สู่เศรษฐกิจสีเขียว การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมต่อแรงงาน

20161021_104800

ข้อตกลงปารีสว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ “สู่เศรษฐกิจสีเขียว” การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม –การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และผลกระทบต่อการจ้างงานในประเทศเยอรมนี :มุมมองของพนักงาน และสหภาพแรงงาน” ถึง การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมต่อแรงงาน” ในบริบทของสังคมไทย

วันที่ 21 ตุลาคม 2559 มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) ได้จัดสัมมนาวิชาการ เรื่อง สู่เศรษฐกิจสีเขียว – การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมต่อแรงงาน (Creen Economy : A Just Transition) ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ โดย Ms. Stine Klapper ผู้อำนวยการมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ได้เชิญผู้เข้าร่วมสัมมนายืนเพื่อถวายความอาลัยในการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 เป็นเวลา 9 นาที

img_1642

Ms.Stine กล่าวถึงการจัดสัมมนาวิชาการครั้งนี้ว่า มูลนิธิฯ เห็นว่า กรอบแนวคิดและประสบการณ์ของขบวนการแรงงานเยอรมัน เรื่อง “การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมต่อแรงงาน” ทั้งความสำเร็จและไม่สำเร็จ น่าจะเป็นบทเรียนที่เป็นประโยชน์สำหรับสังคมไทย จึงได้เชิญผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้มาเสวนาแลกเปลี่ยนกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษ การลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพเป็นประเด็นความท้าทายร่วมสมัยที่สำคัญของทุกประเทศทั่วโลก นานาประเทศต่างเห็นพ้องกันว่า จะต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาวิกฤตโลกร้อนดังกล่าว โดยได้กำหนดไว้ใน “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ปี 2558 และ “ข้อตกลงปารีสว่า ด้วยสภาพภูมิอากาศ” ในส่วนของประเทศไทยได้ให้การสนับสนุนข้อตกลงทั้งสอง และให้ความสำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเน้นกลยุทธ์การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Growth) หรือเศรษฐกิจสีเขียว(Green Economy)นับตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 (2540-44) จนถึงปัจจุบัน

img_1659

Mr. Daniel Schneider ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ สมาพันธ์แรงงานเยอรมัน (DGB) ได้นำเสนอเรื่อง “การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม –การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และผลกระทบต่อการจ้างงานในประเทศเยอรมนี :มุมมองของพนักงาน และสหภาพแรงงาน” ว่า  สหภาพแรงานในเยอรมนีเมื่อสิ้นปี 2011 มีสมาชิกรวมกันทั้งหมด 7.4  ล้านคน โดยผู้ใช้แรงงาน 6 ล้านกว่าคนเป็นสมาชิกสมาพันธ์แรงงานเยอรมนี ที่เรียกว่า DGB ซึ่งมีทั้งหมด 8 สหภาพแรงงานโดยมีหน้าที่เป็นตัวแทนผลประโยชน์ทั่วไปของสหภาพแรงงานในเรื่องการตัดสินใจทางการเมือง และการรวมกลุ่มทั้งในระดับรัฐบาลท้องถิ่น และรัฐบาลกลาง ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยในกรณีที่มีข้อพิพาทระหว่างสมาชิกสหภาพแรงงาน ส่วนเงินทุนสนับสนุนจากสมาชิกสหภาพแรงงาน และแรงงานบางส่วนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกในฐานะส่วนบุคคลเป็นต้น

ในส่วนของประวัติศาสตร์การเปลี่ยนผ่านพลังงานในประเทศเยอรมนีนั้น การใช้พลังงาน เริ่มขึ้นในพ.ศ. 2533 เมื่อมีพระราชบัญญัติเรื่องมาตรการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนผ่านทางรัฐสภา เป็นการตัดสินใจออกจากการใช้พลังงานนิวเคลียร์ซึ่งในระยะแรก ซึ่งโดยการกระตุ้นจากพระราชบัญญัติพลังงานทดแทน ซึ่งการตัดสินใจออกจากระบบเดิมนั้นไม่ได้ง่าย และมีปัญหาอยู่บ้างเพราะมีการขยายเวลาในการตัดสินใจออกจากระบบ แต่มาตัดสินใจออกจริงๆหลังการเกิดภัยพิบัติของนิวเคลียร์ที่ฟูกูชิม่า โดยออกชุดกฎหมายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน เป้าหมายเพื่อกำจัดคาร์บอนในอุปทานพลังงานการออกจากระบบนิวเคลียร์ และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในขณะที่ต้องรักษาระดับความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ โดยมีการเพิ่มแหล่งของพลังงานหมุนเวียน ซึ่งมีผลกระทบกับการจ้างแรงงานบางส่วนที่ต้องตกงาน แต่ก็เกิดตลาดแรงงานใหม่ในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน แต่ว่าปัญหาคือ พลังงานหมุนเวียนก็มีราคาที่สูงอยู่ บริษัทขนาดใหญ่ มีการพูดถึงความคุ้มทุน ซึ่งส่งผลต่อผลกำไรที่ลดลง มีการขยายโครงข่ายไฟฟ้า มีบ้างคนที่ไม่อยากใช้พลังงานทางเลือก เพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปรับเปลี่ยน ซึ่งรัฐบาลต้องมีการสนับสนุน และปล่อยช่วงเวลาให้มีการปรับตัวเป็นช่วงระยะเวลาของการเปลี่ยนผ่าน

