พลิกชีวิตแรงงาน หลังวิกฤติโควิด การฟื้นฟูต้องพัฒนาคนเพื่อสร้างงาน สร้างรายได้

            โดย วาสนา ลำดี

            ช่วงสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2519 (โควิด-19) ที่ผ่านมา เสียงของความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นทั่วโลกซึ่งได้รับผลกระทบแบบเท่าเทียมกันเมื่อเกิดการเจ็บป่วย แต่ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจนั้นคนทำงานที่ไม่ได้มีปัจจัยการผลิตเป็นของตนเอง ที่เรียกว่าลูกจ้างหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระที่เรียกว่าแรงงานนอกระบบได้รับผลกระทบอย่างแสนสาหัสจากการประกาศปิดเมือง เพื่อลดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่แน่นอนว่ามันมีความเดือดร้อนไม่เท่ากันในเรื่องการจ้างงาน ซึ่งคำถามว่าประเทศไทยมีคนติดเชื้อและเสียชีวิตน้อย แต่ทำไมเศรษฐกิจพังและมีผลกระทบกับแรงงานจำนวนมาก คำตอบคือประเทศไทยเป็นประเทศรับจ้างผลิต และเป็นประเทศที่ผลิตเพื่อส่งออก ไม่ได้เน้นการขายภายในประเทศ และประเทศไทยยังส่งเสริมการจ้างงานราคาถูกให้กับทุนที่ต้องการมาลงทุนในประเทศไทยอีกด้วย

วันนี้อยากยกตัวอย่างของแรงงานเหมาค่าแรง หรือซับคอนแทรค ระบบซับพลายเออร์ที่เกี่ยวเนื่องกับบริษัทแม่ หรือผู้นำแรงงานใช้คำว่า บริษัทแบร์นโดยตรงที่มีการจ้างงานช่วงหลายระดับที่เรียกกัน โดย นายมานิตย์ พรหมการีย์กุล ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย ที่เล่าถึงสถานการณ์แรงงานผลกระทบจากโควิด-19 และแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม เรื่องข้อกังวลห่วงใยอะไรบ้าง เรื่องการเลิกจ้างว่างงานหลังโควิด -19 ที่ตอนนี้เริ่มจะมีผลกระทบจากยอดการส่งออกหรือยอดการผลิตลดลงเกิน 50% เกือบทุกบริษัท ทั้งบริษัทที่เป็นผู้ผลิตรถยนต์ และซับพลายเออร์รวมทั้งที่เกี่ยวเนื่องและพนักงานที่เป็นซับคอนแทรคให้ส่งกลับบริษัทต้นสังกัด ไม่มีระยะเวลาแน่นอนว่า จะเรียกเข้ามาทำงานเหมาค่าแรง กลุ่มนี้ถูกทิ้งไม่รู้จะไปทางไหน ไปแจ้งลงทะเบียนขอเงินประกันว่างงาน แต่ในเรื่องที่นายจ้างที่ส่งกลับต้นสังกัดตกลงว่าได้เลิกจ้าง เพื่อที่นายจ้างจะได้ไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานมาตรา 118 นี่คือประเด็นของซับคอนแทรค ส่วนมากทางบริษัทซับพลายเออร์จะทำแบบนี้หมด และตอนนี้หลายบริษัทคาร์แบรนด์เริ่มจะผลิตประกอบรถยนต์แล้ว แต่อาจไม่เต็มที่ทำให้บริษัทซับคอนแทรคไม่ว่าจะเป็นเทียร์ 1 เทียร์ 2 เทียร์3 โดยเฉพาะ เทียร์ 2 เทียร์ 3 เทียร์ 4 นายจ้างให้พนักงานมาทำงานบ้าง หยุดงานบ้าง ทั้งที่ในสายการผลิตนั้นยังทำงานอยู่ อันนี้ก็ไม่เข้าหลักเกณฑ์ของกฎกระทรวงที่ว่าด้วยเหตุสุดวิสัย ไปขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม อ้างสุดวิสัยรับ 62% นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้น กับแรงงานเหมาค่าแรง ซึ่งมีจำนวนมากในกิจการผลิตยานยนต์ และชิ้นส่วน สิ่งที่กังวลว่า พอเลย 3 เดือน แรงงานจะทำยังไง แต่ถ้าเลิกจ้างคนงานเลยจะได้เงินประกันว่างงาน 70% เป็นเวลา 200วัน มันจะดีกว่าที่บอกว่า จะเลิกจ้าง หรือไม่เลิกจ้าง จะเรียกกลับมาทำงานเมื่อไร

