สปส.เคาะมาตรการช่วยผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19

คณะกรรมการประกันสังคม ลงมติออกมาตรการ หนุนช่วยผู้ประกอบการ และผู้ประกันตน ผลพวงไวรัสโควิด-19 เห็นชอบให้จ่ายประโยชน์ทดแทนว่างงานเพิ่มกรณีลาออก ร้อยละ 45 ไม่เกิน 90 วัน และกรณีเลิกจ้าง ร้อยละ 70 ไม่เกิน 200 วัน เป็นเวลา 2 ปี

นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน ประธานคณะกรรมการประกันสังคม เปิดเผยกับสื่อมวลชน กรณีคณะกรรมการประกันสังคมมีมติ ในวันนี้ 20 มีนาคม 2563 เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน กรณีสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ดังนี้

  1. ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยให้ขยายความคุ้มครองผู้ประกันตนจากภัยอันเกิดจากโรคที่แพร่หรือระบาดในมนุษย์ รวมทั้งภัยอื่นๆ ไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติ หรือมีผู้ทำให้เกิดขึ้น ให้มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป โดยให้

– ผู้ประกันตนที่ไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน ประกันสังคมจะจ่ายกรณีว่างงาน อัตราร้อยละ 50 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน

– กรณีหน่วยงานภาครัฐ มีคำสั่งให้หยุดกิจการชั่วคราว ประกันสังคมจะจ่ายกรณีว่างงาน ร้อยละ 50 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 60 วัน

  1. เห็นชอบให้ลดอัตราเงินสมทบนายจ้าง และผู้ประกันตน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นอัตราร้อยละ 4 เป็นระยะเวลา 6 เดือน พร้อมทั้งยังเห็นชอบให้ขยายกำหนดเวลาการนำส่งเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตนมาตรา 33, 39 สำหรับงวดค่าจ้างเดือนมีนาคม เมษายน และพฤษภาคม 2563 ออกไปอีก 3 เดือน โดยงวดค่าจ้างเดือนมีนาคม 2563 ให้นำส่งเงินภายใน 15 กรกฎาคม 2563 สำหรับงวดค่าจ้างเดือนเมษายน 2563 ให้นำส่งเงินภายใน 15 สิงหาคม 2563 และงวดค่าจ้างเดือนพฤษภาคม 2563 ให้นำส่งเงินภายใน 15 กันยายน 2563
  2. ในเรื่องการรักษาพยาบาล คณะกรรมการฯ มีมติให้ดูแลรักษาผู้ประกันตน ที่ป่วยจากไวรัสโควิด-19 ให้ดีที่สุดตามมาตรฐานการรักษาพยาบาลที่กำหนด

นอกจากนี้ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกันตนในภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นไม่ว่าในทางเศรษฐกิจหรือผลกระทบจากปัจจัยอื่นใด คณะกรรมการยังมีมติเห็นชอบให้จ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเพิ่มขึ้นแก่ผู้ประกันตน ที่ว่างงานจากกรณีลาออก ร้อยละ 45 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน และจ่ายให้แก่ผู้ประกันตนที่ว่างงาน จากกรณีเลิกจ้าง ร้อยละ 70 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 200 วัน ทั้งนี้ มาตรการนี้ให้ใช้บังคับเป็นระยะเวลา 2 ปี หลังจากนี้คณะกรรมการฯ จะพิจารณาวิเคราะห์และมีมติพิจารณาอีกครั้ง

ในการนี้ได้เร่งรัดให้มีผลบังคับโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้  เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของภาครัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในการบรรเทาความเดือดร้อน ของนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน ต่อไป

ด้านนางสาวอรุณี ศรีโต กรรมการประกันสังคม ฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ฝ่ายของลูกจ้างพยายามที่จะเสนอในคณะกรรมการประกันสังคม ให้เพิ่มสิทธิกรณีว่างงานมากกว่านี้ คือ กรณีลาออกจากงานให้เพิ่มเป็นร้อยละ 50 ของค่าจ้าง เป็นเวลา 6 เดือน (180วัน) และกรณีว่างงานจากการถูกเลิกจ้างให้เพิ่มสิทธิเป็นร้อยละ 80 เป็นเวลา 8 เดือน (240 วัน)  แต่ว่าที่ปรึกษาสำนักงานประกันสังคมไม่เห็นด้วย เนื่องจากมองว่า จะสูญเสียเงินจำนวนมาก โดยทางที่ปรึกษามีการคำนวนเม็ดเงินมาเรียบร้อยถึงความเสี่ยง ซึ่งเราในฐานะผู้แทนของแรงงานก็พยายามที่เสนอโดยสรุปมาติก็ออกมาอย่างที่เห็น คือว่างงานจากการลาออก ได้ ร้อยละ45ของค่าจ้าง เป็นเวลา 90 วัน และกรณีถูกเลิกจ้างเพิ่มเป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้างเป็นเวลาไม่เกิน 200 วัน ซึ่งก็ใช้เวลาถกเถียงกันนาน ซึ่งตอนนี้เราก็มีตัวแทนในบอร์ดเพียง 3 คนเท่านั้น

