คลินิกกฎหมายด้านแรงงาน (23) ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลก และวิกฤติไทย : วิกฤติของใคร???

คลินิกกฎหมายด้านแรงงาน (23)

ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลก และวิกฤติไทย : วิกฤติของใคร???

                                                                                   ชฤทธิ์  มีสิทธิ์ (1/2563)

            หลายคนคงได้ยินได้ฟังหรือประสบพบเจอมากับตัวเองโดยตรงแล้ว  เกี่ยวกับกรณีที่สถานประกอบการต่าง ๆ หรือธุรกิจหลากหลายประเภทในประเทศไทย ได้ประกาศเลิกกิจการ เลิกจ้างแรงงาน ลดกำลังแรงงาน ยุบแผนก รวมทั้งมีการใช้มาตรการต่าง ๆ ทั้งในทางบริหารธุรกิจ และมาตรการทางกฎหมาย เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงาน การลดต้นทุนการผลิต เช่น การสั่งหยุดกิจการชั่วคราว ตามมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ทำให้ลูกจ้างที่หยุดงานจะได้รับค่าจ้างเพียงร้อยละ 75 ของค่าจ้างปกติที่ได้รับเท่านั้น ในขณะที่ต้องสูญเสียสิทธิประโยชน์ที่ได้รับในกรณีที่ได้ทำงานทั้งสิ้น

เท่าที่สดับตรับฟังและติดตามข่าวคราวต่าง ๆ นั้น น่าตกใจและเศร้าใจเป็นอย่างยิ่งก็คือว่า หลายกรณีไม่มีการแจ้งเตือน หรือบอกกล่าวให้แก่แรงงานทราบล่วงหน้าในระยะเวลาพอสมควร  ที่จะเตรียมตัวรับกับสถานการณ์ และจัดการปัญหาในครอบครัวของตนได้ ไปทราบเรื่องเอาเช้าวันรุ่งขึ้น หรือไม่ก็ตอนจะเลิกงานว่า “พรุ่งนี้ไม่ต้องมาทำงานแล้ว ปิดกิจการแล้ว”  เข่าอ่อน หายใจไม่ออก ชีวิตจะเดินต่ออย่างไร ครอบครัวมีรายจ่ายทุกวันทุกเดือน แรงงานหนึ่งคนมีภาระเลี้ยงดูคนอื่นๆ อีกหลายคน

ร้ายกว่านั้น ค่าจ้างและสิทธิประโยชน์ต่างๆที่ทำงานมาในเดือนนั้น ต้องแบ่งจ่ายเป็นงวดๆ ส่วนสิทธิอื่น ๆ ตามกฎหมายที่ต้องจ่ายเมื่อปิดกิจการหรือเลิกจ้าง กำลังดำเนินการหาเงินอยู่   ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจ่ายได้เมื่อใด…

ที่ร้ายสุดเห็นจะเป็นกรณีสหภาพแรงงานยื่นข้อเรียกร้องเพื่อปรับปรุงสภาพการจ้างตามปกติ เรื่องอยู่ในระหว่างการไกล่เกลี่ยของพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน ซึ่งยังกำหนดนัดวันไกล่เกลี่ยกันอยู่นายจ้างได้ประกาศเลิกกิจการก่อนวันนัดไกล่เกลี่ย 1 วัน อ้างเหตุผลภาวะเศรษฐกิจ ลูกจ้างนับพันคนถูกเลิกจ้างทันที โดยไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่จ่ายค่าชดเชย หรือเงินใดๆเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของลูกจ้างและครอบครัว โชคดีที่ลูกจ้างมีสหภาพแรงงาน และสหภาพแรงงานได้เคลื่อนไหวเรียกร้องต่อกระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง จนในที่สุดนายจ้างได้จ่ายค่าชดเชยให้ตามกฎหมาย