ด้านสหภาพแรงงานในกิจการชิ้นส่วนยานยนต์โดยตรงเองก็เห็นปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น แม้ว่าสหภาพแรงงานจะมีความพยายามในการหาทางออกด้วยการส่งเสริมให้สมาชิกได้ฝึกทักษะฝีมือเพื่อการรองรับอาชีพใหม่ หรือว่าเป็นอาชีพเสริมไม่ว่าจะเป็นเกษตรทางเลือกในครัวเรือนใช้แนวคิดปลกที่กินได้ เลือกแบ่งปันก็ขาย อาชีพช่างล้างแอร์ตามบ้าน เพื่อรายได้เสริมหากทำได้ดีก็สามารถนำมาเป็นอาชีพหลักได้อีก ช่างตัดผมเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ซึ่งตรงนี้มีหลายสหภาพแรงงานเลยทีเดียวที่ตอบรับและหาทางในการส่งเสริมและแก้ไขปัญหากันเอง

อย่างที่นางสาวศิริจรรยาพร แจ้งทองหลาง เลขาธิการสหภาพแรงงานชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ได้กล่าวถึงสถานการณ์แรงงานหลังโควิด-19 ความพร้อมเพื่อการฟื้นฟู เพื่อความมั่นคงของชีวิต เรื่องการเตรียมพร้อม โดยแยกเป็น 2 สถานะของกลุ่มแรงงานที่มองว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดในกลุ่มของยานยนต์ คือ สถานะของกลุ่มลูกจ้างที่เปราะบาง อาจจะเป็นพนักงานเหมาค่าแรง เป็นพนักงานสัญญาจ้าง แน่นอนมันเป็นเรื่องของข้อกฎหมาย เพราะมาตรฐานการจ้างงานที่มันต่ำ และอำนาจการต่อรองก็ไม่มี ฉะนั้น เมื่อเกิดวิกฤตคนกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบ สถานการณ์การปรับลดองค์กรของบริษัทขนาดใหญ่ การจ้างงานต้องลดลง และเลือกในส่วนของงานที่จำเป็นต้องใช้แรงงาน “คนที่ทำงานด้านงานซับพอตต่างๆพวกงานบริหาร งานบัญชี งานจัดซื้อ อนาคตเขาอาจจะไม่ต้องมาทำงานที่บริษัท เป็นการ work from home ก็ได้ ความมั่นคงในการจ้างงานความคุ้มครองในการทำงานของเขาก็จะหายไป ถ้าเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน เจ็บป่วยแล้วแรงงานทำงานอยู่บ้านถือว่า เป็นการเจ็บป่วยด้วยไหม  สถานการณ์การจ้างงานที่มันเปลี่ยนแปลงไป แต่กฎหมายคุ้มครองแรงงานมันยังเหมือนเดิม

เป็นคำถามว่า อะไรที่มารองรับการจ้างงานเป็นการเปลี่ยนแปลงในอนาคต จะเป็นรายเดือน เป็นรายวัน เป็นรายชั่วโมง เป็นสัญญาจ้างชั่วคราว ที่ตอนนี้มีการเสนอขึ้นมาถึงการจ้างงานรายชั่วโมง เพื่อแก้ปัญหาการว่างงานในอนาคต แต่ประเด็นคือเดิมการจ้างงานรายชั่วโมงถูกกำหนดไว้ เพื่อการจ้างงานนิสิตนักศึกษาที่ต้องการหารายได้พิเศษช่วยเหลือครอบครัวช่วงเวลาที่ว่าง หากการจ้างงานรายชั่วโมงที่กระทรวงแรงงานเสนอขึ้นมานั้น เพื่อการจัดการให้คนได้ทำงานเพื่อม่ให้เกิดการว่างงาน ประเภทแบ่งงานกันทำ หรือมองว่าคนจะได้มีงานทำเป็นการกระจายงาน ภายใต้ระบบคุ้มครองหรือกฎหมายที่เกี่ยวคล้องด้านสิทธิ สวัสดิการ ค่าจ้างที่เป็นธรรมสำหรับการดำรงชีพจะเป็นอย่างไรทำงานกี่ชั่วโมงจึงจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีอยู่ได้ แล้วระบบประกันสังคมจะทำอย่างไร อันนี้ยังไม่นับถึงสภาพด้านแรงงานสัมพันธ์ ความเป็นลูกจ้างนายจ้างหากว่า มีการทำงานมากกว่าหนึ่งบริษัท

