ขบวนแรงงาน ตบเท้ายื่นข้อเรียกร้องทั่วประเทศ

วันที่ 30 เมษายน 2564 เนื่องในวันกรรมกรสากล หรือว่าวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม 2564 ปีนี้ขบวนการแรงงานไม่สามารถที่จะออกมาขับเคลื่อนเฉลิมฉลอง เดินขบวนกันได้ด้วยสถานการณืระบาดของโคโรน่า 2019 (โควิด-19) คณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ นำโดยนายสุชาติ ไทยล้วน ประธานคณะกรรมการ นายอาวุธ ภิญโญยง เลขานุการคณะกรรมการ ซึ่งเป็นผู้แทนสภาองค์การลูกจ้าง 15 แห่ง และสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ ยื่นข้อร้องเรียนเพื่อเสนอต่อรัฐบาล เพื่อให้แก้ไขปัญหาแรงงานจำนวน 7 ข้อ และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) ร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) นำโดย นายสาวิทย์ ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และเลขาสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และนายชาลี ลอยสูง อดีตรองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ และเครือข่ายเข้ายื่นหนังสือจำนวน 22 ข้อ โดยกลุ่มนี้ได้มีการกระจายยื่นในระดับจังหวัดทั่วประเทศด้วยในวันเดียวกัน โดยข้อเรียกร้องของแต่ละกลุ่มมีดังนี้

  1. คณกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ จำนวน 7 ข้อ ดังนี้

ข้อ 1 ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 เรื่องการจัดตั้งสหภาพแรงงาน และฉบับที่ 98 เรื่องการเจรจาต่อรอง

ข้อ 2 ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการนำร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. …. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่ผ่านการประชาพิจารณ์มาแล้วเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในรัฐสภาฯ โดยเร่งด่วน

ข้อ 3 ให้รัฐบาลแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

3.1 ให้รัฐบาลยกเว้นภาษีเงินได้ก้อนสุดท้ายที่ลูกจ้างเอกชนได้รับ กรณีการเกษียณอายุตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

3.2 ให้รัฐบาลดำเนินการหามาตรการให้สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างรับเหมาค่าแรง ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 11/1 อย่างเคร่งครัด

3.3 ให้รัฐบาลประกาศยกเลิกกฎกระทรวงฉบับที่ 7 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน

3.4 ให้รัฐบาลจัดให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินที่นายจ้างต้องจ่ายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานอยู่ในบุริมสิทธิลำดับที่ 2

ข้อ 4 ให้รัฐบาลปฏิรูป แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม ดังนี้

4.1 ปรับฐานการรับเงินบำนาญ โดยให้มีอัตราเริ่มต้นที่ 5,000 บาท

4.2 ในกรณีผู้ประกันตนเกษียณอายุ และรับบำนาญแล้ว เมื่อสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ต่อ ให้มีสิทธิรับเงินบำนาญต่อไป และผู้ประกันตนที่รับบำนาญชราภาพให้คงสิทธิไว้ 3 กรณี ได้แก่ การรักษาพยาบาล ทุพพลภาพ และค่าทำศพ

4.3 ในกรณีผู้ประกันตนพ้นสภาพจากมาตรา 33 และประกันตนต่อตามมาตรา 39 การคำนวณเงินค่าจ้างเดิม 60 เดือน เป็นค่าทดแทนต่างๆ ขอให้ใช้ฐานค่าจ้างจากมาตรา 33

4.4 เพิ่มสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลประกันตน มาตรา 40 เหมือนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39

4.5 ขยายอายุผู้ประกันตนจากเดิม ๑๕–๖๐ ปี ขยายเป็น ๑๕–๗๐ ปี เพื่อให้เข้ากับสังคมผู้สูงอายุ

4.6 ในกรณีผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เพื่อสร้างแรงงานจูงใจและลดความ เหลื่อมล้ำ ให้รวมทางเลือกที่ 1 และทางเลือกที่ 2 เป็นทางเลือกเดียวกัน

4.7 กรณีผู้ประกันตนอายุครบ 55 ปี และส่งเงินสมทบครบ 180 เดือนแล้วให้มีสิทธิเลือกรับเงินบำเหน็จ หรือบำนาญได้

ข้อ 5 ให้รัฐบาลเร่งรัดออกกฎหมายคุ้มครองส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพแรงงานนอกระบบและมีสิทธิจัดตั้งองค์กรได้

ข้อ 6 ให้รัฐบาลจัดระบบกองทุนสวัสดิการเพื่อการเลี้ยงชีพให้กับลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจให้เทียบเคียงกับระบบสวัสดิการของทางราชการ และลูกจ้างในระบบของภาคเอกชนรวมถึงขอให้รัฐลดหย่อนภาษีเงินได้ก้อนสุดท้ายที่ได้รับจากนายจ้างที่เรียกว่าค่าตอบแทนความชอบในการทำงานในกฎหมายรัฐวิสาหกิจ

ข้อ 7 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแต่งตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2563

