ขบวนแรงงานยื่น 3 ข้อให้นายกแก้ปัญหาแรงงาน

วันที่ 7 ตุลาคม 2566 สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ร่วมกับสหพันธ์แรงงานระดับสากล (GUF) และเครือข่ายขับเคลื่อนILO 87 98  ได้รวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเดินรณรงค์วันงานที่มีคุณค่าสากล (World Day for Decent Work) และยื่นหนัสือต่อ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่บริเวณหน้าองค์การแรงงานระหว่าประเทศ โดยหนังสือที่ยื่นมีเนื้อหาดังนี้

ด้วยวันที่7 ตุลาคมของทุกปี เป็น “วันงานที่มีคุณค่าสากล” (World Day for Decent Work) ซึ่งมีที่มาจากการประชุมใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization หรือ ILO) ครั้งที่87 พ.ศ.2547 ขบวนการแรงงานทั่วโลกได้จัดรณรงค์เพื่อการจ้างงานที่ดีและมั่นคง โดยเชื่อว่างานที่มีคุณค่าจะยกระดับคุณภาพชีวิตในการทำงานและส่งเสริมให้มีการพัฒนาแรงงานที่ยั่งยืน “งานที่มีคุณค่า” หมายถึง งานซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการเกี่ยวกับวิถีชีวิตและการทำงานของมนุษย์ อันประกอบด้วย หลักการที่สำคัญ ดังนี้ 1.การมีโอกาสและรายได้ (Opportunity and income) 2.การมีสิทธิ (Rights) 3.การได้แสดงออก (Voice) 4.การได้รับการยอมรับ (Recognition) 5.ความมั่นคงของครอบครัว (Family stability) 6.การได้พัฒนาตนเอง (Personal development) 7.การได้รับความยุติธรรม (Fairness) 8.การมีความเท่าเทียมทางเพศ (Gender equality)

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้กำหนดหลักการที่จะทำให้ประเทศต่าง ๆ บรรลุวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมให้คนทำงานได้ทำงานที่มีคุณค่าไว้ 4 ประการ อันประกอบด้วย 1.หลักการและสิทธิพื้นฐานของแรงงาน และการยอมรับความตกลงร่วมกันในด้านมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วย เสรีภาพในการสมาคมและการร่วมเจรจาต่อรอง การบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ เลิกการเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน และการขจัดการใช้แรงงานเด็ก 2.เพิ่มโอกาสในการจ้างงานและการเพิ่มรายได้ 3.การสร้างภูมิคุ้มกัน 4.การส่งเสริมการเจรจาและไตรภาคี

ประเทศไทยแม้จะเป็นหนึ่งใน 45ประเทศสมาชิก ที่ร่วมก่อตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศเมื่อปี พ.ศ.2462 แต่การให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับต่างๆ รวมทั้งการให้ความสำคัญต่อมาตรการต่างๆ เพื่อการคุ้มครองคนงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี แทบจะไม่มีการพัฒนาการที่จะเป็นหลักประกันแก่คนงาน ทำให้คนงานต้องเผชิญกับภาวการณ์ถูกเอาเปรียบ ถูกขูดรีด จนแทบไม่มีหลักประกันใดๆ หากนำเอาหลักการของอนุสัญญาฉบับต่างๆ และหลักการเรื่องงานที่มีคุณค่ามาตรวจสอบ ก็จะพบได้ทันทีและต้องยอมรับว่าประเทศไทยแทบจะไม่พบความก้าวหน้าอันใดเลยต่อการปฏิบัติตามมาตรการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ เห็นได้จากความพยายามของคนงานในการก่อตั้งสหภาพแรงงานและการเจรจาต่อรอง ไม่ได้รับการคุ้มครอง จนทำให้การเจรจาข้อเรียกร้องใช้เวลาหลายเดือนหรือเป็นปี และเมื่อตกลงกันแล้วนายจ้างก็ยังละเมิดต่อข้อตกลง และที่รุนแรงคือการละเมิดต่อกฎหมาย แต่เจ้าหน้าที่กลไกรัฐ กลับไม่ดำเนินการใดๆ ปล่อยให้เป็นการเผชิญหน้าระหว่างคนงานกับนายจ้าง บางครั้งบางกรณี มีการข่มขู่คนงาน เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายนายจ้าง ในขณะที่การจ้างงานในทุกภาคส่วนทั้งเอกชน รัฐวิสาหกิจ ไม่เว้นแม้กระทั่งในหน่วยงานราชการทุกหน่วยงาน มีการจ้างงานชั่วคราว สัญญาจ้างงานระยะสั้น รับค่าจ้างรายวัน ไม่มีความมั่นคงในการทำงาน ไม่มีหลักประกันทางสังคม ไม่มีหลักประกันในการดำเนินชีวิต การจ้างงานดังกล่าวคนงานไม่อาจวางแผนชีวิตในอนาคตได้เลย และที่เลวร้ายกว่านั้น คือ ข้าราชการและลูกจ้างภาครัฐ มีข้อยกเว้นของกฎหมายไม่ให้คนเหล่านี้จัดตั้งสหภาพแรงงานได้ ซึ่งถือว่าขัดต่อหลักการปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (UN)