ในมุมมองของนักวิชาการ รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจ คนว่างงานยังไร้ทิศทาง แรงงานอาจยังรอดูสถานการณ์บริษัทจะเปิด แล้วได้กลับเข้าไปทำงานใหม่ สภาพจิตใจย่ำแย่ ไม่รู้จะไปทางไหนต่อ จะเริ่มต้นใหม่ยังไงดี กว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอาจต้องรออีก 1-2 ปี แรงงานทราบความไม่แน่นอนตรงนี้แค่ไหน ภาครัฐน่าจะให้ความรู้ให้ข้อมูลแนวโน้มการจ้างงานในแต่ละภาคเศรษฐกิจ ประชาสัมพันธ์ให้กว้างขวางว่า ตกงานแล้วต้องทำอะไรบ้าง หางานได้ที่ไหน แนะนำอาชีพที่เหมาะสมทั้งกับตัวแรงงานและสภาพเศรษฐกิจ ตลอดจนการฝึกอบรมทักษะฝีมือเพื่อนำไปสู่อาชีพที่มั่นคงยั่งยืน ซึ่งภาคธุรกิจมีข้อเสนอให้ขยายประกันสังคมออกไปอีก 6-9 เดือน ฝ่ายแรงงานเห็นด้วยหรือไม่ มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้ไหม ในการจะคิดเรื่องนี้ ต้องคำนึงถึงข้อจำกัดที่มีก่อน และควรจะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้นายจ้างไม่เลิกจ้าง ในปัจจุบันบริษัทที่ยังไม่ได้ปิดชั่วคราว ยังผลิตหรือให้บริการบางส่วน ใช้วิธี leave without pay ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้จะไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆแม้ว่า รายได้จะลดลง และนายจ้างกลุ่มนี้ควรเป็นกลุ่มที่รัฐให้การสนับสนุนด้วยเพราะถือว่า ยังจ้างงานอยู่ โดยอาจใช้เงินจากประกันสังคมจ่ายส่วนต่างบางส่วนของรายได้ที่ลดลง เช่น หากนายจ้างตกลงกับลูกจ้างแล้วเห็นว่าให้หยุดงานลงครึ่งหนึ่งของวันทำงานปกติ รายได้ของแรงงานก็จะลดลงครึ่งหนึ่ง ในส่วนนี้ประกันสังคมช่วยจ่ายบางส่วนของรายได้ที่ลดลง ในขณะเดียวกัน รัฐต้องให้การสนับสนุนแรงงานในการหาอาชีพเสริมเพื่อหารายได้เพิ่มเติม และที่สำคัญต้องอุดหนุนค่าใช้จ่ายการฝึกอบรมทักษะฝีมือให้กับแรงงานเหล่านี้อีกด้วย

แน่นอนช่วงนี้มีการกล่าวถึง แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคมหลังโควิด-19 ภายใต้กรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาท ตาม พ.ร.ก.กู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาท (รอบที่ 1) โดยโจทย์เป้าหมายสําคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1) การสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก โดยเน้นการจ้างงาน เกษตรทฤษฎีใหม่ ท่องเที่ยวชุมชน กองทุนหมู่บ้าน และโลจิสติกส์ 2) เน้นการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค ด้วยการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจใหม่ ที่มีศักยภาพ (Nec, NeEC, CWEC, SEC) เพื่อรองรับการเติบโตที่ยั่งยืนในอนาคต เน้นเกษตรสมัยใหม่ เศรษฐกิจชีวภาพ ท่องเที่ยวคุณภาพ และ 3) เน้นกระตุ้นอุปสงค์ และการท่องเที่ยวในประเทศเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคบริการ และเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ[1] ซึ่งมีคนออกมาตั้งประเด็นคำถาม ถึงแนวคิดโครงการที่จะฟื้นฟูหลายส่วนมองว่า อาจไม่ตรงจุดแรงงานผู้ที่ได้รับผลกระทบซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่

รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ กล่าวถึง “แผนฟื้นฟูมีความสำคัญมาก อยากให้เอาไปใช้ในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง น่าเสียดายหากดูจากโครงการที่ยื่นของบฟื้นฟูส่วนใหญ่ เป็นโครงการของภาครัฐ โครงการซ้ำเดิม ไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องการจ้างงาน และการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง คิดว่า การใช้งบนี้มีความรีบเร่งมากเกินไป เกรงว่า จะขาดการกลั่นกรองที่ดี และเงินจะสูญเปล่า อยากให้ประชาชนและภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมมากกว่านี้

สุดท้ายแล้วโครงการจะสำเร็จมากน้อยเพียงไรอาจไม่สำคัญเท่ากับประชาชนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ซึ่งกันและกันในการพัฒนาประเทศ