สำหรับข้อเรียกร้องที่เพิ่มมาจากจากปี 2563 คือ ในข้อ 3 ให้รัฐบาลแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ในข้อย่อย ข้อ 3.3 ให้รัฐบาลประกาศยกเลิกกฎกระทรวงฉบับที่ 7 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน และ ข้อ 3.4 ให้รัฐบาลจัดให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินที่นายจ้างต้องจ่ายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานอยู่ในบุริมสิทธิลำดับที่ 2

2.คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ข้อเรียกร้องจำนวน 22 ข้อ ด้งนี้

  1. ให้เร่งฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนโดยเร็วและเปิดโอกาสให้ผู้มีความพร้อมในการนำเข้าและฉีดวัคซีนที่มีมาตรฐานผ่านการรับรองจากรัฐเพื่อฉีดให้แก่คนใกล้ชิดและพนักงาน

ในสถานประกอบการของตนเองเพื่อลดภาระของรัฐ และการฉีดวัคซีนป้องกันโรคต้องครอบคลุมแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในประเทศไทย

2.กำหนดมาตรการดูแลที่ดีพอบุคคลที่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ เช่น บุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข พนักงานที่ให้บริการแก่ประชาชนในการบริการสาธารณะทั้งเรื่องวัคซีน เครื่องมืออุปกรณ์ การตรวจ การป้องกัน ให้เพียงพอ

  1. ให้ประชาชน คนทำงาน ทุกกลุ่มสาขาอาชีพ รวมทั้งแรงงานข้ามชาติ เข้าถึงการบริการการตรวจโรคอย่างทั่วถึง เท่าเทียมและเป็นธรรม
  2. ให้รัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่ายของประชาชน ในเรื่องสาธารณูปโภค สาธารณูปการ เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าโทรศัพท์ เป็นต้น เพราะจะเกิดประโยชน์กับทุกคน ทุกครอบครัว และการสนับสนุนนี้ต้องเป็นงบประมาณจากรัฐมิใช่ผลักภาระให้หน่วยงานบริการ
  3. การเยียวยา ช่วยเหลือ หากมีความจำเป็น ต้องเท่าเทียม เป็นธรรม โดยไม่เลือกปฏิบัติครอบคลุมคนยากจน คนรายได้น้อย และดูแลแรงงานข้ามชาติอย่างเหมาะสมในฐานะมนุษย์ที่มีความทุกข์ยากเหมือนกัน
  4. ยกเลิก หรือ ลด การเก็บค่าบำรุงการศึกษา (ค่าเทอม) เพราะรัฐบาลมีนโยบายให้มีการเรียนผ่านระบบออนไลน์
  5. รัฐบาลต้องควบคุมราคาสินค้าไม่ให้มีราคาแพงและลงโทษกับผู้ที่ฉวยโอกาส บนความทุกข์ยากของประชาชน

8. รัฐต้องควบคุมการจัดการเรื่องโควิด 19 โดยเฉพาะเรื่องการจัดซื้อ จัดจ้าง การใช้จ่ายงบประมาณ เป็นไปด้วยความโปร่งใส ไม่ให้มีการทุจริตในทุกระดับขั้นตอน

9. รัฐต้องหาแนวทาง สร้างมาตรการให้หน่วยงาน สถานประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชนให้รักษาการจ้างงานเอาไว้ไม่ให้มีการเลิกจ้าง หรือใช้สถานการณ์โควิดเลิกจ้างคนงานเพราะจะเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ให้วิกฤตเพิ่มมากขึ้น

10. รัฐบาลได้ประกาศให้โรคโควิด 19 เป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง ซึ่งมีผลกระทบต่อคนทํางานที่เจ็บป่วยจากโรคดังกล่าว และในอนาคตเป็นไปได้ว่าอาจจะมีโรคระบาดใหม่ ๆ เกิดขึ้นอีก ดังนั้น รัฐบาลจะต้องกำหนดระเบียบหรือมาตรการที่ชัดเจนในเรื่องของการคุ้มครอง การรักษาพยาบาล และสิทธิประโยชน์ค่าทดแทนให้กับคนงานที่อาจจะเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตจากโรคเหล่านี้

ข้อเสนอทั่วไป

  1. รัฐต้องจัดสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพให้แก่ประชาชนทุกคนได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ

1.1 ด้านสาธารณสุข ประชาชนทุกคนต้องเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและไม่มีค่าใช้จ่าย

1.2 ด้านการศึกษา ประชาชนทุกคนต้องเข้าถึงการศึกษาในทุกระดับ ทั้งในระบบและการศึกษาทางเลือกโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

  1. รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน

2.1 กำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้าให้มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพของตนเองและครอบครัว 2 คน ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ และต้องเท่ากันทั้งประเทศ

2.2 กำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้างและมีการปรับค่าจ้างทุกปี

  1. รัฐบาลต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)

3.1 ฉบับที่ 87 ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน

3.2 ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง เพื่อสร้างหลักประกันในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง

3.3 ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา

  1. รัฐต้องหยุดการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในทุกรูปแบบ และให้มีการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพในการให้บริการที่ดี มีคุณภาพ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน ดังนี้

4.1 ยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ

4.2 จัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจ

4.3 ให้มีการบริหารจัดการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้และการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ

  1. รัฐบาลต้องยกเลิกนโยบายการจำกัดอัตรากำลังบุคลากรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และยกเลิกนโยบายการลดสิทธิประโยชน์ สวัสดิการของพนักงานและครอบครัว
  2. รัฐต้องกำหนดให้ลูกจ้างภาครัฐในหน่วยงานราชการต่าง ๆ ทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นรับค่าจ้างจากงบประมาณแผ่นดิน และต้องบรรจุเป็นข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างประจำ
  3. รัฐต้องปฏิรูปการประกันสังคม ดังต่อไปนี้

7.1 ปฏิรูปโครงสร้างสำนักงานประกันสังคมให้เป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วม

7.2 การจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมต้องเป็นไปในสัดส่วนที่เท่ากันทั้ง รัฐบาล นายจ้าง และผู้ประกันตน

7.3 ดำเนินการบริหารจัดการ ให้ผู้ประกันตนมาตรา 40 และ มาตรา 33 ได้รับสิทธิประโยชน์ที่เท่าเทียมกัน

7.4 เพิ่มสิทธิประโยชน์สำหรับผู้รับเงินชราภาพเป็นอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเดือนสุดท้าย

7.5ให้สำนักงานประกันสังคมประกาศใช้อนุบัญญัติทั้ง 17 ฉบับ ที่ออกตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับแก้ไข พ.ศ.2558

7.6 ขยายกรอบเวลาในการเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลของกองทุนเงินทดแทน จนสิ้นสุดการรักษาตามคำวินิจฉัยของแพทย์

7.7 สนับสนุน ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งสถาบันการเงินของผู้ใช้แรงงาน (ธนาคารแรงงาน) และจัดสร้างโรงพยาบาล ในภูมิภาคต่าง ๆ ตามสัดส่วนผู้ประกันตนในพื้นที่พร้อมกับผลิตแพทย์ พยาบาลและบุคลากรด้านอื่น ๆ ของสำนักงานประกันสังคมเอง

  1. รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กรณีที่นายจ้างเลิกจ้างคนงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชย หรือจ่ายไม่ครบที่กฎหมายกำหนด เช่น การปิดกิจการ หรือ การยุบเลิกกิจการในทุกรูปแบบ (ตามรัฐธรรมธรรมนูญ หมวด 5 มาตรา 53)
  2. รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน โดยให้นายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิของคนงาน เมื่อมีการเลิกจ้างหรือปิดกิจการ โดยนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย คนงานต้องได้สิทธิรับเงินจากกองทุนนี้ พร้อมทั้งการสนับสนุนค่าดำเนินการทางคดีระหว่างผู้ประกอบการกับคนงาน หรือ รัฐกับผู้ประกอบการที่ทำผิดกฎหมาย
  3. รัฐต้องพัฒนากลไกเข้าถึงสิทธิและการบังคับใช้กฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน อย่างจริงจัง รัฐจะต้องจัดสรรงบประมาณ ให้แก่สถาบันความปลอดภัยฯ ให้เพียงพอ สำหรับการบริหารจัดการเรื่องความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพ และสร้างกลไก กติกา ภายใต้การมีส่วนร่วมของคนงานทุกภาคส่วน และ ยกเลิกการใช้แร่ใยหินทุกรูปแบบ

11.รัฐต้องยกเลิกการจ้างงานที่ไม่มั่นคง เช่น การจ้างงานแบบชั่วคราว รายวัน รายชั่วโมง เหมาค่าแรง เหมางาน เหมาบริการ และการจ้างงานบางช่วงเวลา ทั้งภาครัฐและเอกชน

  1. ข้อเสนอเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ

12.1 รัฐบาลต้องสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สำหรับทุกคนโดยไม่คำนึงถึงสถานะและไม่เลือกปฏิบัติต่อชาติใดชาติหนึ่งเพื่อประสิทธิภาพในการเข้าถึงการรักษาโรคและเยียวยาต่อแรงงานข้ามชาติโดยไม่เลือกปฏิบัติ

12.2 รัฐบาลต้องให้แรงงานข้ามชาติทุกคนเข้าถึงสิทธิเงินกองทุนทดแทน เมื่อเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานไม่ว่ากรณีใด

12.3 รัฐบาลต้องให้โครงการเยียวยา “ม. 33 เรารักกัน” ช่วยเหลือเยียวยากับแรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 โดยไม่เลือกปฏิบัติและยกเลิกเงื่อนไขว่าต้องมีสัญชาติไทยและให้การช่วยเหลือผู้ประกันตนมาตรา 38

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเสนอที่ได้ยื่นเสนอต่อท่านนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาลจะได้รับการตอบสนองโดยเร็ว ทั้งนี้ ก็เพื่อประโยชน์และความต้องการให้คนงาน ผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ มีหลักประกันในการทำงาน และหลักประกันในการดำเนินชีวิตอันเป็นเป้าหมายเพื่อการพัฒนาประเทศให้มี “ความมั่นคง ก้าวหน้า ยั่งยืน” ดังที่นายกรัฐมนตรีพูดตอกย้ำเสมอมา

(รายงานโดยวาสนา ลำดี)