คณะทำงานขับเคลื่อนกฎหมายอากาศสะอาดฉบับประชาชน ดันบรรจุกองทุนในกฎหมายอากาศสะอาด

คณะทำงานขับเคลื่อนกฎหมายอากาศสะอาดฉบับประชาชน นำโดย นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) ได้อ่านแถลงการณ์ เรื่อง การบรรจุกองทุนอากาศสะอาดไว้ในกฎหมายอากาศสะอาด (ฉบับที่ 1) ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้
ตามที่ปัจจุบันนี้ มีข้อมูลพบว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ป่วยหรือเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ โดยไม่มีประวัติการสูบบุหรี่ อีกทั้งยังมีข้อมูลทางวิชาการจำนวนไม่น้อย ระบุถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดหรือโรคระบบทางเดินหายใจกับปัญหาหมอกควันพิษโดยเฉพาะ PM2.5 และ PM10 ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ที่มีความเข้มข้นเกินระดับที่องค์การอนามัยโลกแนะนำอย่างมาก
ที่ผ่านมาคณะทำงานขับเคลื่อนกฎหมายอากาศสะอาดฉบับประชาชนได้ร่วมกันขับเคลื่อนด้านองค์ความรู้และเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาทั้งระบบ โดยการผลักดัน “ร่างพระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. ….” เพื่อรับรองและคุ้มครอง “สิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาด” ของประชาชนในประเทศไทย จนกระทั่งขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ผ่านการรับหลักการใน วาระที่ 1 ของสภาผู้แทนราษฎรอย่างท่วมท้น และกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. และวาระที่ 2
อย่างไรก็ตาม การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติในชั้นรัฐสภา ยังมีหนทางอีกยาวไกล และอาจต้องพบอุปสรรคระหว่างทาง โดยเฉพาะความรู้ความเข้าใจของผู้พิจารณาร่างกฎหมาย ถึงต้นเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งมาจากระบบและกลไกที่มีอยู่เดิม รวมทั้งการจัดการทรัพยากรและงบประมาณที่ไม่เหมาะสมกับขนาดของปัญหาหมอกควันพิษที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คณะทำงานขับเคลื่อนกฎหมายอากาศสะอาดฉบับประชาชน จึงขอออกแถลงการณ์เพื่อสร้างความเข้าใจ และเรียกร้องต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. ดังต่อไปนี้
1. ที่ผ่านมาการจัดการปัญหาหมอกควันพิษด้วยการใช้บทลงโทษทางกฎหมายแต่เพียงประการเดียวเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะเห็นได้จากโทษทางอาญาของการกระทำความผิดบางอย่างที่แม้ว่าโทษจะสูงเพียงใด แต่ก็ยังพบผู้กระทำความผิดไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายอยู่ดี ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะปัญหาปากท้อง ความยากจน หรือต้นทุนทางธุรกิจ  ดังนั้น การนำเครื่องมือ และมาตรการทางเศรษฐศาสตร์มาใช้แก้ไขปัญหาหมอกควันพิษเพื่อลดพฤติกรรมการก่อมลพิษและจูงใจให้เลือกใช้วิธีการที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำมาใช้แก้ไขปัญหาหมอกควันพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ตัวอย่างเครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ที่อาจนำมาใช้ได้ เช่น (1) มาตรการทางภาษี โดยจัดเก็บภาษีจากผลิตภัณฑ์ที่อาจก่อให้เกิดปัญหาหมอกควันพิษและสุขภาพ และให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (2) ค่าธรรมเนียมบำบัดอากาศสะอาด โดยจัดเก็บจากผู้ก่อมลพิษ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม ผู้ใช้รถยนต์สันดาป เป็นต้น (3) มาตรการฝากไว้ได้คืน เช่น ขวดน้ำ หากนำไปเผาจะก่อให้เกิดมลพิษ ดังนั้น จึงต้องจูงใจให้ประชาชนนำขวดน้ำมาแลกกับเงินด้วยการเก็บเงินค่าขวดน้ำไว้กับรัฐ เมื่อประชาชนนำขวดน้ำมาคืนจะได้รับเงินที่เก็บไว้กลับคืนไป (4) การซื้อขายใบอนุญาตการปล่อยมลพิษ โดยการให้โควตาปล่อยมลพิษแก่ผู้ประกอบการ หากผู้ประกอบการที่ได้รับโควตาสามารถใช้เทคโนโลยีที่ทำให้ปล่อยมลพิษได้ลดลงก็สามารถนำโควตาที่ตนได้รับไปขายต่อให้กับผู้ประกอบการอื่นได้ อันเป็นการจูงใจให้ผู้ประกอบการหันมาใช้เทคโนโลยีที่สะอาดมากขึ้น (5) มาตรการอุดหนุนและส่งเสริม เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะนำเงินที่ได้รับจาก (1) และ (2) มาใช้ในการอุดหนุนเทคโนโลยีที่สะอาดและส่งเสริมให้ประชาชนร่วมมือร่วมใจเฝ้าระวังอุดหนุนและส่งเสริม รวมถึงช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษด้วย (6) การวางเงินประกันความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม สำหรับกิจกรรมที่มีความเสี่ยง เช่น โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่