img_1654

ด้านสหภาพแรงงานก็ต้องมีการปรับตัวกับการเปลี่ยนผ่านซึ่งต้องมีความยุติธรรม และแรงงานได้รับโอกาสในการจ้างงานมากขึ้น ต้องเป็นงานที่มีคุณค่าได้รับการคุ้มครองแรงงาน ในการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้น ซึ่งมีการประเมินว่า จะส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานและการจ้างงาน ทั้งด้านบวกและด้านลบ กล่าวคือ การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่ใช้คาร์บอนต่ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ต้องมีการคุ้มครองดูแลแรงงานให้ยุติธรรม และมีมิติทางสังคมด้วย ปัจจุบันยังมีอุตสาหกรรมจำนวนมากที่ใช้เทคโนโลยีคาร์บอนเข้มข้น และเป็นแหล่งจ้างงานของแรงงานจำนวนมากถึงร้อยละ 38 ของแรงงานทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ และมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ เช่น ว่างงานหรือมีรายได้น้อยลง ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีด้านพลังงานสีเขียว ในสถานการณ์ดังกล่าวนี้ จึงได้ร่วมกันพัฒนากรอบแนวคิด “การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมต่อแรงงาน” และประสบความสำเร็จในการรณรงค์ให้ “ข้อตกลงปารีสว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ” ยอมรับว่าจะต้องคำนึงถึงการสร้าง “งานที่มีคุณค่า” และงานที่มีคุณภาพ

การเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นฟรีต้องมีคนเสียสละ แต่ในระยะยาวมันมีราคาถูกกว่าปัจจุบัน คือต้องมีการลงทุนราว 2- 4 หมื่นล้านยูโรต่อปี หรืออีก 3-4 ทศวรรษข้างหน้า หากยังใช้ฟอสซิลในเยอรมนีเพียงประเทศเดียวในปี 2555ใช้เงิน 9.35 หมื่นล้านยูโรประกอบด้วยน้ำมัน ก๊าซ ถ่านหิน การเปลี่ยนผ่านในภาคพลังงานไม่ได้เกิดขึ้นโดยไม่มีค่าใช้จ่าย การลงทุนในภาคพลังงานทดแทน ที่สำคัญสำหรับการจัดหาพลังงานมีต้นทุนและมีความมั่นคงในอนาคต ซึ่งไฟฟ้าปัจจุบันต่อหน่วยระหว่างไฟฟ้าพลังงานลมใหม่ หรือไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กับถ่านหิน ก๊าซธรรมชาตินั้นเกือบเท่ากัน ในการจัดอันดับความเป็นเศรษฐกิจสีเขียวระดับโลก (Global Green Economy Index) มีเส้นทางการพัฒนาที่ยาวนานและผ่านการถกเถียงที่เข้มข้นก่อนจะมาถึงจุดปัจจุบัน ในกระบวนการนี้ ขบวนการแรงงานเยอรมันเป็นตัวแสดงที่สำคัญและทำงานเคียงคู่กับภาคส่วนอื่นๆมาโดยตลอด สมาพันธ์แรงงานเยอรมัน ซึ่งเป็นองค์กรแรงงานระดับชาติขนาดใหญ่ที่สุด มีหน่วยงานวิชาการเฉพาะด้านเพื่อทำหน้าที่รณรงค์ผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจที่เน้นการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ คำนึงถึงสภาพการจ้างงานที่ดี เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสิทธิของผู้บริโภค และการสร้างงานที่มีคุณค่าและเหมาะสมต่อการดำรงชีวิต ต้องนำหลักการงานที่มีคุณค่าและเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตมาใช้ในการสร้างงานใหม่ โดยสามารถหาตัวอย่างที่ดีได้จากอุตสาหกรรมดั่งเดิม งานที่มีคุณค่าต่อการดำรงชีวิต ต้องเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นในการได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐเพื่อสร้างความคืบหน้าในการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน รัฐต้องไม่หนุนช่วยสภาพการทำงานที่เลวร้ายในอุตสาหกรรมใหม่ บางอุตสาหกรรมในเยอรมนีถูกครอบงำด้วยสภาพการทำงานที่เลวร้าย และค่าจ้างเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้  ซึ่งรัฐใช้การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจกำหนดข้อตกลงร่วม และสภาพการทำงานที่ดี คือคำตอบต่อการได้มาซึ่งแรงจูงใจและความพึงพอใจของแรงงาน รวมทั้งการแข่งขันในอุตสาหกรรมใหม่ แรงงานในภาคอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนที่มีระยะเวลาในการทำงานเฉลี่ยมากกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แม้ว่าจะผูกพันกับการทำงานในสถานประกอบการ แต่มีเพียงร้อยละ 20 ของแรงงานเท่านั้นที่จินตนาการได้ว่าจะทำงานจนถึงเกษียณอายุ

