สสรท. และสรส ยื่นรมว.แรงงาน เสนอปรับค่าจ้างขั้นต่ำ วันละ 492 บาทเท่ากันทั้งประเทศ ค้านปรับค่าจ้างรายเขตพื้นที่ อำเภอ และตำบล เหตุสร้างความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรมกับคนทำงาน
เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) ได้ยื่นหนังสือผ่านนายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ เรื่อง ขอให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นธรรมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ใช้แรงงาน
นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสสสรท. ได้อ่านแถลงการณ์ เพื่อการสื่อสารสาธารณะถึงข้อเสนอของสสรท. และสรส.ว่า ตามที่ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ตามที่คณะกรรมการค่าจ้างเสนอ ซึ่งมีอัตราการปรับตั้งแต่ 2-16 บาท ต่ำสุดอยู่ที่วันละ 330 บาท สูงสุดอยู่ที่วันละ 370 บาท ซึ่งการปรับค่าจ้างครั้งนี้ มีการขยายเขตพื้นที่ในการปรับจากเดิม 13 ราคา เมื่อปี 2565 เป็น 17 ราคา ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้าจะมีการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 พรรคเพื่อไทยได้ประกาศนโยบายในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานโดยเสนอตัวเลขการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ วันละ 600 บาท ในปี 2570 แต่จะทยอยปรับในแต่ละปี โดยเริ่มที่วันละ 400 บาท ซึ่งต่อมาพรรคเพื่อไทยก็ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลมีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี แต่การปรับค่าจ้างขั้นต่ำกลับไม่ได้เป็นอย่างที่นายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ แม้นายกรัฐมนตรีจะแสดงท่าทีไม่พอใจที่คณะกรรมการค่าจ้างเสนอตัวเลขการปรับค่าจ้างน้อยไปถึงกับออกปากว่า “ปรับได้อย่างไร 2 บาท ซื้อไข่ 1 ฟองยังไม่ได้เลย” จึงไม่นำเข้าพิจารณาในการประชุม คณะรัฐมนตรีวันที่ 12 ธันวาคม 2566 และสั่งกระทรวงแรงงานพิจารณาทบทวน แต่คณะกรรมการค่าจ้างที่มีโครงสร้างเป็นไตรภาคี คือ รัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง มีมติเอกฉันท์ก็ยืนยันตัวเลขเดิมรวมทั้งตัวแทนฝ่ายลูกจ้างเอง ในที่สุด คณะรัฐมนตรีก็เห็นชอบตามนั้น ในคราวประชุม เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2566 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 และสั่งการให้กระทรวงแรงงานนัดประชุมคณะกรรมการค่าจ้างใหม่และจะปรับค่าจ้างขั้นต่ำอีกครั้งในเดือนเมษายน 2567
ในท่ามกลางข้อถกเถียงที่ยาวนาน และสังคมก็เห็นพ้องต้องกันว่าค่าจ้างจำเป็นต้องปรับเพราะราคาสินค้าที่จำเป็นในการดำรงชีพและสินค้าทั่วไปทุกหมวด ทุกรายการปรับราคาแพงขึ้นอย่างมากและสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) ก็ได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานยื่นข้อเสนอปรับค่าจ้าง พร้อมทั้งออกจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 492 บาท โดยให้มีค่าจ้างราคาเดียวเท่ากันทั้งประเทศ เพราะราคาสินค้าราคาไม่ได้แตกต่างกัน ต่างจังหวัดยังราคาแพงกว่าด้วยซ้ำ และเสนอให้ค่าจ้างขั้นต่ำกำหนดให้เป็นค่าจ้างแรกเข้า และให้ทุกสถานประกอบการจัดทำโครงสร้างค่าจ้าง เพื่ออนาคตของคนทำงาน ครอบคลุมทั้งลูกจ้างภาครัฐ และ เอกชน แรงงานภาคบริการ แต่เกิดความล่าช้าในการดำเนินการทบทวน สสรท. และ สรส. จึงนัดหมายเพื่อทวงถามเรื่องการปรับค่าจ้างในวันที่ 27 มีนาคม 2567