ในส่วนของการจ้างงานในรัฐวิสาหกิจก็ไม่มีความแตกต่าง แม้ว่าวัตถุประสงค์แต่แรกของการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจ คือ การบริหารจัดการทรัพยากรของประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการสร้างงานบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนทุกคนในชาติ แต่ปัจจุบันนักปกครองกลับถูกครอบงำทางความคิดด้วยทุนนิยมเสรีใหม่ กำหนดนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นเอกชนเข้ามาทำหน้าที่แทนรัฐ ส่วนที่ยังคงสถานะให้เป็นรัฐวิสาหกิจ ก็บังคับให้ต้องแสวงหากำไร ลดต้นทุนรายจ่าย จำกัดอัตรากำลังแรงงานด้วยการไม่รับพนักงานใหม่เข้ามาทำงานทดแทนผู้ที่เกษียณอายุ แต่ให้ใช้วิธีการจ้างแรงงาน Outsourcing ผ่านการจ้างแรงงานรับเหมาช่วง การจ้างทำของ รวมทั้งการจ้างแรงงานสัญญาระยะสั้น คนเหล่านี้ จะไม่ได้รับสวัสดิการค่าจ้าง เฉกเช่นพนักงานรัฐวิสาหกิจโดยทั่วไป แม้ว่าจะต้องทำงานที่มีลักษณะงานที่ไม่มีความแตกต่างกันเลย รวมถึงแรงงานนอกระบบ ทั้งภาคเกษตร ภาคการผลิตและภาคบริการ คนทำงานบ้าน คนทำงานอิสระ รับจ้างทั่วไป คนทำงานในรูปแบบการจ้างงานแบบแพลตฟอร์ม (ไรเดอร์) แรงงานข้ามชาติ ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงหลักประกันทางสังคม ต้องต่อสู้เรียกร้องเพื่อชีวิตที่ดีกว่า จากการเอาเปรียบ ขูดรีด จนถึงวันนี้ แม้ว่ารัฐบาลจะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหา ด้วยการออกกฎหมาย ดำเนินการทางนโยบาย แต่ก็เป็นไปด้วยความล่าช้า เพราะด้วยปัญหาที่หมักหมม สั่งสมมาเป็นเวลานาน ทั้งกระบวนการนายหน้า การหาประโยชน์

ดังนั้น ในสถานการณ์ปัจจุบันและในอนาคต รัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทบทวนมาตรการต่างๆ เพื่อให้คนงานเข้าถึงหลักการ “งานที่มีคุณค่า” ที่สำคัญต้องมีหลักประกันให้คนงานสามารถเข้าถึงได้จริง โดยเฉพาะการเสริมสร้างอำนาจการต่อรองให้กับคนงานให้สามารถรวมตัวจัดตั้งองค์กร และมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น คือ ต้องใช้กลไกของคนงาน คือ สหภาพแรงงาน ร่วมดำเนินการในทุกมิติ เพื่อให้ปัญหาการละเมิดสิทธิเบาบางลงซึ่งน่าจะเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้สถานการณ์การละเมิดสิทธิแรงงานของประเทศไทยดีขึ้น และได้รับการยอมรับจากนานาชาติและนั่นหมายถึง บทบาทของไทยในเวทีโลก

สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ร่วมกับสหพันธ์แรงงานระดับสากล (GUF) และเครือข่ายขับเคลื่อนILO87 98 ในฐานะองค์กรแรงงาน อันประกอบไปด้วย สหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงาน สมาพันธ์แรงงาน กลุ่มสหภาพแรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน ได้จัดกิจกรรมวันงานที่มีคุณค่าสากล (World Day for Decent Work) ในวันที่ 7 ตุลาคม 2566 เพื่อรณรงค์ให้เกิดการทำงานที่มีคุณค่าตามหลักอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ รวมทั้งการขับเคลื่อน เพื่อผลักดันให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาผู้ใช้แรงงานที่สะสม หมักหมมมาหลายสิบปีและมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้น ซึ่งหากไม่มีการแก้ไขให้ดีขึ้นย่อมส่งผลกระทบในเชิงลบต่อประเทศไทยในเวทีโลก

