ผู้ประกันตนรับสิทธิตรวจสุขภาพฟรีหลังปีใหม่

%e0%b8%aa%e0%b8%9b%e0%b8%aa

สปส.ให้ความสำคัญของการตรวจสุขภาพผู้ประกันตน ถือเป็นสิทธิที่ควรได้รับ ด้านคปค.มองสิทธิที่ไม่เท่าเทียมกับกองทุนบัตรทอง

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2559 ผู้จัดการรายวัน360 ได้รายการว่า นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงการเพิ่มสิทธิประโยชน์การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคของผู้ประกันตน ด้วยเห็นความสำคัญของการตรวจสุขภาพของผู้ประกันตน เนื่องจากเป็นสิทธิที่ควรได้รับ และจากมาตรา 63(2) เรื่องการตรวจสุขภาพของผู้ประกันตน ของ พ.ร.บ. ประกันสังคมฉบับแก้ไขนั้น ล่าสุด สปส. ได้จัดทำข้อกำหนดในการตรวจสุขภาพของผู้ประกันตนกว่า 12 ล้านคนแล้วเสร็จ ทางคณะกรรมการการแพทย์ได้ลงนามแล้ว โดยอยู่ระหว่างประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งกำหนดไว้ว่ามีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560

สำหรับสิทธิประโยชน์การให้บริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ได้กำหนดให้ผู้ประกันตนทุกคน เข้ารับบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยการตรวจสุขภาพได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ต้องรับบริการในโรงพยาบาลตามสิทธิที่ผู้ประกันตนได้เลือกเอาไว้ เบื้องต้นในปีแรกคาดว่าจะใช้งบประมาณ 1,500 – 1,800 ล้านบาท โดยผู้ประกันตนที่เข้ารับบริการตรวจสุขภาพจะสามารถตรวจสุขภาพพื้นฐานได้ อาทิ ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจการทำงานของไต เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง ภาวะผิดปกติ หรือโรค ซึ่งนำไปสู่การป้องกันการส่งเสริมสุขภาพของผู้ประกันตน หรือหากพบความผิดปกติจะได้รับการบำบัดรักษาตั้งแต่ระยะแรกตามรายการ

สำหรับหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการแพทย์กำหนดการใช้บริการตรวจสุขภาพฟรีนั้น จะพิจารณาตามอายุ และความจำเป็น อาทิ การตรวจเต้านมโดยแพทย์ หรือบุคลากรสาธารณสุข ผู้ประกันตนอายุ 30 – 39 ปี ตรวจได้ทุก 3 ปี แต่ถ้าอายุ 40 – 54 ปี ตรวจได้ทุกปี หรือการตรวจน้ำตาลในเลือด อายุ 35 – 54 ปี ตรวจทุก 3 ปี แต่ถ้าอายุ 55 ปีขึ้นไป ตรวจได้ 1 ครั้งต่อปี หรือการเอกซเรย์ทรวงอก Chest x-ray ได้ปีละ 1 ครั้งอายุ 15 ปีขึ้นไป เป็นต้น

พร้อมกันนี้ นพ.สุรเดช กล่าวถึง กรณีที่ผู้ประกันตนที่ประสงค์จะเปลี่ยนสถานพยาบาลที่ตนเองเลือก ว่า สปส.ได้อำนวยความสะดวกให้ผู้ประกันตนสามารถแจ้งขอเปลี่ยนสถานพยาบาลได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขาทุกแห่ง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 – 31 มีนาคม 2560

สำหรับในปี 2560 มีสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการประกันสังคมทั่วประเทศจำนวน 239 แห่ง แบ่งเป็นสถานพยาบาลของรัฐบาล 159 แห่ง สถานพยาบาลเอกชน 80 แห่ง และมีสถานพยาบาล ที่ไม่เข้าร่วมโครงการประกันสังคม จำนวน 3 แห่ง คือ โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน กรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลปิยะมินทร์ จังหวัดสมุทรปราการ และโรงพยาบาลรักษ์สกล จังหวัดสกลนคร

ต่อมาเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม มติชนออนไลน์ได้รายงานว่า นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) กล่าวว่า ช่วงบ่ายวันที่ 24 ธันวาคม ที่โรงแรมเบย์ ศรีนครินทร์ คปค.ร่วมกับกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เครือข่าย ฟ.ฟัน สร้างสุข และสภาพัฒนาแรงงานจัดประชุมหารือกรณีการตรวจสุขภาพมาตรา 63(2) ของ พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับแก้ไข ฉบับที่ 4/2558 โดยจะหารือสิทธิการตรวจสุขภาพที่ทางสำนักงานประกันสังคมให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 ยังมีปัญหาเรื่องสิทธิที่ไม่เท่าเทียมกับกองทุนบัตรทอง