ส่วนประเด็นที่รัฐบาลสั่งให้หยุดชั่วคราวเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโควิค-19 นั้นในส่วนของอดีตคนงานไทยเกรียงที่ไปทำงานนวดในสปา นายจ้างต้องปิดตามรัฐสั่ง 14 วันนายจ้างจ่ายค่าจ้างให้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นนายจ้างที่ดีและเข้าใจว่าลูกจ้างเองก็ได้รับผลกระทบ แต่นายจ้างแบบนี้อาจมีน้อย ซึ่งประกันสังคมได้มีมาตรการช่วยเรื่องดังกล่าวออกมาด้วย คือจ่ายให้ร้อยละ 50ของค่าจ้างเป็นเวลา 60 วัน

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือกรณีที่ลูกจ้างถูกนายจ้างบังคับให้หยุดงาน หรือให้ลางาน โดยที่ไม่ได้เข้าข่ายกรณีที่รัฐสั่งให้หยุดชั่วคราว จะเข้ากับกรณีที่ ลูกจ้างที่ไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน ประกันสังคมจะจ่ายกรณีว่างงาน อัตราร้อยละ 50 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน หรือไม่แล้วอีก 50 วันใครจะจ่ายค่าจ้างตรงนั้น

กรณีเจ็บป่วยจากการติดไวรัสโควิด-19 ก็เป็นประเด็นถกเถียงมากทีเดียว ด้วยทางโรงพยาบาลเอกชนในระบบประกันสังคมมองว่า ไม่สามารถรักษาผู้ประกันภายใต้ระบบเหมาจ่ายของประกันสังคม หากพบว่าผุ้ประกันตนป่วยจะส่งตัวไปยังโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งตรงนี้ทางผู้แทนผู้ประกันตนมองว่า โรงพยาบาลในระบบประกันสังคมไม่ควรปฏิเสธการรักษา แล้วผลักภาระให้กับทางโรงพยาบาลภาครัฐอย่างเดียว จึงเสนอว่า หากพบผู้ประกันตนป่วยต้องรักษา และประกันสังคมต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายไปก่อน โดยมองว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบส่วนต่างค่ารักษานี้ให้กับโรงพยาบาลในระบบประกันสังคม หากพบผู้ป่วยด้วย ไม่ควรจะแตกต่างจากระบบหลักประกันสุขภาพ โดยประกันสังคมจ่ายก่อนแล้วไปเรียกเก็บที่รัฐบาล ไม่ใช่โยนผู้ป่วยไปมา

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2563 นายวิจิตร ดาสันทัด ประธานสหพันธ์แรงงานธุรกิจโรงแรม และบริการ ภูเก็ต ถึงสถานการณ์แรงงานในภาคบริการจังหวัดภูเก็ตขณะนี้นั้น มีผลกระทบเป็นวงกว้างมากตั้งแต่ส่วนของประเภทกิจการร้านขายของทีระลึกให้กับนักท่องเที่ยว หลังสถานการณ์ไวรัสโคโรนา โควิด-19 ส่งผลให้ร้านค้าต้องปิดกิจการกันจำนวนมากโดยเฉพาะกิจการที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวชาวจีน

ผลพวงต่อมาเป็นรถรับจ้างที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวทั่วไปหลังจากที่นักท่องเที่ยวไม่ว่าจะรัสเซีย และอีกหลายประเทศในแถบยุโรปหายไปก็ส่งผลกระทบเรื่องงานที่หายไปขาดรายได้

กรณีหนักสุดและคิดว่ากระทบหนักมากคือ ประเภทกิจการโรงแรม ที่มีทั้งโรงแรมขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ตอนนี้มีมาตรการต่อการจ้างงานของแต่ละแห่งแตกต่างกัน เช่น โรงแรมที่มีสหภาพแรงงานจะมีการใช้ มาตรการจากเบาไปหาหนัก โดย มีการปรึกษาหารือกับสหภาพแรงงาน มาตรการที่หนึ่ง คือ ให้ลูกจ้างใช้วันลาพักร้อนที่มีทั้งหมดก่อน มาตรการที่สอง ให้ลาหยุดเดือนละ 15 วัน จ่ายค่าจ้างร้อยละ 50 แต่ในประเภทโรงแรมที่ไม่มีสหภาพแรงงานบางแห่งจะใช้มาตรการให้หยุดโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งเมื่อเดือนที่ผ่านมามีการนำมาตราการ ให้ลาหยุด 15 วันโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ให้ทำงาน 15 วันได้รับค่าจ้าง หนักสุดคือให้หยุดทั้งเดือนโดยไม่ได้รับค่าจ้างเลย โดยใช้วิธีเรียกลูกจ้างมาพบและให้ลาหยุดโดยไม่ได้รับค่าจ้าง หากดูโครงสร้างการบริหารประเภทกิจการโรงแรมในประเทศไทยนั้น เป็นโรงแรมในเครือขนาดใหญ่ในต่างประเทศด้วย หากเกิดผลกระทบก้ต้องใช้มาตรการแบบเดียวกันทั่วโลกหรือไม่

นายวิจิตร ยังกล่าวอีกว่า ช่วงต้นเดือนมกราคม 2563 มีแขกมาใช้บริการค้อนข้างเต็มทุกที่ แต่พอตอนนี้ฝ่ายบริหารบอกว่ารับผิดชอบค่าจ้างแรงงานไม่ไหวให้แรงงานต้องแบกภาระกันเองด้วยการรับค่าจ้างร้อยละ 50 หรือบางแห่งไม่จ่ายเลยร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งดูจะไม่เป็นธรรมกับแรงงานที่ทำงานมานาน และอยากเห็นมาตรการที่ดูแลแรงงานบ้าง ไม่ใช่มุ่งไปเพียงนายจ้าง แบบระบบอุปถัมป์โดยหวังว่า หากให้นายจ้างแล้วนายจ้างจะมาจ่ายให้กับลูกจ้างร้อยเปอร์เซ็นต์นั้นไม่จริง

ด้านนายสุเทพ อู่อ้น ประธานกรรมาธิการการแรงงาน(ปธ.กมธ.แรงงาน) กล่าวว่า ตนได้แถลงข่าวที่รัฐสภา เกียกกาย เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2563 โดยแถลง ข้อเสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด – 19 เพื่อให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบพิจารณาประกอบด้วย

  1. กำหนดให้การกักตัว 14 วัน เป็นสิทธิของลูกจ้าง นายจ้างฝ่าฝืนต้องมีโทษ ห้ามบีบบังคับข่มขืนใจให้มาทำงานในภาวะเสี่ยง และห้ามให้การกักตัว 14 วันเป็นเงื่อนไขในการเลื่อนขั้น หากการป่วยเกิดจากการติดในที่ทำงานควรได้รับผลประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทน, ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 (แรงงานนอกระบบ) ที่กักตัวอยู่บ้านควรได้รับเงินทดแทนรายได้
  2. การเข้าอุดหนุนสำหรับภาคธุรกิจที่มีปัญหาในการประกอบกิจการ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและโรงแรม โดยรัฐจ่ายเงินเดือนร้อยละ 50 ให้เป็นเวลา 3 เดือน ไม่เกิน 15,000 บาท ต่อคน
  3. การลดเงื่อนไขการเข้าตรวจแบบไม่มีค่าใช้จ่ายกับโรงพยาบาลที่ถือหลักประกัน ไม่ว่า จะเป็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือประกันสังคม พร้อมจัดหาเสบียง/อุปกรณ์ดำรงชีพ ให้ประชาชนในระหว่างที่ถูกกักตัว เนื่องจากไม่สามารถออกไปข้างนอกได้

ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องเน้นการประชาสัมพันธ์ โครงการรักษาพยาบาลของภาครัฐ ว่า ไม่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคร้ายแรง ถือเป็นหน้าที่รัฐต้องจัดการควบคุม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง นอกจากนี้ยังต้องเพิ่มค่าเสี่ยงภัยให้บุคลากรสาธารณสุขด้วยรวมทั้งจัดรถเมล์ฟรี เพื่อเลี่ยงการติดเชื้อ ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล สำหรับแรงงานนอกระบบต้องเร่งพัฒนาระบบเงินเดือนให้เปล่า เพื่อสร้างความมั่นคงในระยะยาวสำหรับไว้ทำงานด้วย

นายสุเทพ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเด็นข้อเสนอให้รัฐบาลจัดงบประมาณในการอุดหนุนสำหรับธุรกิจภาคการบริการ และการท่องเที่ยว และโรงแรม โดยให้รัฐจ่ายเงินเดือนร้อยละ 50 ให้เป็นเวลา 3 เดือน ไม่เกิน 15,000 บาท ต่อคน ด้วยมองว่า หากนายจ้างจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างเพียงร้อยละ 50 นั้นลูกจ้างไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเพียงพอภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันที่มีค่าครองชีพที่สูง และสถานการณ์ภาคธุรกิจดังกล่าวเองก็มีปัญหา จึงอยากเห็นมาตรการที่ชัดเจนของภาครัฐในการช่วยเหลือแรงงาน และสถานประกอบการอย่างเป็นรูปธรรมด้วย

วาสนา ลำดี รายงาน