ก่อนหน้านี้รัฐบาลไทย ประกาศแผนระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่า ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ที่จะนำประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน รวมทั้งเงื่อนไขที่จะปฏิบัติตามแผนงานของสหประชาชาติ 17 ด้าน (Sustainable development goals : SDGs) นับตั้งแต่ปี ค.ศ.2015 ถึง ค.ศ.2030 ที่จะต้องขจัดความยากจนและความหิวโหยในทุกพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศ สร้างสังคมที่มีความสงบสุข ยุติธรรมและครอบคลุม ปกป้องสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ รวมทั้งเสริมพลังแก่สตรีและเด็กผู้หญิง ปกป้องโลกด้วยการรักษาความสมดุลทางธรรมชาติ รักษาสภาพแวดล้อมของโลก ลดการปล่อยก๊าซที่มีผลต่อภาวะโลกร้อน สร้างสังคมให้ประชาชนได้รับอากาศสะอาด บริสุทธิ์ สิ่งที่กล่าวมานั้น ยากที่จะบรรลุสู่เป้าหมายได้ หากคนกลุ่มใหญ่ คือ ผู้ใช้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ถดถอย ตกต่ำ ไม่มีหลักประกันในการดำรงชีวิต ก็ไม่อาจเป็นจริงได้ ซึ่งรัฐบาลปัจจุบัน ที่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 แม้ว่าไม่มีนโยบายใดๆที่เด่นชัดด้านแรงงาน แต่ตอนหนึ่งในคำแถลงนโยบายยอมรับว่า

“ความท้าทายเหล่านี้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำและความยากลำบากให้กับสังคมไทย ทำให้ประเทศไทยขาดความพร้อมที่จะเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ เกิดวิกฤตศรัทธาของประชาชน และกลายมาเป็นเป้าหมายของรัฐบาลนี้ที่จะต้องแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน สร้างความพร้อม และวางรากฐานเพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้กับคนไทยทุกคน ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต”

ดังนั้น เนื่องในวันงานที่มีคุณค่าสากล ประจำปี 2566 สสรท. และ สรส. จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาล ดังนี้

1. รัฐบาลต้องยกเลิกการจ้างงานที่ไม่มั่นคง การจ้างงานระยะสั้น เช่น เหมางาน เหมาค่าแรงการจ้างงานตามสัญญาจ้าง โดยวางนโยบาย ออกกฎหมาย ให้มีการจ้างงานที่มั่นคง จ้างงานระยะยาวจนถึงวันเกษียณ หรือวันที่ออกจากงาน มีหลักประกันเรื่องค่าจ้างและรายได้ รวมถึงหลักประกันทางสังคมเพื่อคุณภาพชีวิตและอนาคตที่ดีของคนงานและครอบครัว

2. ให้รัฐบาลเร่งรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ค.ศ.1948 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัว และ ฉบับที่ 98 ค.ศ.1949 ว่าด้วยการเจรจาต่อรองร่วม เหตุเพราะอนุสัญญาทั้ง2 ฉบับ เป็นหลักการอันสำคัญให้แก่คนงานในการจัดตั้งองค์กรของตนเอง เพราะสร้างอำนาจการต่อรองอันจะนำไปสู่การแบ่งปันผลประโยชน์ที่เป็นธรรม นำไปสู่การลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ สร้างหลักประกันในการทำงาน และคุณภาพชีวิตของคนงาน

3. รัฐบาลต้องยกเลิกการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ เช่น การจัดตั้งบริษัทลูก การให้สัมปทาน การให้เอกชนร่วมลงทุนแบบ PPP โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจในกิจการพลังงานสาธารณูปโภคสาธารณูปการ โดยสนับสนุนส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือของรัฐเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการอย่างทั่วถึงในราคาที่เป็นธรรม และนำรัฐวิสาหกิจที่แปรรูปไปแล้วกลับคืนมาเป็นของรัฐ มีรูปแบบการบริหารจัดการโดยรัฐ และให้มีการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพในการให้บริการที่ดีมีคุณภาพ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน

สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้มีการประชุม หารือร่วมกับองค์กรสมาชิก และเครือข่าย และลงพื้นที่เพื่อรวบรวมประเด็นปัญหา ความเดือดร้อน ความต้องการของพี่น้องผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน ข้อเรียกร้องที่เสนอสรุปและรวบรวมมาเป็นเพียงประเด็นปัญหาหลักๆ แต่ยังมีประเด็นปลีกย่อยอีกมากที่รอการแก้ไขจากรัฐบาล หน่วยงานของรัฐเพื่อแก้ไขปัญหา พร้อมกับยกระดับคุณภาพชีวิตของคนงานให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ได้เรียกร้องอะไรเกินเลยจากความเดือดร้อน ความจำเป็น และที่สำคัญผู้ใช้แรงงานทั้งระบบเกือบ 40 ล้านคน แรงงานข้ามชาติอีกกว่า 4 ล้านคน หากรัฐบาลแก้ปัญหาของคนส่วนใหญ่ไม่ได้ ประเทศไทยคงหนีไม่พ้นกับดักความยากจน ความเหลื่อมล้ำที่มีสถิติสูงที่สุดในโลก ภาวะรวยกระจุก จนกระจาย คือความเป็นจริงเชิงประจักษ์ที่รัฐบาลต้องเร่งรีบแก้ไขทันที