจะใช้ระบบสหภาพแรงงานไปต่อสู้ เราจะสนใจแต่เฉพาะเรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่ได้

อารมณ์ ได้เน้นเสมอว่าบทบาทขบวนการแรงงาน ในการร่วมสร้างสรรค์ระบบประชาธิปไตย ดังตอนหนึ่งในหนังสือว่า “ภายใต้กระแสทางการเมืองที่ล่อแหลมต่อระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย ถ้ากลุ่มสหภาพแรงงานแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นกลุ่มกรรมกรที่มีการจัดตั้งไม่มีส่วนร่วม เพื่อใช้อิทธิพลจากอำนาจการต่อรองทางเศรษฐกิจเข้าสนับสนุน ระบบการปกครองแบบนี้แล้ว กลุ่มที่ต้องการฟื้นฟูระบอบการปกครองแบบเผด็จการ ก็ย่อมจะฉวยโอกาสในการทำลายระบอบประชาธิปไตยได้ง่ายขึ้น” ความเห็นเช่นนี้ถือว่า ไม่มีความล้าสมัยแม้แต่นิดเดียวในสังคมปัจจุบัน ความเชื่อมั่นในการเปลี่ยนแปลงสังคมโดยสันติวิธี ในบรรยากาศภายในประเทศที่ใช้ความรุนแรงกันอย่างอำมหิต และในระดับสากลที่เต็มไปด้วยการแข่งขันทางอุดมการณ์ระหว่างสองลัทธิ อารมณ์ได้เขียนข้อความในบทนำของหนังสือกรรมกรว่า ผมไม่เคยนิยมการใช้วิธีรุนแรง สำหรับปัญหาทางด้านการเมืองที่เราคนในสังคมนี้ สามารถแก้ไขร่วมกันได้ โดยการใช้สมองเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ผมไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขปัญหา ด้วยการฆ่า และทำลายสำหรับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในระหว่างบุคคล โดยเฉพาะความขัดแย้งทางด้านความคิดด้วยแล้ว ผมอยากร้องตะโกนให้ก้องไปทั้งประเทศนี้ว่า ทำไมเราไม่พัฒนาความขัดแย้งนั้นให้เปลี่ยนรูปแบบจากในแง่การทำลายมาเป็นรูปแบบแห่งการสร้างสรรค์ เราต้องเข่นฆ่ากันด้วยหรือ?

ข้อเสนออารมณ์ ต่อกลไกรัฐให้ใช้แนวทางสันติวิธีในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางสังคม ซึ่งเขียนไว้ในหนังสือกรรมกร และยังใช้ได้ดีกับยุคปัจจุบันที่อดีตสหภาพโซเวียตล่มสลายแล้ว “เลิกทำร้ายกรรมกร เลิกเข่นฆ่าผู้นำกรรมกร เลิกกล่าวหาว่ากรรมกรเป็นคอมมิวนิสต์เสียทีเถิด เดี๋ยวนี้เขาไม่ใช่กรรมกรปฏิวัติเปลี่ยนระบบสังคมกันแล้ว ประวัติศาสตร์รัสเซียล้าหลังเสียแล้ว และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์รัสเซียนั้นไม่สามารถเป็นจริงได้อีกในสังคมอื่นๆ ของประเทศอื่นๆ เลิกเชื่อกันอย่างงมง่ายเสียที”

ด้วยความเป็นอิสระเสรีของขบวนการแรงงาน ซึงอารมณ์ ถือว่า เป็นนักสหภาพแรงงานที่ยึดมั่นในหลักการ ความเป็นอิสระเสรีเพื่อรับใช้ชนชั้นผู้ใช้แรงงาน และสร้างสรรค์สังคม โดยเขาได้ประกาศย้ำในหนังสือจากคุกถึงคุกว่า “ผมไม่เคยรับนโยบายทางด้านแรงงานมาจากผู้หนึ่งผู้ใด ผมไม่เคยรู้จักกับนักการเมือง นักการทหาร ข้าราชการระดับสูง หรือแม้แต่กลุ่มผู้นำของฝ่ายคอมมิวนิสต์มาก่อน ผมทำงานด้านแรงงานตามความคิดเห็นของผมเอง และผมคิดว่า สิ่งที่ผมกระทำไปในขณะที่เป็นผู้นำกรรมกรในสภาแรงงานแห่งประเทศไทยเป็นสิ่งที่ถูกต้อง” และเขาได้ประณามผู้นำแรงงานจอมปลอมที่ก้าวขึ้นกุมอำนาจในองค์กรแรงงาน เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ รับใช้กลุ่มการเมือง กลุ่มอำนาจนิยม ดังที่เขาได้บันทึกไว้ใน ชีวิต และความคิดของอารมณ์ พงศ์พงัน ว่า สมาชิกหลายคนของสหภาพแรงงานหลายต่อหลายสหภาพ ยังคงมีความคิดที่ใช้สหภาพแรงงานให้เป็นองค์กรผลประโยชน์ส่วนตัว มิหนำซ้ำกรรมการบริหารสหภาพแรงงานหลายต่อหลายสหภาพแรงงานก็ยังลักษณะอาศัยตำแหน่งหน้าที่ของตนในสหภาพเป็นบันไดไต่เต้าขึ้นไปสู่ตำแหน่งหน้าที่การงานประจำ หรือไม่เช่นนั้นก็อาศัยเป็นบันไดไต่เต้าขึ้นสู่ความรุ่งโรจน์ทางการเมืองตามแนวทางฟัสซิสต์ หรืออีกตอนหนึ่งในหนังสือกรรมกร ที่เขียนไว้ว่า “ผู้นำกรรมกรในยุคหลังนี้จำนวนมาก ยังคงใช้รูปแบบเก่าที่ผู้นำกรรมกรในสองสมาคมนี้ บางคนกระทำมาเป็นรูปแบบในการแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตัวเอง บนหยาดเหงื่อแรงงาน และน้ำตาของกรรมกรไทยผู้น่าสงสารอยู่อีก”