ต่อมาทราบว่า มีการนัดประชุมคณะกรรมการค่าจ้างในวันที่ 26 มีนาคม 2567 ก่อนที่สสรท. และ สรส. จะเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จากการติดตามผลกระประชุมออกมาในลักษณะเกินเลยจากที่ สสรท. และ สรส. เรียกร้อง กล่าวคือ คณะกรรมการค่าจ้างมีมติให้ปรับค่าจ้าง วันละ 400 บาทใน 10 จังหวัด แต่เป็นการปรับในบางพื้นที่ คือ
- กรุงเทพมหานคร เฉพาะเขตปทุมวันและเขตวัฒนา
- จังหวัดกระบี่ เฉพาะเขตองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง
- จังหวัดชลบุรี เฉพาะเขตเมืองพัทยา
- จังหวัดเชียงใหม่ เฉพาะเขตเทศบาลนครเชียงใหม่
- จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เฉพาะเขตเทศบาลหัวหิน
- จังหวัดพังงา เฉพาะเขตเทศบาลตำบลคึกคัก
- จังหวัดภูเก็ต (ทั้งจังหวัด)
- จังหวัดระยอง เฉพาะเขตตำบลบ้านเพ
- จังหวัดสงขลา เฉพาะเขตเทศบาลนครหาดใหญ่
- จังหวัดสุราษฎร์ธานี เฉพาะเขตอำเภอเกาะสมุย
การปรับค่าจ้างตามที่คณะกรรมการค่าจ้างมีมติ ถือว่า เป็นการปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้นแต่เป็นการปรับที่ก่อให้เกิดปัญหาในการบริหารจัดการ เป็นการสร้างความแปลกแยก แตกต่าง เป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำเรื่องค่าจ้างแม้ในจังหวัดเดียวกัน ทั้ง ๆ ที่ราคาสินค้าไม่ได้มีราคาแยกตามพื้นที่ โดยเฉพาะราคาสินค้าในร้านสะดวกซื้อที่เข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตของผู้ใช้แรงงานและประชาชนทั่วไปนั้นราคาเท่ากันทุกพื้นที่ทั้งประเทศ รวมทั้ง ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเตอร์เน็ต ฯลฯ นั้น ราคาก็เท่ากันทั้งประเทศ
มติที่ออกมาจึงสวนทางกับความเป็นจริง และสวนทางกับที่ สสรท. และ สรส. เสนอ คือ ค่าจ้างขั้นต่ำต้องเท่ากันทั้งประเทศ การปรับขึ้นค่าจ้างในครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงระบบการปรับค่าจ้างที่เลวร้ายครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน อนาคตการปรับค่าจ้างอาจไปถึงเฉพาะตำบล หรือหมู่บ้านก็อาจเป็นได้ หากจุดเริ่มต้นเป็นแบบนี้แม้คณะกรรมการค่าจ้างจะทบทวนการปรับราคาค่าจ้างโดยกำหนดสูตรปรับค่าจ้างใหม่ ราคาค่าจ้างเพิ่มขึ้นจริง คือ จากวันละ 370 บาท เป็น 400 บาท แต่เป็นการปรับขึ้นที่เลวร้ายอย่างที่กล่าวมาและไม่อาจยอมรับได้