เมื่อครั้งที่เกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ในปี2551 มูลนิธิเอเชียและมูลนิธิรอกกี้เฟลเลอร์ ได้สนับสนุนงบประมาณให้นักปฏิบัติการทางสังคม ซึ่งประกอบด้วย ผู้นำองค์กรแรงงานในพื้นที่อุตสาหกรรม ผู้ปฏิบัติงานองค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ นักกฎหมาย ดำเนินงานโครงการ ในนาม “ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการวิกฤติแรงงาน” เพื่อดำเนินงานเสริมความรู้ความเข้าใจของแรงงานต่อสถานการณ์ในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ เสริมความรู้ทางสิทธิแรงงาน การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายโดยไม่เรียกเก็บค่าบริการ  โดยเชื่อมประสานการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย การบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า และการพัฒนาอาชีพของแรงงาน โดยกระบวนการกลุ่ม  รวมทั้งได้ร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย โดยในขณะนั้นมีนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย เป็นประธาน เพื่อดำเนินงานถอดบทเรียนจาก 8 กรณีศึกษาที่ประสบปัญหาในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ผู้เขียนเห็นว่า จากบทเรียนกรณีศึกษาดังกล่าวน่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายที่อาจได้รับผลกระทบโดยตรง หรือมีหน้าที่เกี่ยวข้อง จะได้นำไปประกอบการคิดพิจารณา เพื่อเตรียมการป้องกันหรือแก้ไขปัญหา หากเกิดสถานการณ์วิกฤติทางเศรษฐกิจขึ้นอีก

ประการแรก : มีวิกฤติจริงและไม่จริง

          จากบทเรียนพบว่า มีการอ้างวิกฤติเศรษฐกิจ เพื่อกระทำการต่าง ๆ ตามที่ธุรกิจต้องการเพื่อสร้างความชอบธรรม ดังที่พบว่า มีหลายธุรกิจที่มิได้ประสบปัญหาจากภาวะวิกฤติดังกล่าว แต่ได้ทีได้จังหวะในการปรับตัวทางธุรกิจ เช่น ขอลดค่าจ้างและสวัสดิการต่าง ๆลดกำลังแรงงานลงโดยการเลิกจ้าง ปรับรูปแบบการจ้างเสียใหม่ เช่น การทำสัญญาจ้างระยะสั้นหรือสัญญาจ้างแบบมีกำหนดระยะเวลา เป็นต้น รวมทั้งสร้างสถานการณ์ว่าธุรกิจขาดสภาพคล่อง ไม่มีเงินทุน ขอต่อรองจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายเพียงครึ่งหนึ่งก็มี ทั้งๆที่ขัดต่อกฎหมาย  ส่วนที่มีวิกฤติจริง ก็พบว่ามีการบริหารจัดการทางธุรกิจไปไกลเกินกว่าปัญหาที่ธุรกิจประสบอยู่จริง และกลุ่มเป้าหมายที่จะถูกบริหารจัดการเนื่องจากวิกฤติ ก็มักจะเป็นกลุ่มแรงงาน มันเป็นธรรมแล้วหรือครับ???

สังเกตได้จากทุกวันนี้ ไปทางไหนก็มักจะได้ยินคำพูดคำบ่นว่า เศรษฐกิจไม่ดี โรงงานจะปิดตัวกันหมดแล้ว ธุรกิจขาดทุน จะไปเรียกร้องอะไร ก็เขาขาดทุนจะมาฟ้องศาลว่าเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้อย่างไร   ถ้าเขาขาดทุนจริง ฟ้องไปแพ้หมด คำกล่าวเช่นนี้มันมีทั้งใช่และไม่ใช่ หรือใช่บางส่วน ไม่ใช่หลายส่วน ซึ่งต้องการความจริงและต้องการการตรวจสอบเพื่อความเป็นธรรม แต่เราเอาความคิดที่ถูกครอบงำ  โดยไม่รู้ตัว แล้วก็สรุปตายตัวเหมาเข่งว่าวิกฤติ ทุกอย่างควรจบ ซึ่งไม่น่าจะถูกต้อง

          ประการที่สอง : ธุรกิจละเมิดกฎหมาย ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย แต่กลับท้าให้แรงงานไปฟ้องศาล หรือดำเนินการตามกฎหมาย เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น???