ด้วยความเป็นเอกภาพของขบวนการแรงงาน อารมณ์ มีความเห็นว่า ไม่ควรแยกองค์กรนำของผู้ใช้แรงงานระดับสูงเป็นหลายองค์กร เพื่อจะได้มีความเป็นเอกภาพ และเป็นปึกแผ่น ประกอบกันขึ้นเป็นพลังต่อรองที่เข้มแข็ง ในการยกระดับความเป็นอยู่ของคนงาน และสร้างสรรค์สังคมที่ดีงาม ซึ่งมีข้อความจากงานเขียนจากคุกถึงคุกดังนี้ “ผมไม่เคยเห็นด้วย กับแนวคิดที่จะแยกองค์กรการนำ ของกรรมกรภายในประเทศไทยออกเป็นหลายองค์กร ในขณะที่สภาพของกรรมกรยังไม่ได้รับการปรับปรุงทางด้านความเป็นอยู่ให้ดีกว่าปัจจุบัน ผมไม่อยากให้มีกรรมกรฝ่ายซ้าย หรือกรรมกรฝ่ายขวา ในขณะที่สวัสดิการต่างๆ ของกรรมกรตามที่ระบุอยู่ภายในกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานทั้งหลาย ยังไม่ได้รับการยอมรับ หรือได้รับการค้ำประกันจากนายจ้างภายในประเทศอย่างจริงจัง

กรรมกรภายประเทศไทยควรจะสู้เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ เหล่านี้ก่อนสู้ เพื่อเศรษฐกิจของตัวกรรมกรก่อน ก่อนที่จะแยกออกเป็นกรรมกรฝ่ายซ้าย หรือฝ่ายขวา เพราะถ้าขืนทำเช่นนั้นในช่วงเวลานี้แล้ว แน่นอนที่สุดพลังการต่อรองของฝ่ายกรรมกรจะต้องลดน้อยลงไปอย่างมหาศาลกรรมกรจะต้องมาสู้กันเอง แทนที่จะต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของส่วนรวม ซึ่งแทบจะอยู่รอดไม่ได้ทางด้านเศรษฐกิจ” และจากหนังสือกรรมกร “ภาระความรับผิดชอบของกลุ่มสหภาพแรงงานแห่งประเทศไทย ซึ่งต้องการจะเคลื่อนไหวทางด้านแรงงานอย่างสงบ และเป็นไปตามระบบสหภาพแรงงานอย่างจริงจัง จึงกลายเป็นภาระความรับผิดชอบที่หนักมาก หนทางในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้จึงมีอยู่เพียงหนทางเดียวเท่านั้น คือ จัดรูปการบริหารองค์กรจัดตั้งระดับสูงของฝ่ายกรรมกรขึ้นมาใหม่ ให้มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานสูงขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา เพราะถ้าหากว่าองค์กรจัดตั้งระดับสูงสุดของกรรมกร มีอิทธิพลผลักดันความเคลื่อนไหวทางด้านแรงงานของชาติได้จริงจังแล้ว ก็ย่อมก่อให้เกิดผลสะเทือนไปถึงรัฐบาลและนายทุนด้วย กระแสความคิดที่ทำลายความเจริญเติบโตที่มีอยู่ในวงการรัฐบาล และในหมู่นายจ้างนายทุน ก็ย่อมจะยากต่อการประสบความสำเร็จได้”