img_1760

มีการปฏิบัติตามมาตรฐานระดับสูงของความปลอดภัยในการทำงาน การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม คือเพิ่มความเป็นไปได้ของการมีส่วนร่วมของประชาชน และภาคประชาสังคมด้วยเพื่อความเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานสำหรับสังคมเพื่อการบรรลุผล การมีส่วนร่วมสร้างความโปร่งใส และความชอบธรรม สร้างการมีส่วนร่วม จากกกระบวนการทางสังคมอย่างกว้างขวาง ไม่ใช่จบเพียงกระบวนการเปิดสภาที่เป็นทางการที่กำหนดโดยรัฐบาล ส่วนร่วมทางการเงินเป็นวิธีที่น่าสนใจในการเพิ่มการยอมรับ และแสดงถึงวิธีการหาเงินทุนหมุนเวียน การเพิ่มจำนวนสหกรณ์พลังงาน ริเริ่มในลักษณะเดียวกับบริษัท แสดงให้เห็นความร่วมมือของชุมชนท้องถิ่น สร้างความเป็นเจ้าของร่วม เป็นต้น ด้านสหภาพแรงงานก็มีส่วนร่วมตั้งแต่ดูแลเรื่องการเปลี่ยนแกลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นปัญหาระดับโลก ปัญหาเกี่ยวกับการสร้างความเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมไปสู่ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำซึ่งเกิดขึ้นเหมือนกันทั่วโลก สหภาพแรงงานทั่วโลกต้องการความเปลี่ยนแปลงนี้ แต่ต้องการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการกำหนดการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วย สมาพันธ์แรงงานนานาชาติ (ITUC) มีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งในการประชุม สหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (COP) ที่กรุงปารีส และได้มีการรณรงค์ร่วม เนื่องจาก “ไม่มีการจ้างงานบนดาวเคราะห์ที่ตายแล้ว” และการแลกเปลี่ยนกับสหภาพแรงงานอื่นๆเป็นสิ่งที่สำคัญเพื่อแบ่งปันประสบการณ์และตัวอย่างที่ดี ด้านการพัฒนา และเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานสีเขียว ซึ่งสหภาพแรงงานในประเทศเยอรมนี เรียกร้องให้รัฐบาลเยอรมัน และชุมชนโลกให้ดำเนินงานปารีสเพื่อให้ได้ซึ่งสนธิสัญญาที่มีเป้าหมายที่มุ่งมั่น และได้รับการยอมรับทั่วโลก สร้างความมั่นใจว่า จะมีการสนับสนุนทางการเงินที่เหมาะสมในการดำเนินการด้านเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงต้องสร้างความมั่นใจว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำเป็นสิ่งที่สามารถวางแผนได้ทั้งในระยะกลางและระยะยาว ซึ่งมีการระบุเรื่องการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมเพื่อผู้ใช้แรงงานไว้ในสนธิสัญญาในกระบวนการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และสร้างความมั่นใจว่าการทำงานที่มีคุณค่าและเหมาะสมต่อการดำเนินชีวิตเป็นหลักการสำหรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วย

img_1672

ต่อมาได้มีการเสวนา  “การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมต่อแรงงาน” ในบริบทของสังคมไทย ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นางเพชรรัตน์ สินอวย ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน, นายวิสุทธิ์ เรืองฤทธิ์ รองประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย,นางพูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธ์ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ,ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดำเนินรายการโดย รศ. ดร. นภาพร อติวานิชยพงศ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

