วันกรรมกรสากลแรงงานเคลื่อนเสนอค่าจ้าง 492 บาท

2 ขบวนแรงงานไทย ยื่น 22 ข้อ ต่อรัฐบาล

วันกรรมกรสากลวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 คณะจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ 15 สภาองค์การลูกจ้างร่วมกับ 1 สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศ นำโดยนายสุชาติ ไทยล้วน ประธานคณะจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ได้เคลื่อนขบวนจากท้องสนามหลวงไปยังกระทรวงแรงงาน เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี จำนวน 8 ข้อ ประกอบด้วย

1.ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในสมาคมและคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และฉบับที่ 98 ว่าด้วยเรื่องสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง

2.ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการนำร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ….ฉบับแก้ไขเข้าสู่รัฐสภาเร่งด่วน

3.ขยายวงเงินเพื่อลดหย่อนภาษีเงินได้ที่ลูกจ้างได้รับก้อนสุดท้าย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน

4.ให้รัฐบาลเพิ่มเติม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 อาทิ หามาตรการให้สถานประกอบการที่รับเหมาช่วงปฎิบัติตามกฏหมาย

5.ปฎิรูปแก้ไขประกันสังคม อาทิ ปรับฐานการรับเงินบำนาญ ขยายอายุผู้ประกันตนจาก 15-60 ปีเป็น 15-70 ปี

6.เร่งออกกฎหมายคุ้มครอง ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพแรงงานนอกระบบ

7.จัดระบบกองทุนสวัสดิการเพื่อเลี้ยงชีพให้กับลูกจ้างรัฐวิสาหกิจให้เทียบเคียงกับระบบสวัสดิการภาคราชการ

8.ให้แต่งตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้อง

อีกขบวนคือคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) นำโดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคสรท. และนายมานพ เกื้อรัตน์ เลขาธิการสรส. เคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มายังประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นข้อเรียกร้อง 14 ข้อดังนี้

  1. รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน

1.1 รัฐต้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 492 บาท เท่ากันทั้งประเทศ

1.2กำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้าให้มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพของตนเองและครอบครัว 2 คน ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ และต้องเท่ากันทั้งประเทศ

1.3กำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้างและมีการปรับค่าจ้างทุกปี

  1. รัฐต้องควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะราคาน้ำมัน เพื่อเพิ่มรายได้ เพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน โดยเฉพาะผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนกิจกรรมเศรษฐกิจฐานล่างในภาพรวมได้อย่างแท้จริง
  2. รัฐต้องหยุดการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในทุกรูปแบบ และให้มีการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพในการให้บริการที่ดี มีคุณภาพ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน

3.1ยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการยกเลิกการออก ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. …. ยกเลิกการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership หรือ PPP) ให้มีการตรวจสอบและหยุดแปรรูปการบริหารจัดการน้ำให้เอกชน อาทิ การบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออกรวมถึงโครงการ ปทุมธานี-รังสิต และอื่นๆ รวมถึงรัฐวิสาหกิจอื่น ซึ่งการบริการสาธารณะและโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ต้องให้รัฐดำเนินการตามหน้าที่ของรัฐที่กำหนดไว้ในมาตรา 56 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและให้รัฐวิสาหกิจได้ดำเนินการตามภารกิจ

3.2 จัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจ

3.3 ให้มีการบริหารจัดการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ

4.รัฐต้องปรับปรุงโครงสร้างทางภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำสร้างเป็นธรรมให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน เพิ่มศักยภาพการจัดเก็บภาษีเพื่อนำมาใช้เป็นงบประมาณแผ่นดินในการพัฒนาประเทศยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนทุกมติทุกคนอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมด้วยการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีน้ำมันที่ซ้ำซ้อน รวมถึงกำหนดการงดเก็บหรือเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันให้มีความเหมาะสม รวมถึงยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าอย่างจริงจัง การจัดเก็บภาษีการซื้อขายหุ้นในอัตราที่ไม่น้อยจนเกินไป ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว

  1. รัฐต้องปฏิรูปการประกันสังคม ดังต่อไปนี้

5.1 รัฐต้องตั้งโรงพยาบาลประกันสังคมให้กับผู้ประกันตน ตามสัดส่วนผู้ประกันตนแต่ละพื้นที่ พร้อมกับผลิตแพทย์ พยาบาลและบุคลากรด้านอื่น ๆ ของสำนักงานประกันสังคมเอง

5.2 สนับสนุน ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งสถาบันการเงินของผู้ใช้แรงงาน (ธนาคารแรงงาน)

5.3 ปฏิรูปโครงสร้างสำนักงานประกันสังคมให้เป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้และให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วม

5.4 การจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมต้องเป็นไปในสัดส่วนที่เท่ากันทั้ง รัฐบาล นายจ้าง และผู้ประกันตน รวมถึงให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบพร้อมดอกเบี้ยส่วนที่ค้างให้ครบ

5.5 ดำเนินการบริหารจัดการ ให้ผู้ประกันตนมาตรา 40 และ มาตรา 33 ได้รับสิทธิประโยชน์ที่เท่าเทียมกัน

5.6 เพิ่มสิทธิประโยชน์สำหรับผู้รับเงินชราภาพเป็นอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเดือนสุดท้าย

5.7 ขยายกรอบเวลาในการเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลของกองทุนเงินทดแทนจนสิ้นสุดการรักษาตามคำวินิจฉัยของแพทย์

  1. รัฐต้องจัดสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพให้แก่ประชาชนทุกคนได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ

6.1ด้านสาธารณสุข ประชาชนทุกคนต้องเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและไม่มีค่าใช้จ่าย

6.2 ด้านการศึกษา ประชาชนทุกคนต้องเข้าถึงการศึกษาในทุกระดับทั้งในระบบและการศึกษาทางเลือกโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

  1. รัฐบาลต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)

7.1 ฉบับที่ 87 ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน

7.2 ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง เพื่อสร้างหลักประกันในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง

7.3 ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา

7.4 ฉบับที่ 190 ว่าด้วยการขจัดความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกของการทำงาน

  1. รัฐบาลต้องยกเลิกนโยบายการจำกัดอัตรากำลังบุคลากรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และยกเลิกนโยบายการลดสิทธิประโยชน์ สวัสดิการของพนักงานและครอบครัว
  2. รัฐต้องกำหนดให้ลูกจ้างภาครัฐในหน่วยงานราชการต่างๆ ทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นรับค่าจ้างจาก

งบประมาณแผ่นดิน และต้องบรรจุเป็นข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างประจำ

  1. รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กรณีที่นายจ้างเลิกจ้างคนงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชย หรือจ่ายไม่ครบที่กฎหมายกำหนด เช่น การปิดกิจการ หรือ การยุบเลิกกิจการในทุก รูปแบบ (ตามรัฐธรรมธรรมนูญ หมวด 5 มาตรา 53)
  2. รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน โดยให้นายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิของคนงาน เมื่อมีการเลิกจ้างหรือปิดกิจการ โดยนายจ้างไม่จ่าย ค่าชดเชย คนงานต้องได้สิทธิรับเงินจากกองทุนนี้ พร้อมทั้งการสนับสนุนค่าดำเนินการทางคดีระหว่างผู้ประกอบการกับคนงาน หรือ รัฐกับผู้ประกอบการที่ทำผิดกฎหมาย
  3. รัฐต้องพัฒนากลไกเข้าถึงสิทธิและการบังคับใช้กฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน อย่างจริงจัง รัฐจะต้องจัดสรรงบประมาณ ให้แก่สถาบันความปลอดภัยฯ ให้เพียงพอ สำหรับการบริหารจัดการเรื่องความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพ และสร้างกลไก กติกา ภายใต้การมีส่วนร่วมของคนงานทุกภาคส่วน และ ยกเลิกการใช้แร่ใยหินทุกรูปแบบ
  4. รัฐต้องยกเลิกการจ้างงานที่ไม่มั่นคง เช่น การจ้างงานแบบชั่วคราว รายวัน รายชั่วโมง เหมาค่าแรงเหมางาน เหมาบริการ และการจ้างงานบางช่วงเวลา ทั้งภาครัฐและเอกชน
  5. ข้อเสนอเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ

14.1 ขอให้รัฐบาลลดค่าใช้จ่ายในการทำเอกสารเหมือนที่เคยปฏิบัติมา คือ 500 บาท สามารถอยู่ในราชอาณาจักรไทย (วีซ่า) ได้ 2 ปี

14.2 รัฐบาลต้องกำหนดมาตรการอย่างเข้มข้นต่อบุคคล นิติบุคลและเจ้าหน้าที่รัฐ นายหน้า ไม่ให้หาประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติ หากตรวจสอบพบต้องลงโทษอย่างรุนแรงเพราะเป็นการกระทำในลักษณะค้ามนุษย์รัฐต้องให้แรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้ประกันตนเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยา

14.3 รัฐบาลไทยต้องไม่เลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติกรณีเงินเยียวยาแรงงาน กล่าวคือ รัฐบาลต้องกำหนดมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเท่าเทียมโดยปราศจากทัศนคติของการเลือกปฏิบัติที่มีต่อแรงงานข้ามชาติ จะต้องไม่ระบุคุณสมบัติเรื่องสัญชาติ และต้องได้รับการเยียวยาในฐานะลูกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานไม่ว่าจะอยู่ในระบบประกันสังคมหรือไม่ก็ตาม

อีกกลุ่มคือเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน และสหภาพคนทำงาน ได้เคลื่อนมาตามถนนพิษณุโลก และสิ้นสุดที่บริเวณใกล้ทำเนียบรัฐบาล โดยชูคำขวัญว่า “รัฐบาลไม่มีน้ำยาไม่เป็นไร เครือข่ายแรงงานแจกให้” พร้อมตั้งเวทีปราศรัยและมีการแสดงสัญลักษณ์โดยระบุว่า “ไม่มีความหวังอะไรกับรัฐบาลนี้” และประณามรัฐบาลที่ไร้น้ำยา ทั้งไม่สามารถทำตามนโยบายของพรรคพลังประชารัฐที่หาเสียงไว้ อย่างเช่นการปรับขึ้นค่าจ้าง 425 บาทเป็นต้น พร้อมช่วงเที้ยงได้มีการสาดน้ำยาตีนไก่ใส่ป้ายภาพของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ, สุชาติ ชมกลิ่น รมต.แรงงาน และคณะรัฐมนตรี(รมต.)ด้วย