2. สาเหตุสำคัญที่ทำให้การจัดการปัญหาหมอกควันพิษไม่ประสบผลสำเร็จ คือ การขาดงบประมาณและทรัพยากรที่นำไปใช้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเมื่อต้องนำเครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ตามข้อ 1 มาใช้ในการแก้ไขปัญหาซึ่งจำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่งบประมาณประจำปีของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการจัดการปัญหาหมอกควันพิษมีน้อยมาก ทั้ง ๆ ที่ปัญหาหมอกควันพิษในปัจจุบันทวีความรุนแรงและเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ การนำเงินกองทุนสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมาใช้จ่ายเพื่อการบริหารจัดการก็ยังมีข้อจำกัดด้านรายจ่ายที่ไม่สามารถนำไปใช้จ่ายได้อย่างหลากหลายครอบคลุมกับปัญหาหมอกควันพิษที่เกิดขึ้นและยังขัดกับหลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายตามหลักกฎหมายสิ่งแวดล้อมซึ่งนำไปสู่ความไม่ยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ กองทุนสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีรายรับจากเงินของภาษีประชาชนเป็นหลัก ไม่ได้มาจากผู้ที่ก่อหรือมีแนวโน้มที่จะก่อมลพิษ ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งกองทุนที่ใช้เฉพาะสำหรับการจัดการปัญหาหมอกควันพิษที่มีงบประมาณมากเพียงพอ ต่อเนื่อง ทันสถานการณ์ และยั่งยืน ทั้งนี้ แหล่งที่มาของกองทุนต้องมาจากผู้ที่ก่อหรือมีแนวโน้มที่จะก่อมลพิษทางอากาศเป็นหลักลักษณะของกองทุนที่ใช้เฉพาะสำหรับการจัดการปัญหาหมอกควันพิษที่จะเกิดขึ้นนั้น ควรเป็นกองทุนนอกงบประมาณแผ่นดินที่มีรายได้เป็นของตนเอง ไม่ต้องพึ่งงบประมาณแผ่นดิน และไม่เป็นภาระทางการเงิน และการคลังแก่รัฐ ซึ่งรายได้หลักของกองทุน ได้แก่
เงินเก็บเพิ่มจากภาษีสรรพสามิตเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เช่น รถยนต์ น้ำมัน สุรา บุหรี่ เครื่องจักร ฯลฯ ค่าธรรมเนียมบำบัดหมอกควันพิษ เงินชดเชยความเสียหายที่ได้รับจากการฟ้องร้องคดีก่อมลพิษข้ามแดน เป็นต้น ส่วนรายจ่ายของกองทุนจะนำเงินที่ได้รับไปใช้จ่ายอย่างหลากหลายและครอบคลุมการแก้ไขปัญหาหมอกควันพิษในหลายมิติ ได้แก่ การเยียวยาผลกระทบจากหมอกควันพิษ เช่น การดับไฟป่า การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง เช่น เพิ่มสถานีตรวจวัดอากาศ ติดเครื่องฟอกอากาศในห้องเรียน การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น ให้ประชาชนตื่นรู้ถึงความร่วมมือลดการก่อมลพิษ การนำไปอุดหนุนและส่งเสริมเทคโนโลยีสะอาด เช่น รถยนต์ไฟฟ้า เครื่องจักรช่วยเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว การนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการฟ้องร้องดำเนินคดี เช่น ฟ้องหน่วยงานรัฐ ฟ้องคดีมลพิษข้ามแดน การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับอากาศสะอาดและสุขภาพ การประสานงานกับหน่วยงานต่างประเทศและระหว่างประเทศเพื่อความร่วมมือในการจัดการมลพิษ เป็นต้น
3. กองทุนอากาศสะอาดที่จัดตั้งขึ้นใหม่นี้มีความสำคัญอย่างมาก หากไม่มีกองทุนจะทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาหมอกควันพิษได้อย่างเพียงพอ ต่อเนื่อง ทันการณ์ และยั่งยืน ดังนั้น กฎหมายอากาศสะอาดจึงต้องกำหนดเป็นข้อยกเว้นไม่ให้นำกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังมาใช้บังคับกับการจัดตั้งกองทุน รวมถึงรายรับและรายจ่ายของกองทุน
คณะทำงานขับเคลื่อนกฎหมายอากาศสะอาดฉบับประชาชน จึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. บรรจุบทบัญญัติ ดังต่อไปนี้ ในร่างกฎหมายอากาศสะอาด
1. บทบัญญัติเกี่ยวกับการนำเครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์มาใช้แก้ไขปัญหาหมอกควันพิษเพื่อลดพฤติกรรมการก่อหมอกควันพิษและจูงใจให้เลือกใช้วิธีการที่ไม่ก่อให้เกิดหมอกควันพิษ
2. บทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ เพื่อใช้สำหรับการบริหารจัดการอากาศสะอาด โดยเก็บมาจากผู้ที่ก่อหรือมีแนวโน้มที่จะก่อหมอกควันพิษเป็นหลัก
3. บทบัญญัติที่เป็นข้อยกเว้นไม่ให้นำกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังมาใช้บังคับกับการจัดตั้งกองทุนรวมถึงรายรับและรายจ่ายของกองทุน
************************************************