          การผลักให้แรงงานไปใช้สิทธิตามกฎหมาย และไปตกอยู่ในเงื่อนไข หลักเกณฑ์ และขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะด้านแรงงาน เป็นสิ่งที่จะทำให้ธุรกิจที่ละเมิดกฎหมายได้ประโยชน์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ค่าทนายและค่าที่ปรึกษาในการวางแผนกลยุทธ์ต่าง ๆ ในกระบวนการทางกฎหมายของฝ่ายธุรกิจ(ว่ากันว่าทีมกฎหมายและทีมที่ปรึกษาฝ่ายธุรกิจแผ่ขยายกิ่งก้านสาขามากมาย เบ่งบานเป็นดอกเห็ด สร้างความร่ำรวยกันไม่รู้จบ) แม้จะสูงมากมาย แต่เมื่อเทียบกับที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หรือความรับผิดชอบในสิทธิพื้นฐานต่อแรงงานแล้ว ห่างกันลิบลับ  นอกจากนี้ การต่อสู้กันในกระบวนทางกฎหมาย ฝ่ายธุรกิจมีความพร้อมกว่าเป็นไหนๆ ยืนได้ยาวกว่า มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์กว่า มีแหล่งบุคคลและข้อมูลให้เลือกสรรใช้งานได้มากมาย ดังนั้นโอกาสที่จะพลิกเกมส์ให้กลับเป็นฝ่ายชนะคดี หรือได้เปรียบจึงเป็นไปได้ไม่ยากนัก ตรงกันข้ามฝ่ายแรงงานกลับไม่มีหลายอย่างในสิ่งที่ฝ่ายธุรกิจเข้าถึงได้

ในปัจจุบันนี้ ถือได้ว่ากระบวนการยุติธรรมด้านแรงงาน มีความรวดเร็วกว่าเมื่อสิบปีที่แล้วมาก คดีแรงงานในศาลชั้นต้นเดี๋ยวนี้ไม่เกิน 6 เดือนก็พิพากษาแล้ว เพราะใช้ระบบการสืบพยานแบบต่อเนื่องและให้คู่ความทำบันทึกถ้อยคำพยานเป็นเอกสาร ไม่ต้องซักถามกันประโยคต่อประโยคกันดังเช่นสมัยก่อน อย่างไรก็ตาม หลักการสำคัญของศาลแรงงานที่สังคมแรงงานยังมีความกังวลและน่าจะยังเป็นปัญหาอยู่ก็คือ ความเข้าใจในปัญหาแรงงานและการสร้างความเป็นธรรมทางด้านแรงงาน ของผู้บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งรวมถึงคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย และเจ้าพนักงานตามกฎหมายในส่วนของกระทรวงแรงงานด้วย ยังคงมีคำถามในเรื่องความยุติธรรมในกระบวนการและในเนื้อหาของคำสั่ง คำวินิจฉัยและคำพิพากษาของศาล ว่าได้มีบทบาทแก้ไขปัญหา ป้องกันปัญหา หรือสร้างความยุติธรรมทางด้านแรงงานได้มากน้อยหรือไม่ เพียงใด