หากดูข้อเสนอของแรงงาน ต่อแผนฟื้นฟู ไม่ว่าจะเป็น นางสาวศิริจรรยาพร แจ้งทองหลาง หรือนายมานิตย์ พรหมการีย์กุล นำเสนอว่า เรื่องแผนงานในอนาคต สิ่งที่มันจำเป็นจะต้องมีคืออาชีพให้กับคนงานมากกว่า 1 อาชีพ เมื่อเดินเข้าไปในโรงงานทำงานประจำ ควรมีโอกาสได้ไปฝึกอบรมพัฒนาตัวเองในเรื่องของอาชีพทางเลือก โดยควรจะได้รับการสนับสนุนจากนายจ้างแล้วก็ภาครัฐ และเรื่องการวางแผนการเงิน เพราะทุกคน เงินมาควรจะต้องออมส่วนหนึ่งเป็นเงินสำรอง หรือบริษัทจะต้องมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รัฐก็ต้องออกมาตรการ เพื่อเป็นแหล่งเงินออมของลูกจ้าง การวางแผนรองรับการเกษียณอายุด้วย เมื่อมาทำงานก็ควรจะให้นายจ้างมีการบรรจุไว้ในหลักสูตรการฝึกอบรมให้กับพนักงานด้วย เพื่อเขาจะได้มีการวางแผนชีวิตตัวเองได้ถูกต้อง ในส่วนของภาคีสังคมแรงงานสู้วิกฤตโควิด กลุ่มแรงงานกลุ่มต่างๆที่มารวมตัวกัน รวมทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิชาการ มีข้อเสนอหลักๆต่อรัฐบาล เมื่อคนงานที่ออกจากงาน ยังไม่สามารถหางานอาชีพอื่นได้ ฉะนั้นรัฐบาลจะมีโครงการอะไรที่จะมาดูแลมาเยียวยา ส่งเสริมด้านเงินทุนไม่ว่าจะทำงานอาชีพอิสระ ขายของออนไลน์หรือทำอาหารให้ใช้เทคโนโยลีเข้ามาพัฒนาไปด้ว ส่วนกลุ่มที่อยู่ในสถานประกอบการ ปัจจุบันเขามีปัญหาเรื่องรายได้ลดลงเหลือ 75% บางสถานประกอบการนายจ้างจ่าย 50% บางที่ก็เอาเงินประกันสังคม 62% ตรงนี้รัฐบาลน่าจะมีเงินเยียวยาแรงงานในส่วนของในระบบบ้างและหลังจากที่ตอนนี้การเยียวยาของประกันสังคมหมดไป แรงงานหลังจากนี้จะมีรายได้จากที่ใด

ในส่วนที่โดนเลิกจ้างกลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหญ่ แบ่งเป็น 2 กลุ่มประกอบด้วย กลุ่มที่มีอายุเกิน 40 ปี หรือ 50 ปีขึ้นไปกลุ่มนี้อาจไม่สามารถปรับตัวกับการทำงานมันเปลี่ยนไป New Normal หรือการทำงานวิถีใหม่ ที่ต้องใช้เทคโนโลยี แต่อย่างไรคนในกลุ่มนี้ก็อาจมีบางสาวนที่สามารถรับการพัฒนาฝีมือด้านเทคโนโลยีใหม่ๆได้ และบางส่วนอาจต้องพัฒนาอาชีพใหม่ให้กับแรงงานกลุ่มนี้ด้วย

อีกกลุ่ม คือ กลุ่มแรงงานที่ผู้นำแรงงานมองว่าน่าจะไปต่อกับธุรกิจที่มีการปรับเทคโนโลยีใหม่ได้คือแรงงานที่มีอายุ 40 ปี หรือ 39 ปี จนถึงบัณฑิตจบใหม่ แม้จะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ก็ตามแต่ก็มีความจำเป็นในการที่ต้องพัฒนาฝีมือเพื่อให้มีทักษะด้านเทคโนโลยีใหม่ที่จะถูกนำมาใช้ในกระบวนการผลิตในอนาคตด้วย โดยรัฐบาลจะมีสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานที่สามารถทำให้แรงงานสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้เขาได้ จะเป็นสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน สถาบันการศึกษาหรือเอกชนที่จะมาพัฒนาแรงงาน ซึ่งแน่นอนเงินกู้ 4 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลจะนำมาฟื้นฟูเศรษฐกิจรากหญ้า การเขียนโครงการโดยรัฐมุมมองในการฟื้นฟูหากอยากเห็นอนาคตของแรงงานอย่างเราๆสามารถที่จะมีเงิน มีงาน มีอนาคตมีความั่นคงในการมีงานทำ แรงงานต้องเข้าไปมีส่วนร่วม มีข้อเสนอต่อการฟื้นฟูด้วยเศรษฐกิจในความหมายคือ การสร้างคน และสร้างงาน เพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อการจับจ่ายใช้ส่อยขยับขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สมดุล และพร้อมแนวคิดการสร้างสวัสดิการสังคมที่มารองรับยามวิกฤติในอนาคตด้วย

//////////////////////////////////////////////////////

[1] แ ผ น ก า ร ฟื้ น ฟู เ ศ ร ษ ฐ กิ จ แ ล ะ สั ง ค ม จ า ก ผ ล ก ร ะ ท บ ข อ งไ ว รั สโ ค วิ ด -1 9 แ ล ะโครงการภายใต้กรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาท ตาม พ.ร.ก.กู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาท (รอบที่ 1) โดย คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้