img_1772

นางพูลทรัพย์ กล่าวว่า ปัญหาการเปลี่ยนผ่านของแรงงานนอกระบบคงเป็นประเด็นเรื่องงานที่มีคุณค่าการจ้างงานที่คงมีการกระทบบ้างในส่วนของผู้ประกอบการขนาดเล็กในประเภทกิจการฟอกย้อม และกิจการผลิตเกมไม้  และเครื่องทองลงหิน หรืออาชีพที่ผลิตตามบ้านที่อาจต้องดูแล ซึ่งอาจเป็นเรื่องของภูมิปัญญาชาวบ้านด้วยหากจะนำเรื่องเศรษฐกิจสีเขียวกำหนดเป็นมาตรฐานเพื่อให้เกิดมาตรฐานด้านอุตสาหกรรม ที่ดูแลสิ่งแวดล้อม หลายอาชีพอาจสูญเสียหากไม่ได้รับการส่งเสริมดูแล ในส่วนของโอกาสคิดว่า การจ้างแรงงานนอกระบบอาจมีสูงขึ้น เนื่องจากระบบอุตสาหกรรมที่ยังคงต้องการที่จะลดต้นทุนด้านความปลอดภัยและหันมาจ้างผู้รับงานไปทำที่บ้าน ซึ่งก็มีหลายที่ที่หันมาจ้างแล้ว เช่นการทำแหอวน แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ไม่ทราบถึงพิษภัยของสารตะกั่วที่ถูกส่งมายังตามบ้านลูกตะกั่วที่ต้องติดไม่มีการดูแลด้านสุขภาพความปลอดภัย ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพแรงงานนอกระบบ เช่น แรงงานนอกระบบมองเรื่องปากท้อง และไม่ได้รับรู้เรื่องความปลอดภัยในการทำงาน หรือพิษภัยจากอุตสาหกรรมที่มาจากการรับงานไปทำที่บ้าน ซึ่งในอนาคตหลังจากที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวคงมีการนำงานที่มีความเสี่ยงภัยออกมาให้แรงงานนอกระบบทำจำนวนมาก อาจเป็นทั้งโอกาสและอันตรายที่แฝงมาอย่างแน่นอน เพราะหากผลิตในโรงงานบริษัทต้องดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม สภาพแวดล้อมในการทำงาน เป็นการลงทุนที่มีต้นสูงจึงหันมาสร้างงานข้างนอกซึ่งรัฐก็สนับสนุนแต่ไม่ได้มีการตรวจสอบดูแลเรื่องมาตรฐานที่คิดว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพแน่นอน หากจะเข้าระบบเศรษฐกิจสีเขียวสิ่งที่คิดว่า รัฐต้องดูแลในส่วนของแรงงานนอกระบบคือ มาตรฐานงานที่มีคุณค่าต้องมีเทียบเท่ากับระบบโรงงาน ในส่วนของผู้รับงานไปทำที่บ้าน ซึ่งรัฐต้องสนับสนุนให้นายจ้างจัดหา หรือจัดการ ประเด็นต่อมาคือเรื่องอาชีพของแรงงานนอกระบบที่เป็นประเภทงานฝีมือ หรือที่เรียกว่าภูมิปัญญารัฐต้องสนับสนุนให้มีการพัฒนาทั้งด้านทุน และความปลอดภัย คือรัฐต้องมีนโยบายดูแลที่ดีและปฏิบัติได้จริง

img_1695

นายวิสุทธิ์ กล่าวถึงปัญหาของขบวนการสหภาพแรงงานไทยว่า ที่ทำงานร่วมกันในส่วนของยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโลหะ ซึ่งถือว่า เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำของอุตสาหกรรมรถยนต์ และการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมสีเขียว ด้านอุตสาหกรรมที่ทำงานมีแผนงานอยู่แล้วในการมีแผนแม่บทของการลงทุน ในอุตสาหกรรมรถยนต์มีการจัดการศึกษาวิจัย โดยสถาบันยานยนต์เป็นข้อมูลที่ภาคแรงงานเองก็มีส่วนในการใช้ข้อมูลนี้ เพื่อดูแนวทางการปรับปรุงอุตสาหกรรม หากจะดูการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 ในปี 2504 จนถึงปัจจุบันนี้เริ่มผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า จนปี 2550 เป็นต้นมา ฐานการผลิตของทุนในประเทศไทยปรับเป็นผลิตเพื่อการส่งออกดูเหมือนว่า เกิดการจ้างงานและประเทศไทยได้ประโยชน์ เป็นบวกต่อเศรษฐกิจ แต่สิ่งเกิดเป็นผลกระทบต่อภาคของคนงานไม่มีคนกล่าวถึง โดยอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องทำความเย็น เครื่องปรับอากาศ ก็เป็นแหล่งกำเนิดความร้อนทำให้เกิดภาวะโลกร้อน มาลงทุนในบ้านเรา ผลิตเพื่อส่งออกไปตลาดยุโรปและเอเชีย ดูจากข้อมูลผลประกอบการของแต่ละบริษัทจะเห็นว่าบริษัทเหล่านี้ได้ประโยชน์ จากการมาลงทุนที่ประเทศไทย และมีการจ้างงานที่ไม่มั่นคง ค่าตอบแทนที่ไม่คุ้มค่า รายได้ในอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไหนไม่มีการทำงานล่วงเวลาก็จะอยู่ไม่ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้หากต้องเปลี่ยนเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวในอุตสาหกรรมรถยนต์ คิดว่าตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา มาตรการ มาตรฐานอุตสาหกรรมต่างๆที่ได้รับรู้ คุณภาพเรื่องสิ่งแวดล้อมISO 14000 ที่มีการกล่าวมานั้น ทุนมีวิธีคิดในการดูแลสภาพแวดล้อมปรับปรุงสถานที่ทำงานให้ปลอดภัยมีคุณภาพชีวิตที่ดี แรงงานก็คงดีใจกับมาตรการต่างๆแต่เมื่อถึงเวลาปฏิบัติจริง บริษัทเหล่านนั้นก็ซื้อเพียงต้นไม้สีเขียวมาจัดมุมสวนหย่อมให้พักผ่อน โดยมาตรการต่างๆคือ ต้องการที่จะมีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานแล้วปลอดภัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่ด้วยบริษัทที่มีตรวจสอบให้ใบรับรองต่างๆ ตามมาตรฐานที่เอกสารกำหนด คือให้ปรับปรุงสภาพการทำงานในโรงงาน พอสหภาพแรงงานยื่นเป็นข้อเรียกร้องให้เกิดการปรับปรุงดูแลด้านสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อให้มีชีวิตที่ดีมีคุณภาพความปลอดภัย ในการยื่นข้อเรียกร้องเจรจาต่อรองกับบริษัท เพราะบริษัทต้องลงทุนด้านอุปกรณ์ป้องกันแต่ก็หาวิธีการง่ายๆ คือเอางานที่เป็นเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อมไปให้แรงงานนอกระบบทำพยายามหลีกเลี่ยงทุกอย่าง เพื่อที่จะได้การรับรองมาตรฐานการค้าระหว่างประเทศ เพื่อการส่งสินค้าออก ทำแบบผักชีโรยหน้า