บทเรียนก็คือ หากฝ่ายแรงงานต้องการใช้สิทธิทางกฎหมาย ก็ควรต้องดำเนินการในลักษณะกระบวนการกลุ่มหรือองค์กร และมีการเชื่อมประสานภาคีด้านวิชาการและนักกฎหมาย และองค์กรด้ายวิชาชีพกฎหมาย ภายใต้หลักการและแนวทางที่ว่า การช่วยเหลืองทางกฎหมายควรดำเนินการควบคู่กับมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า และการพัฒนาทักษะอาชีพ หรือมีการแสวงหาทางเลือกอาชีพใหม่ เช่น มีบริการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย โดยไม่คิดค่าบริการหรือค่าใช้จ่าย มีเงินทุนช่วยเหลือเฉพาะหน้าแก่แรงงานเพื่อการยังชีพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของแรงงานในระหว่างที่ใช้สิทธิทางกฎหมาย และการจัดสรรเงินทุนเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพในระยะสั้น หรือการส่งเสริมพัฒนาทักษะอาชีพในระยะยาวจากหน่วยงานของรัฐ หรือสถาบันที่ทำงานด้านนี้  ซึ่งตามแนวทางดังกล่าวนี้ได้แสดงให้เห็นผลสำเร็จแล้วว่า ฝ่ายแรงงานมีพลังและมีอำนาจในการต่อสู้ทางกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถเข้าถึงความยุติธรรม(เท่าที่มี) ตามกฎหมายได้อย่างงดงามและมีความสุข

          ประการที่สาม : มีการโต้แย้งกันทางด้านข้อมูล ฝ่ายแรงงานมีข้อมูลไม่เพียงพอ ฝ่ายธุรกิจมีข้อมูลพร้อมเพียบ แต่ไม่เปิดเผยข้อมูล แม้ธุรกิจจะมีกฎหมายควบคุม รวมทั้งมีการประกาศใช้หลักจรรยาบรรณหรือหลักธรรมาภิบาลของธุรกิจก็ตาม

           เนื่องจากธุรกิจการค้าและการจ้างงานเชื่อมโยงกันทั้งโลก มีเครือข่ายธุรกิจและการจ้างงาน ที่ซับซ้อน มีข้อมูลที่เกี่ยวข้องมากมาย ทั้งที่เปิดเผยต่อแรงงานและสาธารณชนได้ กับที่เป็นความลับทางการค้า แต่ในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม จำเป็นที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นอย่างถูกต้องครบถ้วน แม้จะมีจรรยาบรรณทางการค้า หรือแนวปฏิบัติในระดับสากลที่วางหลักการ เรื่อง ธุรกิจต้องเผยข้อมูลพื้นฐานที่มิใช่ความลับทางการค้าต่อแรงงานและสังคม เพื่อความเป็นธรรมก็ตาม  แต่ในความเป็นจริงยังห่างไกลหลักการและแนวปฏิบัติที่ประกาศใช้เป็นอันมาก ซึ่งในเรื่องข้อมูลนี้ฝ่ายแรงงานมีข้อจำกัดมากๆ  นักวิชาการ หรือสถาบันทางวิชาการทีมีบทบาทนำเสนอข้อมูลเพื่อความเป็นธรรมทางสังคม ก็มีน้อยมากเช่นกัน  จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีคณะกรรมการ หรือกลไกในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการมาขับเคลื่อนในเรื่องนี้

 

         ประการที่สี่ : ข้อจำกัดของฝ่ายแรงงาน

          ฝ่ายแรงงานมีข้อจำกัดในหลายๆ ด้าน นับตั้งแต่ในระดับครัวเรือนไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ รายได้ที่หามาได้อย่างยากลำบาก  แต่ก็ดิ้นรนหามาทุกทาง เช่น การทำงานล่วงเวลาแบบชั่วชีวิต แม้กฎหมายคุ้มครองแรงงานจะห้ามไว้  เพื่อถนอมชีวิตแรงงานก็ตาม เสร็จจากงานในโรงงานก็หางานพิเศษทำ เช่น เร่ขายสินค้า ขายของตามตลาดนัดต่าง ๆ หรือขับรถมอเตอร์ไซด์รับจ้าง ก็ยังไม่มีเงินเก็บเงินออมเพื่อใช้จ่ายในยามวิกฤติหรือตกงาน

กลไกด้านแรงงานในระบบเอง เช่น  คณะกรรมการไตรภาคีต่าง ๆ ก็ทำงานไปตามกรอบอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้   เรียกได้ว่าเป็นคณะกรรมการตามประเด็น  ซึ่งนับวันกลไกเหล่านี้ก็ห่างเหินจากชีวิตจริงของแรงงาน และปัญหาความไม่เป็นธรรมของแรงงานส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เหมือนไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกัน  ดังที่เรามักจะชอบพูดกันว่า กลไกเหล่านี้ถูกระบบกลืนกินไปแล้ว