จากทรรศนะทั่วๆไปหลายแห่งที่อารมณ์ได้เขียนไว้ ซึ่งสรุปได้ว่า เขายอมไม่ได้เด็ดขาดที่จะให้องค์กรสูงสุดแห่งนี้ มีการรวมอำนาจในมือผู้นำเพียงไม่กี่คน เพราะเขาย้ำเสมอว่าในการใช้อำนาจใดๆ นั้นต้องทำเพื่อรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมของสังคมเป็นเรื่องหลัก และองค์กรของส่วนรวมนั้น

“ต้องเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงไม่ใช่ประชาธิปไตยจอมปลอม”

16 กันยายน 2521 การประกาศนิรโทษกรรมผู้บริสุทธิ์ที่ถูกกล่าวหาในข้อหาภัยสังคม และตามด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์ กบฎ จลาจล และซ่องโจร ฯลฯ ได้รับอิสระภาพคืนสู่อารมณ์อีกครั้ง ด้วยความยินดี และความสุขของครอบครัว และผู้ใช้แรงงาน ทันที่ที่ออกมาก็เข้าแบกรับงานที่สหภาพแรงงาน และสภาองค์การลูกจ้างทันที ขณะเดียวกันก็ใช้เวลาเขียนหนังสือเท่าที่สามารถทำได้
ช่วงปี 2522 ได้ร่วมทำวารสารข่าวคนงาน ของสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย และได้รับการไว้วางใจให้เป็นประธานสหภาพแรงงานการประปานครหลวง อีกครั้งหนึ่ง
ได้รับรางวัลเรื่องสั้นดีเด่น เรื่อง เพลงลาบทสุดท้าย จากสมาคมภาษา และหนังสือ และได้รับการคัดเลือกเป็นบุคคลที่ทำตนเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ร่วมกับคุณสุภาพ พัสอ๋อง
บทกวีต่างของอารมณ์ ได้ถ่ายทอดความรู้สึกความรักที่มีต่อครอบครัว เพื่อนผู้ใช้แรงงาน บ้านเมืองที่เป็นที่รัก เพื่อเป็นกำลังใจในการต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ ดังเช่น

บทกลอนสังคมใหม่

ขอฝาก ของขวัญ อันพิสุทธิ์
ประกายดุจ แสงดาว สกาวฟ้า
งามล้ำเลิศ ประเสริฐสวย ด้วยราคา

กำนัลแก่ คนงานกล้า เปี่ยมอารมณ์

จงอย่าย่อ ท้อถอย คอยปกป้อง
จงอย่าเลี่ยง ยืนเคียงผอง ผู้ขื่นขม
จงอย่ายอม ค้อมเกล้า เฝ้าชื่นชม
กลิ่นอาจม จากนายทุน และขุนนาง

เหงื่อที่หยด รดพื้น พสุธา
คือจอบพร้า ฝ่าขวาก เข้าถากถาง
คือน้ำหล่อ ก่อกำเนิด เกิดแนวทาง
เพื่อสรรสร้าง สังคมใหม่ วิไลตา

โลกนี้เป็นของเรา เหล่าชั้น กรรมาชีพ
จุดประทีป ส่องสว่าง ไปข้างหน้า
เพื่อมวลชน คนทุกข์ ทรมา
ได้เห็นแสง แห่งสัจจา จากความจริง

คือ….พ่อ

หนูคิดถึงพ่อไหม
ถ้าอยากกอดพ่อ
อยากได้ความรักจากพ่อ
หนูต้องอดทน
เพราะนั้นคือสัญลักษณ์
แห่งความรัก
ที่พ่อภาคภูมิใจ
เมื่อหนูมีสิ่งเหล่านี้
อ้อมกอดของพ่อ
ก็จะเป็นจริง
ประโยชน์อะไรจะเกิดขึ้น
ถ้าปล่อยให้หนู ฝันอย่างไร้สาระ
คุกนี้ยากจะกักขังพ่อไว้ได้ทั้งชีวิต
ส่วนร่างกาย อาจถูกจองจำ
แต่วิญญาณของพ่อเป็นอิสระ
ไออุ่นแห่งอ้อมกอดของพ่อ
ลอยละล่องไปทั่วทั้งผืนแผ่นดิน
ถ้าหากหนูอดทน ก็จะรู้ถึงสัมผัสนั้น
อ้อมกอดของพ่อที่อ่อนแอ
จะมีคุณค่าอะไรสำหรับลูกเล่า
ความผูกพันทางด้านความรัก
ก็จะกลายเป็นสิ่งหลอกลวง
พ่อผู้กล้าหาญต่างหาก
คือพ่อที่แท้จริง
พ่อที่สร้างสรรค์สังคมต่างหาก
คือพ่อที่เป็นพ่อ

ถ้าหนูคิดถึงพ่อ
จงคิดถึง คนยากคนจน
เขาเหล่านั้น เป็นชีวิตของพ่อ
ถ้าอยากกอดพ่อ
จงกางแขนของหนูออก
โอบอุ้มคนยากคนจนเอาไว้
ประชาชนผู้ทุกข์ทรมานเหล่านั้น