img_1645

วิธีคิดสหภาพแรงงานไทยกับสหภาพแรงงานเยอรมนี หากไปดูเรื่องการยื่นข้อเรียกร้องคิดว่ากระทรวงแรงงานไม่เคยให้ความรู้เรื่องเหล่านี้เลย ด้านแนวคิดสหภาพแรงงานก็มีปัญหา ยื่นข้อเรียกร้องเพียงค่าความร้อนในการทำงาน ค่าเสี่ยงภัยเพิ่ม ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ผิด ยื่นข้อเรียกร้องให้บริษัทปรับปรุงแก้ไข เพราะทำให้เกิดสภาพที่ดีต่อสังคม แต่ส่วนใหญ่อยากได้เงินเพิ่มเนื่องจากค่าจ้างไม่พอกิน เงินตรงนี้จะชดเชยเพิ่มเข้าไป บางครั้งสหภาพแรงงานอาจเสนอเงินขึ้นสัก 1.5 เปอร์เซ็นต์ โบนัส .5เดือน แล้วให้บริษัทไปปรับปรุงเรื่องสภาพแวดล้อม สมาชิกก็กดดันเพราะคนงานไม่คำนึงถึงสิ่งที่เขาจะได้รับระยะยาว บอกว่าวันนี้ให้มีเงินกินก่อนก็พอ แต่ทุนได้ประโยชน์จากตรงนี้มหาศาลเพราะการปรับปรุงต้องใช้เงินทุนสูง จ่ายเพิ่มค่าความร้อนให้แค่ 4-5 บาทเล็กน้อยมากสำหรับนายจ้าง บางสหภาพแรงงานเรียกร้องเพียงเงินเป็นโบนัส เป็นเงินขึ้น ไม่ได้มองเรื่องคุณภาพชีวิตหลังการเกษียณงาน หรือความมั่นคงในการมีงานทำ ด้านหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้ใส่ใจให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ด้านการศึกษาสิ่งจัดแต่เรื่องเดิมๆ เช่นเทคนิคการเจรจาต่อรองเป็นต้น แนวรัฐบาลในการส่งเสริมไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งในส่วนของรถยนต์อาจไม่เร็วเหมือนกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งรัฐบาลมีการเชิญทุนเข้าไปคุยเรื่องการปรับเปลี่ยน อุตสาหกรรมซึ่งจะกระทบกับแรงงานอย่างไร พลังงานที่ใช้ในรถจากน้ำมัน เปลี่ยนเป็นแบตเตอรี่ ไฟฟ้า มีผลกับมลภาวะอย่างไร แต่ในการปรึกษาหารือไม่เคยที่จะเชิญแรงงานเข้าไปร่วมด้วย มีการปรึกษาหารือแค่สองฝ่ายคือนายทุนกับรัฐผลประโยชน์คุยกันรัฐมองเรื่องภาษี แต่อาจไม่ได้เต็มด้วยเนื่องจากมีการยกเว้นภาษีการลงทุนอีก การสร้างมลภาวะให้กับประเทศใครรับผิดชอบ แรงงานไม่มีส่วนร่วมในการรับรู้ ต่างกับขบวนการแรงงานเยอรมนีที่มีส่วนร่วมตั้งแต่แรก วันนี้แรงงานไทยถูกตัดขาด ตัดตอนจากการรับรู้เนื่องจากความอ่อนแอ ขาดการรวมตัวที่เข้มแข็ง