ขบวนการของแรงงานเอง ก็มีปัญหาและภารกิจที่ต้องทำมากมายเหลือเกิน ยังไม่สามารถก่อรูปและจัดขบวนเพื่อเคลื่อนไหวในระดับนโยบาย หรือการเคลื่อนไหวทางสังคมให้บรรลุเป้าหมายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ขบวนการแรงงานยังไม่สามารถรวบรวมพลัง   หรือเชื่อมประสานภาคีต่าง ๆ ขับเคลื่อนประเด็นนโยบาย หรือประเด็นส่วนรวม สื่อสารสังคมในเรื่องความไม่เป็นธรรมทางด้านแรงงาน รวมทั้งขาดพลังและการจัดการเพื่อการพัฒนาต่อยอด และการดำเนินงานที่จริงจังต่อเนื่อง การเคลื่อนไหวจะเป็นไปแบบซ้ำๆ หรือผลุบๆโผล่ ๆ

อย่างเช่น ในประเด็นการบริหารจัดการของขบวนการแรงงานเองในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ฝ่ายแรงงานเองเผชิญปัญหามาตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ในปี 2550- 2551 และวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ขบวนการแรงงานก็ยังไม่สามารถจัดขบวนการขับเคลื่อน การเรียกร้อง การเสนอแนะนโยบาย รวมทั้งทางออกของปัญหานี้ได้อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนและเป็นระบบเท่าที่ควร          แม้ขณะนี้ที่เกิดการเลิกจ้าง ปิดกิจการ และการบริหารจัดการต่างๆ ของธุรกิจ โดยอ้างภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างผลกระทบให้แก่แรงงานและครอบครัวอย่างรุนแรงครั้งแล้วครั้งเล่า  แต่เราก็ไม่เห็นการเตรียมการในเรื่องนี้แต่อย่างใด ไม่ว่าขบวนการแรงงาน หรือฝ่ายกระทรวงแรงงาน คงมีแต่ฝ่ายธุรกิจเท่านั้นที่มีการบริหารจัดการ และการปรับตัวเพื่อการอยู่รอด เพียงแต่ยังขาดความรับผิดชอบต่อแรงงาน อย่างที่ควรจะเป็น

          ประการที่ห้า : ทางออกคืออะไร

          ประการแรก ฝ่ายแรงงานควรต้องเร่งทำความเข้าใจสถานการณ์ปัญหาทางเศรษฐกิจว่า ความจริงเป็นอย่างไร อุตสาหกรรมไหนหรือธุรกิจไหนที่จะถึงขั้นวิกฤติ หรือสาขาใดที่จะได้รับผลกระทบ  จะได้เตรียมความคิด เตรียมการที่จะรับมือหรือแก้ไขปัญหา รวมทั้งหาทางออกต่าง ๆ อย่างเป็นขบวนและเป็นระบบ

ในส่วนขบวนการแรงงานเองก็ควรจะได้ทำความชัดเจนในเรื่องนี้ เพื่อจะได้วางแผนงานร่วมกันในการป้องกันและแก้ไขปัญหา ทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว

ประการที่สอง ฝ่ายธุรกิจและอุตสาหกรรมซึ่งมีความพร้อมในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านข้อมูล จึงควรได้ ศึกษาวิเคราะห์และจัดทำแผนรองรับหากเกิดสถานการณ์วิกฤติทางเศรษฐกิจ ในกรณีที่ได้รับผลจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกจริง ก็ควรจัดกระบวนการปรึกษาหารือแบบหลายภาคีมีส่วนร่วม ภายใต้กระบวนการแรงงานสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์และเกื้อกูลกันอย่างเป็นธรรม เพื่อหาทางออกร่วมกัน และช่วยกันแก้ไขปัญหา