อย่างการตรวจเอกซเรย์ทรวงอก ทางบัตรทองไม่ได้กำหนดอายุ แต่ดูตามความจำเป็น ขณะที่ประกันสังคมกลับระบุอายุไว้ว่าต้อง 15 ปีขึ้นไป ซึ่งตรงนี้เรามองว่า ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ ไม่น่าจะต้องมาถูกจำกัดเช่นนี้ โดยประเด็นดังกล่าวในการประชุมหารือวันที่ 24 ธันวาคม จะมีการถกกันว่าควรมีสิทธิตรวจสุขภาพอย่างไร เพื่อให้เท่าเทียมกับกองทุนบัตรทอง และจะเสนอต่อเลขาธิการ สปส.ในการหารือร่วมกันวันที่ 26 ธันวาคมนี้

นายมนัสกล่าวว่า ในมาตรา 63(2) อนุบัญญัติ 7 ของ พ.ร.บ.ประกันสังคมนั้นยังมีกรณีเยียวยาผลกระทบจากการบริการทางการแพทย์ ซึ่งสิทธิบัตรทองมีเยียวยาช่วยเหลือ เบื้องต้น 240,000 บาท สูงสุด 400,000 บาท แต่ประกันสังคมยังไม่ออกระเบียบมารองรับจุดนี้ ทำให้ทุกวันนี้ยังไม่ทราบว่า จะมีการเยียวยาผู้ประกันตนกรณีได้รับผลกระทบทางการแพทย์ด้วยหรือไม่

“นอกจากประเด็นตรวจสุขภาพแล้ว ในเรื่องผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานนอกระบบตามมาตรา 40 ซึ่งปัจจุบันมีอยู่กว่า 2 ล้านคนนั้น จะมีข้อเสนอให้เพิ่มสิทธิ อย่างค่าปลงศพได้ที่ 20,000 บาท ให้เพิ่มเป็น 40,000 บาท เทียบเท่ากับผู้ประกันตนทั่วไปตามมาตรา 33 และขอให้เพิ่มเงินขาดรายได้ จากเดิม 200 บาท/วัน เป็น 300 บาท/วัน ทั้งหมดจะมีการรวบรวมและเข้าหารือกับ นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการ สปส.ในวันที่ 26 ธันวาคมนี้” นายมนัสกล่าว

ทั้งนี้ สำหรับหลักเกณฑ์การตรวจร่างกายของผู้ประกันตนได้แบ่งตามกลุ่มอายุ ดังนี้

ตรวจร่างกายตามระบบ คือ
1.การคัดกรองการได้ยิน Finger Rub Test อายุ 15 ปีขึ้นไป โดยให้ตรวจได้ 1 ครั้งต่อปี
2.การตรวจเต้านมโดยแพทย์หรือบุคลากรสาธารณสุข อายุ 30-39 ปี ความถี่ตรวจได้ทุก 3 ปี อายุ 40-54 ปี ตรวจทุกปี อายุ 55 ปีขึ้นไป ตรวจตามความเสี่ยง
3.การตรวจตาโดยความดูแลของจักษุแพทย์ อายุ 40-54 ปี ตรวจได้ 1 ครั้งต่อปี อายุ 55 ปีขึ้นไป ตรวจทุก 1-2 ปี
4.การตรวจด้วยสาขา Snellen eye Chart อายุ 55 ปีขึ้นไป ตรวจได้ 1 ครั้งต่อปี
การตรวจทางห้องปฏิบัติการ มี ดังนี้
1.ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด CBC อายุ 18-54 ปี ตรวจ 1 ครั้ง อายุ 55-70 ปี ตรวจ 1 ครั้งต่อปี
2.การทำงานของไต อายุ 55 ปี ตรวจ 1ครั้งต่อปี
3.ไขมันในเส้นเลือดชนิด Total HDL cholesterol อายุ 20 ปี ตรวจทุก 5 ปีขึ้นไป

การตรวจอื่นๆ มี

1.เชื้อไวรัสตับอักเสบ HBsAg ตรวจ 1 ครั้ง
2.มะเร็งปากมดลูก Pap Smear ตรวจอายุ 30-54 ปี ตรวจทุก 3 ปี อายุ 55 ปีขึ้นไปตรวจตามความเหมาะสม หรือ
3. ตรวจมะเร็งปากมดลูกวิธี VIA อายุ 30-54 ปีขึ้นไปตรวจทุก5 ปี อายุ 55 ปีขึ้นไป แนะนำให้ตรวจแปปสเมียร์
4.ตรวจเลือดในอุจจาระ FOBT อายุ 50 ปีขึ้นไป ตรวจ 1 ครั้งต่อไป
5. การเอ็กซ์เรย์ทรวงอก Chest x–ray อายุ 15 ปีขึ้นไป ตรวจ 1 ครั้ง

ทั้งนี้ ผู้ประกันตนในระบบกองทุนประกันสังคมมีกว่า 12 ล้านคน แบ่งเป็น ผู้ประกันตนทั่วไปตามมาตรา 33 มีจำนวน 10,477,172 ล้านคน และมาตรา 39 ซึ่งเคยเป็นลูกจ้างบริษัทตามมาตรา 33 แต่หลังจากที่ลาออก ได้ส่งเงินต่อเพื่อไม่ให้เสียสิทธิ มีจำนวน 1,276,282 ล้านคน และมาตรา 40 เป็นแรงงานนอกระบบอีก 2,236,612 ล้านคน