img_1708

นางเพชรรัตน์ นำเสนอว่า เป็นปัญหาของภาครัฐด้วยในการที่จะสร้างการเรียนรู้กับภาคประชาชน และแรงงานน้อยไป กรณีที่ทุนกับรัฐต้องจับมือกันเนื่องจากทุนเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แต่ในส่วนของแรงงานเรื่องความปลอดภัยอาชีวอนามัย หรือสภาพแวดล้อมในการทำงานนั้น เป็นเรื่องที่กระทรวงแรงงาน และหลายหน่อยงานที่ต้องเข้ามาดูแลอยู่แล้ว ซึ่งขณะนี้มีการตั้งสถาบันความปลอดภัย เป็นสถาบันระดับชาติที่เป็นองค์กรมหาชนเป็นครั้งแรก และมีผู้อำนวยการสถาบัน ที่จบด้านอาชีวอนามัย ซึ่งมีประสบการณ์การทำงานจากต่างประเทศมาแล้ว ทั้งประเทศเยอรมัน จีน อเมริกา สิงคโปร์ ซึ่งจะมาพัฒนางานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานให้กับแรงงาน และสำนักงานประกันสังคมได้จัดงบประมาณมาบริหารจัดการแล้วราว 50 ล้านบาท เพื่อทำงานให้ความรู้ และสร้างเรื่องการป้องกัน ในปี 2560 วาระในการปฏิรูปแรงงานที่สำคัญ เรื่องSafety Thailand มองถึงเรื่องคนต้องทำงานที่มีความปลอดภัย นำไปสู่สุขภาพดี คือร่างกายสุขภาพแข็งแรง มีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นประเด็นวาระเร่งด่วนที่กระทรวงแรงงานต้องทำ และการขับเคลื่อนที่จะทำให้ประเทศไทยปลอดภัยซึ่งเป็นเรื่องที่สอดรับกับสิ่งที่นำเสนอกันคือเศรษฐกิจสีเขียว โดยเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้มีการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงแรงงาน กับกระทรวงสาธารณะสุข กระทรวงเกษตร เรื่องของสารเคมีทั้งหลายที่เกี่ยวกับสุขภาพอนามัย และยังมีกระทรวงมหาดไทย เป็นกระทรวงที่เริ่มบูรณาการทำงานร่วมกัน จากเดิมการทำงานแบบต่างคนต่างทำตามหน้าที่รับผิดชอบ แต่ตอนนี้ทำงานร่วมกันภายใต้แผนปฏิบัติการเดียวกัน เรื่องความปลอดภัยทำงานเป็นโครงการร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาด้านความปลอดภัยในกับประชาชนทั้งประเทศ

img_1662

ประเทศไทยมีการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ผ่านมาการทำยุทธศาสตร์ชาติโดยสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติตั้งแต่แผน 1-11 ที่จะหมดในปี 2559นี้แล้วแผน 12 ที่จะเริ่มในปี 2560-2564 ที่อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ข้าราชการทุกคนรู้ว่าหากไม่ถูกกำหนดเป็นพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ยุทธศาสตร์ชาติ พอรัฐบาลใหม่มาจะมีการเปลี่ยนได้ สิ่งที่เขียนไว้จะได้รับการปฏิบัติหรือไม่เพราะฉะนั้นต้องออกเป็นพ.ร.บ.เป็นกฎหมาย หากรัฐบาลไหนไม่ทำต้องไปแก้พ.ร.บ.นั้นคือกรอบที่รัฐบาลวางไว้ แต่เป็นกรอบคราวๆ ซึ่งแต่ละกระทรวงต้องทำแผนของตนเอง ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ทุกกระทรวงส่งแผนภายในวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้ จากนั้นนายกจะเป็นผู้ดูว่าจะเชื่อมกันตรงไหน มาถึงตรงนี้ว่ามีส่วนร่วมกันหรือไม่ในส่วนของแรงงาน มีตัวแทนของแรงงานได้เข้าไปมีส่วนร่วมอยู่แล้ว แต่กระบวนการสร้างความรับรู้ทำความเข้าใจตอนนี้ยังไม่มีการดำเนินการ กรอบ 20 ปี ที่จะพัฒนาไปข้างหน้า คือ ไทยแลนด์ 4.0 สิ่งที่ต้องการความมั่นคงให้กับประเทศ มั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ มั่นคงทางด้านสิ่งแวดล้อม สถานการณ์การเมืองต้องมีเสถียรภาพสิ่งแวดล้อมที่กล่าวถึงคือ เศรษฐกิจสีเขียว ที่ต้องมีความมั่งคั่งยั่งยืน คนมีรายได้สูง คุณภาพชีวิตดี เศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะคุณภาพชีวิตที่ดีของพลเมือง ก็เกิดความยั่งยืน ในส่วนของกระทรวงแรงงานดูเรื่องของงานที่มีคุณค่า แรงงานต้องมีผลิตภาพ ไทยแลนด์ 4.0 เป็นแนวคิดในการพัฒนาเพื่อการก้าวพ้นประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงเป็นประเทศที่พัฒนา มีการจ้างงานเต็มที่มีปัญหาคนว่างงานน้อย มีการทำงานที่มีคุณค่า มีสุขภาพความปลอดภัย อาชีวอนามัยดีมีการคุ้มครองแรงงานที่มีประสิทธิภาพ มีตาข่ายรองรับทางสังคม เป้าหมายที่จะเดินไปสู้ยุค 4.0 อุตสาหกรรมแรกคือยานยนต์ เรื่องท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เรื่องของเกษตร เทคโนโลยี่ด้านสุขภาพการแปรรูปอาหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยมีความสามารถต่อยอด ซึ่งต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเรื่องการทำงานขณะนี้การทำงานที่จะสอดรับกระทรวงแรงงานมียุทธศาสตร์ 20 ปี และแผนแม่บทของกระทรวงแรงงานรองรับ ระยะปฏิรูปที่หนึ่งต้องมีการอัฟเกรดแรงงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และแรงงาน เพื่อทำงานร่วมกันในการเพิ่มความรู้ วิทยาการ และทักษะให้กับแรงงาน หน่วยหลักที่ทำคือกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ต้องมีการปรับ และปฏิรูปองค์กร