นายสาวิทย์ กล่าวอีกว่า สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ยืนหยัดในจุดยืนเดิม คือ “ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและรัฐบาลหยุดสร้างความเหลื่อมล้ำเรื่องค่าจ้าง ยกเลิกสูตรและแนวทางการปรับขึ้นค่าจ้างตามที่คณะกรรมการค่าจ้างมีมติ โดยขอให้ตระหนักถึงความเดือดร้อนผู้ใช้แรงงานขอให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ วันละ 492 บาท หรือไม่ต่ำกว่าวันละ 400 บาท ตามที่รัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีแถลงก่อนหน้านี้ โดยให้มีค่าจ้างราคาเดียวเท่ากันทั้งประเทศ และเสนอให้ค่าจ้างขั้นต่ำกำหนดให้เป็นค่าจ้างแรกเข้า และให้ทุกสถานประกอบการจัดทำโครงสร้างค่าจ้าง เพื่ออนาคตของคนทำงาน ครอบคลุมทั้งลูกจ้างภาคเอกชน และ ลูกจ้างภาครัฐโดยเฉพาะลูกจ้างในหน่วยงานราชการที่ได้รับค่าจ้างในปัจจุบันต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ รวมทั้งคนทำงานภาคบริการ เพื่อความเป็นธรรมทางสังคมควบคู่กับการสร้างรายได้ สร้างอาชีพ สร้างหลักประกันการทำงาน การจ้างงาน เพื่ออนาคต และ สังคมที่ดี และการควบคุมราคาสินไม่ให้มีราคาแพงเกินเหตุผลความเป็นจริง” เพราะเมื่อประชาชนมีอาชีพ มีงานทำมีรายได้ ก็จะเกิดการผลิตการจำหน่าย ผู้ประกอบการขายสินค้าได้ รัฐก็สามารถเก็บภาษีได้ ถือเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจให้มั่นคง ยั่งยืน ต้องเข้าใจว่า คนที่อยู่ในวัยทำงานในปัจจุบันกว่า 41 ล้านคน คือคนส่วนใหญ่ของประเทศ หากไม่สามารถแก้ปัญหาของคนส่วนใหญ่ได้ก็อย่าไปคาดหวังว่าจะแก้ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำได้ การปรับขึ้นค่าจ้างก็เป็นเพียงมาตรการหนึ่งที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทำงานซึ่งรัฐบาลต้องทำควบคู่กับการควบคุมราคาสินค้าให้อยู่ในระดับที่ไม่แพงเกินไป ป้องกันผูกขาด และปกป้องกิจการของรัฐ คือ รัฐวิสาหกิจไม่ให้ตกไปอยู่ในมือของกลุ่มทุนที่จ้องเอาเปรียบประชาชน คนทำงาน
สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) เคารพในหลักการไตรภาคี แต่ต้องเป็นไตรภาคีที่มุ่งประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ยิ่งการปรับค่าจ้างต่างก็ทราบเป็นการทั่วกันว่า ราคาสินค้านั้นปรับขึ้นราคาอย่างมากก่อนหน้านี้ การลดความเหลื่อมล้ำ และการสร้างความเป็นธรรมในสังคม จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องดำเนินการ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเสนอดังที่กล่าวมาจะได้รับการพิจารณา
ด้านนายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ข้อเรียกร้องที่ทางองค์กรแรงงานเสนอมานั้นเรื่องปรับขึ้นค่าจ้าง 492 บาทนั้น จริงๆเท่าที่คำนวนแบบเร็วๆก็ยังเห็นว่าเป็นการปรับไม่ได้มากอะไร และเห็นด้วยหากมองว่า การที่คนทำงานจะอยู่รอดได้ค่าจ้างควรอย่างต่ำ 2 หมื่นกว่าบาท และการที่คณะกรรมการค่าจ้างมีการเสนอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแบบไม่ทั่วถึงแต่กระทบทั่วหน้า ตอนที่มาบริหารกระทรวงฯก็คิดเหมือนกันถึงการปฏิรูประบบไตรภาคีที่มีอยู่ เข้าใจว่ายังไม่มีความเป็นตัวแทนของกลุ่มแรงงานได้จริง ซึ่งเรื่องนี้ต้องช่วยกันแกและเชิญชวนองค์กรแรงงานเข้ามาร่วมเป็นกรรมการไตรภาคีอย่าปล่อยให้แต่กลุ่มเดิมๆที่เป็นอยู่แบบนี้ตลอด ส่วนข้อเสนอที่ 2 องค์กรแรงงานเสนอให้รัฐมนตรีพิจารณาโดยเร็ว
/////////////////////////////////