อารมณ์เป็นกรรมกรที่มีความเชื่อในระบบสหภาพแรงงานเสรี ความคิดที่จะช่วยเหลือเพื่อนที่ลำบากกว่า ที่ถูกกดขี่ข่มเหง ไม่ได้รับความเป็นธรรม ฝังอยู่ในสายเลือดของเขาตลอดเวลา เขาจึงพร้อมเสมอที่จะรับใช้ทุกๆ คนทุกๆ แห่งที่คิดว่าเขาจะมีประโยชน์ ความขมขื่นที่ตัวเขาเองได้รับจากอำนาจแห่งความไม่เป็นธรรมร่วม 2 ปี กับความมุมานะหมั่นเพียรที่จะช่วยเหลือเพื่อนกรรมกรด้วยกัน จึงมีอาการของโรคร้ายแทรกซ้อนโดยที่ไม่รู้ตัว

หลังจากที่ได้รับนิรโทษกรรมได้เพียง 10 เดือน โรคร้ายก็กำเริบ อารมณ์ ต้องเข้าออกโรงพยาบาลชลประทานถึง 4 ครั้ง โดยได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างดีจากแพทย์ พยาบาล จนวินาทีสุดท้ายเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งที่ตับเพียงวัย 34 ปี ท่ามกลางอาลัยของครอบครัว และเพื่อนญาติมิตร ผู้ใช้แรงงานที่ไปให้กำลังใจ ในเวลา 08.05 น.วันเสาร์ที่ 21 มิถุนายน 2523

การจากไปครั้งนี้ของอารมณ์ เป็นการจากไปตลอดชีวิตจนไม่สามารถจะบรรยายความสูญเสียสิ่งที่มีค่าที่สุดของครอบครัว ญาติมิตร เพื่อนผู้ใช้แรงงาน ความดีของ อารมณ์ จะถูกจารึก ไว้นานเท่านานในใจของครอบครัวและทุกๆ คนรวมทั้งกรรมกรผู้ยากไร้

กรรมกร

นานมาแล้วโคตรกูต่างทำนา
จนถึงปี 2518 รุ่นกูผู้เป็นลูกของพ่อ
น้ำท่วมนาล่ม แดดจ้าฝนไม่ตก
ครอบครัวกูแทบอดตาย
นายใสคนข้างบ้านไปอยู่ที่บางกอก
นายใสกลับมาเยี่ยมบ้าน
ชวนกูไปอยู่กรุงเทพฯ
ทำงานขุดดินซ่อมท่อประปา
กูลาบ้าน ลาเมีย และลาลูก
ขายนาสองไร่เป็นค่ารถ และค่ากินเข้าเมืองหลวง
ไอ้สำลี ลูกคนโตมันอยากตามมาด้วย
แต่อีคำซ่อนเมียกูบอกให้กูมาก่อน

…..มาอดเพียงคนเดียวเถอะ…..
…..ลูกค่อยให้มันไปทีหลัง……

กรุงเทพฯ เหมือนเมืองฟ้า
กูทำงานหลังขดหลังแข็งถึงได้รู้ว่า
มันเป็นเมืองนรก มันเป็นเมืองนรก
ทำงานวันนี้เพื่อให้มีข้าวกินพรุ่งนี้
กินพรุ่งนี้เพื่อให้มีแรงทำงานมะรืนนี้
เหมือนบ้านกูไม่มีผิด

….แต่ก็แตกต่างกัน กรุงเทพฯ ไม่มีเสรีภาพเลย
อยู่มานานเข้า เขาบรรจุกูเป็นพนักงาน
เงินเดือน 600 บาทถ้วน
พอเก็บหอมรอมริบส่งไปให้เมียได้เดือนละ 100 บาท
ไม่กี่วันกูก็ได้รับจดหมายจากอีคำซ่อน

….พี่มาอยู่กรุงคงสบาย ฉันจะตามลงมา….
กูก็ได้แต่เอาตีนก่ายหน้าผาก
ปัจจุบัน บ้านกูแห่งใหม่อยู่กรุงเทพฯ
อีคำซ่อนตามลงมาจากมหาสารคาม
พร้อมลูกอีกห้าคน
กินข้าวสารเดือนหนึ่งกระสอบ
กูก็ได้แต่ร้องไห้อยู่ในอก
เห็นคนอื่นแล้วกูปลงตก
นี้ไอ้สำลีก็ติดคุกเพราะวิ่งราวเขา
กูได้แต่คิด เมื่อไรหนา สังคมนี้จะอภิวัตน์เสียที

* เรียบเรียงโดย วาสนา ลำดี จากหนังสืออารมณ์ พงศ์พงัน ปัญญาชนของขบวนการกรรมกรไทย จัดพิมพ์โดยมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน