วันสตรีสากล กลุ่มผู้หญิงยื่น ขอแก้รัฐธรรมนูญ พร้อมรับรองอนุสัญญาILO

กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี  ชูคำขวัญ “ผู้หญิงต้องกำหนดอนาคตตนเอง” ในวันสตรีสากล ยื่น ขอแก้รัฐธรรมนูญ และให้รับรองอนุสัญญาILOหลายฉบับ แก้ปัญหาเร่งด่วน 13 ข้อ ด้านสหพันธ์สิ่งทอฯ ชูคำขวัญ “หยุดละเมิดสิทธิสตรี เสรีภาพต้องเท่าเทียม” ประสานเสียงแก้รัฐธรรมนูญ ถวงคำสัญญานโยบายรัฐบาลที่ให้ไว้ เห็นพ้องร่วมทั้งลาคลอด 180 วัน ผู้ชายลาดูแลบุตรและภรรยาหลังคลอด 8 มีนาเป็นวันหยุด

วันที่ 8 มีนาคม 2563 กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ร้วมกับเครือข่ายผู้หญิงกลุ่มต่างๆทั้งในระบบ นอกระบบ ข้ามชาติ รัฐวิสาหกิจ  เดินรณรงค์เนื่องในวันสตรีสากล ซึ่งครั้งนี้ไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงถามข้อเรียกร้องที่รัฐบาลเดิมที่ยังไม่แก้ไข พร้อมยื่นข้อเรียกร้องเพิ่มเป็น 13 ข้อ โดยได้ยื่นข้อเรียกร้องผ่านผู้แทนรัฐบาล ที่มารับหนังสือ คือนายสุรศักดิ์ เรียงเครือ รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และ ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ฝากถึงนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

นางสาวธนพร วิจันทร์ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ได้อ่านแถลงว่า พี่น้องหญิงชายและทุกเพศสภาพอันเป็นที่รัก และเคารพยิ่งทั้งหลาย….. “วันสตรีสากล” ซึ่งตรงกับวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี ขบวนผู้หญิงทั่วโลกได้ร่วมรำลึกเฉลิมฉลองวันที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์นี้มาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน สำหรับปี 2563 นี้ กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีร่วมกับองค์กรเครือข่ายหลากหลายภาคส่วน จัดกิจกรรมวันสตรีสากล เพื่อรำลึกถึงประวัติศาสตร์อันมีพลังสืบทอดเจตนารมณ์แห่งการต่อสู้เพื่อสิทธิของคนงานหญิง และเพื่อขับเคลื่อนการต่อสู้ในยุคสมัยปัจจุบันไปสู่ความเสมอภาคระหว่างเพศและคุณภาพชีวิตที่ดีสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

วันสตรีสากล ก่อกำเนิดมาจากการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของคนงานหญิงในโรงงานสิ่งทอที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จากสภาพการทำงานที่เลวร้าย จึงได้ลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องให้นายจ้างเพิ่มค่าจ้างและปรับปรุงสภาพการทำงานรวมทั้งลดเวลาทำงานให้เหลือวันละ 8 ชั่วโมง หรือระบบสามแปด การประท้วงหลายครั้งจบลงด้วยการใช้ความรุนแรงต่อคนงานหญิง

อย่างไรก็ตาม การเรียกร้องได้แพร่หลายและได้รับการสนับสนุนจากทั่วโลก ในเวทีการประชุมสมัชชานักสังคมนิยมหญิงนานาชาติ “คลารา เซทคิน” ซึ่งเป็นผู้นำในการต่อสู้และผู้นำคนหนึ่งของสมัชชาฯ จึงได้เสนอให้ วันที่ 8 มีนาคม เป็น “วันสตรีสากล” เพื่อรำลึกถึงการต่อสู้ดังกล่าว และได้รับการสนับสนุนจากที่ประชุมอย่างเป็นเอกฉันท์ ซึ่งต่อมาสหประชาชาติได้มีการรับรองเป็นวันสตรีสากล ผู้หญิงแทบทุกประเทศทั่วโลก ต่างใช้วันสตรีสากลเป็นสัญลักษณ์ เพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จในการต่อสู้ และแสดงความมุ่งมั่นที่จะขจัดอุปสรรคที่ยังมีอยู่

ซึ่งในประเทศไทยได้ขยายตัวเป็นพลังของขบวนหญิงชาย และทุกเพศสภาพ ที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นคน พลังกว้างขวางเพิ่มจากแรงงานในระบบอุตสาหกรรม ไปสู่คนทำงานหญิงหลากหลายสาขาอาชีพ รวมทั้งชาวไร่ ชาวนา เกษตรกร นำมาสู่การเรียกร้องสิทธิประชาธิปไตยที่มีส่วนร่วมของหญิงชาย สิทธิมนุษยชน และคุณภาพชีวิตของทุกคน

วันนี้เรามารวมพลังกันเพื่อส่งเสียงความทุกข์ยาก ความเดือดร้อนของพี่น้องผู้หญิงทุกภาคส่วนที่ถูกกระทำถูกละเมิดสิทธิ เพื่อย้ำเตือนถึงพลังแห่งความต้องการการเปลี่ยนแปลง เสียงของเราจะไปถึงพี่น้องของเราถึงประชาชนทุกภาคส่วนในสังคมไทย และถึงผู้มีอำนาจในบ้านเมือง นั่นก็คือรัฐบาล เสียงของผู้หญิงทุกกลุ่ม ทุกภาค ทุกสาขาอาชีพ เพื่อนำเสนอคุณภาพชีวิตคนทำงานหญิงต้องยั่งยืนและมีความเสมอภาคระหว่างเพศ

ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากร ซึ่งเป็นหญิงมากกว่าประชากรชาย การออกแบบแนวทางการปฏิรูปประเทศ ตลอดจนระบอบการเมืองและการบริหารประเทศย่อมส่งผลต่อประชากรหญิงจึงสำคัญอย่างยิ่ง ผู้หญิงไม่เพียงแต่ต้องเผชิญปัญหาที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมร่วมกับผู้ชาย เช่น ความยากจน การไม่มีที่ดินทำกิน ปัญหาการถูกแย่งชิงฐานทรัพยากรจากนโยบายของรัฐ การถูกลิดรอนสิทธิชุมชน การไม่มีส่วนร่วมในการจัดการและการตัดสินใจ การเข้าไม่ถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม และความไม่ปลอดภัยจากความรุนแรงในสถานการณ์สามจังหวัดภาคใต้

ขณะเดียวกันผู้หญิงยังต้องเผชิญกับปัญหาเฉพาะ เช่น ความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงทางเพศ การค้ามนุษย์ ที่มีสาเหตุจากอคติทางเพศ และการปิดกั้นโอกาสที่เท่าเทียมบนหลักการความเสมอภาคระหว่างเพศ ทั้งยังขาดมาตรการที่ปฏิบัติได้จริงในการส่งเสริมโอกาสให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทุกมิติทุกระดับในทางการเมืองการบริหาร และการกำหนดนโยบายการพัฒนาประเทศ เราต้องการให้สังคมตระหนักว่า ยังมีปัญหาการละเมิดสิทธิอย่างรุนแรงต่อผู้ใช้แรงงานในระบบ นอกระบบ ทั้งภาคเอกชน และรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ แรงงานข้ามชาติ กลุ่มผู้ป่วยจากการทำงาน กลุ่มที่ต่อสู้เพื่อสิทธิในการจัดการฐานทรัพยากร ป่าไม้ ที่ดิน เหมืองแร่ น้ำ

ในขอบเขตทั่วประเทศ ผู้หญิงที่เข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม ครอบครัวที่ถูกอุ้มหายจากการต่อสู้ ผู้หญิง ผู้พิการ กลุ่มผู้หญิงชนเผ่า กลุ่มผู้หญิง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เสี่ยงภัยความรุนแรง กลุ่มผู้หญิงชาวไร่ ชาวนา กลุ่มผู้หญิงคนจนเมืองคนสลัม กลุ่มผู้หญิงเยาวชน กลุ่มความหลากหลายทางเพศ รวมถึงปัญหาของเด็ก ลูกหลานครอบครัวของเรา

การนำเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลครั้งแล้วครั้งเล่า รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาของเรา แต่เราไม่เคยท้อถอย รัฐบาลต้องฟังเสียงประชาชน ต้องฟังเสียงผู้หญิงและทุกเพศสภาพ พวกเราเชื่อมั่นว่า ข้อเสนอของเราที่ต้องเน้นหลักการเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ความยั่งยืนของผู้หญิงทำงาน และต้องมีความเสมอภาคระหว่างเพศ เป็นข้อเสนอที่ชัดเจน ชอบธรรม และเป็นประโยชน์ต่อทุกคน และต่อการพัฒนาประเทศ

ปัจจุบันนี้สถานการณ์ฝุ่น P.M 2.5 สถานการณ์ของเชื้อไวรัส โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเด็ก ผู้หญิง ผู้ชาย ทุกเพศสภาพ และประชาชนทุกกลุ่มของสังคม แต่มาตรการของรัฐบาลที่ออกมาประชาชนไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกัน เช่นหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ซึ่งเป็นอุปกรณ์พื้นฐานป้องกันเบื้องต้นประชาชนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเอง ดังนั้นจึงขอให้รัฐบาลจัดหาอุปกรณ์ป้องกันให้กับประชาชนทุกคนได้อย่างทั่วถึง

พี่น้องหญิงชายทุกเพศสภาพทั้งหลาย ผู้ที่เป็นแม่ เป็นเมีย เป็นลูก พี่น้องทุกคนของเรา เราจะไม่ยอมจำนนต่อการกระทำของกลุ่มที่เอาแต่ผลประโยชน์ ไม่ว่ากลุ่มทุน กลุ่มนักการเมือง ข้าราชการหรืออำนาจพิเศษใด ๆ เราจะต้องปกป้องสิทธิความชอบธรรมของตนเอง เราต้องกำหนดอนาคตของเราเอง

เนื่องในโอกาสครบรอบวันสตรีสากล 2563 กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีขอยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลจำนวน 13 ข้อดังนี้

  1. รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา
  2. รัฐต้องกำหนดให้ผู้หญิงมีสิทธิลาคลอดได้ 180 วัน โดยได้รับค่าจ้าง 100% และให้ผู้ชายลาไปดูแลภรรยาคลอดบุตรได้ 30 วัน โดยได้รับค่าจ้าง 100%
  3. รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 190 ว่าด้วยการขจัดความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงาน
  4. รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้านและ อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 177 ว่าด้วยงานที่รับไปทำที่บ้าน เพื่อให้แรงงานนอกระบบ ได้รับการคุ้มครองอย่างเคร่งครัดและเป็นธรรม

5. รัฐธรรมนูญต้องแก้ไขให้ประชาชนได้รับสิทธิทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมด้วยมีส่วนร่วมทั้งชาย หญิง ทุกกลุ่มทุกเพศสภาพ

6. รัฐต้องจัดให้มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียนอย่างทั่วถึง มีคุณภาพ ปรับเปลี่ยนเวลาปิด-เปิด ให้สอดคล้องกับวิถีการทำงาน

7. รัฐต้องมีมาตรการ การแก้ไขละเมิดสิทธิแรงงาน สร้างความมั่นใจในการทำงานและค่าตอบแทนที่เป็นธรรม

8. รัฐต้องให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 0-6 ปี

9. รัฐต้องกำหนดสัดส่วนผู้หญิงและเพศสภาพในการตัดสินใจของคณะกรรมการทุกมิติ ทุกระดับ อย่างน้อย 1 ใน 3

10. รัฐต้องกำหนดให้คนพิการเข้าถึงสิทธิการบริการที่เท่าเทียมกับคนทั่วไป

11. รัฐต้องจัดให้มีพื้นที่ปลอดภัยให้กับผู้หญิงและเด็กใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และในที่สาธารณะ

12. รัฐต้องเคารพสิทธิการพัฒนาของประชาชนและคุ้มครองนักต่อสู้ผู้หญิงด้านสิทธิแรงงาน สิทธิชุมชน และเกี่ยวกับสิทธิฐานทรัพยากรสิ่งแวดล้อม

13.รัฐต้องกำหนดให้วันที่ 8 มีนาคมของทุกปีเป็นวันหยุดตามประเพณี

ทุกอย่างไม่ได้มาด้วยการร้องขอ แต่ต้องได้มาจากการรวมพลังต่อสู้ผลักดัน สามัคคีกัน แสดงความกล้าหาญ ในการลุกขึ้นต่อสู้ให้พวกที่กดขี่ ขูดรีดเอาเปรียบเรา ได้รับรู้ว่า เราเป็นคนมีศักดิ์ศรี เราต้องมีสิทธิเสรีภาพ และเราต้องได้รับความเป็นธรรมในทุก ๆ ด้าน ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืน คำขวัญคือ “ผู้หญิงต้องกำหนดอนาคตตนเอง” ด้วยความเชื่อมั่นพลังการต่อสู้

ด้านนายสุรศักดิ์ เรียงเครือ กล่าวว่า ข้อเรียกร้องทั้ง 13 ข้อจะนำเสนอนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไม่เคยปฏิเสธไม่คยเพิกเฉย โดยกลุ่มต่างๆสามารถที่จะเรียกร้อง แสดงความคิดเห็น ซึ่งสิ่งใดที่สามารถดำเนินการได้ เราจะดำเนินการทันทีขอให้ใจเย็นๆ หากมีโอกาสในการมีส่วนร่วมต่างๆเราก็จะดีใจยิ่ง การมีส่วนร่วมของประชาชนมีส่วนสำคัญที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาโดยตลอด อย่าได้กังวลใจ ซึ่งขอยืนยัน และขอสัญญาไว้

ดร.รัชดา ธนาดิเรก กล่าวอีกว่า รู้สึกดีใจที่ได้มารอต้อนรับ และได้รับฟังข้อร้องเรียนของประชาชน ซึ่งเราเป็นผู้หญิงด้วยกันทำงานร่วมกันมาหลายปีและรับทราบถึงข้อปัญหาอย่างดี ซึ่งเรื่องร้องเรียนทุกเรื่องไม่มีการวางเฉย ขอเล่าเป็นกำลังใจ เมื่อต้นปีมีเครือข่ายสตรีอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเราก็คุ่นเคยกันอยู่มายื่นข้อร้องเรียนลักษณะเดียวกันให้กับท่านนายกรัฐมนตรี ซึ่งตนได้นำเรื่องดังกล่าวไปกราบเรียนกับท่านนายกฯ ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีได้นำข้อร้องเรียนนั้นประกาศให้คณะรัฐมนตรีทราบ จากนั้นได้มีคณะทำงานซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม เป็นผู้ดูแล และทำงานร่วมกับเครือข่าย สิ่งที่ได้ทำร่วมกัน เช่นเครือข่ายสตรี 4 ภูมิภาค มูลนิธิเพื่อนหญิง และ มูลนิธิเด็ก ทำไปแล้วหลายเรื่อง มีความคืบหน้าหลายประเด็น เช่น กรณีข้อเสนอว่าให้ผู้ชายลางานไปเลี้ยงดูลูก ซึ่งตอนนี้ได้สั่งให้กระทรวงแรงงานไปศึกษาความเป็นไปได้แล้ว เรื่องของการกีดกัน และการคุกคามทางเพศในสถานประกอบการ และองค์กร

วันนี้กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ได้มีการทำงานร่วมกับภาคเอกชน ให้เอกชนมาลงนามร่วมกับกระทรวงฯต่อไปนี้ต้องยุติการกีดกันการจ้างงานด้วยเหตุแห่งเพศ การจะมาไล่ผู้หญิงออกจากงานเพียงตั้งครรภ์ทำไม่ได้ การคุกคาม และลวนลามพนักงานในองค์กรทำไม่ได้ เบื้องต้นมีองค์กรมาลงนามร่วมกันรวมทั้งสถาบันการศึกษาจำนวน 24 องค์กร ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ๆด้วย และรัฐบาลจะทำเรื่องนี้ต่อ มีหลายเรื่องที่รับมาแล้วยังกระทำการไม่สำเร็จด้วยติดกระบวนการหลายอย่าง เรื่องที่ดินทำกิน ปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(พีมูฟ) หลายเรื่องคลี่คลายไปแล้ว แต่ยังไม่หมดอันนี้เรายอมรับ วันนี้รับรองว่า เรื่องถึงนายกแน่นอน อันไหนทำได้จะทำเลยและเราทำมาแล้วเราไม่ได้ทำแค่กับราชการเท่านั้นเราได้เชิญเครือข่ายมาร่วมด้วย หลายท่านทราบดีว่ารัฐบาลทำอะไรอยู่ขอเวลา และขอความเข้าใจ ท้ายสุดอยากให้เข้าใจว่าการมายื่นข้อร้องเรียนไม่ใช่เรื่องแพ้ชนะ หากทำสำเร็จคือชัยชนะของรัฐบาล และคนทั้งประเทศ เราไม่ใช่คู่แข่งกัน เราคือเพื่อนกัน เพื่อผู้หญิงต้องกำหนดอนาคตตนเอง

ในการรณรงค์ครั้งนี้ ทางสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์หนัง แห่งประเทศไทยกลุ่มสหภาพแรงงาน ย่านรังสิตและใกล้เคียง ได้ร่วมเดินรณรงค์ร่วมกัน พร้อมด้วยแจกแถลงการณ์ข้อเรียกร้อง เนื่องในวันสตรีสากล ดังนี้

ประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่การต่อสู้ทางชนชั้นแรงงานหญิงทั่วโลก ได้มาบรรจบครบรอบอีกครั้งหนึ่ง นั้นก็คือวันที่ 8 มีนาที่เรียกกันว่าวันสตรีสากล โดยเฉพาะบทบาทของแรงงานหญิงในโรงงานทอผ้า ที่เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ต่อสู้กับการกดขี่ขูดรีดทารุณในระบบทุนนิยม พวกชนชั้นนายทุนเห็นกำไรสำคัญกว่าชีวิตของมนุษย์ การทำงานมากกว่าวันละ 14-16 ชั่วโมงได้ค่าจ้างแรงงานเพียงน้อยนิด สภาพการทำงานในโรงงานเลวร้ายหลายคนเจ็บป่วยล้มตายไร้การเหลียวแล ทำให้แรงงานหญิงและชายทนไม่ได้กับระบบการกดขี่ขูดรีดจึงเกิดการลุกขึ้นสู้ มีการนัดหยุดงานและเดินขบวนในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1907 การต่อสู้ในครั้งนั้นได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากแรงงานทั่วโลก สร้างความสั่นสะเทือนต่อระบบทุนนิยมทั้งโลก และได้มีการเรียกร้องชั่วโมงการทำงานให้เหลือวันละ 8 ชั่วโมง พร้อมทั้งปรับปรุงสภาพการทำงานและสวัสดิการ และสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยในการรวมตัว

วันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1910 มีผู้แทนสตรีจาก 18 ประเทศ ได้เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยม สมัยที่ 2 ที่จัดขึ้นที่เมืองโคเปนเฮเกน เสนอให้มีการทำงาน 8 ชั่วโมง ศึกษา 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง  ที่เรียกว่าระบบสามแปด  ค่าจ้างแรงงานระหว่างชายกับหญิงต้องเท่าเทียมกัน มีการคุ้มครองสิทธิแรงงานหญิงและเด็ก  โดยเฉพาะบุคคลสำคัญที่เป็นสตรีที่เขาชื่อ คลาร่า แซทกิน ซึ่งเป็นนักสังคมนิยมชาวเยอรมัน เขายืนหยัดต่อสู้มาตลอดว่าการโค่นล้มทุนนิยมและการสร้างสังคมใหม่คือสังคมนิยม  จะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดพลังแรงงานผู้หญิง ถ้าพลังแรงงานหญิงยังถูกกดขี่ ขูดรีดอยู่ และไม่มีสิทธิใดๆ  และเธอก็ได้เผยแพร่ความคิดสังคมนิยมไปทุกหนทุกแห่งทั่วโลก

วันประวัติศาสตร์การต่อสู้อันยิ่งใหญ่ของการต่อสู้ของแรงงานหญิง ได้รับการยกย่องมีการจัดงานเฉลิมฉลองชัยมาถึงทุกวันนี้ และหลายปีที่ผ่านมาได้มีสตรีที่อ้างตนว่าเป็นสตรีผู้สูงศักดิ์ได้เขามาร่วมขบวนในการจัดงานวันสตรีสากลเบี่ยงเบนประเด็นอุดมการณ์ของนักสังคมนิยมประชาธิปไตยดังกล่าวข้างตน

จากการรัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 เห็นปรากฏการณ์เด่นชัดมากขึ้นของความขัดแย้งทางชนชั้นและชั้นชนระหว่าง ระบอบเผด็จการที่ควบคุมโครงสร้างส่วนบนของสังคมกับประชาชนผู้ถูกกดขี่ขูดรีด และก็เป็นที่ประจักชัดแล้วว่าการปกครองภายใต้ระบอบเผด็จการและกลายพันธ์มาเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบภายใต้กฎกติกาเผด็จการ  มีแต่เอื้อประโยชน์ให้กับชนชั้นนายทุนและเครือข่าย ปัญหาข้าวยากหมากแพง ชนชั้นที่ไร้ปัจจัยการผลิต ต้องเผชิญกับวิถีชีวิตที่แสนจะลำบากยากแค้นอย่างหนัก องค์การแรงงานหลายภาคส่วนได้ดำเนินการเรียกร้องต่อรัฐบาลครั้งแล้วครั้งเล่า สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ ก็สนับสนุนการเรียกร้อง ให้แก้ไข้ปัญหาด้านเศรษฐกิจสังคมและการเมืองมาโดยตลอด เพื่อการบรรเทาทุกข์ในหมู่ชนชั้นผู้ใช้แรงงานและคนจนทั้งในเมืองและชนบท รวมถึงปัญหา ของประชาชน รัฐบาลยังละเลยต่อปัญหาข้อเรียกร้องต่างๆของหมู่ชนชั้นผู้ใช้แรงงาน  โดยหาเหตุมากล่าวอ้างต่างๆนานา แต่บรรดาพวกชนชั้นนายทุนที่สนับสนุนระบอบเผด็จการ ลืมไปว่าสิ่งที่เป็นประดิษฐ์กรรมต่างๆในโลกนี่ ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากพลังแรงงานของชนชั้นผู้ใช้แรงงานทั้งสิ้น ไม่มีเทวดาที่ไหนเป็นผู้สร้าง ดูได้จากสิ่งใกล้ตัวเรา เช่น สี่ปัจจัยการครองชีพทุกชนชั้นและชั้นชนต้องใช้ เช่น อาหารการกิน, ที่อยู่อาศัย, เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า ผงซักฟอก ยาสีฟัน สบู่ ยารักษาโรคและยานพาหนะต่างๆในการเดินทางและเทคโนโลยี รวมไปถึงปราสาทราชวัง ตึกรามบ้านช่องวัดวาอาราม ใครเป็นผู้สร้างผู้ทำ ถ้าขาดพลังแรงงานของผู้ใช้แรงงานทั้งมวล ทุกอย่างจะเหมือนซากศพ และในโอกาสวันสำคัญนี้สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ ขอเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลปัจจุบันดังนี้

  1. แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
  2. พรรคการเมืองที่ร่วมจัดตั้งเป็นรัฐบาลและช่วงหาเสียงเลือกตั้ง สัญญาไว้ว่าจะเพิ่มค่าจ้าง/ค่าแรงเป็นวันละ 400-425 บาท และมารดาประชารัฐ เช่น ตั้งครรภ์รับเดือนละ 3,000 บาท ค่าคลอดบุตร 10,000 บาท และค่าดูแลบุตรเดือนละ 2,000 บาท ดำเนินไปถึงไหนแล้ว
  3. รัฐบาลต้องเพิ่มวันลาคลอดบุตรจากเดิม 98 วัน เป็น 180 วัน และสามีมีสิทธิลาไปดูแลภรรยาคลอดบุตรได้ 180 วัน โดยได้รับค่าจ้าง
  4. สตรีมีสิทธิทำแท้งได้อย่างปลอดภัยเมื่อไม่พร้อมมีบุตร (ศาลรัฐธรรมนูญเห็นชอบแก้กฎหมายทำแท้งได้ไม่ผิด wed,2020-02-19 ประชาไท)
  5. รัฐบาลต้องกำหนดวันที่ 8 มีนาคมของทุกปีเป็นวันหยุดทั่วประเทศ
  6. สร้างรัฐสวัสดิการเพื่อดูแลประชาชนอย่างมีคุณภาพ
  7. รัฐบาลต้องควบคุมราคาสินค้าที่เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีพของประชาชน
  8. สตรีมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกับชายและหยุดล่วงละเมิดทางเพศและต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่อสตรีทุกรูปแบบ
  9. รัฐบาลต้องให้การรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 ฉบับที่ 98 และ ฉบับที่ 183
  10. รัฐบาลต้องสนับสนุนการศึกษาฟรีกับเด็กเยาวชนประชาชนตลอดชีวิต
  11. หยุดการค้ามนุษย์,หยุดการค้าแรงงานข้ามชาติ,ยอมรับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของมวลมนุษยชาติ

วันสตรีสากล ชนชั้นผู้ใช้แรงงานสตรีทั้งหลายจงเจริญ 8  มีนาคม  2563 ชูคำขวัญ “หยุดละเมิดสิทธิสตรี เสรีภาพต้องเท่าเทียม”

รายงานโดยวาสนา ลำดี