ในส่วนที่เป็นสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐาน ธุรกิจควรแสดงออกซึ่งจรรยาบรรณและธรรมาภิบาล เพื่อให้แรงงานได้รับสิทธิดังกล่าวโดยครบถ้วน โดยที่แรงงานไม่ต้องลำบากในการไปใช้สิทธิทางกฎหมายหรือต้องดำเนินการทางศาล

ประการที่สาม กระทรวงแรงงานควรเป็นเจ้าภาพหลัก ในการเชื่อมประสานภาคีหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์  กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงสาธารณสุข ในการบูรณาการการทำงานเพื่อจัดทำแผนระดับชาติ  ในการป้องกัน แก้ไขเยียวยาและบรรเทาผลกระทบแกผู้ที่ได้รับความเสียหายจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรการเพื่อประกันว่า

  • ลูกจ้างทุกคนที่ได้รับผลกระทบจะได้รับสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานครบถ้วน โดยไม่ต้องลำบากหรือเดือดร้อนในการฟ้องร้องดำเนินคดี ซึ่งในปัจจุบันรัฐบาลได้กำหนดมาตรฐานในทางบัญชีให้ธุรกิจต่างๆ ต้องสำรองเงินทุนอันเกี่ยวกับผลประโยชน์ระยะยาวของลูกจ้าง เพียงแต่ยังเป็นการสำรองไว้ในทางตัวเลข ยังไม่มีหลักประกันในตัวเงิน รัฐบาลก็ควรพัฒนาต่อยอดจากส่วนนี้ เพื่อให้มีหลักประกันแท้จริง จะได้ไม่เป็นปัญหาซ้ำซากว่า เมื่อมีการเลิกจ้างหรือปิดกิจการแต่ไม่มีเงินจ่ายค่าจ้าง หรือค่าชดเชย เป็นต้น
  • กำหนดมาตรการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าให้แก่ลูกจ้างและครอบครัว
  • เร่งดำเนินการเพื่อให้แรงงานที่ตกงานเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ ได้เข้าถึงแหล่งงาน การประกอบอาชีพใหม่ หรือการพัฒนาทักษะเพื่อเปลี่ยนอาชีพ โดยอาศัยกลไกการบริหารจัดการตามแผนยุทธศาสตร์แรงงานนอกระบบระดับชาติ
  • เร่งดำเนินการเพื่อให้มีกลไกหรือคณะกรรมการที่มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจและแรงงานอันเนื่องจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจและมีความเป็นกลาง เพื่อให้คำแนะนำปรึกษา กลั่นกรองและตรวจสอบการบริหารจัดการด้านแรงงาน เช่น การเลิกจ้าง การปิดกิจการ การย้ายสถานประกอบการ รวมทั้งข้อพิพาทแรงงานต่างๆที่เกิดขึ้นเนื่องจากปัญหาดังกล่าว รวมทั้งพิจารณาอนุญาตให้ธุรกิจใช้มาตรการดังกล่าวได้ โดยเฉพาะ การเลิกจ้างจำนวนมาก ๆ หรือการปิดกิจการ เป็นต้น ซึ่งหากเท่าที่กฎหมายมีอยู่ยังไม่อาจดำเนินการในทางบริหารได้ ก็ควรได้ตรากฎหมายว่าด้วยเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ

ผู้เขียนเห็นว่า วิกฤติที่กล่าวถึงนี้ คือวิกฤติของทุกคน เป็นวิกฤติของสังคม  หากภาคส่วนดังที่กล่าวถึงนี้ มีความตั้งใจจริงและมุ่งมั่นทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหา และเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคม โดยยึดผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญแล้ว เชื่อว่าปัญหาทุกข์ร้อนและความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น จะสามารถแก้ไขและคลี่คลายไปได้  ป้องกันและแก้ไขกันในกระบวนการขั้นต้นเป็นดีที่สุด  อย่าให้ต้องเดือดร้อนถึงขั้นการฟ้องร้องกันทางศาลเลยครับ

@@@@@@@@@