img_1725

ศาสตราภิชาน แล กล่าวถึงเศรษฐกิจที่ว่าหมายถึงการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นมิตรกับผู้คน การประกอบอาชีพของคนเอเชีย หรือน่าจะเป็นทั้งโลกประเทศไทยประกอบอาชีพในการดำรงชีวิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด โดยเฉพาะคนไทยนั้นพยายามที่จะดำเนินชีวิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะคน สัตว์หรือพืช หากเป็นนายก็จะประกอบอาชีพเมตตาธรรม อยู่กับคนที่ด้อยกว่าในลักษณะที่เอื้อเฟื้อ เจือจุนต่อกัน นี้คือการเคารพต่อมนุษย์ แม้แต่สิ่งที่ตายไปแล้วก็ไม่รุกรานเขา จะไม่มีวันเอาพื้นที่วัดหรือป่าช้ามาทำโรงงาน กับสัตว์เองก็ดูแล เช่นที่อภัยทานปลาตามวัดไม่ตามไปจับ เชื่อว่าต้นไม้มีวิญญาณมีรุกขเทวดาบวชต้นไม้เอาผ้าเหลืองไปห่มทำให้คนไม่กล้าตัดต้นไม้ สิ่งเหล่านี้เป็นหลักประกันว่า จะอยู่กับสิ่งแวดล้อมและอยู่กันมาไม่น้อยกว่า 700 ปี ก่อนที่จะมีการพัฒนาอุตสาหกรรม ก่อนที่ระบบทุนนิยมเข้ามาทำลายและทำให้สิ่งเหล่านี้ถูกมองข้ามไป วันนี้ก็คิดว่าจะกลับไปที่เดิมได้อย่างไรแม้ว่าใช้คำใหม่ เศรษฐศาสตร์สีเขียว คำถามคือทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงสังคมมีคนหลากหลายอาชีพ มีหลากหลายฐานะมีอำนาจที่แตกต่างกันสามารถจะรับความเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างกัน ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง ใครจ่ายให้กับการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่เริ่มพัฒนาประเทศปี 2500 เป็นต้นมาคนที่จ่ายคือชาวไร่ ชาวนา เกษตรกรที่ต้องทิ้งที่ดินทิ้งความสามารถที่เคยมีที่สิบทอดมาจากบรรพบุรุษกลายมาเป็นกรรมกรในโรงงาน จากผู้เชี่ยวชาญในการทำมาหากิน กลายมาเป็นคนที่ไร้ฝีมือในโรงงาน ถูกขับออกจากอาชีพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นคนที่มีฝีมือชั้นครูในการเป็นช่างทอง ทอผ้าไหมวันหนึ่งเอาโรงงานญี่ปุ่นไปตั้ง และครูดาบ ช่างทองทั้งหลายที่เก่งที่สุดกลายเป็นคนที่คอยโยกคันชัก ไม่ใช่แค่ฝีมือที่หายไป คนเหล่านี้เป็นคนที่จ่ายให้กับการเปลี่ยนแปลง

img_1787

หากมีนวตกรรมใหม่ๆเข้ามา จะให้คนที่เคยมีฝีมือทำงานไปอยู่ตรงไหน สิ่งที่รัฐต้องดูแลคนเหล่านี้มีรองรับไม่ให้ตกจากที่สูงโดยไม่เจ็บตัวบ้างหรือไม่ มีสวัสดิการทางสังคมดูแลเขาหรือ ซึ่งต้องคุยกันให้มากขึ้น เพราะคนที่คิดได้อยู่แถวหน้าแบมือรับผลจากการเปลี่ยนแปลงเป็นคนพวกกัน ซึ่งไม่ใช่ผู้ใช้แรงงานที่ได้รับผลกระทบ วันนี้จะเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทนทราบหรือไม่ว่าใครจะเดือดร้อนขาวบ้านเดือดร้อน ผู้ประกอบการ หรือเอกชนที่มาลงทุน ก็ทราบกันอยู่แล้วว่า มีต้นทุนสูงกว่าต้นทุนถ่านหินลิกไนต์มาก การที่จะให้เอกชนทำรัฐบาลก็ต้องอุดหนุน หากเป็นพลังงานแสงอาทิตย์อุดหนุนที่ยูนิคละ 12 บาทหากเป็นกระแสลมต้องอุดหนุนอยู่ที่ยูนิคละ 8 บาท ขายได้ที่ยูนิคละ 3 บาท แล้วเงินที่รัฐอุดหนุน 8 บาท และ 12 บาทนั้นไปอยู่ที่ค่า FT ที่บวกอยู่กับค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ ส่วนเอกชน หรือรัฐวิสาหกิจไม่เคยต้องรับผิดชอบ รัฐบาลเอาเงินมาอุดหนุนแล้วก็มาบวกให้กับคนใช้ไฟคนที่รับค่าเปลี่ยนแปลงคือชาวบ้าน ประชาชน เช่นกัน การที่จะมีการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมไปใช้เทคโนโลยีใหม่ ซึ่งคนที่ต้องรับการเปลี่ยนแปลงคือคนงานที่สูงอายุและเปลี่ยนอาชีพไม่ได้แล้วอายุ 40-50 ปีจะเปลี่ยนปรับตัวอย่างไร และรัฐมีการเตรียมตัวในการรับ ดูแลอย่างมีศักดิ์ศรีได้อย่างไร เพราะระบบที่ไม่ไม่สามารถรองรับให้คนเกษียณอยู่ได้ดีพอรัฐคิดหรือยัง และมีแนวคิดที่จะให้ผู้ประกอบการรับผิดชอบกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ มีการกล่าวถึงการสร้าง CSR การบริหารธุรกิจเชิงสังคม สิ่งที่ไม่ได้ทำคือคนที่รับใช้ทำงานให้กับโรงงานมานานหลายสิบปีเกษียณอายุออกไปรัฐเคยให้นายทุนตามไปรับผิดชอบชีวิตหลังเกษียณบ้างหรือไม่ ทุกการเปลี่ยนแปลงมีคนได้ และคนเสีย ทุกการเปลี่ยนแปลงมีต้นทุน รัฐจะให้ใครรับผิดชอบต่อต้นทุนนั้น ระบุหรือไม่ว่าใครรับผิดชอบ ใครจ่ายกับการที่จะนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองตามที่รัฐต้องการ ความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น แต่คนส่วนใหญ่ต้องไร้อนาคตจะได้รับค่าชดเชยอย่างทันท่วงทีหรือไม่ มาตรการสิ่งเหล่านี้เป็นพันธะที่รัฐละเลยไม่ได้ ต้องมีมาตรการก่อนที่จะไปนำเสนอการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวหรือว่าอุตสาหกรรม 4.0 รัฐต้องมีคำตอบที่ชัดเจนก่อน

20161021_150914

จากนั้นมีการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อหาแนวทางการการทำงานในระยะต่อไป โดยสรุปข้อเสนอแต่ละกลุ่มดังนี้

  1. เสนอให้มีการรวมกลุ่มกันเพื่อทำความเข้าใจกับการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว
  2. มีการเผยแพร่ทำความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจสีเขียวสู่สังคม
  3. รัฐควรมีการให้ภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว
  4. ช่วยกันผลักดันให้รัฐมีนโยบาย และยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน และออกกฎหมายส่งเสริมด้านเศรษฐกิจสีเขียว
  5. ช่วยกันรณรงค์ให้ใช้สินค้าสีเขียว
  6. ให้มีเวทีนำเสนอกรณีศึกษาเรื่องเศรษฐกิจสีเขียว มาร่วมแลกเปลี่ยนกันทั้งประเทศทั้งที่สำเร็จ และไม่สำเร็จ
  7. มีการทำงานแบบบูรณาการกันทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ แรงงาน ภาคประชาสังคม
  8. เสนอให้มีการถอดปัญหาผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาจากภาครัฐ
  9. รณรงค์ให้สหภาพแรงงานยื่นข้อเรียกร้องให้นายจ้างคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในการทำงาน และเสนอให้ภาครัฐทบทวนกฎหมายสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับสารเคมี
  10. ให้มีการให้ความรู้เรื่องเศรษฐกิจสีเขียว โดยมีการสร้างวิทยากร และทำสื่อเพื่อเผยแพร่ให้ความรู้ด้วย
  11. จัดเวทีพูดคุยในชุมชน แรงงาน เกษตรกร และภาคประชาสังคม เพื่อให้เห็นทางออกและพัฒนาเป็นข้อเสนอต่อภาครัฐร่วมกัน
  12. จัดทำฐานข้อมูล ทำแผนที่ ให้เห็นเรื่องภัยคุกคามต่อแรงงาน สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิต
  13. เสนอให้มีการปรับทัศนคติให้เห็นความสำคัญของเศรษฐกิจสีเขียว
  14. ส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มของแรงงานให้มีพลังเพื่อสร้างการต่อรองกับนายจ้างและภาครัฐ
  15. ยุทธศาสตร์ชาติต้องมีทุกมิติ คือเศรษฐกิจ สวัสดิการ การจ้างงานและต้องเป็นงานที่มีคุณค่า
  16. รัฐต้องมีมาตรการป้องกันการตกงาน การว่างงานของแรงงาน
  17. มีการส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ของแรงงาน คือหากต้องตกงานหรือว่าต้องการเปลี่ยนเป็นผู้ประกอบการ
  18. เห็นนิยามของคำว่า “เศรษฐกิจสีเขียว” ยังมีความคุมเครือ หานิยามใหม่ที่เป็นการเฉพาะสำหรับประเทศไทยเป็นการค้นหาตัวตน

รายงานโดยวาสนา ลำดี